การเดินทางของสมชัย ศรีสุทธิยากร ด้วยการแบกจักรยานคู่ใจออกไปตะลุยญี่ปุ่นคนเดียว มาพร้อมประสบการณ์ที่บอกเล่าความอิสระในการสำรวจเมืองและธรรมชาติในแบบของตัวเอง
การเดินทางท่องเที่ยวญี่ปุ่นด้วยจักรยานจากเมืองไทย อาจฟังดูยาก แต่เชื่อหรือไม่ว่า เราสามารถนำจักรยานขึ้นเครื่องบินไปยังญี่ปุ่นได้อย่างง่ายดาย การทริปปั่นจักรยานเที่ยวเดี่ยวที่เมืองโอซาก้า เกียวโต โกเบ และฮิเมจิ ในระยะเวลาเพียง 5 วัน 4 คืน ใช้งบประมาณไม่เกิน 30,000 บาท ถือเป็นการเดินทางที่คุ้มค่า ทั้งการปั่นในเส้นทางที่สวยงามและการได้สัมผัสความงดงามของญี่ปุ่นในแบบที่แตกต่าง
การวางแผนการเดินทาง
การวางแผนเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้การทริปนี้เป็นไปอย่างราบรื่น เริ่มต้นจากการจองตั๋วเครื่องบินและการเตรียมอุปกรณ์ปั่นจักรยาน เช่น การบรรจุจักรยานในกล่องพิเศษเพื่อขึ้นเครื่อง และตรวจสอบเส้นทางปั่นจักรยานล่วงหน้า การเตรียมตัวที่ดีจะทำให้คุณประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
เส้นทางปั่นจักรยานที่แปลกตา
โอซาก้า เกียวโต โกเบ และฮิเมจิ เป็นเมืองที่มีเส้นทางปั่นจักรยานที่แปลกตา สวยงามและมีสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นวิวธรรมชาติ วัดวาอาราม หรือสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม ทำให้คุณได้สัมผัสถึงความงามและเสน่ห์ของเมืองต่างๆ อย่างเต็มที่
งบประมาณสามหมื่นบาทอาจเป็นไปไม่ได้
งบประมาณ 30,000 บาทอาจฟังดูน้อยสำหรับการเที่ยวญี่ปุ่น แต่ด้วยการวางแผนที่รอบคอบ ทั้งการเลือกที่พักราคาประหยัด การทานอาหารท้องถิ่น และการใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ คุณจะสามารถเดินทางได้อย่างสบายโดยไม่เกินงบ
การเดินทางที่ไม่เหมือนใคร
การท่องเที่ยวด้วยจักรยานเป็นประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร เพราะคุณจะได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติและสิ่งรอบตัวมากขึ้น คุณจะได้สัมผัสบรรยากาศของญี่ปุ่นในมุมที่นักท่องเที่ยวทั่วไปอาจไม่เคยเห็น ถือเป็นการเดินทางที่สร้างความทรงจำและประสบการณ์อันน่าจดจำ
ผมเริ่มจากวางแผนเตรียมการประมาณ 2 เดือน ที่นานเพราะทยอยซื้อโน่นซื้อนี่ ไม่อยากให้เป็นภาระการเงินในแต่ละเดือนมากเกินไป เดือนแรกซื้อกระเป๋า (กล่อง) ใส่จักรยานและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่คิดว่าจำเป็น เช่น สูบลมแบบออโต้ อุปกรณ์ซ่อมเล็ก ๆ น้อย ๆ หาหนังสือมาอ่านเกี่ยวกับสถานที่ที่จะปั่นจักรยานไปได้ ศึกษากฎกติกาการปั่นจักรยานในต่างแดน ถามผู้รู้บ้างจนพอแน่ใจว่าไปได้
เดือนที่สองถึงซื้อตั๋วเครื่องบิน และตั๋วรถไฟ จองโรงแรมที่ Shin Osaka เพราะราคาถูกและน่าจะเป็นศูนย์กลางการเดินทางระหว่างเมืองต่าง ๆ ได้สะดวก ทุกอย่างใช้เกณฑ์แรกคือถูกที่สุดแล้วจึงสะดวกตามมา ได้ค่าตั๋วเรื่องบินรวมโหลดจักรยาน 12,010 บาท ค่าตั๋วรถไฟ Kansai Area Pass แบบ 4 วัน 1,700 บาท ค่าที่พักเป็นโรงแรมสามดาว ห่างจากสถานีแค่ 300 เมตร ในราคา 4 คืน 7,288 บาท สามรายการหลัก 20,998 บาท ที่เหลือเป็นค่ากินและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จึงตั้งเป้าว่าทริปนี้ต้องไม่เกิน 30,000 และทำได้จริง
วันเดินทาง
เอาจักรยานใส่กล่อง ปล่อยลมยางและถอดอุปกรณ์บางตัวที่อาจเสียหาย น้ำหนักเกินไปจากที่ซื้อนิดหน่อย ส่งโหลดในช่อง Oversize หลับหนึ่งตื่นก็มาโผล่ที่ Terminal 2 ของ Kansai International Airport จากนั้นก็แลกตั๋วรถไฟ ดั้นด้นไปจนถึงโรงแรมที่พัก แต่ต้องฝากของไว้ กว่าจะเปิดกล่องจักรยานได้ก็ประมาณ 5 โมงเย็น
ปั่นแบบเซิฟ ๆ วันแรก ยังไม่มีโปรแกรมอะไร เลยลองดูเส้นทางจาก Shin Osaka เข้าเมืองโอซากา โดยกำหนดปลายทางที่รูปป้ายกูลิโกะ ที่ Dotonbori ที่ ๆ ใครมาโอซากาต้องมาถ่ายภาพ ดูระยะทางแค่ 8.4 กม. ไม่หนักหนาก็ปั่นตรงแหนวลงใต้ ข้ามแม่น้ำ Yodo ในยามพระอาทิตย์ใกล้ตกดูสวยงาม ไปถึงป้ายกูลิโกะ ตอนค่ำ ๆ แบบพอใจหาย
ริมแม่น้ำ Dotonbori ยังคึกคักด้วยร้านค้า ร้านอาหารมากมาย คนเดินกันหนาแน่น เป้าหมายของอร่อยราคาไม่หนัก ต้องเป็นทาโกยากิที่ว่ากันว่าอร่อยสุดในญี่ปุ่นต้องที่นี่ แต่เห็นคิวแล้วคงไม่ไหวเลยปลีกมาทานร้านติดกันที่คงอร่อยน้อยกว่า เพราะแทบไม่มีคนเลย เสียหายไป 410 เยน หรือประมาณ 100 บาท
วันที่สอง
แผนการเดินทาง แพลนไว้ว่าต้องไปปั่นที่เกียวโต แต่ระยะทางระหว่างเมืองที่พักกับจุดหมายคือ 46 กม. คงไม่เหมาะสำหรับการปั่นคนเดียวและปั่นครั้งแรกในญี่ปุ่น สำหรับผู้ชายวัย 66 ปี เราเลือกขึ้นรถไฟที่สถานี Shin Osaka นั่งรถไฟ Super Rapid Train ใช้เวลาเพียง 25 นาทีก็มายืนงง ๆ หน้าสถานีรถไฟเกียวโต
กางจักรยานเรียบร้อย วันนี้มีเป้าหมาย 3 วัดดังคือ วัดน้ำใสคิโยมิสึ (Kiyomizu) วัดศาลาทองคินคาคุจิ (Kinkakuji) และวัดมังกรสันติเรียวอันจิ (Ryoanji) แต่พอดูแผนที่ มันคนละทิศ วัดแรกอยู่ทางตะวันออก สองวัดหลังอยู่ทางตะวันตก หากปั่นเป็นสามเหลี่ยมก็ราว ๆ 30 กม. แต่มาถึงแล้วอย่างไรก็ต้องปั่นให้ได้ เพียงแต่จะเก็บวัดไหนก่อนแค่นั้น จำได้ว่า คิโยมิสึ ต้องขึ้นเขาน่าจะเหนื่อยกว่า เราจึงตัดสินใจเลือกของยากก่อนแล้วไปเก็บของง่าย
ก่อนมาถึงญี่ปุ่น มีคนแนะการปั่นจักรยานหลายอย่าง เช่น ต้องขี่บนถนน ขี่บนฟุตบาทได้ต่อเมื่อมีไบค์เลน ห้ามโทรศัพท์ ห้ามถือร่ม บางคนบอกว่าต้องไปให้ตำรวจออกใบอนุญาต แต่มาถึงหน้างานกลับไม่ยุ่งเท่าที่คิด ใครอยากจะปั่นญี่ปุ่นให้ยึดหลัก 3 ข้อนี้พอ หนึ่ง ปั่นในถนนชิดซ้าย หยุดทุกแยก ให้สัญญานตลอด สอง ปั่นบนฟุตบาท ให้ชิดด้านริมถนน เอื้ออาทรคนเดินถนน อย่าปั่นเร็วเกิน สาม เอาจักรยานพับขึ้นรถไฟได้ แต่ต้องมีถุงคลุมมิดทั้งคันและให้หลีกเลี่ยงเวลาเช้าและเย็นที่คนไปทำงานหรือกลับบ้าน
เส้นทางไปคิโยมิสึ ไม่ยาก จากสถานีเกียวโต แค่ 3.1 กม. แต่พอประมาณ 850 เมตรก่อนถึงวัดเริ่มปั่นยากเพราะขึ้นเขา พอถึง 650 เมตรต้องลงจูงเพราะเป็นทางวันเวย์ลงของรถยนต์ ทุกคนจึงเดินขึ้นอย่างมีความสุข (ไม่รู้จริงหรือไม่) แต่สองข้างทางที่เต็มไปด้วยร้านขายของเป็นจุดพักได้สำหรับคนเดินขึ้นแต่คงไม่เหมาะสำหรับคนจูงจักรยาน
ค่าเข้าชมวัดแค่ 500 เยน หรือราว 120 บาท ถือว่าถูกกว่าเวลาชาวต่างชาติมาชมวัดไทย เพราะเคยพาฝรั่งไปเที่ยว เจอวัดอรุณ 200 บาท วัดโพธิ์ 300 บาท วัดพระแก้ว 500 บาท ดุเดือดกว่ามาก
วัดคิโยมิสึ (Kiyomizu) คนไทยแปลได้ตรงตัวว่าวัดน้ำใส จำได้ว่าไปทานอาหารในญี่ปุ่น เวลาเราขอน้ำเปล่า เราก็จะพูดว่า มิสึ (Mizu) ที่แปลว่าน้ำ ส่วน คิโย (Kiyo) เปิดคำแปลได้ว่าบริสุทธิ์ ที่มาของชื่อมาจากการที่วัดตั้งอยู่บนภูเขาโอโตวะ (Otowa) ที่มีลำธารจากน้ำตกแยกเป็นสามสาย จึงมีความเชื่อว่าใครได้รองดื่มจะได้พร 3 ประการ คือ การเรียน ความรัก และ สุขภาพ เวลาเรามาที่วัดนี้จึงเห็นคนต่อแถวกันยาวเหยียดเพราะรองดื่มเพื่อเป็นมงคลกัน เหลือบดูป้ายเห็นว่า ปัจจุบันยังมีบรรจุขวดขายให้คนที่มาเอากลับไปฝากทางบ้านได้อีก
มุมมหาชนที่ทุกคนมาวัดนี้ จะเป็นระเบียงวัดที่สร้างบนหน้าผาสูงจากพื้นราว 13 เมตร เห็นว่าสร้างโดยไม่ใช้ตะปูสักตัวเดียว ในอดีตมีความเชื่อว่าใครกระโดดลงไปหากไม่ตายจะประสบความสำเร็จในชีวิต ข้อมูลจากวิกิพีเดียบอกว่าในยุคเอโดะ มีบันทึกว่า มีคนมากระโดดมากถึง 234 คน ตายไป 34 คน แต่ไม่บอกว่าอีก 200 ที่รอดนั้นประสบความสำเร็จในชีวิตต่อไปหรือไม่ เพราะดูจากความสูงแล้วน่าจะเอาการอยู่
นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยอ้อยอิ่ง ไม่รีบเร่งเพื่อรอพระอาทิตย์ตก เพราะได้รับการบอกกล่าวว่าที่นี่เป็นมุมชมพระอาทิตย์ตกดินที่สวยที่สุดในเกียวโต เช่นเดียวกับกับเราที่รอ รอ รอ และก็ได้ภาพสุดท้ายที่งดงามก่อนจะได้ยินเสียงประกาศว่าประตูวัดจะปิดแล้ว ขอเชิญทุกท่านออกจากสถานที่
ฟ้าเริ่มมืด อากาศเริ่มเย็น กับใจที่อิ่มเอิบในบุญของชีวิตที่ได้มาถึง
หลังจากจบวันที่สองด้วยการปั่นไปเที่ยววัดด้วยความเหนื่อยล้า แต่เปี่ยมไปด้วยความสุข บางครั้งมันก็แลกมาด้วยอะไรสักอย่าง หลายคนตั้งคำถามกับผมว่า “ทำไมต้องเอาจักรยานไปปั่น นั่งรถสาธารณะ หรือไปเช่าจักรยานไม่สะดวกกว่าหรือ” คำตอบคือ “ใช่” แต่บางทีความสะดวกสบายก็อาจจะไม่ใช่ทั้งหมดที่ต้องการ คนเราจำเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตได้ดีที่สุดก็มักจะเป็นเรื่องราวที่ไม่ค่อยสะดวกและไม่ค่อยดีเท่าไหร่ จะจำแม่นมากพอเวลาผ่านไปมันจะกลายเป็นเรื่องเล่าที่ตลกและประทับใจ หากเราเลือกวิธีการแบบเดิม เราจะไม่มีโอกาสเรียนรู้ในสิ่งใหม่ การขนจักรยานไปปั่นด้วยตัวเอง ทำให้เราต้องคิดต้องตัดสินใจมากมาย ไม่ว่าจะขนขึ้นเครื่องไปอย่างไร เอาจักรยานขึ้นรถไฟอย่างไร ไปถึงแล้วจะปั่นในเส้นทางไหน จะจัดการกับสัมภาระติดตัวให้ลำบากน้อยที่สุดได้อย่างไร และจอดที่ไหน หรือแม้แต่จะทานข้าวแต่ละมื้อเราดูแลจักรยานเราอย่างไร การค้นหาคำตอบ การตัดสินใจและการเรียนรู้ใหม่จึงเกิดขึ้นตลอดในแต่ละวันของการหิ้วจักรยานไปปั่นที่แดนอาทิตย์อุทัย
วันที่สาม
ของการปั่น ในเส้นทางทิศตะวันตกของเกียวโต มีวัดสองวัดในความสนใจของเรา วัดแรกคือวัดคินคาคุจิ (Kinkakiji) หรือคนไทยจะคุ้นเคยกับคำว่าวัดทอง วัดศาลาทอง หรือวัดอิ๊กคิวซัง จากฉากหลังในการ์ตูนเป็นรูปศาลาวัดสีทองอร่ามนี้ และวัดที่สองคือวัดเรียวอันจิ (Ryoanji) ที่อยู่ห่างกันไม่มาก แต่คนไทยแทบจะไม่รู้จักเพราะมักจะอยู่นอกโปรแกรมการท่องเที่ยว หรือถ้าจัดอาจโดนต่อว่าจากลูกทัวร์ว่า พามาดูก้อนหินทำไมกัน
หากจะเปรียบ คินคาคุจิ จึงเหมือนสาวงามชาววังแต่งกายด้วยเครื่องประดับมีค่า ใครเห็นใครชมอยากจะเข้าไปถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ส่วนเรียวอันจิ เหมือนสาวชาวบ้าน แต่มีอะไรลึกลับซ่อนเร้นให้ต้องตีความและต้องตั้งใจไปหา การปั่นไปคินคาคุจิ เป็นทางเรียบ ๆ และ ค่อย ๆ ขึ้นเขา ไม่ถึงขนาดเหนื่อยเท่าปั่นขึ้นวัดน้ำใส (Kiyomizu dera) ระยะทางจากสถานีรถไฟเกียวโตประมาณ 8.7 กิโลเมตร แต่ปั่นในวันแดดจัดก็เอาการอยู่ ต้องแวะตามจุดต่าง ๆ เพื่อเติมน้ำให้กับร่างกายเป็นพัก ๆ
ภายในวัดทุกอย่างล้วนไม่แตกต่างจากที่เคยมา มีมุมมหาชนที่ทุกคนอยากถ่ายไปลงโปรไฟล์ ใช้เวลาไม่มากในการเดินเวียนเข้าและออกตามจุดที่กำหนด มรดกโลกที่ไปเยือนจึงได้แค่ภาพเป็นที่ระลึก
จากคินคาคุจิ เราปั่นตามเส้นทางลงไปทางใต้ แค่ 1.2 กม. ช่วงแรกดีใจว่าเป็นทางลงเขา พอไปได้ครึ่งทาง กูเกิลแม็ป ก็พาเรางง ให้เลี้ยวขวาปั่นขึ้นเขาในทางเล็ก ๆ และวนกลับมาที่เดิม ด้วยความเชื่อและศรัทธาในเทพอย่างกูเกิล ก็เลยทำซ้ำอีกรอบก็ได้วนกลับมาที่เดิมอีก คราวนี้เลยใช้เปิดดูแผนที่ธรรมดา ถึงรู้ว่าให้ปั่นตามเส้นทางเดิมขึ้นไปไม่ต้องเลี้ยวขวา ทางขึ้นค่อนข้างชันพอปั่นได้แต่รถที่วิ่งลงมาค่อนข้างเร็ว เราจึงตัดสินใจมาเข็นรถบนทางเท้าแทน ไม่นานก็ถึงทางเข้าวัดเรียวอันจิ
วัดเรียวอันจิ หรือแปลเป็นชื่อไทยว่า วัดมังกรสันติ วัดนี้ค่าเข้าชมแพงกว่าวัดอื่น ๆ ที่ไปเยี่ยมชมมา คือ ราคา 600 เยน หรือราว 135 บาท ในขณะที่วัดอื่นจะเก็บ 500 เยนหรือถูกกว่าประมาณ 25 บาท แต่ราคาคงไม่ใช่สิ่งที่ยับยั้งเรา ยกเว้นว่า จะตลุยเข้าสัก 10 วัด ก็อาจต้องทำใจในการจ่ายค่าเข้าชมที่รวม ๆ แล้ว อาจได้อาหารดี ๆ หรู ๆ สักมื้อ
ป้ายชี้ทางเดินไป Rock garden หรือสวนหิน แปลว่าสิ่งนี้ต้องเป็นไฮไลท์ที่สำคัญของวัดที่ดึงดูดคนมาชม ยิ่งเดินเข้าใกล้คนยิ่งมาก มีทั้งนักเรียนชายหญิงที่มาเป็นกลุ่มใหญ่ที่น่าจะโดนครูสั่งให้ทำรายงานและนักท่องเที่ยวตะวันตกก็ไม่น้อย และน่าจะเป็นวัดเดียวที่เราไม่ได้ยินเสียงคนไทย เดินขึ้นไปบนระเบียงไม้ของวัดที่สร้างขนานกับสวนหินแบบเซ็น ก็เห็นภาพคนนับสิบ นั่งมองไปยังก้อนหินที่จัดเรียงในสวนหินด้วยกิริยาสงบนิ่ง ส่วนที่ยืนด้านหลังมีเอามือนับก้อนหินแล้ววิจารณ์กันด้วยภาษาที่เราไม่เข้าใจแต่พอรู้ได้ว่า ทุกคนที่มาเยือนพยายามนับก้อนหินในสวนจากจุดที่ตัวเองยืนแล้วลองเปลี่ยนจุดที่ยืนใหม่และนับอีกครั้ง
“สิ่งที่เห็น ไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริง” ด้วยวิธีการจัดเรียงก้อนหินแบบใดไม่รู้ แต่จะมองจากจุดใดบนชานระเบียงวัดจะสามารถนับก้อนหินได้เพียง 14 ก้อน ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วมีก้อนหินทั้งหมด 15 ก้อน การจะเห็นก้อนหินก้อนที่ 15 ได้ จึงต้องเห็นด้วยปัญญา เก็บรวบรวมมุมมองในการมองก้อนหินจากหลาย ๆ จุด จดจำตำแหน่งของก้อนหินแต่ละก้อน และเมื่อเปลี่ยนมุมมองไปก้อนหินที่เราเห็นและจดจำตำแหน่งได้จะเป็นสิ่งที่ให้เรารู้ได้ว่า หลังก้อนหินก้อนนั้นก้อนนี้ ยังมีก้อนหินอีกก้อนซ่อนตัวอยู่ แม้นับได้ไม่ครบแต่ก็รู้ว่ามีอยู่
ในทางเซ็น อาจจะเรียกว่ารู้ได้โดยฌาน ผ่านการเพ่งสมาธิ แต่ในทางวิทยาศาสตร์คือ การรวบรวมเก็บข้อมูลให้ครบถ้วนมาคิดวิเคราะห์ ไม่เชื่อกับสิ่งที่พบเห็นอยู่ต่อหน้า
เดินอ้อมมาทางหลังวัด ก็จะเจอกับบ่อน้ำ ที่มีมัคคุเทศก์ทุกชาติพยายามจะอธิบายความหมายตัวอักษรปากบ่อ 4 ตัว ที่คนสร้างฉลาดที่จะเลือกตัวอักษรมาใส่ ตัวอักษรแต่ละตัวไม่มีความหมายใด ๆ แต่พอแต่ละตัวมาผสมกับรูปสี่เหลี่ยมที่เป็นปากบ่อน้ำ กลับกลายเป็นคำที่มีความหมายสี่คำ คือ 吾 = ware = I ฉัน , 唯 = tada = only เท่านั้น , 足 = taru = be enough เพียงพอ และ 知 = shiru = know รู้
รวมเป็นประโยคที่มีความหมายลึกซึ้งในทางพุทธศาสนา “ฉันรู้เท่าที่ฉันเพียงพอต้องรู้” เหมือนกับต้องการจะสอนว่า บางทีก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปรู้ทุกเรื่องให้รำคาญใจไปเปล่า ๆ เป็นอีกหนึ่งคติในการดำรงชีวิต บ่อน้ำยังวางในตำแหน่งที่ต่ำกว่าชานระเบียงวัด เวลาจะตักต้องน้อมตัวลงราวกับจะบอกว่า การจะเรียนรู้อะไร ผู้เรียนรู้พึงนอบน้อมจึงจะสามารถเรียนรู้ได้โดยง่าย แต่หากหยิ่งทะนงถือตัว ก็ไม่มีวันได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่ ๆ
หนึ่งชั่วโมงในวัดเรียวอันจิ นั่งดูก้อนหินแบบเงียบ ๆ กับเขา ทึ่งกับการออกแบบจัดเรียงตัวอักษรปากบ่อน้ำ เดินออกมาทางสวนที่สงบและสระดอกบัวขนาดใหญ่ที่อยู่หน้าวัด เหมือนจิตใจสงบขึ้นเวลาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ออกมาภายนอกดูวุ่นวาย สับสน ดีว่า จักรยานที่เห็นยังเป็นจักรยานของเรา มิเช่นนั้นอาจนึกไปว่า สิ่งของเราล้วนไม่ใช่สิ่งของเรา และการปั่นจักรยานกลับสถานีรถไฟก็เป็นสิ่งที่เหมาะสมกับช่วงเวลานี้ครับ กลับไปพักผ่อนเพื่อวันพรุ่งนี้
วันที่สี่
วันนี้เป็นวันที่สี่ของการขี่จักรยานท่องเที่ยวญี่ปุ่นคนเดียว เมื่อซื้อบัตรรถไฟ Kansai Area Pass แบบ 4 วัน จ่ายเงินไปประมาณ 1,700 บาท เลยคิดว่าจะนั่งรถไฟไปให้ไกลที่สุดเพื่อไปปั่นจักรยานได้ที่ไหนสักแห่ง ซึ่งปลายทางด้านตะวันตกสุด คือเมืองฮิเมจิ (Himeji) เมืองใหญ่ที่เรายังไม่เคยไป รู้แต่ว่ามีปราสาทสีขาวใหญ่โตกว่าปราสาทโอซากาเรียกชื่อว่าปราสาทนกกระยางขาว ก่อนถึงฮิเมจิก็ต้องผ่านเมืองโกเบ ที่นี่มีชื่อเสียงด้านเนื้อวัวระดับ A5 เคยดูคลิปว่ามีการเดินเรือเฟอร์รี่ตัดตรงระหว่างโกเบกับท่าอากาศยานคันไซในโอซากา แผนการสุดท้ายของการเดินทางจึงวางคร่าว ๆ ว่า จะนั่งรถไฟไปฮิเมจิ ปั่นดูเมืองดูปราสาทสักครู่แล้ว นั่งรถไฟกลับมาที่โกเบ ปั่นริมอ่าวให้ชื่นใจ ลงทุนหาเนื้อโกเบทานสักมื้อ และปั่นไปขึ้นเรือที่ท่าเรือที่ยังไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน นั่งกลับโอซากาแบบตัดตรงข้ามอ่าวแต่อ้อมโลกกลับ Shin Osaka ซึ่งเป็นที่พักของเรา
การเอาจักรยานขึ้นรถไฟในแต่ละวันไม่มีปัญหาแต่ดูวันนี้ไม่ราบรื่น ทุกวันเราจะพับแล้วเข็นด้วยล้อผ่านทุกด่านไปจนถึงชานชาลาแล้วจึงจับใส่ถุงที่คนญี่ปุ่นเรียก Rinko Bag ตามกติกาที่ว่าขึ้นรถไฟต้องเอาจักรยานใส่ถุงคลุมจึงจะขึ้นได้ ผ่านไป 3 วันทำแบบนี้ก็ไม่มีปัญหา แต่วันนี้ สงสัยจะออกเช้าตรงกับเวลา rush hours เพียงแค่เข็นผ่านด่านตรวจบัตร เจ้าหน้าที่ก็ปรี่เข้ามาตะโกน No No No อย่างเดียว เลยต้องเอาจักรยานใส่ถุงและหิ้วตั้งแต่หน้าด่านไปจนถึงชานชาลา ทำให้รู้ว่าจักรยาน 14 กก. เวลาใส่ถุงแล้วหิ้วมันหนักขึ้นกว่าปกติ
ไปถึงฮิเมจิ กับรถ Super rapid train ใช้เวลาประมาณ 1 ชม. เป็นเมืองที่ผังเมืองดีมาก พอลงจากสถานีก็เห็นปราสาทฮิเมจิ อยู่ปลายถนนที่เป็นเส้นตรงข้างหน้า ถนนก็ทำใหม่ ฟุตบาทกว้าง มีทางจักรยานบนฟุตบาทให้ปั่นได้อย่างปลอดภัย เป็นเมืองที่ปั่นสบายกว่าทุกเมืองที่ไปมา
ไปถึงปราสาทยังไม่ 9โมง กลายเป็นว่าถึงเช้าไป ยังไม่เปิดให้เข้าชมจึงได้แต่ปั่นโดยรอบ ได้ถ่ายภาพปั่นจักรยานด้วยการตั้งกล้องและปั่นผ่านอย่างเท่ ๆ เพราะยังไม่มีคนในพื้นที่มากนัก ประมาณการเวลาแล้วระหว่างการรอปราสาทเปิดและใช้เวลาในการเดินชมภายใน กับการเปลี่ยนเมืองไปหาของกินใน Bucket list ของชีวิต ยังพอมีเวลาปั่นในเมืองที่อยู่ชายทะเลเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ เราจึงตัดสินใจกลับสถานีรถไฟเพื่อย้อนกลับไปเมืองโกเบ
ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง รถไฟก็พาเรามาถึงสถานีโกเบ ตัวสถานีดูคลาสสิคแตกต่างจากสถานีอื่น ๆ ได้บรรยากาศเมืองเก่า การปั่นจักรยานในเมืองนี้ก็ไม่ยาก เพราะมี Bike lane บนฟุตบาทให้ปั่นอย่างปลอดภัย เส้นทางปั่นจากสถานีรถไฟไปยังริมอ่าวโกเบ กำหนดจุดหมายไม่ยาก โดยตั้งปลายทางที่ Kobe Port Tower หอคอยสีแดงที่เป็นแลนด์มาร์คสำคัญของเมืองซึ่งมองจากสถานีไปทางทิศตะวันออกก็เห็น ระยะทางเพียงกิโลเศษ ใช้เวลาในการปั่นไม่กี่นาที ลัดเลาะตามฟุตบาทไปได้มีลงถนนบ้างในบางจุด
โซนที่เป็นริมอ่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีกลุ่มอาคารร้านค้าร้านอาหารที่ก่อสร้างแบบ Low rise ที่หันหน้าออกไปทางอ่าวให้คนนั่งทานอาหารไปดูเรือท่องเที่ยวที่เข้าและออกจากอ่าว ลมที่พัดแรงแดดที่กล้า อาคารที่สร้างเลียนแบบตะวันตกทำให้นึกถึงแหล่งท่องเที่ยวแบบ Pier 39 ของ San Francisco
ใกล้ Kobe Port Tower ยังมีพิพิธภัณฑ์สมุทรศาสตร์ที่เล่าเรื่องราวการเดินเรือในอดีต ปั่นต่อไปยังลานกว้างด้านหน้าจะ
เจอร้านสตาร์บัคที่เห็นแล้วต้องอึ้งเพราะโดดเด่นหนึ่งเดียวในลานกว้างด้านหน้าเป็นอ่าวโกเบแบบไม่มีอะไรขวาง ถัดไปเป็นป้าย Be Kobe ขนาดยักษ์ที่เป็นจุดถ่ายภาพเมื่อทุกคนมาถึง ให้หวนนึกถึงป้าย Bangkok ที่สกายวอล์คมาบุญครองบ้านเราว่าแตกต่างกันในการลงทุนแบบคนละเรื่อง
พื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่พักผ่อนของชาวเมืองและยังเป็นจุดขายให้นักท่องเที่ยวแวะมาชม มีเรือสำราญแบบราคาไม่สำราญ พานักท่องเที่ยวออกไปชมอ่าวประมาณ 2 ชม. ราคาต่ำสุดจะได้เครื่องดื่ม 1 แก้วน่าจะ 1,800 เยน หรือราว 400 บาทกับที่นั่งในเรือดูวิวเพลิน ๆ ไป
บ่ายแล้วต้องหาอะไรทาน เราจอดจักรยานด้านหลังห้าง Mosaic ในโซน Harbor Land แล้วเดินเข้าไปในห้าง 3 ชั้นที่มีแต่ร้านอาหาร หาร้านเนื้อที่หน้าร้านดูดี หลังร้านวิวสวยมองไปยังอ่าวโกเบ ก็ได้ร้านตรงสเป็คกับการยอมเสียเงินประมาณ 5,000 เยน หรือเกือบ 1,200 บาท ถือเป็นมื้อจ่ายหนักที่สุดมื้อหนึ่งของเราแลกกับการได้ทานเนื้อโกเบย่างที่เขาบอกในเมนูว่าเป็นราคาพิเศษ
สัมผัสที่ได้จากการทานคือ เฉย ๆ ไม่รู้สึกว่าอร่อยมากมาย เมื่อเทียบกับเนื้อฮิดะ (Hida) ของเมืองทาคายาม่า (Takayama) ดูอันนั้นจะอร่อยกว่า สิ่งที่เราสรุปคือ หนึ่ง อาจถูกไป (แพงกว่านี้ก็เกินไป) สอง เป็นร้านในแหล่งท่องเที่ยว สาม เป็นเมนูโปรโมชั่น ซึ่งปกติ คนที่แสวงหาเขาจะไปทานในย่านกลางเมืองแถว Sannomiya Station ในราคาที่อาจจะ Up กว่านี้อีก 3-4 เท่า แต่เอาเถอะ ชีวิตนี้ถือว่าได้ทานเนื้อโกเบแล้ว
ตกเย็น การเดินทางกลับโอซากาที่แนะนำว่าไม่ควรหาทำ คือ การนั่งเฟอร์รี่ตัดอ่าวโกเบไปทะลุอ่าวโอซากา ไปขึ้นที่ท่าใกล้สนามบินคันไซ แต่ถ้าอยากหาประสบการณ์บ้างก็ลองดูโดยต้องปั่นจักรยานไปยังสถานี Monorail ที่ใกล้สุดและขึ้น Monorail ไปยังสนามบินโกเบ ซื้อตั๋วซึ่งลดราคาพิเศษจาก 1,880 เยน หรือราว 420 บาท ที่ลดให้แก่นักท่องเที่ยวที่แสดงพาสปอร์ตและตราวีซ่าเข้าเมืองซึ่งยังไม่หมดอายุ ก็จะได้ส่วนลดเหลือแค่ 500 เยน หรือไม่ถึง 120 บาท ดูแล้วจูงใจสุด ๆ
เรือเฟอร์รี่กว้างขวาง นำจักรยานพับลงได้ นั่งดูทะเลเพลิน ๆ ที่พระอาทิตย์กำลังตกก็สวยงามแบบน่ากลัว ๆ ดี เพราะทะเลเริ่มมืด มีแต่น้ำ ไม่เห็นอะไร นึกถึงการเดินเรือสมัยโบราณที่กว่าจะบุกเบิกมาถึงคงโหดยิ่งกว่านี้ แค่ครึ่งชั่วโมง ก็ถึงท่าเรือของสนามบินคันไซ
ที่บอกว่าไม่ควรหาทำ เพราะหากคุณพักที่ชินโอซากา นั่งรถไฟกลับจากโกเบ ก็คงแค่ไม่เกิน 30 นาที แต่เมื่อคุณลงเรือ รวม ๆ เวลาทั้งหมดจาก monorail ไปท่าเรือ เวลาในเรือ นั่งรถไฟกลับจากสนามบินคันไซ กลับมาชินโอซากา เกือบสองชั่วโมง
เพียงแต่ชีวิตที่ไม่เร่งรีบ การได้ประสบการณ์พิเศษในชีวิต อาจถือว่าคุ้มค่าแล้ว
เป็นอีกหนึ่งทริปที่ดูเหมือนไม่มีอะไรแต่กลับได้อะไร ในแง่ความรู้ใหม่ ๆ ประสบการณ์แปลก ๆ หากในชีวิตนี้ไม่เคยเลยที่จะออกนอก comfort zone ผมว่าการได้ออกเดินทางท่องเที่ยวคนเดียวแบบนี้ไม่ว่าจะต่างประเทศหรือในประเทศ มีเพียงเป้าหมาย ความตั้งใจ และเงินในกระเป๋าสักหน่อย เชื่อว่าใคร ๆ ก็ทำได้ คุณก็ทำได้เช่นเดียวกัน
EXPLORER: สมชัย ศรีสุทธิยากร
PHOTOGRAPHER: สมชัย ศรีสุทธิยากร