Type and press Enter.

ดอยมอโก้โพคี คนที่นี่ปลูกกาแฟเพื่อรักษาป่า

การเดินทางเพื่อเชื่อมโยงกับธรรมชาติ เรียนรู้จากโลก และขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด

มอโก้โพคี

คนที่นี่อยู่บนดอยสูง 1200 เมตร จากระดับทะเล

เมื่อรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อที่ลงไปรับพวกเราถึงโรงแรมในตัวอำเภอท่าสองยาง ผมมักจะกังวลอยู่กับการตัดสินใจว่าจะนั่งไปข้างหน้าคู่คนขับหรือจะยืนท้ายกระบะแล้วหาที่จับให้มั่น เพราะรู้ตัวดีว่าอย่างน้อยอีกสองชั่วโมงเป็นอย่างต่ำกว่าจะถึงที่หมาย การเลือกที่จะนั่งหรือยืนจึงเป็นการตัดสินใจที่ทำให้ท้องไส้ปั่นป่วนอยู่เหมือนกัน

มอโก้โพคี

ระหว่างทางจากอำเภอท่าสองยาง สู่ดอยมอโก้โพคี ระยะทางเกือบ 60 กิโลเมตร บนภูเขาที่ไม่มีทางดำอย่างในเมือง กินเวลานานพอควร รถวิ่งเลียบไปตามลำธารน้ำที่ไหลลงมาจากยอดเขา “คลองแม่อุสุครับ มีต้นน้ำอยู่ข้างบน” ผู้ใหญ่ชาญชัย บอกกับผม ภาพที่เห็นทำให้ผมคิดเล่น ๆ ว่าถ้ามาทำเส้นทางท่องเที่ยวเดินป่าที่นี่น่าจะเหมาะ ดูแล้วมีธรรมชาติ ป่า เขา ลำธาร ต้นทุนทางธรรมชาติพร้อมมาก และถ้าทำได้จริง หมู่บ้านนี้ ดอยนี้จะเป็นแบบไหน

มอโก้โพคี

แม้นไม่ใช่คนช่างสังเกตก็มองออกว่าบางช่วงบางตอนของภูเขาดูแห้งแล้ง ภูเขาบางลูกดูเหลืองจากพืชเชิงเดี่ยวที่แห้งเหมือนตายซากแต่เปล่าเลย เค้าแค่รอเก็บผลผลิต ที่เมื่อนำไปขายแล้ว เงินที่ได้จะพอใช้หนี้หรือไม่

ด้วยภูมิประเทศที่เป็นเขาสูงต่ำสลับกันมองไกล ๆ ก็เห็นเป็นเลเยอร์ ความเขียวครึ้มของป่าไม้ที่หนาแน่นยังมีให้เห็นมากกว่าภูเขาหัวโล้นที่ผ่านมา นั่นก็สามารถบ่งบอกได้ว่าอีกไม่นานเราก็จะถึงหมู่บ้านแล้ว “คนข้างล่างเค้ายังปลูกพืชเชิงเดี่ยวอยู่ครับ แต่คนข้างบนนี้เราจะไม่ปลูก มันเลยยังมีป่าเขียว ๆ ให้เราเห็นครับ” ผู้ใหญ่บอกผม

มอโก้โพคี

เมื่อรถเคลื่อนเข้าเขตหมู่บ้าน ทำให้รู้สึกว่าเหมือนกำลังจะเข้าสู่อีกโลก ที่นี่มีไม่กี่หลังคาเรือน มีโรงเรียน มีอนามัย มีวัด ผมเอ่ยกับผู้ใหญ่ชาญชัยว่า “ที่นี่คงจะลำบากน่าดู” ไม่ว่าจะเรื่องการเดินทาง การสื่อสาร แม้นกระทั่งไฟฟ้า ผู้ใหญ่ตอบว่า “ลำบากมันก็ลำบากแหละครับ แต่ว่ามันชินแล้ว”

มอโก้โพคี
ฤดูฝนไม่ต้องพูดถึงการเดินทาง

ผู้ใหญ่ยังบอกผมอีกว่า “ชาวบ้านที่นี่ไม่ได้อดอยากครับ พวกเรากินง่ายอยู่ง่าย เดินเข้าป่าเราก็มีอาหารกินแล้ว พวกเราต้องการแค่โอกาสเหมือนคนอื่น ๆ บ้าง อยากเดินทางไปไหนมาไหนสะดวกขึ้น เราอยากให้เด็ก ๆ ในหมู่บ้านเข้าถึงการศึกษามากขึ้น คุณรู้ไหมการมีไฟฟ้า การมีระบบสื่อสารที่ดี มันทำให้เด็ก ๆ รู้จักทะเล  รู้จักรถไฟฟ้าว่ามีหน้าตาอย่างไร”

สำหรับพวกเขาความลำบากมันกลายเป็นความเคยชิน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ต้องการพัฒนา อย่างน้อย ๆ ในเรื่องของความต้องการขั้นพื้นฐานอย่างไฟฟ้า น้ำสะอาด การเดินทางที่สะดวกเมื่อถึงคราวจำเป็นต้องเดินทาง และการสื่อสารที่ดี ผมว่าเพียงเท่านี้พวกเขาก็ยินดีมากแล้ว

มอโก้โพคีกัลฟ์
แผงโซลาร์เซลล์ตรงโรงสีกาแฟและใช้เป็นศาลาประชาคมของหมู่บ้าน

ก่อนมาเยือนที่นี่ผมทราบมาว่า บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอจี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) นำโครงการ Green Energy Green Network for THAIs พลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย ได้นำพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์เข้าไปถึงชุมชน ให้ชาวบ้านมีไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ใช้ มอบแสงสว่างในตอนกลางคืน รวมถึงช่วยสนับสนุนการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และการศึกษาของเด็ก ๆ ในชุมชน และมีการติดตั้งเสาสัญญานโทรศัพท์เครือข่าย AIS เพื่อการสื่อสารที่ดียิ่งขึ้น เด็ก ๆ ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ดีกว่าเมื่อก่อน และมีความสุขกับการมาเรียนหนังสือ เป็นโครงการที่ดีเพื่อคนห่างไกลโครงการหนึ่ง

มอโก้โพคีกัลฟ์

“ความพิเศษของกาแฟที่ดอยมอโก้โพคีคือ ชาวบ้านที่นี่ปลูกกาแฟเพื่อรักษาป่า” นี่คือสิ่งที่ผมได้ข้อมูลมา จึงทำให้การเดินทางครั้งนี้มีค่าสำหรับผมมาก และจะถามใครก็คงไม่ได้ ถ้าไม่ถามผู้ใหญ่ชาญชัย ทรัพย์ประมาณ ผู้ใหญ่บ้านมอโก้โพคี คนนี้ที่ยืนอยู่ท้ายกระบะด้วยกัน

มอโก้โพคี
บรรยากาศในสวนกาแฟ ร่มรื่นร่มเย็น

กาแฟบนดอย

กาแฟที่นี่เริ่มต้นเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว พ่อของผมเป็นคนริเริ่มที่ปลูกกาแฟในพื้นที่นี้ ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ผมเรียนหนังสือที่อำเภออมก๋อย และจะได้กลับบ้านเพียงปีละสองครั้ง จำได้ว่าตอนนั้นพ่อประกอบอาชีพเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย แต่ภายหลังหัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่เทยได้แนะนำให้ลองปลูกกาแฟเพื่อเป็นอาชีพเสริมจากการทำไร่ข้าวไร่

พ่อเริ่มปลูกกาแฟในหมู่บ้านโดยที่ความรู้เรื่องกาแฟแทบไม่มีเลย ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่สนใจเพราะราคากาแฟในตอนนั้นยังต่ำมาก พ่อปลูกแบบลองผิดลองถูก และการแปรรูปกาแฟก็เป็นงานที่ใช้เวลามาก กาแฟที่เก็บมาในตอนเย็นจะถูกตำด้วยมือเพื่อเตรียมขายในวันถัดไป ช่วงนั้นชาวบ้านยังไม่รู้จักการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ส่วนใหญ่ปลูกข้าวไร่เพื่อกินเอง ไม่มีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เหมือนในปัจจุบัน รายได้แทบไม่มี บางครั้งต้องนำข้าวที่เก็บได้ไปแลกเปลี่ยนพืชผักกับเพื่อนบ้าน

มอโก้โพคีกัลฟ์
ฟังเรื่องราวการปลูกกาแฟและพืชเชิงเดี่ยวจากเบญจาและปราณี

ความมุ่งมั่นของพ่อที่มีต่อกาแฟ

แม้ว่าจะเป็นเรื่องยาก แต่พ่อยังคงปลูกกาแฟอย่างต่อเนื่องและขยายพื้นที่ปลูกจนมีหลายร้อยไร่ ไร่หนึ่งมีต้นกาแฟประมาณพันต้น แต่การเดินทางไปขายกาแฟในตอนนั้นลำบากมาก ถนนหนทางไม่สะดวก ไม่มีมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ ทุกครั้งที่ขายกาแฟต้องแบกกระสอบกาแฟเดินเท้าไปยังแม่เทย ระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร

โชคดีที่หัวหน้าวิชัย ซึ่งเป็นหัวหน้าป่าไม้ในตอนนั้นช่วยสนับสนุนชาวบ้านอย่างเต็มที่ เขาไม่เพียงแนะนำให้ปลูกกาแฟ แต่ยังช่วยจัดการเรื่องการขายด้วย บางครั้งเมื่อชาวบ้านต้องการเงินด่วน หัวหน้าก็ออกเงินให้ก่อน ทั้งที่เขาไม่ได้ประกอบอาชีพค้าขายกาแฟเลย แต่ทำด้วยใจที่ต้องการช่วยเหลือ

มอโก้โพคี
จุดติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อเสาสัญญานโทรศัทพ์

ความอดทนและเหตุผลที่ไม่ยอมแพ้

ช่วงแรก ๆ ราคากาแฟอยู่ที่เพียงกิโลกรัมละ 60 บาท และต้องรอเงินนานถึง 4-5 เดือน ทำให้ชาวบ้านหลายคนเริ่มท้อ แต่เมื่อผมถามพ่อว่า “ทำไมถึงยังปลูกกาแฟ ทำไมไม่เลิกปลูกแล้วเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น” พ่อบอกผมว่า

“เราอยู่กับป่า เราต้องอยู่ให้ได้ บ้านเราป่ายังสมบูรณ์ เราไม่จำเป็นต้องปลูกอย่างอื่นที่ทำลายป่า เราอย่าไปตัดเสียดายป่า กาแฟเหมือนข้าวไร่ ปีหนึ่งถึงจะได้กิน แต่สักวันมันจะมีค่า”

มอโก้โพคี

เหตุผลสำคัญของกาแฟมอโก้โพคี

กาแฟจากดอยมอโก้โพคีไม่ใช่แค่ผลผลิตทางการเกษตร แต่เป็นทางเลือกที่ช่วยรักษาป่าไม้ให้อยู่คู่กับชุมชนต่อไป พ่อปลูกกาแฟด้วยความมุ่งมั่นที่จะรักษาป่าอันสมบูรณ์ ไม่ต้องการทำลายธรรมชาติหรือพื้นที่ป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพดเหมือนพื้นที่อื่น ๆ

แม้จะต้องอดทนและเผชิญความยากลำบาก แต่กาแฟดอยมอโก้โพคีเป็นผลผลิตแห่งความยั่งยืนที่เชื่อมโยงผู้คนกับป่าไม้ และยังเป็นมรดกที่พ่อได้ส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังอย่างผม ด้วยความเชื่อมั่นว่าสักวันหนึ่งสิ่งที่ทำจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า

มอโก้โพคี
ปัจจุบันคุณพ่อของผู้ใหญ่ชาญชัย ได้บวชและจำพรรษาอยู่ที่ พระมหาธาตุเจดีย์ศรีสังวาลย์ (โฆ๊ะขะแนจื้อ)

หากใครที่สนใจชิมกาแฟเพื่อร่วมรักษาป่าเขาไปกับดอยมอโก้โพคี สามารถสั่งซื้อได้ที่ Shopee กาแฟดอยมอโก้ และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของกัลฟ์ได้ที่ Facebook: GULF Energy Development และ GULF SPARK 

ขอบคุณ 
บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอจี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ กัลฟ์
EXPLORER: ตู่-ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
PHOTOGRAPHER: โต้-ณัฐวรรธน์ ไทยเสน

ไตรรัตน์ ทรงเผ่า

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *