Type and press Enter.

วิธีคิดของผู้ก่อตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนา ที่พร้อมพัฒนาคนให้ดีกว่าเดิม

คุยกับ อาจารย์มีชัย วีระไวทยะ ถึงแนวคิดการสร้าง โรงเรียนมีชัยพัฒนา ให้เป็นสถานที่สามารถพัฒนาทั้ง “ความรู้” และ “ความเป็นคน” โดยไม่ต้องจ่ายค่าเทอมเป็นเงิน แต่ต้องทำความดีทดแทน

ปัจจุบันค่าเล่าเรียนในระบบการศึกษาของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในโรงเรียนเอกชน ในขณะที่โรงเรียนในสังกัดรัฐบาลยังคงดำเนินตามนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้หลายคนตั้งคำถามสำคัญว่า เราจะสามารถหาโรงเรียนเอกชนที่มีหลักสูตรคุณภาพสูง ที่ส่งเสริมทั้งความรู้และการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน โดยไม่ต้องแบกรับค่าเทอมที่สูงลิ่วได้หรือไม่ และถ้าได้ จะหาได้จากที่ใด

การศึกษาไม่ควรเป็นเพียงเรื่องของการเรียนวิชาการในห้องเรียนเท่านั้น แต่ควรเป็นพื้นที่ที่เด็ก ๆ ได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้าน ทั้งด้านความรู้ ทักษะชีวิต และคุณค่าทางจิตใจ ซึ่งโรงเรียนที่มีคุณสมบัติดังกล่าวมักเป็นโรงเรียนที่มีค่าใช้จ่ายสูง จึงกลายเป็นข้อจำกัดสำคัญสำหรับครอบครัวรายได้น้อย

มีชัย วีระไวทยะ
อาจารย์มีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนา

แต่คุณเชื่อไหมว่า…มีโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งที่สามารถพัฒนาทั้ง “ความรู้” และ “ความเป็นคน” โดยไม่ต้องจ่ายค่าเทอมเป็นเงิน แต่ต้องทำความดีจ่ายเป็นค่าเล่าเรียนทั้งนักเรียนและผู้ปกครอง…

ผมพบเจอโรงเรียนนี้เมื่อครั้งมาเดินเที่ยวงาน Sustainability Expo 2024 จัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ส่วนโรงเรียนเปิดการเรียนการสอนอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพียงแค่เดินผ่านแล้วพบข้อความที่ว่า “จ่ายค่าเทอมด้วยการทำความดีกับปลูกต้นไม้” ลูกปลูก 400 ต้น พ่อแม่ปลูกอีก 400 ต้น ทำความดี 400 ชั่วโมง พ่อแม่ 400 ชั่วโมง

เพียงเท่านี้บุตรหลานของเราก็สามารถเข้าเรียนได้แล้ว จนนำไปสู่การพูดคุยกับผู้ก่อตั้งโรงเรียนอย่าง อาจารย์มีชัย วีระไวทยะ ถึงแนวคิดและแรงบันดาลใจในการก่อตั้ง โรงเรียนมีชัยพัฒนา

มีชัย วีระไวทยะ
มีชัยพัฒนา
มีชัย วีระไวทยะ
มีชัยพัฒนา

จุดเริ่มต้นของโรงเรียนมีชัยพัฒนา

การเดินทางของโรงเรียนมีชัยพัฒนาเริ่มต้นจากความตั้งใจของ อาจารย์มีชัย วีระไวทยะ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้ก้าวข้ามการเรียนในห้องเรียนแบบเดิม ๆ และสร้างสิ่งที่ตอบสนองทั้งชีวิตและอาชีพในอนาคตของนักเรียน พร้อมกับเชื่อมโยงการพัฒนาชุมชนเข้ากับการศึกษา 

“แรงบันดาลใจที่สำคัญคือ เราต้องการพิสูจน์ว่าโรงเรียนสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณค่า ไม่ใช่แค่สำหรับนักเรียน แต่สำหรับคนในชุมชนทั้งหมด” อาจารย์กล่าว 

มีชัยพัฒนา

แนวคิดที่แตกต่าง

โรงเรียนมีชัยพัฒนามีแนวคิดที่แตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป คือการผสมผสานการศึกษาวิชาการเข้ากับการสอนทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ โดยเน้นให้นักเรียนมีคุณธรรม รู้จักแบ่งปัน และพร้อมที่จะเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม (Change Maker) 

“เราอยากให้เด็กเรียนรู้ชีวิตจริง เช่น การทดลองนั่งรถเข็นหนึ่งวันต่อเดือน เพื่อให้เข้าใจความลำบากของคนอื่น ไม่ใช่เพียงเพื่อสงสาร แต่เพื่อสร้างความเข้าใจที่แท้จริง”   

มีชัยพัฒนา
มีชัยพัฒนา

ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม

โรงเรียนไม่เพียงแต่สอนให้เด็กเรียนรู้ในเชิงทฤษฎี แต่ยังมุ่งเน้นการลงมือทำ เช่น การจัดทำแปลงผัก ฟาร์มธุรกิจ และการเรียนรู้ด้านการประกอบอาชีพ นักเรียนสามารถสร้างรายได้ในระหว่างเรียน พร้อมกับพัฒนาทักษะที่ช่วยให้พวกเขากลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ 

“เราได้ขยายแนวคิดไปยังโรงเรียนอื่นๆ กว่า 240 แห่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน เพื่อสร้างฟาร์มธุรกิจและโครงการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน” 

มีชัยพัฒนา
มีชัยพัฒนา
ส่วนหนึ่งของนักเรียนปัจจุบันของโรงเรียนมีชัยพัฒนา

เป้าหมายต่อไปวัดและเรือนจำ กับการเชื่อมโยงเพื่อพัฒนาชุมชน

แนวคิดของอาจารย์มีชัยยังครอบคลุมถึงการใช้ทรัพยากรในชุมชน เช่น วัดและเรือนจำเป็นศูนย์กลางในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ผู้สูงอายุที่ไม่มีที่พัก สามารถอาศัยในวัด ปลูกผัก และมีรายได้เสริม ขณะที่ผู้ต้องขังในเรือนจำได้รับการฝึกทักษะอาชีพเพื่อให้มีโอกาสในสังคม 

“เราสอนให้ทุกคนเห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในจุดใดของสังคม การเปลี่ยนแปลงสามารถเริ่มต้นได้เสมอ” 

มีชัยพัฒนา

ความท้าทายและก้าวข้ามอุปสรรค

ในช่วงเริ่มต้น อาจารย์มีชัยยอมรับว่าการก่อตั้งโรงเรียนมีความท้าทาย ทั้งในแง่ของทุนทรัพย์และการยอมรับจากสังคม แต่ด้วยความเชื่อมั่นในแนวคิดและการสนับสนุนจากพันธมิตร อุปสรรคต่าง ๆ ก็ถูกแก้ไข 

“เราทำทุกอย่างเพื่อแสดงให้เห็นว่าโรงเรียนคือประตูสู่การพัฒนาที่แท้จริงในชุมชน ไม่ใช่แค่สถานที่ให้ความรู้” 

โรงเรียนมีชัยพัฒนาไม่ใช่แค่โรงเรียน แต่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่สร้างคน สร้างชุมชน และสร้างสังคมที่ดีขึ้น วิสัยทัศน์ของอาจารย์มีชัยไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงชีวิตของนักเรียน แต่ยังสร้างแบบอย่างที่ทรงคุณค่าสำหรับประเทศไทยและทั่วโลก 

“โรงเรียนคือรากฐานของการเปลี่ยนแปลง หากเราลงทุนกับเด็ก เราก็กำลังลงทุนกับอนาคตของเราเอง” อาจารย์มีชัยกล่าวทิ้งท้ายก่อนจบบทสนทนา

มีชัยพัฒนา

EXPLORER: อาจารย์มีชัย วีระไวทยะ
AUTHOR: ตู่-ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
PHOTOGRAPHER: ศุภกร ศรีสกุล

ไตรรัตน์ ทรงเผ่า

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *