นี่คือภาพเบื้องหลังที่พวกเราชาว บ้านและสวน Explorers Club และ National Geographic ฉบับภาษาไทย ชวนกันลงพื้นที่ไปสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ ใน อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อทำการผลิตสารคดีท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พร้อมตามติดภารกิจสำคัญของ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ผ่านการพบปะกับกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังตัวจริง ในการทำงานอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ บนรอยต่อของเขตอุทยานแห่งชาติ และพื้นที่พักอาศัยของชุมชนโดยรอบในอำเภอสามร้อยยอด ที่ต่างอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นเวลา 2 วัน 1 คืน เมื่อวันที่ 26-27 สิงหาคมที่ผ่านมา
เช้าวันแรก การทำงานของเราเริ่มต้นที่หาดบางปู โดยนัดกันขึ้นเรือล่องทะเลอ้อมเขาไปยังหาดแหลมศาลา แทนการเดินเท้าซึ่งช่วยร่นระยะเวลาในเดินทางลงได้มาก จากชั่วโมงเหลือสิบนาที โดยมี แวนชัย ประมาณ ช่างภาพสัตว์ป่า พร้อมด้วย มะเดี่ยว – วรพจน์ บุญความดี นักธรรมชาติวิทยา คณะเจ้าหน้าที่และนักวิชาการจาก สผ. นำทีมสำรวจ
หาดแหลมศาลาเป็นชายหาดที่มีเม็ดทรายขาวสะอาด บรรยากาศสงบเงียบ โอบล้อมด้วยป่าสนและเขาหินปูนที่มีลักษณะเป็นรูปตัว U โดยมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติขึ้นชื่อเป็นจุดหมาย นั่นคือการเดินขึ้นไปสำรวจศิลปะธรรมชาติ และระบบนิเวศภายในถ้ำพระยานคร ส่วนหนึ่งของเขาสามร้อยยอด ซึ่งเป็นภูเขาหินปูนยุคเพอร์เมียน-คาร์บอนิเฟอรัส ที่ก่อตัวขึ้นเมื่อราว 280 – 230 ล้านปีก่อน
และถ้ำพระยานคร ก็คือศิลปกรรมธรรมชาติที่ผ่านการรังสรรค์ความงามโดยศิลปินที่ชื่อสายลม แสงแดด และหยดน้ำ จนมีลักษณะทางธรณีอย่างที่เห็น เช่น การเกิดหินงอก หินย้อย และหลุมยุบ หรือ Sinkhole ซึ่งเป็นธรณีพิบัติภัยที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในภูมิประเทศที่เป็นหินปูนเช่นนี้ (มะเดี่ยวเล่าเรื่องนี้และวิธีสังเกตเอาไว้ในวีดีโอตัวเต็ม แอบบอกว่าสนุกมาก รอติดตามในอีกไม่นานจากนี้)
วันต่อมาเราตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อนั่งเรือล่องไปสำรวจทุ่งสามร้อยยอด หรือบึงบัว หนึ่งในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (แรมซาร์ไซต์) จาก 15 แห่งของไทย นอกจากนี้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ปี พ.ศ. 2553 คณะรัฐมนตรียังมีมติเห็นชอบให้พื้นที่แห่งนี้มีศักยภาพเป็นพื้นที่เครือข่ายนกน้ำอพยพด้วยเช่นกัน
ทุ่งสามร้อยยอด มีสังคมพืชอันหลากหลาย อาทิ แขม อ้อ แห้วทรงกระเทียม บัวหลวง บัวสาย และบัวเผื่อน เป็นแหล่งอาศัยของนกน้ำท้องถิ่นหลากชนิด เช่น นกอีโก้ง นกเป็ดผีเล็ก นกอีล้ำ นกกาน้ำเล็ก นกกระสาแดง รวมถึงเป็นจุดพักของนกอพยพอย่าง นกกระสานวล เป็ดลาย เป็ดหางแหลม เป็นต้น และเมื่อต้นปีที่ผ่านมามีรายงานว่าพบฝูงนกเป็ดลายนับพันตัวเข้ามาในพื้นที่ทุ่งสามร้อยยอดแห่งนี้ นี่คือเหตุผลสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหาร และการเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการพักพิงชั่วคราวในระหว่างการอพยพของนก เพื่อชาร์ตพลังก่อนเดินทางต่อไป
ในขณะที่นักท่องเที่ยวและคนในชุมชนโดยรอบสามารถมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ภายใต้แผนการบริหารจัดการพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด นี่คือการล่องเรือไปแลธรรมชาติ แลวิถีชีวิตของคน และวิถีชีวิตของสัตว์ป่าในคราวเดียวกัน
จากนั้นในยามบ่ายเรานั่งรถกระบะของ นิรุตต์ ท้าวโกษา ลัดเลาะเข้าไปในทุ่ง เพื่อดูร่องรอยของเสือปลา (Fishing Cat) สัตว์ในวงศ์เสือและแมว (Felidae) ซึ่งเป็นนักล่าขนาดเล็กบนชั้นสูงสุดของห่วงโซ่อาหารในแหล่งพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่ปัจจุบันอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง จำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ลำดับที่ 183 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
และนี่คือหนึ่งในภารกิจหลักของ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ทำงานร่วมกับ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร องค์การแพนเทอรา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด และชาวบ้านในชุมชนโดยรอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด โดยมีกลไกทางการเงิน ผ่านกองทุนสิ่งแวดล้อมจาก สผ. เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุน และสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์จำนวนประชากรเสือปลาอย่างจริงจัง
การสร้างแนวทางปฏิบัติ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเสือปลา ดำเนินการขับเคลื่อนแก้ปัญหาความขัดแย้ง พร้อมส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนและยกระดับผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนที่เป็นมิตรต่อเสือปลา เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีต่อเสือปลา และเล็งเห็นคุณค่าของเสือปลา เพื่อให้ชุมชนกับเสือปลาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมเรื่องการศึกษา โดยการจัดค่ายเยาวชนเพื่อผลักดันเรื่องบรรจุในแผนการศึกษาของโรงเรียนในพืนที่ ตลอดจนการพัฒนาศูนย์เรียนรู้เรื่องราวของเสือปลาในพื้นที่เขาสามร้อยยอด ซึ่งเป็นสารพัดแนวทางที่จะทำให้เสือปลากับชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน เนื่องด้วยเสือปลามีความสำคัญในฐานะผู้รักษาสมดุลของธรรมชาติและการควบคุมประชากรสัตว์น้ำและหนูในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยเสือปลามักอาศัยและหาหินอยู่ในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำรงชีพ
ทว่าในการลงพื้นที่ของพวกเราครั้งนี้ เราเห็นเพียงรอยเท้าและกองมูลใต้เพิงเล็ก ๆ ริมทุ่งที่พวกมันขับถ่ายทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้าเท่านั้น โอกาสที่เราจะได้เห็นเสือปลาจัง ๆ ในเวลากลางวันนั้นแทบเป็นศูนย์ แม้กระทั่งตัวนักวิจัยในพื้นที่เองที่ทำงานอนุรักษ์เสือปลามาตลอดหลายปี ก็ยังแทบไม่สามารถมองเห็นเสือปลากับตา นอกเหนือไปจากภาพที่บันทึกได้จากกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Camera trap) ในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นเวลาที่เสือปลามักออกมาหาหนู นก และปลากินเป็นอาหาร
ก่อนกลับเราได้ล่องเรือไปชมความสวยงามของธรรมชาติในเทือกเขาแมว โดยมีคนขับเรือนำเที่ยวแห่ง ชุมชนท่องเที่ยวบ้านเกาะมอญ-เกาะไผ่ เป็นผู้นำพาเราไปชมตะวันลับฟ้าผ่านถ้ำเขาจูบกัน สืบเสาะร่องรอยฟอสซิลหอยที่ฝังลึกลงบนพื้นผิวหินปูน ซึ่งเป็นหลักฐานที่บ่งบอกถึงอดีตได้ว่าก่อนพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้จะกลายเป็นทุ่งน้ำจืดผืนใหญ่นั้นเคยจมทะเลมาก่อน ทั้งหมดนี้เป็นบางส่วนจากความหลากหลายทางชีวภาพที่เราได้พบ
กิจกรรมต่อเนื่องจาก Exclusive Trip #04 ยังไม่จบเพียงเท่านี้ ภาพและข้อมูลจากการลงพื้นที่สำรวจของพวกเราในครั้งนี้ จะถูกนำไปเล่าผ่านนิทรรศการ ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ สายสัมพันธ์แห่งความงามของสามร้อยยอด’ นิทรรศการที่จะย่อยข้อมูลเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพจากการลงสำรวจพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด พร้อมถ่ายทอดภารกิจหลักของ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในการทำงานร่วมกับองค์กรและชุมชนในพื้นที่ ให้ผู้ชมงานเข้าใจง่ายผ่านตัวอักษร ภาพถ่าย และวีดีโอบนจอ LED ตลอด 10 วันเต็มในงานบ้านและสวนแฟร์ Living Festival 2024 โซน Explorers Club Base Camp ซึ่งงานนี้จะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน 2567 ที่อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ 1-3 เมืองทองธานี
และฝากติดตามชมวีดีโอตัวเต็มของสารคดีท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งจะเผยแพร่ลงในสื่อออนไลน์ของ บ้านและสวน Explorers Club, National Geographic ฉบับภาษาไทย และช่วงวาไรตี้ ของรายการ บ้านและสวน TV ทาง AMARIN TV HD | อมรินทร์ทีวี ช่อง 34 ในเร็ว ๆ นี้
EXPLORERS:
เจ้าหน้าที่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
ตอม – สุเมธ จันทร์สวย นักวิชาการเผยแพร่
มิ๊ก – พงศ์วรุตม์ ธีระวัฒน์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการ
คิว – สิขรินทร์ รัตนภิรมย์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านประชาสัมพันธ์
เดช – สุรเดช สมใจหมาย นักวิเคราะห์นโยบายและแผน
วิทยากร
มะเดี่ยว-วรพจน์ บุญความดี นักธรรมชาติวิทยา
แวนชัย ประมาณ ช่างภาพสัตว์ป่า
ผู้ดำเนินรายการ
บาส – บดินทร์ บำบัดนรภัย จาก บ้านและสวน Explorers Club
สมาชิกประจำบ้านและสวน Explorers Club, National Geographic ฉบับภาษาไทย และทีมช่างภาพส่วนกลางของ AME
ผู้ร่วมทริป
วุฒิ – สารวุฒิ นัยปรีดา
เช – นัสสรณ์ ชนาธิปพิตรพิบูล
ครูเหน่ง – รวิภา เชี่ยวสกุล
เบส – วรพล ตะเภาพงษ์
SPECIAL THANKS:
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
พงศธร พร้อมขุนทด
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด
สุเทพ แสงขาว
หัวหน้าหน่วยอุทยานถ้ำพระยานคร
เกรียงไกร ทิมแท้
หัวหน้าหน่วยศูนย์ศึกษาธรรมชาติบึงบัวสามร้อย
ผกากรอง เหมือนสุวรรณ
รองหัวหน้าหน่วยศูนย์ศึกษาธรรมชาติบึงบัวสามร้อย
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ปารีณา ธนโรจนกุล
ภัสราภรณ์ ล้อประกานต์สิทธิ์
นิรุตต์ ท้าวโกษา
ที่ปรึกษากลุ่มเด็กรักษ์ทุ่ง โรงเรียนสามร้อยยอดวิทยาคม
ผู้เชี่ยวชาญงานศึกษาและอนุรักษ์เสือปลา
ธชารัฐ มุตตามระ
เจ้าของร้านอาหารยกซดซีฟู้ด
แดง-สมคิด พ่วงแพ
ประธานวิสาหกิจชุมชนและที่ปรึกษาชุมชนท่องเที่ยวบ้านเกาะไผ่-เกาะมอญ
กุลพัฒน์ ศรลัมพ์
ช่างภาพอิสระ ผู้ถ่ายภาพเสือปลา