“The Lost King” เรื่องราวของราชาที่สูญหาย ความคลั่งไคล้บวกความบังเอิญและความตั้งใจ ทำให้พระราชาที่สูญหายถูกพบเจอ
สมัยผู้เขียนเป็นนักเรียน เคยเป็นไม้เบื่อไม้เบากับวิชาประวัติศาตร์ รู้สึกว่าวิชานี้น่าเบื่อ ต้องท่องจำว่าปีไหนเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เหมือนกับต้องท่องจำตามตำรา เรายังถูกสอนว่ามีคนนี้เป็นตัวร้าย ตัวดี การศึกษายุคสมัยของผู้เขียนจะมีผู้กำหนดประวัติศาสตร์และบางเรื่องก็ไม่อยู่ในตำราเรียนของเรา
เมื่อพิจารณาดี ๆ เราก็จะพบว่าเป็นเส้นบาง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายและทำให้เรียนรู้ไม่รอบด้าน จนมาถึงวันที่ผู้เขียนกลายเป็นมนุษย์แม่ที่มีลูกวัยประถมแล้ว จึงอยากปลูกฝังให้ลูกรู้สึกว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว สนุกและอยากให้เด็กได้ศึกษาประวัติศาสตร์แบบที่มีหลักฐานอ้างอิงรอบด้าน
คราวนี้สองแม่ลูกสายเลือดไทย-สกอตจึงออกเดินทางไปเมืองเลสเตอร์ (Leicester) อังกฤษเพื่อให้หนูน้อยได้เห็นแง่มุมที่หลากหลายของประวัติศาสตร์ในแบบที่เรียนรู้จากสถานที่จริง
ขอเล่าย้อนไปเมื่อสิบปีก่อน ผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อังกฤษน่าจะจดจำได้ถึงพระราชาหลังค่อม ขี้ขลาดและถูกกล่าวหาว่าเป็นทรราชย์ มีจิตใจชั่วช้าคิดคดทรยศต่อพี่ชายแท้ๆ และน่าจะอยู่เบื้องหลังปริศนาการสิ้นพระชนม์ของหลานชายรัชทายาทวัยเยาว์ กษัตริย์พระองค์นี้คือพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ( Richard III ) แห่งราชวงศ์ยอร์กที่กวีเอกของโลก วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) ได้เขียนบทละครและสร้างตัวตนของพระราชาดุร้ายขึ้นมาอ้างอิงตามบันทึกทางประวัติศาสตร์
ทว่าบทละครเรื่องนี้ถูกโต้แย้งหนักหน่วงจากเอฟซีพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ที่ไม่เชื่อเสียงลือเสียงเล่าอ้างดังกล่าวและได้ตั้งตัวขึ้นมาเป็นกลุ่มริชาร์ดเดี้ยน (Richardian) หรือกลุ่มผู้นิยมพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 เพื่อสืบหาความจริงเกี่ยวกับพระองค์ที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีมาตลอดห้าศตวรรษ โดยมีฟิลลิปปา แลงก์ลีย์ คุณแม่ลูกสองชาวเมืองเอดินบะระแห่งสกอตแลนด์เป็นหัวเรือใหญ่ในการตามล่าหาความจริงเกี่ยวกับพระราชาที่ครองราชย์เพียงสองปี
ต้นเหตุของการสืบเสาะค้นหาครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะฟิลลิปปาได้เข้ามาเป็นแฟนคลับของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 และกลุ่มนี้ยังเป็นเอฟซีสายเปย์ที่ได้ระดมเงินค่าใช้จ่ายประมาณสองล้านบาทเพื่อทำการขุดค้นหาพระอัฐิของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 โดยฟิลลิปปาเป็นหัวเรือใหญ่ที่ใช้เวลาเกือบสิบปีในการรณรงค์และผลักดันให้มีการค้นหาพระอัฐิสัณฐานจากสัมผัสพิเศษของเธอสำหรับภารกิจระดับโลกนี้
นี่เองคือที่มาของมหากาพย์การขุดค้นพบพระอัฐิและการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 และได้ถ่ายทอดออกมาผ่านภาพยนตร์เรื่อง The Lost King (ชื่อไทยคือกษัตริย์ที่สาบสูญ) ได้ฉายครั้งแรกเมื่อสองปีที่แล้ว (พ.ศ. 2565) อ้างอิงถึงเรื่องจริงจากการขุดค้นพระอัฐิสัณฐานของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ที่อยู่ใต้ลานจอดรถของเทศบาลเมืองเลสเตอร์หลังจากที่สูญหายมานานกว่า 500 ปี
ชีวิตพิศวงของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3
พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 พระมหากษัตริย์ในยุคกลางของอังกฤษเมื่อ 530 ปีที่แล้ว ตรงกับยุคสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระองค์คือโอรสองค์สุดท้าย (ลูกคนที่แปด) ของดยุคแห่งยอร์คและทรงขึ้นครองราชย์ช่วงสั้นๆ ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ถือเป็นยุคแย่งชิงอำนาจอย่างดุเดือดระหว่างตระกูลยอร์กที่มีกุหลาบขาวเป็นสัญลักษณ์กับตระกูลแลงคัสเตอร์ฝ่ายกุหลาบแดง ทำให้เกิดสงครามภายในที่มีชื่อว่าสงครามดอกกุหลาบ (War of the roses) สองตระกูลใหญ่นี้ได้ทำสงครามสู้รบ 17 ครั้งในเวลา 32 ปี ตั้งแต่ปีค.ศ. 1455-1487 สุดท้ายฝ่ายแลงแคสเตอร์เป็นผู้ชนะและได้ตั้งราชวงศ์ทิวดอร์ขึ้น ส่วนพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ก็กลายเป็นกษัตริย์อังกฤษองค์สุดท้ายของราชวงศ์ยอร์ก การสวรรคตของพระองค์ได้ยุติสงครามนองเลือดอันยาวนาน
พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ถือเป็นกษัตริย์อังกฤษที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในอังกฤษแต่ในขณะเดียวกันก็เป็นที่เข้าใจน้อยที่สุดตรงตามข้อมูลของคริส สคิดมอร์ (Chris Skidmore) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษที่ยืนยันว่าชีวประวัติของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 เป็นกษัตริย์ยุคกลางยังคงเป็นปริศนาและมีข้อถกเถียงมาก
ดูเหมือนว่าเมื่อห้าร้อยปีก่อน บันทึกประวัติศาสตร์ของฝ่ายราชวงศ์ทิวดอร์ได้สร้างภาพลักษณ์ให้พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ให้ดูเลวร้าย เป็นเหตุให้เชกสเปียร์ได้นำเอาข้อมูลจากบันทึกดังกล่าวไปนำเสนอเป็นบทละครที่ชื่อ ‘Richard III’ (พระเจ้าริชาร์ดที่ 3) ผลงานโด่งดังชั่วข้ามคืนที่มาพร้อมกับฉายาว่า “ริชาร์ดหลังค่อม” อำมหิตผิดมนุษย์ สั่งสังหารญาติพี่น้องเพื่อแสดงหาอำนาจ จนกลายเป็นตัวร้ายที่สุดในสังคมชนชั้นสูง
ในปีค.ศ. 1924 กลุ่มผู้นิยมพระเจ้าริชาร์ด 3 ที่มีสมาชิกทั่วโลกมากกว่า 3,000 คนที่ไม่เห็นด้วยกับบันทึกประวัติศาสตร์และไม่เชื่อในบทละครของกวีเอกของโลก จึงพยายามหาทางตรวจสอบหลักฐานใหม่ ในขณะที่อังกฤษก็ประกาศหลักฐานชันสูตรใหม่ตามหลักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโครงกระดูกของเด็กชายสองคนในหอคอยแห่งลอนดอนที่ถูกค้นพบตั้งแต่ปีค.ศ. 1670 เชื่อกันว่าโครงกระดูกดังกล่าวเป็นของเจ้าชายน้อยสองพระองค์ที่เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ผู้เป็นพระเชษฐา (พี่ชาย) ของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 หลักฐานชิ้นนี้ได้ปลุกกระแสกระพือถึงความโหดร้ายของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ขึ้นมาอีกครั้ง
ทางเอฟซีได้ออกมาตอบโต้ด้วยการอ้างอิงถึงเว็บไซต์ราชวงศ์อังกฤษที่ระบุถึงสาเหตุที่ริชาร์ดที่ 3 ปลดหลานชายรัชทายาทออกจากบังลังก์ เนื่องจากพบหลักฐานว่าเป็นลูกนอกสมรสของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ทว่าถึงตอนนี้ก็ไม่มีหลักฐานแน่ชัดถึงการเสียชีวิต ทำให้นักประวัติศาสตร์สมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 7 แห่งราชวงศ์ทิวดอร์ได้เขียนบันทึกในฐานะผู้ชนะสงครามว่า พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ทรงสั่งประหารหลานๆ และตั้งตนเป็นกษัตริย์
ข่าวลือยังกระพือต่อไปอีกว่า เมื่อพระองค์สวรรคตในสนามรบทุ่งบอสเวิร์ธ ก็ไม่มีใครเหลียวแลพระศพซึ่งถูกลากร่างเปลือยไปทั่วเมืองเพื่อประจานแก่สาธารณชน ข่าวลือนี้ก็ได้อยู่ในบทละครของเชกสเปียร์เพื่อตอกย้ำว่าที่พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 มีชีวิตสุดรันทดวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
พระมหากษัตริย์ในลานจอดรถ
ภารกิจค้นหากษัตริย์ผู้สูญหายได้ถูกถ่ายทอดลงจอภาพยนตร์เรื่อง The Lost King ในสไตล์หนังฮีลใจของแดนผู้ดีที่ได้เผยถึงความอบอุ่นในครอบครัวแม้นางเอกแม่เลี้ยงเดี่ยว (ฟิลลิปา) จะแยกทางกันอดีตสามีแล้วแต่ก็ยังช่วยเหลือให้กำลังใจกันและกันตลอดทั้งเรื่อง
หนังเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวในศตวรรษที่ 15 ผ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และได้ถ่ายทอดเรื่องราวการแสวงหาอำนาจจากการค้นพบโครงกระดูกของกษัตริย์ในลานจอดรถอย่างเชือดเฉือนกันตามสไตล์ผู้ดีอังกฤษ เนื้อเรื่องผูกโยงกับการแสวงหาประโยชน์ทางธุรกิจผ่านทางวิชาการรวมถึงการต่อสู้เชิงอัตตาของคนในวงการต่างๆ เช่น นักโบราณคดี บุคลากรมหาวิทยาลัยและของรัฐบาล
ฉากในหนังที่จุดประกายให้นางเอกฟิลลิปปาเริ่มสืบเสาะหาความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ก็คือ เธอได้ชมซีนสำคัญในบทละครและได้ยินนักแสดงที่เล่นเป็นกษัตริย์ริชาร์ด ตะโกนขึ้นว่าก่อนถูกสังหารและถูกนำศพแห่ประจานไปทั่วเมืองตามตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์อังกฤษ ว่า “A horse! a horse! my kingdom for a horse!” ( แปลว่า ขอม้าหนึ่งตัวแลกกับอาณาจักรของข้า )
ฟิลลิปปาไม่เชื่อในข้อกล่าวหาและบันทึกทางประวัติศาสตร์ได้สร้างตัวตนประหลาดๆ ให้พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ทำให้ต่อมเอ๊ะๆๆ ของเธอดังกึกก้องอยู่ในหัวอยู่ตลอด เธออ้างว่า กษัตริย์พระองค์นี้เป็นผู้กล่าววาทะสำคัญไว้ว่า “ผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษา” แล้วทำไมเราจึงได้กล่าวหาพระองค์โดยปราศจากหลักฐานที่ชัดเจนเล่า คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวยังได้กล่าวถึงหลักฐานจากภาพใบหน้าของริชาร์ดที่ 3 ที่ดูน่ากลัวคล้ายอสุรกายเนื่องจากมีการรีทัชให้รูปภาพบิดเบี้ยว คาดว่านี่เป็นคำสั่งของราชวงศ์ทิวดอร์
สาวมั่นอย่างฟิลิปปาจึงมุ่งหวังที่จะค้นหาพระอัฐิสัณฐานของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 โดยได้นำข้อมูลเมื่อปีค.ศ. 1968 ของอาจารย์เดวิด บัลด์วิน ที่ได้บันทึก ถึงตำแหน่งฝังพระศพของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 อยู่บริเวณสวนของบ้านพักส่วนตัวของโรเบิร์ต แฮร์ริค นายกเทศมนตรีเมืองเลสเตอร์ (ช่วงปีค.ศ. 1584-1605) ที่น่าสนใจก็คือบันทึกของคริสโตเฟอร์ เรน (Christopher Wren) ผู้ที่มาเป็นติวเตอร์สอนหนังสือให้หลานชายท่านนายกฯ ระบุว่า บริเวณสวนของบ้านนี้มีเสาหินที่เขียนจารึกตำแหน่งที่ฝังศพของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 จึงมีข้อสันนิษฐานว่าพื้นที่บ้านน่าจะเป็นโบสถ์เกรย์ไฟรอาร์ส โบสถ์โบราณที่ถูกทำลายไป พื้นที่แห่งนี้มีการขายทอดเปลี่ยนผู้ถือครองหลายคน จนกระทั่งตกเป็นของสภาเทศบาลเมืองเลสเตอร์และได้นำมาสร้างเป็นลานจอดรถในปีค.ศ. 1920
สาวชาวสกอตนักวิเคราะห์จึงตัดสินใจเดินทางมายังเมืองเลสเตอร์ในปีค.ศ. 2004 เธอเดินเข้าไปที่ลานจอดรถของสภาเทศบาล ทันใดนั้น เธอก็รู้สึกขนลุกซู่และเกิดความรู้สึกแปลกๆ ที่อธิบายไม่ได้ เธอรู้สึกราวกับว่ากำลังยืนอยู่บนหลุมฝังศพของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 หนึ่งปีต่อมา เธอก็กลับไปสถานที่เดิมอีกครั้ง คราวนี้เธอสังเกตเห็นพื้นที่ที่ทำให้เธอรู้สึกแปลกๆ นั้น มีตัวอักษร R สีขาวที่ใช้มือเขียน (ตัวอาร์ในที่นี่ย่อจาก Reserved แปลว่าจองไว้) แต่สำหรับเธอนั้น นี่คือสัญญาณจากเบื้องบนหรือรหัสลับว่า เธอต้องค้นหาพระราชาที่หายสาบสูญให้จงได้ โดยเธอเชื่อมั่นอย่างยิ่งในสัมผัสพิเศษของเธอ โดยเชื่อว่าตัวอักษร R น่าจะหมายถึง Richard III (พระเจ้าริชาร์ดที่ 3) หรือหมายถึง Rex ที่แปลว่ากษัตริย์ในภาษาลาตินนั่นเอง
“พระราชาผู้สาบสูญ” กับตัวตนที่แท้จริง
สิบปีที่รอคอย ฝันของฟิลิปปาก็เป็นจริง เธอได้จัดหาคณะสำรวจตามหาตำแหน่งที่ฝังพระศพของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 โดยนำแผนที่โบราณมาเทียบเคียงกับผังเมืองเลสเตอร์ในปัจจุบัน จนได้ตำแหน่งที่ตั้งของโบสถ์โบราณอยู่ที่บริเวณลานจอดรถของสภาเทศบาลเมืองเลสเตอร์ ได้นำเทคโนโลยีทางธรณีวิทยาจีพีอาร์ ( GPR หรือ Ground-penetrating Radar) วิเคราะห์ลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นที่ใต้ดินบริเวณลานจอดรถ และกำหนดบริเวณหลุมขุดค้น 3 หลุม เทคนิคนี้คือการส่งคลื่นไมโครเวฟให้ทะลุผ่านใต้ดินแล้วตรวจจับคลื่นที่สะท้อนกลับ คลื่นสะท้อนนี้จะมีลักษณะเปลี่ยนไปจากคลื่นที่ส่งลงไป ขึ้นอยู่กับชั้นใต้ดิน รอยแตกหรือรอยแยก
การขุดเจาะเริ่มต้นในวันที่ 25 สิงหาคม ปีพ.ศ. 2555 ใช้เวลาเพียงวันเดียวก็ได้พบซากกำแพงเดิมของโบสถ์และขุดพบโครงกระดูกของมนุษย์ที่บริเวณของโบสถ์ที่ใช้เป็นพื้นที่สำหรับคณะนักร้องประสานเสียง โครงกระดูกที่มีกระดูกครบสมบูรณ์เกือบทั้งร่างแม้แต่ฟันก็มีครบทุกซี่ จะมีสิ่งเดียวที่หายไปคือกระดูกเท้า คาดว่าน่าจะถูกทำลายจากการก่อสร้างอาคารซ้อนทับฐานของโบสถ์เดิม โครงกระดูกไม่ปรากฏว่าถูกบรรจุอยู่ในโลงศพ
ส่วนของกระโหลกศีรษะวางอยู่ในลักษณะบิดงอจากส่วนร่างกาย น่าจะมาจากการพยายามนำศพใส่ลงไปในหลุมที่มีขนาดเล็กกว่าร่าง มือสองข้างไขว้กันและวางอยู่ที่ส่วนของสะโพกด้านขวา ลักษณะการวางมือที่ประหลาดเช่นนี้ สันนิษฐานว่ามืออาจถูกมัดขณะที่ฝัง แต่สิ่งที่ทำให้ฟิลลิปาเกิดความหวังก็คือส่วนกระดูกสันหลังมีการคดโค้งงอผิดปกติอย่างชัดเจน เชื่อมโยงกับบันทึกถึงพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ที่ว่ามีหลังค่อมบิดเบี้ยว คณะสำรวจใช้เวลาเกือบสามสัปดาห์ ก่อนจะแถลงการค้นพบโครงกระดูกไฟรอาร์ส (Greyfriars skeleton) และได้นำไปศึกษาและพิสูจน์อัตลักษณ์ที่มหาวิทยาลัยเลสเตอร์
เมื่อปีพ.ศ. 2556 มหาวิทยาลัยเลสเตอร์แห่งอังกฤษได้ประกาศข่าวว่า โครงกระดูกมนุษย์เพศชายอายุระหว่างปลาย 20 ถึง 30 ต้นที่ค้นพบนั้นคือพระอัฐิสัณฐานพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ขาดแต่เพียงกระดูกเท้าที่คาดว่าอาจเสียหายจากการก่อสร้าง โดยมีการตรวจด้วยวิธีเรดิโอคาร์บอนพบว่าเป็นโครงกระดูกเป็นของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1500 มีอายุประมาณ 500 กว่าปี พิสูจน์ลักษณะโครงกระดูกพบว่าภาวะกระดูกสันหลังคดงอไม่เหยียดตรง ไหลข้างหนึ่งจะสูงกว่าอีกข้าง ตรงกับบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ระบุว่าพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 สวรรคตในวัย 33 และทรงมีลักษณะคล้ายหลังค่อม ทั้งยังตรวจพบแผลที่กระโหลกที่คาดว่าเกิดจากการต่อสู้ในสนามรบ ตรงบริเวณกะโหลกมีร่องรอยของการถูกทิ่มแทงด้วยอาวุธคล้ายหอกหลายจุด
หนึ่งปีต่อมา นิตยสารแลนเซตซึ่งเป็นสื่อทางการแพทย์ของอังกฤษและหนึ่งในนิตยสารเก่าแก่ที่สุดของโลกเปิดเผยถึงบาดแผลที่บริเวณหัวกะโหลก 9 แผล มีสองแผลที่บริเวณกะโหลกด้านหลังเป็นแผลฉกรรจ์จากอาวุธมีคมที่แทงทะลุถึงสมอง นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์ไอโซโทปวิเคราะห์ภาวะโภชนาการเพื่อคาดเดาถึงไลฟ์สไตล์ของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 พบว่า เป็นผู้ที่กินดีอยู่ดี กินอาหารจำพวกนกหายาก เช่น หงส์ นกกระเรียน นกกระสาและดื่มไวน์อย่างน้อยวันละขวด นักวิจัยมหาวิทยาลัยเครมบริดจ์ได้นำดินจากหลุมที่ขุดพบโครงกระดูก ไปศึกษา พบว่า ดินที่บริเวณเชิงกรานของโครงกระดูกมีไข่พยาธิไส้เดือนจำนวนมาก ถ้าดูจากตำแหน่งของกระดูกเชิงกรานซึ่งตรงกับลำไส้เล็กแล้ว ก็คาดว่าไข่พยาธิที่พบน่าจะมาจากพยาธิไส้เดือนที่อยู่ในลำไส้เล็ก ทีมวิจัยให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า การที่มีพยาธิไส้เดือนเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า สุขอนามัยของคนอังกฤษในสมัยนั้นแย่มาก แต่ก็น่าจะได้รับการปรุงสุกอย่างดี เพราะไม่พบร่องรอยของไข่พยาธิอื่นๆ เช่น ไข่พยาธิตัวตืดในดิน
นับตั้งแต่นั้นมา ฟิลิปปาก็กลายเป็นเซเลบบริตี้ระดับโลกในฐานะที่เป็นนักประวัติศาสตร์โบราณคดีมือสมัครเล่น กล่าวว่า “นี่คือการค้นพบทางโบราณคดีครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษสมัยกลาง”
เมื่อข่าวการค้นพบนี้แพร่สู่สาธารณะวงกว้าง ผู้คนก็หลั่งไหลมายังเมืองเลสเตอร์ เพื่อเยี่ยมชมอนุสรณ์สถานต่าง ๆ ในเมืองที่เกี่ยวข้องกับชีวประวัติของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 เป็นไฮไลท์ของเมืองนี้พอๆ กับสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ (ของคิงพาวเวอร์)
พระเอกคนดังสายเลือดกษัตริย์ริชาร์ดที่ 3
เรื่องฮือฮาอีกเรื่องก็คือ ทีมวิจัยได้ตรวจไมโทคอนเดรียดีเอ็นเอพิสูจน์หาความสัมพันธ์ทางสายเลือดระหว่างโครงกระดูกพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 กับตัวอย่างที่เก็บจากกระพุ้งแก้มของไมเคิล อิบเซน (Michael Ibsen) ทายาทรุ่นที่ 17 ของเจ้าหญิงแอนน์แห่งยอร์ก (Anne of York) ผู้เป็นพระเชษฐภคินี (พี่สาว) ของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 สรุปว่ามีความเกี่ยวพันกันทางสายเลือดและดีเอ็นเอ ทั้งยังมีการพิสูจน์เกี่ยวกับสีตาและสีผม ทีมวิจัยคาดว่าพระราชาที่เคยสาบสูญมีตาสีฟ้าและผมสีบลอนด์ คาดการณ์ความสูงประมาณ 174 เซนติเมตรหรือต่ำกว่านั้น
ตอนที่มีการจัดพิธีฝังพระศพอย่างเป็นทางการเมื่อปีพ.ศ. 2558 พระเอกร่างสูงใหญ่ใบหน้าหล่อเหลา เบนเนดิค คัมเบอร์แบตช์ (Benedict Cumberbatch) หรือที่สาวกไทยเรียกย่อๆ ว่าพี่เบน กำลังอยู่ในกองถ่ายใส่คอสตูมชุดกษัตริย์รับบทบาทเป็นพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ในภาพยนตร์เรื่อง The Hollow Crown: The Wars of the Roses เขาได้รับอีเมลบอกข่าวเซอร์ไพรซ์ว่า เป็นญาติกับพระเจ้าริชาร์ด จึงขอเชิญไปอ่านบนกลอนเชิดชูพระเกียรติในงานฝังพระศพที่เมืองเลสเตอร์ ตามหลักฐานทางดีเอ็นเอชี้แจงว่าพี่เบนไม่ใช่ลูกหลานสายตรงแต่เป็นทายาทรุ่นที่ 16 โดยต้นตระกูลของเขาเป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระเจ้าริชาร์ดที่ 3
500 ปีไม่สาย! ตัวร้ายกลายเป็นพระเอก
ตามตำนานประวัติศาสตร์อังกฤษ กองทัพของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ตัวแทนของราชวงศ์ยอร์กประจันหน้ากับกองทัพทิวดอร์โดยมีแม่ทัพเฮนรี ทิวดอร์ ผู้สืบเชื้อสายจากตระกูลแลงแคสเตอร์ที่ลี้ภัยไปฝรั่งเศส ณ ทุ่งหญ้าสมรภูมิทุ่งบอสวอร์ธ (Battle of Bosworth field) ในสงครามชิงบัลลังก์อังกฤษและล่าดินแดน
พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ร่างผอมบางในท่วงท่าสง่างามสวมชุดเกราะและอาวุธพร้อมบนหลังม้าเมื่อทรงโบกธงสัญญาณให้กองกำลังสนับหนุนมาล้อมทัพทิวดอร์อีกฝั่งหนึ่งตามแผนการที่วางไว้ แต่กองหนุนไม่ได้มาตามนัดเนื่องจากได้แปรพักตร์ไปเข้าข้างฝ่ายทิวดอร์ที่ได้ซื้อตัวขุนนางคนสำคัญฝ่ายพระเจ้าริชาร์ดไปแล้ว
กษัตริย์หนุ่มวัย 33 ชันษาจึงต้องเผชิญชะตากรรมเพียงลำพัง ทรงยืนหยัดจะสู้รบต่อไม่ได้ถอยทัพกลับไปตั้งหลักในกำแพงเมือง ทรงต่อสู้พร้อมตะโกนปลุกเร้าทหารด้วยสุรเสียงอันดังสมกับเป็นสายเลือดพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ผู้มีสมญาว่า ‘ริชาร์ดใจสิงห์’ เพื่อสื่อถึงความกล้าหาญดุดันในการรบเยี่ยงราชสีห์ที่ทรงนำทัพอังกฤษเข้าต่อสู้ในสงครามครูเสด พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ทรงควบม้ามุ่งตรงไปยังกองทัพข้าศึก แม้ไพร่พลที่ตามเสด็จได้บาดเจ็บล้มตายลงระเนระนาด พระองค์ก็ยังทรงควบม้าทะยานต่อไป ทหารทิวดอร์ไม่อาจเข้าประชิดตัวได้ จนกระทั่งม้าของพระองค์ผ่านเข้าไปถึงแนวหลังของฝ่ายตรงข้าม
ทันใดนั้น ก็มีธนูพุ่งตรงมาปักเข้าที่พระศอ (คอ) และหอกยาวจากพลทหารก็เสยเข้าที่พระพักตร์ (หน้า) ทำให้หล่นลงจากหลังม้า ก่อนสิ้นลมหายใจ ได้ทรงตะโกนด้วยสุรเสียงอันดังว่า “ทรยศ ทรยศ ทรยศ!” (Treason, treason, treason!) คำนี้น่าจะหมายถึงฝ่ายทหารขุนนางที่ถูกซื้อตัวแล้วแปรพักตร์ไปช่วยฝ่ายตรงข้าม ที่น่าสนใจคือคำว่าทรยศนี้มีความตรงข้ามกับคติประจำใจของพระองค์ที่มีหลักฐานปรากฎว่า ทรงใช้คำว่า “A loyalty bind me” แปลว่า จงรักภักดีตราบชีวิตจะหาไม่
นักประวัติศาสตร์ชาวอิตาลีและผู้ใกล้ชิดราชสำนักทิวดอร์ได้บันทึกวาระสุดท้ายของพระเจ้าริชาร์ดไว้ว่า “ทรงสู้ตามลำพังอย่างสมศักดิ์ศรีท่ามกลางศัตรูรายล้อมจำนวนมาก”
ในขณะที่ฌอง โมลิเนต์ (Jean Moline) นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสได้บันทึกเหตุการณ์ไว้ค่อนข้างละเอียดว่า “กษัตริย์ริชาร์ดทรงมีความห้าวหาญ ม้าส่วนพระองค์ตกลงไปในหล่มและขยับตัวไม่ได้ เมื่อนั้นทหารชาวเวลส์ก็ได้ลอบเข้ามาด้านหลัง ใช้ง้าวฟันพระเศียรจนสวรรคต ส่วนทหารอีกคนก็นำร่างของพระองค์ที่มีพระเศียรตกอยู่ขึ้นบนหลังม้าคล้ายกับการบรรทุกแกะกลับมาที่เมืองเลสเตอร์แจ้งให้สาธารณชนเป็นประจักษ์พยานการสิ้นพระชนม์ ด้านซาราห์ เฮนส์เวิร์ธ (Sarah Hainsworth) อาจารย์มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ สันนิษฐานตามการชันสูตรจากโครงกระดูกศีรษะที่มีร่องรอยการแทงหลายจุดว่า พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 อาจทรงลงจากหลังม้าพร้อมชุดเกราะแต่ไม่ได้สวมหมวกเหล็ก หรือหมวกอาจจะหล่นขณะต่อสู้ ทหารทิวดอร์มากกว่าหนึ่งคนจึงฉวยโอกาสจู่โจมมาจากทุกทิศทางพร้อมอาวุธครบมือทั้ง หอก ทวน ขวาน ดาบยาวและดาบสั้น
ไม่ว่าบันทึกประวัติศาสตร์จะเป็นความจริงหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่ชาวโลกได้รับรู้และเป็นประจักษ์พยานนั่นก็คือ นับตั้งแต่นาทีที่ประกาศค้นพบพระบรมอัฐิของพระองค์ ชาวโลกก็ได้รู้จักและจดจำพระองค์ในฐานะกษัตริย์องค์สุดท้าย และเป็น 1 ใน 3 กษัตริย์อังกฤษที่ทรงพลีชีพในสนามรบเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ปีค.ศ. 1485 สายเลือดทรนงเช่นเดียวกับพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 หรือริชาร์ดใจสิงห์ (Richard the Lionheart) และพระเจ้าแฮโรลด์ที่ 2 (Harold II) เมื่อปีค.ศ. 1199 และปี 1066 ตามลำดับ
แฮปปี้เอ็นดิ้ง จริงหรือไม่
การขุดค้นระดับโลกครั้งนี้สร้างข้อพิพาทระหว่างเมืองเลสเตอร์และเมืองยอร์ก ถึงกับต้องพึ่งคำพิพากษาศาลสูงที่ตัดสินว่า พระอัฐิสัณฐานของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 สมควรถูกเก็บไว้ที่ที่มีการขุดค้นพบในเมืองเลสเตอร์
มีการจดบันทึกว่าประชาชนมากกว่า 35,000 คนออกมาอยู่ตามถนนในเมืองเพื่อรอส่งพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย และมีนักท่องเที่ยวมากมายหลายคนที่ตั้งใจเดินทางมาเป็นพยานในวันนั้นด้วย
ประเด็นที่ว่าพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 อาจเป็นผู้สั่งประหารเจ้าชายน้อยทั้งสองพระองค์ที่มีพระชนมายุเพียง 12 ชันษานั้น มีฝ่ายที่เชื่อว่าพระองค์ไม่ได้เป็นคนสั่งการ แต่อาจเป็นฝีมือของฝ่ายทิวดอร์ที่พยายามให้ร้ายป้ายสีว่าพระองค๋เป็นฝ่ายที่ทำ เพราะในตอนนั้นพระองค์ยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์แต่ทรงทำหน้าที่ผู้พิทักษ์รัชทายาท ในขณะที่มีข้อสันนิษฐานว่าเจ้าชายน้อยทั้งสองทรงประชวรและเสด็จสวรรคต ซึ่งประเด็นนี้ก็ยังคงถกเถียงและหาข้อสรุปไม่ได้จนถึงทุกวันนี้
สิ่งที่สรุปได้ในตอนนี้ก็คือ ความไม่เชื่อตามที่คนอื่นๆ บอกเล่าต่อกันมาและความเชื่อมั่นในสัมผัสพิเศษของฟิลลิปาและเอฟซีพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ได้นำไปสู่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของโลก เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ทั้งยังเป็นการตีแผ่ความจริงให้สาธารณชนได้รับรู้ ที่สำคัญได้คืนความเป็นมนุษย์ให้แก่พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยไปนานห้าศตวรรษก็ตาม แต่ความจริงก็คือความจริงอยู่วันยังค่ำ
ว่ากันว่า ผู้ชนะมักผูกขาดการเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ แต่ก็มีบ่อยครั้งที่ผู้แพ้พลิกเปลี่ยนมุมกลายเป็นวีรบุรุษและเป็นที่จดจำเมื่อมีการสืบค้นกันอย่างละเอียด นัยยะหนึ่งก็คือไม่มีใครเป็นผู้ชนะได้ตลอดกาล
เรื่องและภาพ: เอสเค แคมพ์เบลล์
อ้างอิง:
- บทละครเรื่อง “Richard III” ของวิลเลียม เชกสเปียร์ นักประพันธ์ชื่อดังชาวอังกฤษ
- หนังสือเรื่อง The King’s Grave: The Search for Richard III ( ปีค.ศ. 2013) แต่งโดยฟิลลิปปา แลงก์ลีย์
- ภาพยนตร์เรื่อง The Lost King ( ปีค.ศ.2022) กำกับโดยสตีเฟ่น เฟรียร์ส
- เว็บไซด์สมาคมริชาร์ดที่ 3 ( Richard III Society)
- หนังสือ “Richard III: England’s Most Controversial King” โดย Chris Skidmore นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ
- บทความและบทสัมภาษณ์จากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์