Fjällräven Thailand : Betong Hike 2024
ก่อนที่ผมจะเล่าถึงประสบการณ์ที่ไปเดินป่าใต้ตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่เมืองเบตง จังหวัดยะลา ผมอยากให้ทุกคนที่อยากไปเมืองนี้แต่ยังไม่ได้ไป และคนที่ไม่อยากไปเพราะหวั่นใจจากการเห็นข่าวตามสื่อเกี่ยวกับพื้นที่แถวนี้ได้รู้ ซึ่งก็ไม่แปลกครับที่เราจะรู้สึกแบบนั้น เพราะเรารับข่าวสารมาเนิ่นนานจนเป็นภาพจำฝังใจไปแล้ว
แต่หลังจากที่ผมได้ลองไปใช้ชีวิตมาเกือบสัปดาห์ และบางคนไปสิงอยู่ที่นั่นก่อนหน้านี้กันเป็นเดือนก็มี ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เราควรจดจำเมืองนี้ด้วยมุมมองใหม่ เมืองนี้น่าเที่ยว” ผู้คน อาหาร ธรรมชาติ บรรยากาศ มันเรียกได้ว่าอยู่คนละขั้วของสิ่งที่เราจินตนาการไว้แบบสิ้นเชิง และครั้งนี้มันจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายของพวกเราที่มาเมืองนี้ จังหวัดนี้ แน่นอน…..งานนี้มีซ้ำครับบอกได้เลย!.
ที่จริงแล้วผมคิดอยากไปเที่ยวที่ “เบตง” มาโดยตลอด แต่ด้วยเหตุผลร้อยแปด หรืออาจด้วยระยะทางที่มันไกลสำหรับผม หรืออาจเป็นเพราะไม่มีแรงจูงใจมากพอ เลยทำให้สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ไปเสียที จนในที่สุดพวกเราก็ได้มีโอกาสไปร่วมวงเดินป่าในงาน Fjällräven Thailand : Betong Hike 2024 ที่ ThailandOutdoor เขาจัดขึ้น
งานเดินป่าแบบนี้มันทางเราชัด ๆ พลาดไปก็คงเสียดายแย่ แล้วการเดินป่าระยะทางแค่ 40 กิโลเมตร 2 คืน 3 วัน นี่มันยังไม่ถึงครึ่งทางของทริป “ร้อยโล” ที่พวกเราเพิ่งไปมาเมื่อต้นปีเลย บอกเลยครับ “นี่มันงานเดินเล่นชัด ๆ” ผมคิดแบบนั้นถึงขนาดพูดกับตัวเองที่หน้ากระจกว่า “ถ้าเราผ่านแม่เงามาได้เส้นทางนี้มันจะสักเท่าไหร่กันเชียว” แต่พอไปเจอของจริงเท่านั้นแหละ….
พื้นที่ชีวิตใช้นิดเดียว
เราเริ่มต้นการเดินทางจากเมืองกรุงมุ่งสู่เบตงด้วยการใช้บริการรถไฟไทยขบวน 171 เป็นตู้นอนปรับอากาศแอร์ฉ่ำชั้นสอง จะว่าไปบรรยากาศของการเดินทางด้วยรถไฟถือว่าเป็นการกระตุ้น และอุ่นเครื่องให้เรารู้สึกตื่นเต้นเหมือนเป็นนักเดินทางท่านหนึ่ง ที่กำลังจะไปเจอกับจุดหมายปลายทางที่ไม่เคยไปมาก่อน
พูดตามตรงว่าการเดินทางแบบนี้มันได้ฟีล และไม่ได้รู้สึกลำบากอะไรเลย คุณแค่นั่ง กิน และนอน แค่นั้นเอง แล้ว 17 ชั่วโมงต่อมา เมื่อคุณตื่นก็ถึงจุดหมายพอดี ง่าย สบาย สะดวก ได้ฟีลโฮสเทล และถ้าแถวบ้านคุณมีทางรถไฟสายใต้ผ่าน ก็ให้ไปรอขึ้นที่สถานีใกล้บ้านได้เลย แต่ดูให้ดีก่อนนะว่าขบวนนี้เขาจอดตรงสถานีที่คุณจะไปขึ้นหรือเปล่า
เขาว่ากันว่า (ใครว่าวะ) เมื่อเราออกเดินทางเราจะได้พบกับมุมมองใหม่ ๆ ซึ่งก็จริง การได้นั่ง ๆ นอน ๆ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับตัวเองบนรถไฟ ทำให้ผมสังเกตว่ามนุษย์มีพื้นที่การใช้ชีวิตจริง ๆ ไม่ต้องเยอะมากก็ได้ ด้วยพื้นที่ที่ผมกับพี่ตู่นั่งหากประมาณด้วยสายตา น่าจะกว้างสองเมตร สูงประมาณสองเมตรห้าสิบ และความลึกของพื้นที่ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 80 เซนติเมตร ซึ่งขนาดมันพอ ๆ กับประตูหนึ่งบานเท่านั้นเอง แต่มันเป็นได้ทั้งห้องนั่งเล่น แปลงเป็นโต๊ะที่ใช้ทำงาน หรือกินข้าวได้ และสุดท้ายดึก ๆ กลายเป็นเตียงนอนสองชั้นสำหรับมนุษย์ 2 คนได้อีก นี่มันคือพื้นที่สุดยอดฟังก์ชันชัด ๆ หากเอาแนวคิดนี้มาปรับใช้เป็นผสมผสานเพิ่มเติมเป็นพื้นที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่จำกัดก็ไม่เลวทีเดียว นี่แค่เพิ่งเริ่มเดินทาง
ผมเล่ามาจนประมาณกระดาษ A4 หนึ่งหน้าแล้ว ยังไม่ได้พูดถึงประสบการณ์เดินป่าใต้สุดแดนสยามตามแนวตะเข็บชายแดนบนเทือกเขาสันกาลาคีรีเลย มันจะตื่นเต้นและมีเรื่องเล่ามากมายแค่ไหนคิดดู
ต้มเนื้อและเบนซ์เดอะแฟลช
ผมและพี่ตู่ถึงสถานียะลาราว ๆ แปดโมงกว่า ก่อนที่เราจะเดินทางต่อขอซัดอาหารเช้ากันก่อนด้วย “ต้มเนื้อ” ที่พี่ตู่พูดถึงตั้งแต่กรุงเทพฯ เราเดินมั่ว ๆ ถามหาร้านต้มเนื้อจากคนแถวนั้น ซึ่งก็ไม่ไกลจากสถานีรถไฟเท่าไหร่ อยู่แค่ซอยฝั่งตรงข้ามสถานีนั้นเอง
พวกเราเดินตรงเข้าไปในซอยที่ร้าน “ซุปเซ็งยะลา” เป็นฟีลบ้านเก่าสองชั้นตั้งอยู่ตรงหัวมุมพอดี เราได้รับรอยยิ้ม และคำทักทาย จากเจ้าของร้านเป็นออเดิร์ฟก่อนเลย นี่ถือว่าเป็นเมนู และเป็นมื้อแรกของชีวิตพวกเราสองคนที่ได้มาสัมผัสเมืองยะลา “ต้มเนื้อ และไข่เจียว” คือสวรรค์ของมื้อเช้า มันช่วยเติมเต็มชีวิตพวกเราได้ดีทีเดียว
หลังจากนั้นเราเดินดุ่ย ๆ ข้ามรางรถไฟไปเช่า “เบนซ์แท็กซี่” ต่อไปที่เบตง นี่คือความตั้งใจของผมเลย ผมอยากลองนั่งเบนซ์ที่นี่ เพราะอยากได้ประสบการณ์มาเล่าให้ฟังกัน ผมขอเล่าแบบย่อ ๆ ครับว่า การได้นั่งเบนซ์คลาสสิกแท็กซี่ที่ยะลา คือที่สุดแล้ว ให้ไปอ่านรีวิวที่พี่ตู่เขียนเอาไว้ครับ ที่ลิ้งค์นี้ เบตง เมืองงามในม่านหมอก ที่นี่ปลอดภัย ไม่มีอันตรายอย่างที่คุณคิด ในที่สุด “แท็กซี่ความเร็วสูง” ก็มาส่งพวกเราที่เบตงจนได้
มิตรสหายและไอเท็มลับ
ที่จุดลงทะเบียนเหมือนการจำลองงาน Fjallraven Classic ของสวีเดนมาไว้ได้อย่างดี แต่ที่นี่จะให้ความรู้สึกอบอุ่นกว่า เพราะถ้าหากคุณเป็นสายเดินป่าก็จะได้เจอคนคุ้นหน้าคุ้นตากันหลายคน บรรยากาศรวม ๆ เหมือนงานเลี้ยงรุ่นมากกว่า คุณจะได้เจอเพื่อนใหม่ ๆ ที่เพิ่งเจอกันครั้งแรก แต่กลับพูดคุยถูกคอเหมือนสนิทกันมาตั้งแต่ชาติก่อน แล้วกรรมเก่าทำเรามาเจอกันอีกที เสียงสวัสดีทักทายเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา มันช่างฟีลกู๊ดมาก ๆ
ตรงนี้มีอุปกรณ์เล็กน้อย ๆ ให้คุณได้ช้อปเผื่อขาดตกบกพร่องอะไร แถวนี้พอจะมีของบางอย่างให้คุณได้เพิ่มเติม รายละเอียดของเส้นทางเราทุกคนจะได้รับฟังจากที่นี่พร้อมกันอีกครั้งก่อนเดินทางจริงในวันรุ่งขึ้น แต่สิ่งที่ทำพวกเราทุกคนประหลาดใจแบบตาโตก็คือ ของที่แจกมาให้ในถุงตอนที่ลงทะเบียนนี่แหละ เด็ดสุด!
ไหนดูสิ มีอะไรอยู่ในถุงบ้าง เฮ้ย! นี่มันหมวก Abisko Summer Hat สุดยอดไอเท็มของสายนักเดินทาง ทันทีที่ผมเห็น ผมอยากจะกรี๊ดดัง ๆ แต่ต้องเก็บทรงเลยทำได้แต่ยิ้มเล็ก ๆ พร้อมอุทานเอ่ยชื่อสัตว์เลื้อยคลานเบา ๆ แล้วหันหน้าไปมองหน้าพี่ตู่ สิ่งที่ผมเห็นคือชายวัยกลางคนที่กำลังยิ้มหน้าบานนัยน์ตามีความสุข พร้อมกับสวมหมวกปรับสายรัดกระชับคางเรียบร้อยแล้ว โคตรเร็ว! ทุกคนต่างประหลาดใจกับไอเท็มพิเศษนี้
แต่ยังไม่หมด ในนั้นมีแก้วดับเบิ้ลวอลจาก PRIMUS ผ้าเช็ดหน้าผืนใหญ่ และพัด จากงาน Fjällräven Thailand Betong Hike แถมมาให้อีก ผมและพี่ตู่มองหน้ากันสัมผัสได้ถึงความฟินตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มเดิน “เรียกว่าแจกของฉ่ำ” แล้วทำไมผู้จัดเลือกที่จะให้หมวกปีกกว้าง และพัดกับพวกเรา เอ๊ะ!! นี่มันยังไงกัน…..
คำทักทายจากขุนเขา
พวกเราถือเป็นนักท่องเที่ยวเดินป่ากลุ่มแรกอย่างเป็นทางการของเมืองนี้ ทุกคนให้การต้อนรับ ยิ้มแย้ม โบกมือทักทายพวกเรากันตลอดเวลา “เมืองนี้น่าประทับใจ และไม่มีอะไรที่น่ากังวลเลย” มันแตกต่างจากสิ่งที่เราคิดไว้มาก
เราเลี้ยวรถเข้ามาตรงถนนบริเวณร้านเฉาก๊วย กม.4 แล่นตรงยาว ๆ เข้าเขตพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ หลังจากจัดกลุ่มเดินเรียบร้อย ก็ได้เวลาก้าวแรกของพวกเรา ระยะทางสามกิโลเมตรแรกกับแดดร้อน ๆ และเนินซึม ๆ ขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนคำทักทายจากขุนเขา ด้วยสภาพอากาศแบบนี้เข้าใจชัดเจนแล้วว่าทำไมผู้จัดงานถึงให้หมวกปีกพวกเรามา
เพียงแค่ช่วงแรกของการเดินทางผมก็ไม่เหงาแล้ว เพราะมีเพื่อนใหม่ชื่อว่า “ตะคริว” มาทักทายอยู่เป็นระยะ ผมประมาท และปล่อยให้ตัวเองอดน้ำเยอะเกินไป เพราะคิดว่าไปเป็นไรสุดท้ายร่างกายมันเอาเรื่องจนได้ หลังจากเนินแรกที่พวกเราเดินขึ้น ก็แทบไม่เจอกับทางราบอีกเลย เอาล่ะสิ ผมจะหมดแรงตั้งแต่ช่วงแรกไม่ได้วันนี้เราต้องเดิน 9 กิโลเมตร และจุดเติมน้ำมีแค่จุดพักแรกเท่านั้น การบริหารจัดการน้ำดื่มจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก เพราะดูทรงแล้วน้ำที่ขนมามีสิทธิ์ไม่พอ
ด้วยสภาพป่าร้อนชื้นดิบทึบลมไม่มี ตัวฉ่ำเหงื่อตลอดเวลา อุณหภูมิร่างกายสูง ต้องหยุดพักบ่อย อัตราความเหนื่อยล้าอ่อนเพลียมาเต็ม ทำให้เราต้องการน้ำมากกว่าปกติ ในที่สุดสปีดการเดินที่ช้าอยู่แล้ว ก็ช้าลงเป็นเท่าตัว กลุ่มพวกเรามีกันสามคน ผม พี่ตู่ และเบิร์ด เดินเกาะกลุ่มกันไปอย่างเนิบ ๆ
ที่นี่ไม่เหมือนป่าใต้ที่เราจินตนาการไว้สักเท่าไหร่ แหล่งน้ำพบเจอน้อยกว่าที่คิด หากไม่ได้ฟังรายละเอียดของเส้นทางมาก่อน ผมคงไม่ได้เตรียมน้ำสำรองมาเยอะกว่าปกติแน่นอน เพราะฉะนั้นเรื่องข้อมูลเส้นทางคือสิ่งสำคัญอย่างแรกที่จะทำให้คุณเตรียมตัวเตรียมของมาถูกทาง
พวกเราดันเนินกันมาถึงจุดพักแรกกันที่เวลาประมาณ 5 โมงครึ่งกับระยะทาง 9 กิโลเมตร หากเทียบกับเส้นทางที่เคยเดินมาในระยะทางพอ ๆ กัน ที่นี่เราใช้เวลาเยอะกว่าและสะบักสะบอมกว่า ตอนนี้ผมเริ่มทบทวนกับความคิดที่ว่า “ผ่านร้อยกิโลมาแล้วที่นี่ก็เหมือนเดินเล่น” ไม่ว่ะบาส! ถ้ามึงเดินเล่นหน้ามึงต้องไม่ซีดขนาดนี้….
อีกสิ่งที่เราชอบของกิจกรรมเดินป่า คือการได้เสวนาล้อมวงตรงกองไฟ พูดถึงเรื่องราวต่าง ๆ จุดแคมป์วันนี้คือพื้นที่อาศัยของกลุ่มคอมมิวนิสต์จีนมาลายามาก่อน ยังพอเห็นเศษซากของแท้งค์น้ำโลหะ และหลุมระเบิดอยู่บ้างซึ่งเรามารู้ตอนหลังว่าหลุมที่เดินผ่านนั้นคือหลุมระเบิด โอ้โห ผมจะหลับลงมั้ย…….หลับครับ! เพลียระดับนี้ และกระจ่างชัดว่าเดินป่า จะใกล้ไกล หรือระยะไหนก็เหนื่อยหมด ยอมรับครับว่า “เสียทรงที่ตรงนี้”
ไหนว่าสดหมดได้ไง
วันที่สองพวกเราเดินทางกันตั้งแต่แปดโมง เรายังคงอยู่ในป่าทึบเดินลงสลับขึ้นทางชันกันตลอด 14 กิโลเมตร มีทางราบให้สบายใจที่ยอดเขานิดหน่อยไม่กี่ร้อยเมตรก็ต้องลงอีกแล้ว ความชันของขุนเขาไม่ปราณี มันไม่สนหรอกว่าคุณเป็นนักเดินป่าหน้าไหนใหม่หรือเก่า เก๋าขนาดไหนพอถึงจุดแคมป์ก็เดินเป๋กันทุกราย
เส้นทางของวันที่สองนั้นไม่ธรรมดา การเกาะกลุ่มเดินทางของพวกเราสามคนมีเสียงหอบมากกว่าเสียงสนทนา เราเดินไปพร้อม ๆ กัน ค่อย ๆ ทิ้งห่างกลุ่มอื่นไปเรื่อย ๆ ด้วยความที่เส้นทางชัดเจนมีริบบิ้นผูกไว้ตลอดทาง และมีทีมงานคอยเดินปิดท้ายเลยทำให้พวกเราไม่กลัวหลงสักเท่าไหร่เดินรั้งท้ายก็สบายใจได้กับเส้นทางนี้
ทางชันทั้งขึ้น และลงทำให้กำลังขาอ่อนแรงสภาพตอนนั้นจะเรียกว่าเดินไม่น่าถูก จากลักษณะของการเคลื่อนที่ดูเหมือนจะเป็นการลากขามากกว่า ทุกครั้งที่พักผมเลือกที่จะปลดเป้แล้วหาที่นั่ง ถ้าตรงไหนนอนได้ก็นอนไปเลย เราเดิน ๆ หยุด ๆ กันตลอดทาง แต่อากาศก็ไม่ได้โหดร้ายกับเรามากเกินไป สายฝนโปรยยามบ่ายแก่คือตัวช่วยเพิ่มความสดชื่นได้อย่างดี ตอนนี้ฝนกับเหงื่อถูกผสมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ด้วยสภาพป่าทึบบวกกับเมฆฝนทำให้ช่วงเวลาสี่โมงกว่าไม่ต่างกับหกโมงเย็น ไฟฉายคาดหัวกลายเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์จำเป็นขึ้นมาทันที เวลามันเดินเร็วกว่าเราหากเรายังพักถี่กว่าจะถึงที่หมายคงค่ำมืด สุดท้ายเรากลั้นใจใส่เกียร์เดินหน้าฝ่าหมอกจนถึงแคมป์ 2 ห้าโมงครึ่งแบบยังมีแสงสว่างพอให้ได้ผูกเปลกางเต็นท์
จากป่าสู่เมือง
วันสุดท้ายกับระยะทางที่ไกลสุดของเส้นทาง 17 กิโลเมตร เดินจากป่าสู่ใจกลางเมือง ดูจากสมุดคู่มือที่ได้มาวันนี้น่าจะสบายสุด เพราะทางส่วนใหญ่คือทางลง เห็นแบบนี้ผมก็ใจชื้นขึ้นมาหน่อย แต่ไม่หรอกครับถึงมันเป็นทางลงก็จริง แต่มันลงแบบไม่พัก ลงแบบไม่หยุดยั้ง ลงแบบไม่บันยัง ลงแบบกล้ามเนื้อขาตะโกนร้องขอชีวิต นี่มันคือชีวิตขาลงที่แท้จริง ระยะทางกว่าหลายกิโลกับทางลงชัน ๆ ที่มีเป้เกือบยี่สิบกิโลกรัมอยู่บนหลังไม่บันเทิงไหร่ สำหรับผมการเดินขึ้นเนินอาจจะเหนื่อยแต่จัดการได้ง่ายกว่า
เราลงไปจนเจอลำธารสายใหญ่ นี่คือโลเคชั่นที่ดีในการพัก หลายคนลงแช่น้ำทั้งชุดเดินป่า ผมเลือกที่จะขอพักด้วยการแช่เท้า เราใช้เวลาตรงนี้กันพักใหญ่ โดยที่ไม่รู้เลยว่าเราต้องเดินกันอีกเกือบสิบกิโลกว่าจะถึงเส้นชัย มันไม่จบง่าย ๆสินะ
ช่วงสุดท้ายของเส้นทางคือการเดินผ่านสวนทุเรียนของชาวบ้านบนถนนลูกรังโล่ง ๆ ทีมงานรู้ว่าถึงตรงนี้ทุกคนคงสะบักสะบอมเลยจัดเฉาก๊วยเย็น ๆ ไว้ให้กลางทาง เติมแรงให้ไปต่อ เราเดินกันตั้งแต่ ป่า สวน ถนนลูกรัง ถนนลาดยาง จนมาถึงถนนปูนตรงเข้าสู้กลางเมืองเบตง กับแก็งค์ชาวบ๊วย 8 คนที่เวลาเกือบหนึ่งทุ่ม พร้อมเสียงปรบมือต้อนเราพวกเรา…
จบแต่ไม่จบ
นอกจากความสนุกที่ได้เดินป่าลัดเลาะสลับประเทศไปมาตามแนวตะเข็บชายแดนระหว่างไทย – มาเลเซีย บนเทือกเขาสันกาลาคีรีมาจนถึงใจกลางเมือง ถึงมันจะเหนื่อยจนไม่อยากจะโฟกัสอะไรนอกจากตัวเอง แต่มันก็ทำให้เราได้เห็นความสำคัญ และสัมผัสได้ถึงความดีงามของป่า และเมืองที่ติดอยู่กับป่าแบบที่ “เบตง”
มันทำให้ผมมานั่งนึกว่ามันจะมีที่เส้นทางเดินป่าที่ไหนในบ้านเราที่สามารถเดินจากป่าที่อุดมไปด้วยต้นไม้โบราณใหญ่ ๆ เข้ามาถึงใจกลางเมืองได้แบบนี้บ้าง เวลาที่อยู่ในป่าดิบทึบในแบบที่อยู่เฉย ๆ ไม่ต้องออกแรงอะไรมันก็รู้สึกสบายดี กลางคืนอากาศเย็น มีความสดชื่นในตอนเช้า และเราได้เห็นบรรยากาศการเปลี่ยนแปลงจากทางดินในป่าไปสู่ถนนปูนในเมืองได้แบบแนบเนียน การอยู่ร่วมกันระหว่างธรรมชาติกับเมืองถ้าไม่มีการดูแลรักษาที่ดี ยังไงมันก็พังครับ แต่โชคดีที่คนที่นี่เขารักบ้านรักต้นไม้ รักสิ่งแวดล้อม มันเลยยังมีป่าสมบูรณ์อยู่ได้ขนาดนี้
เมืองที่มีต้นไม้เยอะ ๆ แบบเบตงเมื่อเราอยู่กลางแดดก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันแผดเผาเท่ากรุงเทพฯ ทันทีที่อยู่ในร่มเราจะรู้สึกเย็นขึ้นไม่อบอ้าวเหมือนในเมืองแห้ง ๆ และในช่วงฤดูแล้งยังมีป่าใต้ชุ่มชื้นให้เราได้เดิน เท่ากับว่าบ้านเราสามารถเดินป่าได้ตลอดทั้งปี นี่คือข่าวดีสำหรับคนที่ชอบท่องเที่ยว และผมสัมผัสได้ด้วยประสบการณ์ตรงว่า ในยุคที่โลกร้อนทะเลเดือด อุณหภูมิขยับสูงขึ้นทุกปี ตัวช่วยที่จะทำให้โลกเย็นลงได้คือ “ป่า” พื้นที่ของต้นไม้จำนวนมหาศาลจะช่วยชีวิตพวกเราได้ มันมักมีคำถามเกิดขึ้นกับผมเสมอว่า
“เราทุกคนรู้ดีถึงประโยชน์และความสำคัญของธรรมชาติกันตั้งแต่เรียนอนุบาล แต่น่าแปลกใจทำไมเรายังเมินเฉยละเลยจนมันวายป่วงแบบทุกวันนี้” โลกเราตอนนี้กำลังป่วยหนัก เราทุกคนต่างเห็นโลงศพตั้งอยู่ตรงหน้า แต่ก็ยังร่าเริง เราหมดเวลาเบ่งน้ำตาแล้ว ฮึบเอาไว้แล้วมาช่วยพยาบาลโลกนี้กันดีกว่า ถึงไม่อินกับต้นไม้ แต่ก็ขออย่าทำลายมันเพิ่ม เรามาช่วยกันเติมมันให้เขียวกว่านี้ดีกว่า”
ทางเดียวจะเรียนรู้และเห็นความสำคัญของธรรมชาติได้อย่างแท้จริง คือต้องออกไปครับ ออกไปลองสัมผัส สังเกต และซึมกับมันดู นอกจากคุณจะเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น คุณยังเข้าใจตัวเองมากขึ้นเป็นของแถมสุดเซอร์ไพรส์เหมือนได้หมวก Abisko Summer Hat กับแก้ว PRIMUS แบบที่พวกเราได้เลย
แนะนำ
เส้นทางนี้อาจไม่เหมาะกับมือใหม่ และต้องเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี พูดตรง ๆ ว่า ถึงจะโหด แต่ก็น่าโปรดปราณ เส้นทางเดินป่าชายแดนนี้เปิดให้ท่องเที่ยวแบบเฉพาะกิจเท่านั้น หากคุณอยากไปให้ติดตามข่าวสารได้ที่ เพจ – Fjällräven Thailand Apparel ถึงคุณไม่ได้เดินป่า แต่เมือง “เบตง” ก็ควรอยู่ในลิสต์ท่องเที่ยวของคุณ รับรองว่าประทับใจแน่นอน
ขอบคุณ Thailand Outdoor และมิตรภาพทั้งเก่า และใหม่จากผู้ร่วมทาง และชาวเบตง ทุกคนครับ
EXPLORERS: ตู่, บาส
AUTHOR & PHOTOGRAPHER: บาส-บดินทร์ บำบัดนรภัย