เรื่องเล่าจากคุณพ่อที่พาลูกสาวในวัยแห่งจินตนาการ ไปสัมผัสประสบการณ์จริง ที่เขาเรียกว่าปัญญาจากรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ผ่านการเดินป่าขึ้นยอดเขามุลาอิ
‘มุลาอิ’ ชื่อนี้หลายคนอาจไม่คุ้น แต่ถ้าเป็นสายเดินป่าปีนเขาแล้วละก็ ต้องบอกเลยว่า มุลาอิเป็นที่ใฝ่ฝันของพวกเขาเลย เป็นที่ที่หลายคนอยากไปแต่ก็ยังลังเลว่าไปไหวไหม เดินได้รึเปล่า
มุลาอิ (Mulayit Taung) เป็นยอดเขาที่เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาดาวนา (Dawna Range) ของประเทศเมียนมาร์ ที่มีความสูง 2,070 เมตรจากระดับทะเล ขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ กฎระเบียบเคร่งครัดมาก ๆ เช่น ห้ามตะโกน ห้ามพูดคำหยาบ ชายหญิงห้ามนอนรวมกัน ที่สำคัญต้องกินอาหารเจเท่านั้น ไม่มีเนื้อสัตว์
ผมมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่ง ความรู้ที่แท้จริงคือความรู้จากประสบการณ์ จุดประสงค์ ไม่ได้อยากให้ลูกสาวไปลำบากหรือฝึกความอด สิ่งเหล่านี้คือผลพลอยได้ครับ แต่ผมอยากให้ลูกสาวได้มีประสบการณ์ ด้วยการสร้างประสบการณ์ที่ดี มีความรู้แบบมีปัญญา (นิยามผมความรู้กับปัญญาไม่เหมือนกัน ปัญญาคือความรู้+ประสบการณ์) มาก่อนจึงจะสามารถ ‘จินตนาการ’ ได้ดีขึ้น
ในเมื่อวัยของเขาอายุ 6 ขวบกว่า ๆ เป็นวัยแห่งจินตนาการ ผมเลยไม่อยากให้ลูกจินตนาการเพียงแค่ผ่านจากการเห็นในหนังสือ หรือดูทีวี หรือเป็นเพียงชุดความรู้หรือหลักการ แต่ต้องได้รับประสบการณ์จริงหรือที่ผมเรียกปัญญาจากรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสครับ เห็นสายรุ้งของจริง น้ำตกจริง ๆ ต้นไม้จริง ๆ กลิ่นจริง ๆ บรรยากาศ สายลม แสงแดด
สิ่งเหล่านี้ จริงอยู่ที่ไหนก็มีให้ชม ไม่ต้องมาลำบากแบบนี้ก็ได้ แต่ต่างกันคือประสบการณนี้ลูกผมได้มาด้วยตัวเองจากการก้าวขาเล็ก ๆ ของเขาเองในวัย 6 ขวบ เดินด้วยตัวเอง ผมจะอุ้มเขาในจุดที่เห็นว่าอันตรายเท่านั้น สิ่งที่ผมคาดหวังต่อจากประสบการณ์ที่ลูกจะได้คือ ‘ความภูมิใจ’ ในตนเองครับ ประสบการณ์นั้นจะมีค่ามากพอให้จดจำนั้นต้องทำเรื่องที่คนอื่นทำได้ยากหรือไม่อยากทำครับ
ความสำเร็จเล็ก ๆ ที่ลูกได้ก้าวข้าม เขาก็เหมือนเด็กคนอื่น ๆ ก็คือ ความกลัว ความหิว ความเหนื่อยครับ เด็กทุกคนก็มีความกลัวพื้นฐานตรงนี้ ลูกผมก็เป็นแบบนั้นเช่นกันครับ แต่ผมแค่อยากให้เขาเข้าใจว่าสิ่งนี้คือสิ่งปกติ เวลาให้เราต้องพยามเพื่อได้อะไรสักอย่างที่มีคุณค่ามาก ๆ มาครับ ยิ่งอยู่ใกล้ธรรมชาติ จิตใจก็ยิ่งประณีต ละเอียดขึ้น
การเดินทางก็แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละท่านเลยครับ ไม่ว่าจะนั่งเครื่องบินไปลงที่อำเภอแม่สอด แล้วเรียกรถไปหมู่บ้านวาเลย์ (บ้านลุงจ่า) จากบ้านลุงจ่าก็ต้องเดินข้ามสะพานมาเปลี่ยนรถเป็นเป็นกระบะขับสี่อีกคนละ 900 บาท นั่งไปอีก 4 ชั่วโมงก็จะถึงจุดหมาย แต่ในระหว่างนั้นจะมีจุดพักรถกินข้าวเที่ยงที่บ้านจะนอทะซึ่งเป็นหมู่บ้านสุดท้ายที่นี่มีร้านขายของชำให้เลือกซื้อของกินของใช้ ก่อนที่จะถึงทางขึ้นยอดเขามุลาอิ
ระหว่างทางก่อนถึงทางขึ้นเขามุลาอิจะพบกับ ‘ทีโพมู’ เป็นที่ที่ชาวบ้านและผู้มาแสวงบุญแวะมาอาบน้ำชำระร่างกายและจิตใจให้สะอาด โดยแบ่งที่อาบน้ำแยกชายหญิงเมื่อทำภารกิจเสร็จเดินทางต่อ และในที่สุดการเดินทางก็สิ้นสุดลง กับเวลาสี่ชั่วโมงนิด ๆ ก็ถึงจุดเริ่มเดิน
ในระหว่างเดินเท้าขึ้นสู่ยอดเขา พวกเราต้องสำรวมกิริยามารยาทอย่างเคร่งครัด อย่างที่บอกไว้ตอนต้นว่าห้ามพูดคำหยาบ ตะโกน แต่งกายสุภาพรัดกุม ชายหญิงห้ามเดินเคียงกัน และที่สำคัญห้ามพกพาสุราเข้าพื้นที่เด็ดขาด รวม ๆ แล้วผมคิดว่าการเดินทางไม่ยากและลำบากเท่าไหร่ ขนาดน้องบัวลูกสาวตัวน้อยของผมมาได้ เชื่อว่าใครก็มาได้ครับ มันคิดอยู่กับว่าคุณมีศรัทธาหรือเปล่า
EXPLORERS: อ๊อด, ไลลา, น้องบัว
ขอบคุณเรื่องราวดี ๆ จากครอบครัวเลขะกุล
คุณดนัย, คุณอภิษฎา และน้องบัวบูชา เลขะกุล