ตาม คิม, มะเหมี่ยว และปาล์ม ไปถ่ายรูปกับสายรุ้งแห่ง Pride Month กันเถอะ!
น้อง ๆ จากวิทยาลัยนวัตกรรม – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มาฝึกงานกับ บ้านและสวน Explorers Club ขออาสาพาไปเปลี่ยนมุมมองอันหลากหลายในสถานที่คุ้นชิน พบกับบรรยากาศอันแปลกตาที่ถูกเนรมิตให้มีสายรุ้ง 6 สี ตกแต่งอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ในย่านการค้าใจกลางสยาม-สามย่าน-ราชประสงค์ ตั้งแต่สามย่านมิตรทาวน์, หอศิลป์กรุงเทพฯ, เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์, สยามพารากอน และเซ็นทรัลเวิลด์ ส่วนหนึ่งในกิจกรรมเฉลิมฉลองเทศกาล Pride Month หรือ ความหลากหลายทางเพศ ที่จัดขึ้นตลอดเดือนมิถุนายนนี้
สำหรับการเดินทางก็แสนจะสะดวกสมเป็นย่านการค้าวัยรุ่น จะนั่ง BTS, MRT, นั่งรถเมล์, ขับรถยนต์, โบกวินมอเตอร์ไซค์ หรือเดินทางเท้าก็ย่อมได้ แนะนำว่า วอร์มร่างกายมาให้ดี ๆ ถึงมีห้างให้ตากแอร์เย็น ๆ แต่ก็มีแดดแรง แต่งตัวให้เป็นตัวเองที่สุด ไม่ได้รูป ไม่กลับบ้าน พวกเราขอตั้งชื่อการเดินทางครั้งนี้ว่า ‘เส้นทางสายรุ้ง’
Samyan Mitrtown – Samyan Mitr Pride 100% Love
สถานที่แรกที่ขอนำเสนอเลยคือ ‘สามย่านมิตรทาวน์’ ซึ่งจัดแคมเปญ ‘Samyan Mitr Pride 100% Love’ เนรมิตพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ ตอกย้ำการเป็นแลนด์มาร์คของการสนับสนุนความเท่าเทียม และความภูมิใจในตัวเอง ซึ่งมีการจัดสถานที่ให้เข้ากับบรรยากาศ Pride Month ในหลาย ๆ จุดรอบศูนย์การค้า
ถ้าใครใช้ MRT ในการเดินทางเป็นหลัก ต้องไม่พลาด! สำหรับสถานที่แรกอย่างอุโมงค์ทางเดินใต้ดินที่เชื่อมระหว่าง MRT สถานีสามย่าน กับตัวห้าง ภายในอุโมงค์ทางเดินได้ถูกเนรมิตให้เป็นเส้นทางสายรุ้งตลอดทั้งเส้น ส่วนทางเชื่อมอุโมงค์เข้าห้าง บันไดทางขึ้นก็ยังถูกเนรมิตให้เป็นเส้นทางสายรุ้ง ถ้าเราลองเงยหน้ามองขึ้นไปสักเล็กน้อย เราก็จะพบกับลูกโป่งกว่า 4,000 ใบ ที่เรียงรายกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนตามสีของสายรุ้งทั้ง 6 สี
นอกตัวห้างยังมีทางม้าลายที่เชื่อมไปยังคณะนิติศาสตร์ บนถนนในซอยจุฬาลงกรณ์ 42 จากทางม้าลายปกติ ถูกแปรเปลี่ยนเป็นทางม้าลายสีรุ้ง โดยทางสามย่านมิตรทาวน์ได้ร่วมกับสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ TOA สร้างทางม้าลายสีรุ้งแห่งแรกในประเทศไทย โดยมีการกล่าวถึงจุดประสงค์ของทางม้าลายแห่งนี้ว่า
“เพราะเราเชื่อว่าทุกอย่างก้าว
ล้วนสะท้อนความเป็นตัวคุณ
จงก้าวเดินอย่างภูมิใจ
พร้อมก้าวข้ามความแตกต่าง
เพื่อยอมรับซึ่งกันและกัน”
แสดงให้เห็นถึงจุดยืนที่สามย่านมิตรทาวน์นั้นสนับสนุนความหลากหลายที่มีอยู่ในสังคม และนอกเหนือจากทางม้าลายแล้วสิ่งที่พลาดไม่ได้เมื่อคุณขับรถหรือเดินผ่านไปผ่านมาก็ต้องเห็นเส้นสายรุ้งทอดยาวลงมากจากชั้น 3 ของศูนย์การค้ายาวมายังประตูทางเข้าด้านหน้า และยังทอดยาวลงไปถึงพื้นทางเดิน ที่ใครเห็นก็ต้องสะดุดตาและหยุดถ่ายรูปเพื่อเป็นการเช็คอิน
สำหรับแคมเปญ Samyan Mitr Pride 100% Love จะจัดไปจนถึงวัน 30 มิถุนายนนี้
Pride Month : Pride of all Genders
หลังจากเดินชมสายรุ้งแห่งความหลากหลาย ที่สามย่านมิตรทาวน์ แล้ว เราขอชวนคุณให้มาชมนิทรรศการ ‘ความภาคภูมิใจในความหลากหลาย’ หรือ ‘Pride Month : Pride of ALL Genders’ ที่จัดขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บริเวณห้อง NEW GEN SPACE SPACE FOR ALL (ห้องนิทรรศการ) ชั้น 3 โดยมูลนิธิเอสซีจี ซึ่งมีการนำผลงานศิลปะที่ถูกสร้างสรรค์มาในรูปแบบที่หลากหลายทั้ง จิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะสื่อผสม ศิลปะการจัดวาง และการจัดกิจกรรมเสวนาในทุกวันเสาร์ของช่วงเวลาที่จัดงาน
เนื้อหาภายในงานจะเกี่ยวข้องกับ Pride Month ที่ถูกเล่าผ่าน Pride Stonewall ซึ่งเป็นสื่อที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของ Pride Month เป็นการเล่าเรื่องในรูปแบบของเส้นเวลา (Timeline) ตั้งแต่จุดเริ่มต้นในปี 1960 จนกระทั่งปัจจุบันทำให้เห็นถึงประวัติของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมและแสดงออกให้เห็นถึงความหลากหลายในสังคม
Pride Flag ธงสีรุ้งที่ประกอบไปด้วยสี ม่วง น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง ที่มีความหมายในแต่ละสี และ Pride Floor ต้นกำเนิดของ Ball Culture ที่ถูกแสดงด้วยพื้นเวทีสีสันแนวดิสโก้ ตอกย้ำวัฒนธรรมการไม่ถูกยอมรับในสังคมของ LGBTQIAN+ ในอดีต
ต่อมาจะเป็นการแสดงงานศิลปะที่ถูกสร้างสรรค์โดยศิลปินรุ่นใหม่ให้ความรู้สึกถึงการตั้งคำถามและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อความหลากหลาย อย่างเช่น การจัดแสดง ‘ประเทศที่การสมรสเท่าเทียมถูกกฎหมาย’ เป็นการห้อยป้ายชื่อประเทศต่าง ๆ ที่ยอมรับการสมรสเท่าเทียม หรือ การสมรสของเพศเดียวกัน
โดยจะมีลักษณะสีสันส่องแสงสวยงามล้อมรอบป้ายชื่อประเทศไทย ที่ไม่มีสีสัน เป็นเพียงป้ายชื่อสีขาวธรรมดา ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงสภาพกฎหมายการสมรสเท่าเทียมของประเทศไทยที่ยังไม่ถูกยอมรับ อีกทั้งยังมีการเปิดให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม ที่ว่าด้วยการเห็นด้วยกับกฎหมายใด ระหว่างการสมรสเท่าเทียม และ พ.ร.บ.คู่ชีวิตส่วนตัว
หลังจากที่ได้เข้าชมนิทรรศการทำให้ได้รับความรู้มากกมายเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของ Pride Month และการต่อสู้ของชาว LGBTQIAN+ ที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความหลากหลายในสังคม ที่ควรจะถูกยอมรับและให้ความสนใจ อีกทั้งสิ่งต่าง ๆ ที่นำมาตกแต่งนิทรรศการมีความสวยงามเหมาะกับการถ่ายรูป มีศิลปะที่สามารถใส่ความคิดเห็นของผู้ชมนิทรรศการได้ เปรียบเสมือนว่าผู้ชมนิทรรศการก็มีส่วนร่วมในการสร้างงานศิลปะชิ้นนั้น และท้ายที่สุดนิทรรศการแห่งนี้มีความสามารถในการให้ความรู้แก่ผู้คนที่รับชมได้ว่า ความภาคภูมิใจในความหลากหลายคืออะไร? มีที่มาอย่างไร? และมีความเกี่ยวข้องกับสังคมมนุษย์อย่างไร?
นิทรรศการ Pride Month : Pride of ALL Genders จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ไปจนถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2565 ณ ห้อง NEW GEN SPACE SPACE FOR ALL ชั้น 3 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เวลา 10.00 – 19.00 น. ทุกวันอังคาร – วันอาทิตย์ (ปิดทำการวันจันทร์) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bacc.or.th/event/2952.html
ก่อนกลับถ้ายังมีเวลาอีกเล็กน้อย หรือใครยังอยากถ่ายรูปต่อ ขอแนะนำที่ MBK, สยามพารากอน และเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ก็ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเดือนแห่งความหลากหลายนี้ด้วยการตกแต่ง sky walk ด้วยริบบิ้นสีสดใส และ backdrop สายรุ้ง ที่ครั้งนี้เซ็นทรัลเวิล์ดร่วมแคมเปญความหลายหลายกับแอพลิเคชั่นหาคู่อย่าง ‘Tinder’ ถึงจะเป็นจุดเล็ก ๆ แต่ก็ถือว่าทุกคนได้ร่วมเป็นจุดเริ่มต้นของการยอมรับความหลากหลาย เป็นการตอกย้ำว่าห้างสรรพสินค้าเหล่านี้ก็พร้อมที่จะสนับสนุน แม้ว่าจะมาพร้อมกับการตลาดเพื่อซื้อใจกลุ่มลูกค้าที่สนับสนุนความหลากหลายก็ตาม ซึ่งพวกเราคาดหวังว่ามันจะไม่หยุดแค่ในปีนี้ แต่จะเติบโตไปในทิศทางที่ดี แล้วในอนาคตหวังว่าธงสีรุ้งนี้จะถูกโบกไปในทุก ๆ ย่านในประเทศไทย
ที่เซ็นทรัลเวิล์ด ยังมีกิจกรรมให้ได้เข้าร่วมอีกนะ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมของกิจกรรม CentralwOrld Pride Month 2022 ตลอดเดือน มิถุนายนนี้ได้ที่ https://www.facebook.com/158324029747/posts/10159574505674748/?d=n
การได้เข้าร่วมแคมเปญ ดูนิทรรศการ และเดินชมความหลากหลายในครั้งนี้ ทำให้มุมมองต่อคำว่า Pride ของเราเปลี่ยนแปลงไป เมื่อก่อนเราอาจจะเข้าใจในบริบทที่แสดงออกถึงความเท่าเทียมที่เป็นนามธรรม แต่เมื่อได้ออกมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายที่เกิดขึ้นในสถานที่เหล่านี้ ได้แสดงให้เห็นว่า คำว่า Pride Month มีความสำคัญต่อการเดินหน้าทางสังคมอย่างไร
สถานที่ต่าง ๆ ที่เราได้ไปมานั้นล้วนเปิดรับผู้คนทุกคนให้เข้ามาใช้บริการได้ แต่ด้วยความตระหนักรู้ ความเข้าใจ และความยอมรับในความหลากหลายที่มีมากในสังคม ก็ทำให้แคมเปญ นิทรรศการ หรือการตกแต่งเพียงเล็กน้อย สามารถสร้างความตระหนักรู้ของการมีอยู่ของความหลากหลายได้มากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต
Pride เห็นได้ชัดขึ้น ความหลากหลายที่ใกล้ชิดเรามากขึ้น Pride ไม่ใช่แค่ความหลากหลายทางเพศ แต่คือความหลากหลายทางวัฒนธรรม กลุ่มคน หรือรสนิยม เพียงแค่เรายอมที่จะเปิดหัวใจมองในแง่มุมใหม่ มุมที่มีคำว่า ไม่ว่าคนตรงหน้าเราอยากจะเป็นคนแบบไหน เขาก็สามารถเป็นได้
เก็บตกจากพาเหรด ‘นฤมิตไพรด์’
ขอเล่าอีกนิดปีนี้เป็นปีแรกที่มีการจัดขบวนพาเหรด หรือ ‘นฤมิตไพรด์’ ครั้งแรก บรรยากาศในงานเต็มไปด้วยความสนุกสนาน มีผู้ชมทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุอายุ คนไทย คนต่างชาติ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์งานไพรด์ในประเทศไทย ผู้คนแต่งกายจัดเต็มไม่มีคำว่ายอม เปิดเพลงเต้นกันอย่างสนุกสนาน ร่วมแชร์ความรู้สึก ความคิดเห็นผ่านสื่อมวลชนที่ไปทำข่าว ทั้งยังคืนชีพย่านสีลมที่เงียบเหงามานานจากสถานการณ์โควิด-19 ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ช่วยสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ และแสดงให้โลกรวมถึงรัฐบาลเห็นว่า ประชาชนคนไทยเห็นความสำคัญของความรักที่ไม่แบ่งแยกเพศ
แม้ว่าปีนี้จะเป็นปีแรกของการจัดงาน ซึ่งอาจจะยังไม่เป็นระบบเท่าที่ควร แต่เชื่อว่าคนไทยเมื่อตั้งใจทำอะไรแล้วก็ไม่แพ้ประเทศไหนในโลกแน่นอน กลุ่มประชาชนทำกันเองยังทำได้ขนาดนี้ ถ้าภาครัฐร่วมมือด้วยก็น่าจะยิ่งเพิ่มการเผยแพร่ไปในวงกว้างมากขึ้น พวกเราคิดว่างานไพรด์ปีหน้าจะยิ่งใหญ่และสนุกยิ่งขึ้น เพราะนั่นคือการตอกย้ำว่า ความหลากหลายได้ขยายการรับรู้ไปในวงกว้างแล้ว พวกเราหวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะได้มาร่วมกิจกรรมแบบนี้ด้วยกันในปีถัด ๆ ไป
EXPLORERS: คิม, มะเหมี่ยว และปาล์ม
PHOTOGRAPHER: นวภัทร ดัสดุลย์