Type and press Enter.

6 ชุมชนน่าเที่ยวแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

เที่ยวย้อนรอยอดีตเมืองเก่าบนคาบสมุทรสทิงพระ ผ่าน 6 ชุมชนรอบลุ่มน้ำ ทะเลสาบสงขลา ถ้าได้มาแล้วจะหลงรักและหลงใหล

ทะเลสาบสงขลา ทางทิศตะวันตก และอ่าวไทย ทางทิศตะวันออก ทำให้ที่นี่กลายเป็นจุดแวะพักที่สะดวกสำหรับนักเดินเรือจากนานาประเทศ

ความสำคัญของคาบสมุทรสทิงพระในอดีต เป็นจุดแวะพักเรือนักเดินเรือสามารถแวะพักเรือ ซ่อมแซม เติมน้ำจืดและเสบียง ในขณะเดียวกันก็จะเป็นแหล่งสินค้าที่สำคัญของเหล่าบรรดาพ่อค้า อย่างเช่นของป่า น้ำผึ้ง เครื่องหอม เครื่องเทศ เป็นต้น เพื่อนำไปขายต่อ

ดินแดนคาบสมุทรสทิงพระนี้มีความปลอดภัย เพราะพื้นที่ได้รับการควบคุมดูแลโดยอยุธยา สงขลา และปัตตานี จึงช่วยลดโอกาสการโจมตีจากโจรสลัด ปัจจุบัน คาบสมุทรสทิงพระยังคงมีความสำคัญในแง่ของ มรดกทางประวัติศาสตร์ และ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับอดีตอันรุ่งเรืองของพื้นที่แห่งนี้ และในอนาคตยังมีการผลักดันให้เป็นพื้นที่เมืองมรดกโลกอีกด้วย

และถ้าหากคุณได้เดินทางมายังจังหวัดสงขลาแล้ว เราขอแนะนำ 6 ชุมชนรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาที่รอให้คุณได้เข้ามาสัมผัสเรียนรู้วิถีชีวิตวัฒนธรรมการกินอยู่ของคนที่นี่ว่ามีวิถีอย่างไร เพราะอาหารการกินบางอย่างยังมีให้เห็นอยู่

ย่านเมืองเก่าสงขลา
ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา

ชุมชนเมืองเก่าบ่อยาง บ่อยางไม่ใช่เมืองแรกที่สร้างเมืองสงขลาในอดีต หากแต่เป็นเมืองที่สร้างขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อขยายเมือง เนื่องจากชุมชนเดิมที่หัวเขาเริ่มแออัด รัชกาลที่ 3 จึงมีพระราชดำริให้ย้ายเมืองจากชุมชนเมืองหัวเขามาสร้างเมืองใหม่ที่บ่อยาง ซึ่งก็คือพื้นที่ท่องเที่ยวชุมชนเมืองเก่าสงขลาที่บ่อยางในปัจจุบัน และคำว่าบ่อยางก็มีที่มาจากบ่อน้ำจืดที่อยู่ในวัดยางทอง จากบ่อวัดยาง เรียกสั้นๆ เป็นบ่อยางซึ่งคนในสมัยก่อนเวลาจะบอกว่าไปสงขลานิยมพูดว่าไปบ่อยาง เป็นที่รู้กันมาจนถึงปัจจุบัน 

เราเริ่มต้นทริปที่ถนนพัทลุง หมุดหมายแรกเรานัดกันที่บริเวณหน้ามัสยิดบ้านบน แค่ตรงจุดนี้สิ่งที่คุณจะได้พบเลยคือ ร้านอาหารเช้า ข้าวมันไก่ ร้านกาแฟ และโรงหนังเก่าแก่ชื่อสหภาพยนตร์ ที่เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี 2473 ปัจจุบันปิดกิจการ แต่เสน่ห์ของอาคารโรงหนังเก่ายังดูดี ใครที่ชอบถ่ายภาพสถาปัตยกรรมแบบนี้น่าจะชอบ

ฝั่งตรงข้ามโรงหนังคือที่ตั้งของมัสยิดบ้านบน หรือมัสยิดอุสาสนอิสลาม เป็นมัสยิดเก่าแก่ที่มีสถาปัตยกรรมไทย-จีนผสมผสานอย่างลงตัว สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานโคมไฟสีเขียวซึ่งเป็นเครื่องสังเค็ดในงานพระเมรุในหลวงรัชกาลที่ 5 นับเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ที่น่าสนใจ 

จากนั้นเราเดินทางไปตามถนนนครนอก นครในไปดูงานสตรีทอาร์ตสงขลา สภากาแฟที่เป็นภาพเขียนแรก ๆ โดยมีลุงเริญ ผู้วาดภาพเป็นคนเล่าเรื่องถึงความเป็นมาให้เราฟัง คือถ้าเดินเที่ยวลำพังคงไม่รู้ว่าการดูสตรีทอาร์ตในสงขลา ควรเริ่มจากตรงไหน

พอสาย ๆ อากาศเริ่มร้อน แวะพักเติมของว่างที่ร้านเดือนฉาย ร้านนี้มีดีที่บรรยากาศความเป็นบ้านเก่าของหลวงประธานราษฎร์นิกร และคุณหญิงพูนสุข ประธานราษฎร์นิกร ข้าวของภายในบ้านยังคงมีความ

ดั้งเดิม

เมื่อคุณได้เข้ามาที่ร้านเหมือนคุณได้พักผ่อนในบ้าน ลองหามุมสงบสักมุม หลับตาแล้วจินตนาการว่าตัวเองเป็นคุณหลวง ผมว่ามันก็น่าสนุกดีนะ ดีไม่ดีอาจจะหลุดทะลุมิติอย่างทวิภพก็ได้ หรือไม่ก็บุพเพสันนิวาส

หลังจากพักขาแล้วผมมีขนมโบราณ แนะนำคุณก่อนไปรับประทานอาหารกลางวัน คือขนมค้างคาว ที่มีวิธีทำสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ทำด้วยแป้ง แล้วยัดไส้ตามใจชอบ ไม่ว่าจะเป็นถั่ว เผือก หรือไส้หมู นำไปทอด รับประทานเป็นของว่าง มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม แม่ค้าบอกว่ามันมีลักษณะเหมือนค้างคาวกางปีก ก็เป็นความเชื่อ ตามความรู้ที่สืบต่อกันมา จริงเท็จอย่างไรใครพอรู้นำมาบอกกล่าวกันได้นะครับ 

สนใจรายละเอียดท่องเที่ยวชุมชนติดต่อ อาร์ – อารณีย์ ศุปการ ประธานชุมชนย่านเมืองเก่าสงขลา โทร.0613709790

ชุมชนบ้านหัวเขา
ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา

ที่ชุมชนนี้มีมาก่อนบ่อยาง ซึ่งถือว่าที่หัวเขานี้เป็นเมืองยุคที่สอง ของเมืองสงขลา ที่หัวเขามีเส้นทางท่องเที่ยวชมวัด ป้อมปราการเมือง ชมประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการสร้างบ้านแปงเมืองโดยมี หนิง-ปาริชาด สอนสุภาพ ประธานกลุ่ม ECO TOURISM SONGKHLA THAILAND เป็นผู้นำชม 

จุดเริ่มต้นเส้นทางนี้อยู่ตรง Songkhla Pier นั่งรถซาเล้งของชาวบ้านในชุมชนพาเที่ยว ใครที่ชอบเที่ยวโบราณสถาน ที่หัวเขา มีให้เห็นรากเหง้าของเมืองเก่าในอดีตอยู่หลายแห่งอย่างที่เรากำลังจะเดินทางไปนี้คือ บ่อเก๋ง

จากคำบอกเล่าของชาวบ้านบอกว่า ที่บ่อเก๋งนี้เป็นบ่อน้ำจืดที่มีไว้สำหรับนักเดินเรือเติมน้ำจืด แวะพักผ่อนก่อนเดินทางต่อ ทั้งยังเป็นบ่อน้ำจืดประจำชุมชนอีกด้วย  ใกล้ ๆ บ่อน้ำยังมีแท่นวางศิวลึงค์ ซึ่งสอดคล้องกับการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดี ว่าบนคาบสมุทรสทิงพระเต็มไปด้วยร่องรอยความเจริญทางวัฒนธรรมของฮินดูและพุทธมหายาน ผ่านเทวาลัย เทวรูปและรูปเคารพพระโพธิสัตว์มากมาย 

กำแพงเมืองเก่าสงขลาหรือป้อมหมายเลข 1 เป็นอีกหนึ่งจุดที่ทางชาวบ้านชวนเราไปชม และพลาดไม่ได้ที่จะเลยไปชมป้อมหมายเลข 9 ที่ป้อมนี้ยังมีความสมบูรณ์ครบถ้วนในรายละเอียดของป้อมที่ยังคงอยู่ในสภาพดี มีลักษณะเป็นป้อมขนาดกลางรูปสี่เหลี่ยม มีช่องทางเข้าอยู่ด้านในหรือด้านข้าง ซึ่งดูจากรูปลักษณะแล้วเชื่อกันว่าชาวอังกฤษมีส่วนช่วยในการก่อสร้างและออกแบบ ด้านนอกป้อมมีเสาครีบค้ำยัน เพื่อความแข็งแรงและลดการเสียหายจากการโจมตีด้วยปืนใหญ่ 

และจบทริปกันที่วัดศิริวรรณาวาส เป็นวัดร้างที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ปัจจุบันก็ยังคงเป็นวัดร้างอยู่ ซึ่งชาวบ้านช่วยกันดูแลและพยายามฟื้นฟูให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

สนใจรายละเอียดท่องเที่ยวชุมชนติดต่อ หนิง – ปาริชาด สอนสุภาพ โทร.0818984088

ชุมชนตำบลเกาะยอ
ต.เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา

เกาะหนึ่งเดียวในทะเลสาบสงขลาตอนล่างที่มีสะพานติณสูลานนท์เป็นตัวเชื่อมการเดินทางระหว่างแผ่นดินใหญ่กับคนบนเกาะ  ชนกลุ่มแรกที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานสันนิษฐานว่าเป็นชาวจีนจากบ้านน้ำกระจาย บ้านน้ำน้อย และบ้านทุ่งหวัง ในอดีตเกาะยออุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ สัตว์ป่า และทรัพยากรธรรมชาติ ผู้คนดำรงชีวิตแบบเกษตรกรรม ประมง และปลูกพืชผล เช่น พริกไทย มะพร้าว 

เกาะยอมีบทบาทสำคัญในการค้าขายกับต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน วัฒนธรรมผสมผสานระหว่างไทย จีน และมลายู ปัจจุบันความเจริญเข้าถึงทุกพื้นที่ วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไป เปลี่ยนไปแบบสนุกขึ้นเพราะมีการท่องเที่ยววิถีชุมชนที่มีอารีย์ ไชยบุบผา ตัวแทนหมู่บ้านมาเป็นคนนำให้เกิดการท่องเที่ยวในท้องถิ่น มีวัดแหลมพ้อเป็นจุดนัดพบของนักท่องเที่ยว เพราะเชื่อว่าการออกเดินทางไปทำอะไรก็แล้วแต่ต้องเริ่มต้นด้วยการกราบไหว้พระเพื่อความเป็นสิริมงคล 

ทริปนี้ที่เกาะยอมีอะไรบ้าง ไหว้พระจากวัดแหลมพ้อเสร็จ เรานั่งรถรางของชุมชนไปยังบ้านเก่า ที่ยังคงสภาพสถาปัตยกรรมบ้านไทยในอดีตให้เห็นได้ศึกษา ถึงแม้นไม่ร้อยเปอร์เซนต์แต่ก็สมบูรณ์แบบที่สุดและเหลือเพียงหลังเดียวแล้วบนเกาะ 

นอกจากมาเยี่ยมชมบ้านเก่าแล้ว ยังได้ทดลองทำ “ขนมหม่อฉี่” ออกเสียงยากหน่อย แต่ถ้าบอกที่มาของชื่อขนมแล้วเชื่อว่าหลายคนคงจะออกเสียงได้ จริง ๆ แล้วเพี้ยนเสียงมาจาก “ขนมโมจิ” ของญี่ปุ่น 

ตามคำบอกเล่า ๆ สื่อต่อกันมาว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้มาตั้งฐานทัพบริเวณสิงหนคร และได้มีการมาหาคนไทยให้ไปทำอาหารให้กิน ทหารญี่ปุ่นจึงสอนวิธีการทำขนมโมจิให้ชาวบ้าน พอชาวบ้านเห็นว่าทำง่ายขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ก็เริ่มมีการใส่ใส้ที่ใช้วัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่นอย่างแป้งข้าวเหนียว ถั่วลิสง และงา จากนั้นก็ทำเป็นขนมกินเล่นสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน  

จากนั้นจุดหมายต่อไปคือไปเยี่ยมชมสามเณรทอผ้า ที่วัดโคกเปี้ยว อ่านไม่ผิดหรอกครับ สามเณรทอผ้าจริง ๆ คือท่านเจ้าอาวาสรับอุปการะเด็ก ๆ ที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาให้เข้ามาบวชเรียนทั้งทางโลกและทางธรรมให้ทัดเทียมกับเด็กอื่น ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้สามเณรเหล่านี้ได้เรียนรู้การทอผ้าอันเป็นศิลปหัตถกรรมท้องถิ่นของชาวเกาะยอให้สืบต่อไปทั้งเป็นการฝึกอาชีพและสร้างรายได้ไปในตัว 

เที่ยวบนเกาะยอทั้งทีได้ยินข่าวว่าที่นี่มีสวนจำปาดะขนุนรสชาติดีสวนหนึ่งชื่อว่า “สวนสมรม” และฝึกสานโคร๊ะ ครอบผลจำปาดะเพื่อป้องกันแมลง และหากใครชอบในรสชาติของจำปาดะขนุน แนะนำว่าต้องซื้อติดมือกลับบ้านจากสวนสมรมได้เลย กิโลกรัมละ 80 บาท 

สนใจรายละเอียดท่องเที่ยวชุมชนติดต่อ อารีย์ ไชยบุบผา โทร.0637496581

ชุมชนเกาะหมาก
ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง

เสน่ห์แห่งวิถีชีวิตริมทะเลสาบ เป็นชุมชนชาวเกาะที่อยู่ในทะเลสาบสงขลาตอนกลาง เขตอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เกาะหมากยังเป็นเกาะที่ยังไม่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากนัก โดยมากจะเป็นคนในพื้นที่ภาคใต้ด้วยกันที่เข้ามาเที่ยว ธรรมชาติและบรรยากาศบนเกาะหมากดีมาก วิวทะเลสาบเมื่อนั่งมองดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า แสงสียามโพล้เพล้ช่างงดงามยิ่งนัก 

บนเกาะหมากควรมีเวลาอย่างน้อยสองวัน คุณจะเที่ยวครบจบที่เดียว มีเส้นทางปั่นจักรยานชมวิวยามเช้า หรือยามเย็นก็ดี หรือการทำกิจกรรมประติมากรรมทรายจากคุณพิชัย ก็เป็นการผ่อนคายได้แบบที่เรียกว่าศิลปะบำบัด เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการพักผ่อน หลีกหนีความวุ่นวาย สัมผัสวิถีชีวิตเรียบง่าย ริมทะเลสาบ แต่ที่ผมชอบนะคือการพายเรือคายัคกลางทะเลสาบชมดวงอาทิตย์ลับฟ้า ยิ่งใครมีคู่การได้ทำกิจกรรมแบบนี้ร่วมกันโรแมนติกนะ

สนใจรายละเอียดท่องเที่ยวชุมชนติดต่อ คิม – คิมหันต์ สุวรรณเรืองศรี ประธานกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลเกาะหมาก โทร. 0614919362

กลุ่มทำนาริมเลบ้านปากประ
ต.ลำปำ อ.เมือง จ.พัทลุง

ว่ากันว่าแสงแรกที่สวยงามที่สุดอยู่ที่ปากประ จังหวัดพัทลุงและมีชื่อเสียงมานานมาก ครั้งนี้โชคดีที่ได้มีโอกาสลงเรือมาชมแสงแรกที่งดงามดังกล่าว 

ตีห้าครึ่งคือเวลาที่พร้อมลงเรือ ตามพยากรณ์จากนาฬิการุ่นใหม่แจ้งว่าวันนี้ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 06.29 นาที นั่นหมายความว่าเราต้องออกเรือไปรอคอยแสงแรกของวันที่กลางทะเลสาบสงขลา ขอเตือนไว้หน่อย เตรียมยาทากันยุงไปด้วยยุงเยอะมาก แต่คุ้มค่ากับวิวแบบตะโกน ที่มีภาพของชาวบ้านที่กำลังยกยอยักษ์ด้วยแล้วช่างเป็นมุมถ่ายภาพที่สามารถนำไปอวดชาวโลกได้เลย 

เมื่อแสงแรกผ่านพ้นไปท้องฟ้ายามเช้าเริ่มสว่าง เห็นทางชัดขึ้น คนเรือขับพาเราไปยังทะเลน้อยซึ่งอยู่ตอนบนสุดของทะเลสาบสงขลา ไปชมควายน้ำ จริงๆ ก็คือควายปลัก ควายเลี้ยงของชาวบ้านปกตินี่แหละ หากแต่ว่าควายที่นี่ชอบที่จะลงไปหากินอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย 

ปัจจุบันควายน้ำ ทะเลน้อย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลกทางการเกษตร” แห่งแรกของไทย เป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ และในพื้นที่เดียวกันนี้ยังมีบึงบัวแดงให้ชมกันอีกด้วย นอกจากชื่นชมดอกบัวแดงแล้ว ใครชอบดูนก ที่ทะเลน้อยก็จะมีนกน้ำหลากหลายสายพันธุ์บินบ้าง เดินบนกอบัวบ้างคอยอวดโฉมนักท่องเที่ยวกันไม่มีเบื่อจริง ๆ 

หากคุณกำลังมองหาประสบการณ์การท่องเที่ยวที่น่าจดจำ  ผมขอแนะนำให้มาสัมผัสความมหัศจรรย์ของปากประและทะเลน้อยด้วยตัวเอง สนใจรายละเอียดท่องเที่ยวชุมชนติดต่อ สายัณ รักดำ โทร. 0819906793

ชุมชนบ้านท่าช้าง
ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง

ที่ชุมชนนี้เด่นเรื่องข้าวสังข์หยด ข้าวพันธุ์พื้นเมืองขึ้นชื่อของจังหวัดพัทลุง ภายใต้สโลแกน “รักษ์ข้าวดี วิถีท่าช้าง” ท่าช้างพนางตุง ตั้งอยู่ในตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ริมคลองท่าช้าง ที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี  ล้อมรอบไปด้วยทุ่งนาข้าวสีเขียวขจี แต่ช่วงที่ไปโชคไม่ดีเลยไม่เห็น พร้อมทำขนมโบราณชื่อว่าขนมคนทีที่ทำมาจากใบคนที คั้นน้ำสีเขียวเข้มมาเป็นส่วนผสมกับแป้งข้าวเหนียว เมื่อเสร็จแล้วดูคล้ายขนมเปียกปูน แต่ดูเหนียวกว่า  

ส่วนกิจกรรมการทำนา จัดขึ้นช่วงเดือนกันยายนของทุกปี  เกี่ยวข้าวช่วงก่อนกุมภาพันธ์ของทุกปี กิจกรรมเกี่ยวกับข้าวอย่างเช่นการนวดข้าว สีข้าว มีให้ทดลองทำตลอดทั้งปี ที่นี่เหมาะสำหรับคนที่มีบุตรหลานในวัยเรียนรู้ เชื่อว่าเด็กๆ จะสนุก เคยมีคนกล่าวไว้ว่า คนกินข้าว แต่ไม่เคยเห็นต้นข้าว ไม่เคยรู้ว่ากว่าจะเป็นข้าวแต่ละเม็ดเป็นอย่างไร ฉะนั้นกิจกรรมแบบนี้เหมาะยิ่งนักสำหรับวัยเรียนรู้

สนใจรายละเอียดท่องเที่ยวชุมชนติดต่อ มาลี  พันธ์วงค์ โทร.0612926393

ทั้ง 6 ชุมชนนี้ล้วนมีเสน่ห์และเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสวิถีชีวิต วัฒนธรรม และธรรมชาติอันงดงามของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา 

ไตรรัตน์ ทรงเผ่า

AUTHOR: ตู่-ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
PHOTOGRAPHER: ต้น-ศุภกร ศรีสกุล

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *