สุพรรณบุรี จังหวัดที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปี
ครั้งนี้เรามีโอกาสพิเศษได้ร่วมเดินทางไปกับ นาวาอากาศเอก ดร.อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) สำรวจมุมต่างๆ ของสุพรรณบุรีในฐานะเมืองที่ได้รับการรับรองเป็น เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี โดยองค์การยูเนสโก ประจำปี พ.ศ. 2566
“เหตุผลที่ผมอยากพามาที่จ.สุพรรณบุรีก็เพราะว่า อยากให้มาเห็นและสัมผัสบรรยากาศเมืองแห่งดนตรี ซึ่งความโดดเด่นของรากฐานวัฒนธรรมด้านดนตรีที่นี่เข้มแข็งและกลมกลืนกับวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นมายาวนาน จุดเด่นคือการมีบุคลากรด้านดนตรีที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ทั้งดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีไทย เพลงลูกทุ่ง เพลงเพื่อชีวิต และดนตรีสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่า เบญจภาคีดนตรีสุพรรณ” นาวาอากาศเอก ดร.อธิคุณ คงมีกล่าวขณะรับประทานอาหารเย็น
ปฐมบทแห่งสุพรรณบุรี
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี คือจุดเริ่มต้นของการเดินทางครั้งนี้ ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราวของศิลปวัตถุ วิถีชีวิตชาติพันธุ์ และประวัติศาสตร์การสร้างเมืองสุพรรณบุรี ที่น่าสนใจคืออาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่ว ซึ่งบอกเล่าถึงเรื่องราวของ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ผู้มีบทบาทสำคัญต่อเมืองสุพรรณบุรี
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี ซึ่งน้อยคนจะเลือกเป็นจุดหมายปลายทางหลักในการท่องเที่ยว แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ภายใน ต้องบอกเลยว่า “ว้าว” สมคำล่ำลือจริง ๆ ที่นี่ไม่ได้มีดีแค่ความสวยงาม แต่ยังจัดแสดงนิทรรศการที่ยอดเยี่ยมในระดับเทียบเท่าพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้นำเสนอเรื่องราวของ ศิลปะวัตถุ ชาติพันธุ์ วิถีชีวิต การย้ายถิ่นฐาน และการสร้างเมืองสุพรรณบุรี อย่างละเอียดและมีชีวิตชีวา คุณจะได้สัมผัสเรื่องราวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจังหวัดสุพรรณบุรีอย่างครบถ้วน
ไม่ไกลจากตัวพิพิธภัณฑ์ ยังมี อาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่ว และนิทรรศการประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวของ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือ ขุนหลวงพะงั่ว ผู้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ
ความน่าสนใจอยู่ที่คำว่า “งั่ว” ซึ่งหมายถึง “ห้า” ในภาษาโบราณ สะท้อนถึงการที่ขุนหลวงพะงั่วทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 5 ของราชวงศ์ เรื่องราวนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้เราเข้าใจอดีต แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพระองค์ในประวัติศาสตร์ไทย
การมาเยือนสถานที่นี้จึงไม่ใช่แค่การเรียนรู้ แต่ยังเป็นการเดินทางย้อนกลับไปในอดีตเพื่อสัมผัสต้นกำเนิดและความภาคภูมิใจของชาวสุพรรณบุรีอย่างแท้จริง
เสียงดนตรีที่วัดประตูสาร
เมื่อมาถึงวัดประตูสาร สิ่งที่สะดุดตาคือจิตรกรรมฝาผนังที่ถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมในอดีต หนึ่งในนั้นคือภาพที่สะท้อนถึงความเป็นเมืองดนตรีของสุพรรณบุรี และเชื่อมโยงกับเรื่องราวของ วงปี่พาทย์ประคองศิลป์ ที่คุณสมมาตร วิสุทธิวงษ์ หรือ “พี่โต้ง” เล่าให้ฟังอย่างลึกซึ้ง
พี่โต้งเล่าว่า วงปี่พาทย์ประคองศิลป์ได้รับการสืบทอดมาเป็นรุ่นที่ 4 โดยเริ่มก่อตั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2424 ภายใต้ชื่อเดิมว่า วงปี่พาทย์ชีปะขาว ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 หนึ่งในจุดสำคัญคือการได้รับการอุปถัมภ์จากหลวงพ่อลี่ อดีตเจ้าอาวาสวัดสุวรรณภูมิ ที่สนับสนุนให้เด็กชายคนหนึ่งได้เรียนดนตรี เด็กชายผู้นั้นคือ ครูมนตรี ตราโมท ผู้ที่แต่งเพลงไทยเดิมที่ยังคงอยู่ในใจคนไทยอย่าง “ค้างคาวกินกล้วย”
ความน่าสนใจไม่ได้หยุดอยู่แค่เรื่องราวของวงปี่พาทย์ แต่ยังรวมถึงจิตรกรรมฝาผนังของวัดประตูสาร ที่บอกเล่าวิถีชีวิตของชาวบ้าน การละเล่น และการแสดงดนตรี ซึ่งสะท้อนถึงอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากหลากหลายพื้นที่ในยุคนั้น ช่างเขียนภาพได้ถ่ายทอดสิ่งที่พบเห็นจริงในสังคมลงบนฝาผนัง ทำให้ภาพเหล่านี้กลายเป็นหลักฐานยืนยันถึงอัตลักษณ์ความเป็นเมืองดนตรีของสุพรรณบุรี
ปัจจุบัน วงปี่พาทย์ประคองศิลป์ยังคงรักษามรดกทางดนตรีนี้ไว้ โดยเปิดโอกาสให้ผู้สนใจดนตรีไทยได้เรียนรู้และสืบทอดต่อไป พี่โต้งกล่าวขอบคุณทีมงานอพท.ที่ช่วยผลักดันให้สุพรรณบุรีเป็นเมืองสร้างสรรค์ทางด้านดนตรี โดยกล่าวว่า “การส่งเสริมนี้ช่วยขับเคลื่อนวัฒนธรรมในชุมชน สร้างการจ้างงานและการกล่าวถึงวงกว้าง”
เสียงเพลง “ค้างคาวกินกล้วย” ที่บรรเลงจบลง สะท้อนถึงความภาคภูมิใจในมรดกที่ส่งต่อมาอย่างยาวนาน และทำให้เราเห็นคุณค่าของดนตรีไทยในฐานะส่วนหนึ่งของความเป็นไทยที่ยังคงอยู่เหนือกาลเวลา บทเพลงและจิตรกรรมที่วัดประตูสารไม่ได้เป็นเพียงแค่ศิลปะ หากแต่คือสะพานที่เชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของดนตรีไทยในเมืองสุพรรณบุรีอย่างลงตัว
มหัศจรรย์หินผาที่อู่ทอง
แวะชมความอลังการและความงดงามของ พระพุทธรูปแกะสลักหน้าผา พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ สถานที่ท่องเที่ยวที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภออู่ทอง เมืองโบราณเก่าแก่ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของจังหวัดสุพรรณบุรี ก่อนที่จะกลายเป็นตัวเมืองสุพรรณบุรีในปัจจุบัน
ในปี 2567 ชาวจังหวัดสุพรรณบุรีได้รับข่าวดีที่น่าภาคภูมิใจ เมื่อ Green Destinations ได้ประกาศรายชื่อ แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก หรือ Green Destinations Top 100 Stories 2024 โดยหนึ่งในนั้นคือเมืองโบราณอู่ทอง ซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษที่ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ได้พัฒนาตามแนวทางเกณฑ์ GSTC (Global Sustainable Tourism Council)
เมืองโบราณอู่ทองได้รับการนำเสนอเป็นแนวปฏิบัติที่ดีในด้าน การจัดการแหล่งท่องเที่ยว (Destination Management) โดยมุ่งเน้นประเด็น “การฟื้นฟูแหล่งเสื่อมโทรมเมืองโบราณอู่ทอง ด้วยพลังศรัทธาภาคประชาสังคม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” พื้นที่แห่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นจุดชมวิวที่งดงาม แต่ยังสะท้อนถึงความร่วมมือของชุมชนในการรักษาและฟื้นฟูคุณค่าแห่งประวัติศาสตร์และศาสนา
ใกล้เคียงกับบริเวณนี้ยังมี โบราณสถานพุหางนาค แหล่งประวัติศาสตร์สำคัญที่มีอายุย้อนไปถึงยุคทวารวดีเมื่อกว่า 2,000 ปีมาแล้ว พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นแหล่งกักเก็บน้ำโบราณที่หล่อเลี้ยงเมืองอู่ทองในอดีต โดยยังคงมีหลักฐานทางโบราณคดีหลงเหลือให้ศึกษา
ไม่ว่าคุณจะหลงใหลในความงดงามของพระพุทธรูปแกะสลัก ความอลังการของประวัติศาสตร์ หรือความสงบร่มเย็นของธรรมชาติ อู่ทองคือจุดหมายที่คุณไม่ควรพลาด และเมื่อมีโอกาส กลับมาเยือนที่นี่อีกครั้ง คุณจะพบกับมุมมองใหม่ ๆ และเรื่องราวที่ยังรอการค้นพบเสมอ
ลิ้มลองรสชาติเมืองสุพรรณ
ชุมชนตำลึงหวาน จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นหนึ่งในตัวอย่างของความสำเร็จด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน ด้วยมาตรฐานการท่องเที่ยวอาเซียน ชุมชนแห่งนี้เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนในท้องถิ่น ได้แก่ กลุ่มบ้านหนองเสอ กลุ่มกะลานาลาว และกลุ่มจิติมาสมุนไพร พวกเขาใช้ชื่อ “ตำลึงหวาน” ซึ่งมาจากพืชที่ปลูกง่ายและเติบโตเร็ว เพื่อสื่อถึงความมุ่งหวังให้กลุ่มเติบโตอย่างยั่งยืน
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2556 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ได้ส่งเสริมให้ชุมชนพัฒนาการท่องเที่ยวโดยดึงเอกลักษณ์ท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ เช่น การนำงานจักสานมาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดมื้ออาหารอย่างสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นที่รองจาน/แก้ว ซองใส่ช้อนส้อม หรืออุปกรณ์ตกแต่งต่าง ๆ
ไฮไลต์ของมื้อเย็นที่ชุมชนตำลึงหวานคืออาหารไทยพื้นบ้านรสชาติเข้มข้น เช่น น้ำพริกปลาทู ผักสด และไข่เจียว ที่จัดมาในสำรับอย่างเรียบง่ายแต่น่าประทับใจ ความอร่อยของอาหารทำให้หลายคนต้องขอเติมอย่างไม่ลังเล สัมผัสประสบการณ์นี้สักครั้ง แล้วคุณจะได้รู้ว่ารสชาติของชุมชนที่เปี่ยมไปด้วยความตั้งใจนั้นเป็นอย่างไร
มื้อเย็นที่ตำลึงหวานไม่ใช่เพียงการรับประทานอาหาร แต่เป็นการร่วมแบ่งปันเรื่องราวและสัมผัสวิถีชีวิตที่ยังคงกลิ่นอายความอบอุ่นของชุมชนสุพรรณบุรีอย่างแท้จริง
สืบสานพระพุทธศาสนา
เริ่มต้นวันใหม่ด้วยการตื่นแต่เช้าเพื่อมุ่งหน้าสู่ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วย วัดป่าเลไลย์ สถานที่ที่ผสมผสานการสืบสานพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมพื้นบ้านได้อย่างลงตัว โดยที่นี่จัดกิจกรรม ตักบาตรนาวาภิกขาจาร ซึ่งเป็นการตักบาตรทางน้ำตามประเพณีดั้งเดิม ให้ผู้คนได้สัมผัสบรรยากาศวิถีชีวิตในอดีต กิจกรรมนี้จัดขึ้นทุกวันเสาร์-อาทิตย์ สร้างประสบการณ์ที่เปี่ยมด้วยความสงบและจิตวิญญาณแห่งศาสนา
นอกจากการตักบาตรแล้ว ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยแห่งนี้ยังทำหน้าที่เป็นวิสาหกิจชุมชนที่เน้นการเกษตรพอเพียง โดยมุ่งอนุรักษ์พันธุ์กล้วยหายากในประเทศไทย บนพื้นที่กว่า 18 ไร่ ได้รวบรวมกล้วยหลากหลายสายพันธุ์มากถึง 108 ชนิด จากทั่วทุกภูมิภาค เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยไข่ และกล้วยพันธุ์พิเศษของสุพรรณบุรีอย่าง กล้วยน้ำว้ากาบขาว ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ พันธุ์เตี้ย โคนต้นอวบ และผลดก
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถเลือกซื้อสินค้าจากชุมชนที่มีให้เลือกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วย หรือสินค้าเกษตรคุณภาพอื่น ๆ ที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาและความตั้งใจของคนในชุมชน
กิจกรรมที่วัดป่าเลไลย์ไม่เพียงแต่ช่วยสืบสานพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมดั้งเดิม แต่ยังสนับสนุนการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและสร้างรายได้ให้กับชุมชนในเวลาเดียวกัน หากคุณกำลังมองหาประสบการณ์ที่ทั้งสงบสุขและเต็มไปด้วยคุณค่า ที่นี่คือสถานที่ที่ไม่ควรพลาด
ละลานตาดนตรีไทยในสวน
อีกหนึ่งหมุดหมายบ้านดนตรีไทย By ครูเอียด เป็นเครือข่ายสำคัญที่ร่วมผลักดันให้จังหวัดสุพรรณบุรีก้าวสู่การเป็นเมืองแห่งดนตรี สถานที่แห่งนี้เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ และบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจในดนตรีไทยได้มาเรียนรู้และฝึกฝนท่ามกลางบรรยากาศที่ร่มรื่นในสวนมะพร้าว
นอกจากจะเป็นพื้นที่สำหรับเรียนรู้ดนตรีไทยแล้ว บ้านดนตรีไทย By ครูเอียด ยังแบ่งปันพื้นที่ว่างเปล่าในบริเวณให้ชาวบ้านใกล้เคียงได้นำสินค้าจากสวนมาขาย เช่น ผักผลไม้สด ๆ หรือสำหรับใครที่มีฝีมือด้านการทำอาหาร ก็สามารถนำมาขายได้โดยไม่เสียค่าที่แต่อย่างใด สถานที่นี้จึงไม่เพียงเป็นศูนย์กลางทางดนตรี แต่ยังเป็นศูนย์กลางชุมชนที่อบอุ่นและสนับสนุนความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่อีกด้วย
ขอบคุณ อพท.องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์กรมหาชน)
EXPLORER: ตู่-ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
PHOTOGRAPHER: เจมส์-อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม