นี่คือภาพเบื้องหลังการทำงานในป่าชุมชน สวนยางพารา และป่าชายเลน ของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA (จิสด้า) ในวันที่พาพวกเรา บ้านและสวน Explorers Club และ National Geographic Thailand ร่วมด้วย แบงค์ Visitor’s Journey และหมาก The Walker ติดสอยห้อยท้ายลงพื้นที่ 3 แห่งในจังหวัดระยอง และจันทบุรี ไปตรวจวัดคาร์บอนเครดิตด้วยการใช้เครื่องมือที่เหมาะกับลักษณะพื้นที่และเทคโนโลยีของ GISTDA เพื่อกลับไปหาค่าปริมาณการดูดซับคาร์บอนในแต่ละพื้นที่ กลับมาคำนวณเป็นเครดิตเพื่อซื้อขายในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต
คาร์บอนเครดิต คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร และบทบาทสำคัญของ GISTDA ในมุมมองของเราจากการได้ลงพื้นที่เฝ้าสังเกตการณ์ และดูกระบวนการทำงานของพวกเขาตลอดสองวันเต็ม กลายเป็นที่มาของเรื่องราวที่เราอยากจะเล่าให้ทุกคนเข้าใจ เรื่องรู้จัก รู้กัก รู้เก็บ คาร์บอนเครดิต ในครั้งนี้
รู้จัก
การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และภาวะโลกร้อน กลายเป็นประเด็นที่สังคมทั่วโลกให้ความสนใจ และตระหนักถึงผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ในปัจจุบันประเทศไทยของเราเอง มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการทำลายชั้นบรรยากาศในปริมาณร้อยละ 0.8 ซึ่งถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 19 ของโลก
ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงได้มีการวางเป้าหมาย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 ผ่านการกำหนดมาตรการและวางนโยบายที่จะช่วยขับเคลื่อนและผลักดันสู่การ ‘ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก’ อย่างเป็นรูปธรรม และนำมาซึ่งการถือกำเนิดขึ้นของ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.
หนึ่งในภารกิจหลักของ อบก. คือการจัดการเรื่องคาร์บอนเครดิตภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ในประเทศไทย โดย อบก. ได้ให้นิยามคำว่า “คาร์บอนเครดิต” หมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง หรือกักเก็บได้ ภายใต้กลไกการลดก๊าซเรือนกระจก หรือ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เข้าสู่ชั้นบรรยากาศด้วยวิธีต่าง ๆ
อย่างเช่น คาร์บอนเครดิตป่าไม้ (Forest Carbon Credit) เนื่องจากป่าไม้คือแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ชั้นดี และผลพวงจากการดูแลรักษาป่าไม้ยังสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตได้ ภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) หรือ T-VER ที่พัฒนาโดย อบก.
รู้กัก
รู้ไหมว่า คาร์บอนเครดิต นั้นมีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งเราสามารถนำคาร์บอนเครดิตไปซื้อขายผ่านตลาดคาร์บอนเครดิต (Carbon market) เพื่อการชดเชยปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกไป
ดังเช่นในระบบโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ จึงหันมาให้ความสำคัญกับการปลูกป่า หรือให้การสนับสนุนป่าชุมชนโดยรอบพื้นที่เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน หรือในปัจจุบันก็มีป่าชุมชนต้นแบบหลายแห่งที่สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้จริง อย่างเช่น ป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ป่าชุมชนแห่งแรกของไทยที่สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ เป็นต้น
แล้ว GISTDA มีบทบาทในการดำเนินงานอย่างไร?
รู้เก็บ
GISTDA เป็นเสมือนนักสำรวจพื้นที่สีเขียว ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาคสนามที่มีเครื่องไม้เครื่องมือในการทำงานที่เหมาะสมในการรังวัดที่ดินในแต่ละแปลง ผสานกับการนำข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ มาช่วยตรวจสอบการเจริญเติบโตของต้นไม้ ความหนาแน่นของป่า พร้อมจำแนกประเภทป่าไม้ผ่านการสร้างแบบจำลอง 3 มิติ เพื่อคำนวณปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งการคำนวณปริมาณกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ในป่าแต่ละพื้นที่จะเปลี่ยนแปลงเมื่อต้นไม้เติบโตขึ้นนั่นเอง
คาร์บอนเครดิต จึงไม่เป็นเพียงทางเลือกในการสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนที่ตั้งใจปลูกป่า หรือร่วมมือกันรักษาผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์เอาไว้เท่านั้น หากแต่ยังเป็นการกระตุ้นให้ชาวบ้านที่สนใจ หรือองค์กรที่มีพื้นที่ป่าไม้หรือพื้นที่สีเขียวของตนเอง หรือแม้แต่โรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชน เล็งเห็นประโยชน์ของผืนป่า หันมาสนับสนุนและเพิ่มคุณค่าให้ทรัพยากรป่าไม้ในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นในในระยะยาวได้อีกทางหนึ่ง
ขอบคุณ
– ป่าเขาจอมแห เทศบาลตำบลมะขามคู่ จังหวัดระยอง
– สวนยางพารา ป้าเล็ก จังหวัดระยอง
– สวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9 จังหวัดจันทบุรี
เขตพื้นที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง