มีลา การ์เด้น รีทรีท คอทเทจ (Mela Garden Retreat Cottage) คือชื่อของรีสอร์ทใน ต.ลำพญากลาง อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ที่เปิดมานานถึง 8 ปีแล้ว อยู่ท่ามกลางหุบเขา และไม่เป็นที่รู้จักนักสำหรับนักท่องเที่ยว มีโต้ง – ดาราชัย ศิลปรัตน์ เป็นเจ้าของและผู้ดูแล โดยมีคำว่า “ความสุข คือกำไร” เป็นหัวใจของการบริหาร และที่สำคัญยังเป็นพื้นที่เรียนรู้ดูดาวอีกด้วย
ผมเดินทางจากกรุงเทพฯมาถึงที่นี่ ใช้เวลาเดินทางเกือบสามชั่วโมง ด้วยเหตุผลเดียวคือ อยากเห็นด้วยตาตัวเองและอยากสัมผัส “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด เพื่อการดูดาว” นั้นเป็นอย่างไร จะเห็นดาวจริงไหม อากาศและบรรยากาศจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่ได้ออกมาสัมผัสด้วยตัวเองคงเป็นเรื่องยากที่จะบอกให้คุณผู้อ่านได้เชื่อถึงในสิ่งที่ผมเขียน
แต่ก่อนที่จะไปสู่โหมดการดูดาวเรามาทำความรู้จักกับสถานที่ดูดาวที่ได้รับการประกาศและขึ้นทะเบียนเป็น “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด” แห่งนี้กันก่อนครับโดยผ่านการเล่าเรื่องจากพี่โต้ง ผู้ใหญ่ใจดีที่มาคอยต้อนรับพวกเราด้วยตัวเอง
อดีตวิศวกร
“เพราะความไม่รู้ มันเป็นสิ่งที่ทำให้เรากล้าที่จะทำอะไรบางอย่าง เนื่องจากเราไม่รู้”
“ก่อนมาทำที่นี่ ผมทำธุรกิจเกี่ยวกับเรือสินค้า เป็นเรือเดินชายฝั่ง ที่เริ่มต้นจากแหลมฉบังมายังสุราษฎร์ธานี ที่นี่เป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้า จนมีท่าเรือเป็นของตัวเอง ที่สุดแล้วการทำธุรกิจต้องมีคู่แข่ง ผมจึงหาทางออกต่อยอดด้วยการส่งสินค้าไปยังหมู่เกาะทางใต้ของไทยอย่างอินโดนีเซีย เกาะสุมาตรา เน้นต่างประเทศอย่างเดียว ไม่เอาแล้วในประเทศเราสู้ไม่ได้ พอทำตลาดต่างประเทศมันดีขึ้นนะ แง่หนึ่งคือได้เดินทางท่องเที่ยวไปด้วย แต่ตอนนี้ไม่ได้ทำแล้ว เพราะว่าอยากจะพัก”
เริ่มต้นมีลา การ์เด้น รีทรีท คอทเทจ อย่างไร
“ถ้าย้อนกลับไปเมื่อวันที่ผมเห็นที่แห่งนี้นะ ผมภาวนาในใจว่า อย่าซื้อนะ อย่าซื้อ คือไม่อยากให้พ่อกับลุงซื้อที่แห่งนี้ ผมรู้ว่าถ้าซื้อมันจะเหนื่อย และเป็นช่วงเวลาที่ผมก็เริ่มจะวางมือจากการเดินเรือแล้ว อยากอยู่เฉยๆ สุดท้ายแล้ว ลุงกับพ่อก็ซื้อที่ดินที่นี่ หลังจากซื้อแล้ว วันที่สองผมก็กางเต็นท์นอนที่นี่เลย”
“เดิมทีที่ตรงนี้ปลูกข้าวโพด ปลูกมันสำปะหลัง ผมก็นอนดูธรรมชาติ นอนดูดาวไป น้ำท่าก็ไม่มี ตอนนั้นก็เริ่มคิดแล้วว่าที่นี่ดาวสวย ธรรมชาติ อากาศดี ก็เริ่มวางโครงการ โครงร่างต่างๆ ค่อยๆสร้างมาที่ละนิด จนถึงปัจจุบันก็ยังมีปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา เพราะเราใช้ที่นี่เป็นบ้านอยู่อาศัยของครอบเราด้วย”
“ตั้งแต่เปิดที่นี่เป็นรีสอร์ทมา ผมไม่เคยทำโปรโมทเลย ทำให้ไม่มีคนรู้จัก อาจเป็นด้วยนิสัยผมด้วยมั๊ง ที่ไม่นิยมเล่นสื่อโซเชี่ยล นานๆ จะเข้ามาโพสต์สักครั้ง ไม่รู้สิผมว่าผมเป็นคนที่ไม่ได้อยู่ในโลกโซเชี่ยล โดนคนรอบข้างว่าเหมือนกันนะว่าถ้าจะทำแล้ว มันต้องอยู่ได้ ไม่ใช่เงินออกทุกเดือน กับที่พักขนาด 20 กว่าห้องทำให้มันอยู่ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย”
“แต่ก็ต้องยอมรับครับว่า ตั้งแต่นิตยสารบ้านและสวนมาถ่ายเมื่อปี 2559 ทำให้กลุ่มครอบครัวคนไทยรู้จักเรามากขึ้น อันนี้ต้องฝากขอบคุณบ้านและสวนด้วยครับ”
หลักคิดในการทำงาน
“ผมว่าไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตสำคัญมากกว่า ถ้าเราทำงานที่มันขัดต่อการใช้ชีวิตของเรา ให้เงินดีแค่ไหนก็ไม่มีความสุข ผมเคยถามอาจารย์ท่านหนึ่งชาวสิงคโปร์ว่า ‘คุณสอนเกี่ยวกับด้านไหน’ เขาตอบว่า ‘สอนการทำธุรกิจ’ ผมเลยโยนคำถามๆ ไปว่า ‘คุณว่าความสุขมันมีมูลค่าไหม’ แกตอบว่า ‘ความสุขมันมีทั้งมูลค่าและคุณค่า’ เลยทำให้เข้าใจได้ว่าจากวันที่บอกว่าจะวางมือในวันนั้น วันนี้ผมกลับมีความสุขจากการไม่วางมือ และมีความสุขกับการใช้ชีวิตในทุกๆวัน แบบนี้น่าจะเป็นหลักคิดได้ไหมครับว่าทำอะไรแล้วมีความสุขก็ทำอันนั้นเถอะจากวันที่บอกว่าจะวางมือ และไม่อยากให้ลุงกับพ่อซื้อที่แปลงนี้”
“มันเป็นชีวิตไปแล้วอะ ผมมีลูกเล็กด้วย มีครอบครัว ที่นี่ลูกผมเกิดในป่า ผมมีสิ่งอำนวยความสะดวกหมดทุกอย่างเหมือนคนเมือง ผมมีภูเขาเป็นรั้วบ้าน ชาวบ้านแถวนี้น่ารัก กับสิ่งที่ผมลงมือทำและอยู่กับมันทุกๆวัน มันมีความสุขใช่ไหม เราก็อยากเห็นสิ่งที่เราทำ มันสามารถดูแลตัวมันเองได้ เลี้ยงลูกน้องได้ ก็เริ่มทำตลาดบ้างด้วยการไปออกบูธขายห้องพัก เชื่อไหมว่า ขายไม่ได้สักห้อง เลยทำให้เรากลับมาคิดใหม่ว่าการทำโรงแรม”
“ที่พักเนี่ย ถ้าเราไม่ดังมันต้องใช้กิจกรรมมานำทางให้เกิดการขับเคลื่อนในสถานที่ ผมก็ได้ยินข่าวมาบ้างเรื่องการขออนุญาตนำพื้นที่ไปขอขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด และเห็นสถานที่พักในบริเวณใกล้เคียงกันก็ขอขึ้นทะเบียนท้องฟ้ามืดด้วย แต่ก็ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าไม่ได้ด้วยสาเหตุใด ผมเองก็เริ่มมาส่งเรื่องราวของสถานที่ตัวเองไปบ้างโดยส่งไปที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ไม่นานก็มีการส่งเจ้าหน้าที่มาเยี่ยมชมสถานที่จริง มีการตรวจวัดค่าแสงในพื้นที่จริงๆแล้วมันมีองค์ประกอบหลายอย่างครับที่สุดเราก็ได้คัดเลือกเป็น 1 ใน 18 แห่งที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดปี 2023”
ดูดาวกัน
กิจกรรมเรียนรู้ดูดาวของผมเริ่มต้นตอนสองทุ่มกว่าๆ โรงแรมรีสอร์ท ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดจะมีหลักเกณฑ์การจัดการแสงสว่างไปแนวทางเดียวกันคือจะบอกผู้เข้าพักทุกท่านว่า เมื่อถึงเวลาสองทุ่ม หรือบางแห่งอาจเริ่มดึกกว่านั้น จะมีการดับไฟเพื่อเข้าโหมดดูดาว และเมื่อแสงสว่างลดลง ความมืดสนิทก็มาแทนที่ ถ้าจะให้ดีต้องหาเสื่อมานอนดู เพราะถ้าเอาแต่แหงนหน้ามันจะปวดเมื่อยคอ ดาวนับล้านกระจัดกระจายทั่วท้องฟ้า
ผมโหลดแอปพลิเคชัน สำหรับดูดาวไว้ล่วงหน้า ช่วยให้การดูดาวสนุกขึ้นเยอะ เพราะในแอปฯจะบอกชื่อดวงดาว และถ้าคุณโชคดีคุณจะได้เห็นดาวตก ครั้งนี้ผมเห็นสองดวง เรื่องดาวตกนั้นนักดาราศาสตร์บอกไว้ว่าดาวตกทุกวัน แต่ที่เราไม่เห็นเพราะมลภาวะทางแสงมันเยอะเลยทำให้ไม่เห็น อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่าทำไมถึงต้องมานอนดูดาวด้วยตัวเอง เขียนบรรยายไปอาจจะไม่เชื่อ ดูภาพประกอบเป็นหลักฐานก็แล้วกันนะครับ
สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากจะมานอนดูดาวที่นี่แล้วกลัวว่าจะไม่มีอะไรทำนอกจากดูดาว พี่โต้งไปชวนผมไปเดินเล่นบนถนนหน้ารีสอร์ทเดินไปไร่ปรารถนา ของไผ่ ชายหนุ่มที่ตัดสินใจกลับบ้านมาทำฟาร์มของตัวเอง พี่โต้งยังบอกอีกว่านอกจากที่ไร่ปรารถนาแล้วยังมีโรงงานสมุนไพร สวนเบญจมาศบิ้กเต้ ที่อยู่ในพื้นที่นี้น่าไปแวะชม
ส่วนวันเดินทางกลับผมเลือกไปไหว้พระที่วัดถ้ำดาวเขาแก้ว เดินขึ้นบันไดร้อยกว่าขั้นไปด้านบนเป็นถ้ำกว้าง อลังการ พอได้เหงื่อ
ข้อมูลเชิงความรู้
แนวคิดเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด
เพื่อเป็นการปลุกกระแสการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ และกระจายรายได้สู่ชุมชน สร้างไกด์ดาราศาสตร์ในชุมชนและเปิดประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบใหม่ ทั้งยังส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืน
การขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดคืออะไร
คือโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ เป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ให้สอดคล้องกับพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ชุมชน โรงแรมรีสอร์ท และศูนย์การเรียนรู้ต่างๆทั่วประเทศ ให้เกิดเป็นสถานที่ที่เรียนรู้ดูดวงดาวให้เป็นที่แพร่หลายมากกว่านี้
ข้อปฏิบัติสำหรับพื้นที่ที่จะขึ้นทะเบียน
สำหรับพื้นที่ที่ต้องการจะขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด จะต้องมีการนำส่งเรื่องราวของพื้นที่ในเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในพื้นที่เข้ามายังสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พิจารณาถึงพื้นที่นั้นๆในเรื่องของระดับความมืดของท้องฟ้าที่เหมาะสม มีพื้นที่ในการสังเกตการณ์ไม่น้อยกว่า 100 ตารางเมตร และสามารถมองท้องฟ้าได้มากกว่า 70 % ของพื้นที่ นั่นหมายความว่าเมื่อเรามองท้องฟ้าจะต้องไม่มีสิ่งใดมาบดบัง
อย่างเช่นตึก อาคาร และที่สำคัญอีกอย่างคือเรื่องการจัดการเรื่องแสงสว่าง จะต้องไม่รบกวนกิจกรรมการดูดาว ไปจนถึงสถานที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรบ้างให้กับนักท่องเที่ยว เช่นมีวิทยากรคอยให้ความรู้เรื่องดวงดาวหรือไม่ มีอุปกรณ์อย่างกล้องดูดาวไว้คอยบริการไหม การเดินทางเข้าพื้นที่สะดวกมากน้อยแค่ไหน มีรถรับส่งไว้คอยบริการอย่างไร เป็นหลักเกณฑ์ที่เอาไว้พิจารณา เมื่อผ่านการคัดเลือกในรอบแรกทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปตรวจวัดระดับความมืด (Sky Quality Meter) เพื่อเช็กว่าท้องฟ้าบริเวณนี้มีความมืดระดับไหน สังเกตเห็นอะไรได้บ้าง เพราะว่าความคาดหวังของผู้ที่นิยมดูดาวในเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดนั้นค่อนข้างสูงคือไปแล้วจะต้องไม่ผิดหวัง
เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด แบ่งเป็น 4 รูปแบบ
อุทยานท้องฟ้ามืด
บางครั้งเราไปเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหลายๆแห่งบางแห่งอาจมีแสงไฟรบกวน แต่สำหรับอุทยานไหนที่เข้าร่วมกับโครงการทางอุทยานก็จะมีการบริหารจัดการพื้นที่ จัดให้มีโซนสำหรับดูดาวโดยเฉพาะ บางที่สามารถนำรถไปจอด กางเต็นท์และดูดาวได้แบบ 360 องศากันเลย ซึ่งถ้าใครอยากได้ความมืดแบบสนิทต้องมาที่อุทยานแห่งชาติที่เข้าร่วมโครงการครับ
เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล
สถานที่นี้เหมาะสำหรับท่านที่ชอบความสะดวกสบาย ซึ่งจะอยู่ในโรงแรมหรือรีสอร์ทที่เข้าร่วมโครงการ หลังสองทุ่มจะมีการบริหารจัดการเรื่องแสง จะมีเวลาเปิดปิดไฟ ซึ่งทางโรงแรมหรือรีสอร์ทจะมีวิทยากร และอุปกรณ์ไว้คอยอำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้าพักเพื่อที่จะได้เรียนรู้ดูดาวอย่างมีความสุข
ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด
พื้นที่ชุมชนจะเน้นเรื่องความกว้างของสถานที่ คุณสามารถขับรถบ้านไปจอดนอนดูดาวได้เลย อย่างเช่นที่ชุมชนออนใต้ จังหวัดเชียงใหม่
เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง
สำหรับใครที่ไม่สะดวกขับรถเดินทางไปไหนไกลๆก็สามารถมาเที่ยวชมแถวชานเมืองได้อย่างเช่น หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯฉะเชิงเทรา ,หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯสงขลา, หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯขอนแก่น, หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯนครราชสีมา , สวนสัตว์ขอนแก่น เป็นต้น
จากการสำรวจครั้งใหม่ในปี 2566 ทำให้พบว่ามีพื้นที่ที่เหมาะแก่การประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดถึง 18 เขต ใครสะดวกอยากไปนอนดูดาวที่ไหน สามารถเข้าไปเช็กชื่อเช็กรายละเอียดสถานที่ได้ที่ เว็บไซต์เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด https://darksky.narit.or.th/ ไปแล้วอย่าลืมส่งภาพดวงดาวมาอวดกันด้วยนะครับ
AUTHOR: ตู่ – ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
PHOTOGRAPHER: ต้น – ศุภกร ศรีสกุล
SPECIAL THANKS: ดาราชัย ศิลปรัตน์