อาสาสมัครกู้ภัยกับหน้าที่พิทักษ์ความปลอดภัยของชีวิตผู้คนในชุมชน พวกเขาทุ่มเทเวลาและความสามารถเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินหรืออันตรายด้วยความกล้าหาญ ความเสียสละ และความมุ่งมั่นที่จะทำให้บ้านเมืองของเราเป็นที่ที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น
ก่อนที่ผมจะมาพบกับเหล่าอาสาสมัครกู้ภัยในครั้งนี้ ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า “คนที่ทำอะไรเพื่อคนอื่นได้แบบนี้ต้องเป็นคนแบบไหนนะ”
สองวันเต็มๆ ที่ได้อยู่ร่วมกับอาสาสมัครกู้ภัย ทำให้รู้ว่า หัวใจของพวกเขาเต็มเปี่ยมกับอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่เพื่อผู้อื่น หัวใจสำคัญของพวกเขาคือ “ความตั้งใจช่วยเหลือ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน” มุ่งมั่น “ปกป้องชีวิตและความปลอดภัย” ของผู้อื่นเป็นอันดับแรก
การเรียนรู้วิธีช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันสามารถสร้างความแตกต่างระหว่างการมีชีวิตและความตายได้ แต่การที่จะช่วยเหลือคนอื่นให้ปลอดภัยและลดอัตราการพิการและเสียชีวิตได้นั้นความกล้าอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องผ่านการเรียนรู้ทักษะการช่วยเหลือคนอย่างถูกวิธี อย่างที่ผมมาดูการอบรมของทีมกู้ภัยในวันนี้ เป็นโครงการอบรม “หลักสูตรกู้ชีพ ปี 2567 ที่อาสาสมัครกู้ภัยได้เรียนรู้การช่วยชีวิตคนจากอุบัติเหตุบนท้องถนนโดยมีผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้
ซึ่งโครงการนี้เริ่มต้นจาก สิงห์อาสา ที่เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จึงร่วมมือกับ ศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” รพ.ราชวิถี จัดโครงการอบรมหลักสูตรกู้ชีพขึ้น เพื่อให้ความรู้และเสริมทักษะแก่อาสาสมัครกู้ภัย ในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ณ ศูนย์ฝึกบรรเทาสาธารณภัย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีตัวแทนอาสาสมัครกู้ภัยจากหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศส่งเข้ามาร่วมอบรม จำนวน 45 ท่าน เพื่อพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครกู้ภัย ให้มีความรู้และดูแลผู้บาดเจ็บฉุกเฉินอย่างถูกต้องทั้งยังสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับบุคคลอื่นต่อไป
ด้วยความตั้งใจที่อยากจะพัฒนาทักษะการช่วยชีวิตคน พวกเขาเดินทางข้ามจังหวัดนับร้อยกิโลเมตรมาเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ เพื่อนำทักษะความรู้และประสบการณ์ที่ได้กลับไปช่วยเหลือผู้คนที่ฝากชีวิตใว้กับพวกเขาให้ปลอดภัย และนี่คือเรื่องราวชีวิตของอาสาสมัครกู้ภัย บางคนที่ยอมเสียสละเวลามาร่วมกิจกรรมอบรมและเสียสละเวลาให้กับงานกู้ภัย ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า การเสียสละเวลาเพื่อรักษาชีวิตคน เป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การกระทำ แม้ว่าจะต้องแลกกับสิ่งอื่น ๆ แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นคุ้มค่า และเป็นมหากุศล
เติ้ล – อัศราวุฒิ ศรีส่ง สังกัดมูลนิธิธรรมรัศมีมณีรัตน์ หน่วยกู้ภัยมังกรสุรินทร์
ทำไมถึงเลือกเป็นอาสาสมัครกู้ภัย?
ย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีที่แล้วครับ ผมอยากทำงานกู้ภัย เพราะอยากเท่ครับ เลยมาสมัครเป็นอาสาสมัคร แต่พอเข้ามาแล้ว มันเริ่มไม่ใช่อย่างที่คิด เราจะต้องมีความรู้ด้วย จากคนที่ไม่มีความรู้เลยจึงเริ่มเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ไปจนถึงเข้าอบรมเกี่ยวกับ EMR (Electronic Medical Record) การจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วย เรื่องของ EMT (Emergency Medical Technician) พนักงานฉุกเฉินการแพทย์ ตามลำดับ จนถึงการเรียนดำน้ำ
อะไรคือแรงผลักดันให้มาอบรมและฝึกหนัก?
คนนี่แหละครับ คือแรงผลักให้ผมต้องเรียนรู้อยู่เสมอ เพราะงานที่เราทำมันทำกับคน การช่วยชีวิตคน การที่เราจะออกไปช่วยเหลือคนนั้น มันจะต้องมีความรู้ เราช่วยเหลือคนจริงๆ เราต้องเรียนรู้เรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น บางครั้งมันขึ้นอยู่กับความเป็นความตาย
ได้อะไรจากการอบรมกับสิงห์อาสา
ผมร่วมอบรมกับสิงห์อาสาครั้งนี้เป็นครั้งแรกครับ ผมว่าเป็นโครงการที่ดี ขอบคุณทางสิงห์อาสาด้วย
ที่เปิดโอกาสให้กับอาสากู้ภัยได้มาเรียน ได้ความรู้เยอะโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หาที่เรียนหลักสูตรแบบนี้ไม่ง่าย หรือถ้ามีเรียนก็จะเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง หลักสูตรนี้เหมือนกับเราได้มาฟื้นฟูความรู้เก่า แล้วได้ความรู้ใหม่กลับไปด้วย เพราะว่าการกู้ภัยมันต้องมีการอัพเดทข้อมูลกันทุกปีอยู่แล้ว บางครั้งความรู้ที่เราเคยเรียนผ่านมาสองสามปีแล้ว พอมาถึงปัจจุบันมันใช้ไม่ได้แล้วกับสถานการณ์ปัจจุบัน การมาอบรมครั้งนี้ได้ชุดความรู้ใหม่ๆ กลับไปเยอะเลยอย่างเช่น การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในรถยนต์ไฟฟ้า เป็นหลักสูตร ที่เหล่ากู้ภัยไม่ควรพลาดจริงๆ
ภาพการจำลองสถานการณ์ในโครงการอบรม “หลักสูตรกู้ชีพ 2567”
สำหรับหลักสูตรการอบรมครั้งนี้ ก็จะได้เรียนเป็นทฤษฎี ต่อด้วยภาคปฏิบัติและมีการจำลองสถานการณ์จริงในการเข้าฐานต่างๆ ซึ่งสถานการณ์แบบนี้มีโอกาสเกิดขึ้นจริงบนท้องถนน ผมได้นำความรู้ที่ได้เรียนมาปฏิบัติในฐานจริงวันนี้ เราได้เติมเต็มในสิ่งที่เราไม่รู้ และก็จะนำความรู้ที่ได้จากการอบรมครั้งนี้ไปส่งต่อและถ่ายทอดให้กับเพื่อนๆ น้องๆในทีมกู้ภัยที่ไม่มีโอกาสได้มาอบรมในครั้งนี้ด้วยครับ
อยากฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่?
ผมอยากบอกว่ามันเป็นเรื่องของการ รู้จักการให้ เสียสละ และ ช่วยเหลือผู้อื่น โดยไม่หวังผลตอบแทน อยากให้คนรุ่นใหม่ เห็นคุณค่า ของชีวิต และ ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการสร้างสังคมที่ดีขึ้นครับ
หลังจากสนทนากับเติ้ล – อัศราวุฒิ ศรีส่ง อาสากู้ภัยจากสุรินทร์ ยังมีอาสากู้ภัยอีกหนึ่งท่านที่มีเรื่องราวน่าสนใจไม่แพ้กัน เขาบอกกับผมว่าถ้าวันนั้นเขาไม่เห็นคนตายก็จะไม่มีอาสากู้ภัยชื่อเบิร์ด – ธีรวัจน์ เชาวน์เจริญ
เบิร์ด – ธีรวัจน์ เชาวน์เจริญ อาสามูลนิธิร่วมกตัญญูปราจีนบุรี
จุดเริ่มต้นวงการกู้ภัยของเบิร์ด
มันเริ่มต้นเมื่อ 2546 ผมเจอเคสอุบัติเหตุรถชนกัน ช่วงสงกรานต์ เป็นรถมอเตอร์ไซค์ชนกับรถกระบะ คนเจ็บนอนสำลักอาหาร ตอนนั้นผมเป็นนักท่องเที่ยวไม่รู้เรื่องกู้ภัยเลย แต่อยากช่วย ทำอะไรก็ไม่เป็น จนมารู้ภายหลังว่าเขาเสียชีวิต มันเลยยิ่งตอกย้ำเหมือนว่าเราควรจะช่วยได้แต่ไม่ช่วย เหมือนเป็นตราบาป ก็กลับบ้านมาคิดจริงๆแล้วผมมีจิตใจที่อยากช่วยคนอยู่แล้ว ก็ตัดสินใจไปสมัครอาสากู้ภัย และพยายามหาทางเรียนรู้กู้ภัยทุกอย่างแต่ทุนทรัพย์เราไม่มี สิ่งที่ทำได้จึงเป็นการเรียนรู้กันในหน่วยที่สังกัดแบบพี่สอนน้อง ก็พยายามหาความรู้เรื่อยมา
ครั้งแรกกับสิงห์อาสา
ผมมาอบรมกับสิงห์อาสาปี 2565 ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกของผมเลย ไม่รู้อะไรเลย หลังจากนั้นก็มีไปเรียนกับกู้ชีพนเรนทรต่อ ไปเรียนเองแล้วก็ไปสอบพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ ได้อันดับที่ 5 ก็เป็นการนำความรู้ที่เรียนจากสิงห์อาสาครั้งแรกนี่ไปสอบครับ
เมื่อสอบพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ผ่าน ผมได้ไปเรียนเพิ่มอีก 28 หลักสูตร ด้วยการส่งตัวเองไปเรียน ออกเงินเอง โดยมีครอบครัวเป็นผู้สนับสนุน ผมคิดเสมอครับว่า “คนเราถ้าจะออกไปช่วยชีวิตคน มันจะต้องช่วยให้เป็น”
รู้สึกอย่างไรกับหลักสูตร “การกู้ชีพ” ในครั้งนี้
ผมว่าเป็นหลักสูตรที่ดีนะครับ เป็นหลักสูตรที่ลงลึกและสามารถนำไปต่อยอดได้ทันที เมื่อก่อนตอนที่มาครั้งแรก ผมเริ่มจากคนที่ไม่รู้อะไรเลย ยังช่วยให้ผมสามารถออกไปช่วยชีวิตคนได้ กลับมาวันนี้ ครั้งที่สอง ผมได้อัพเดทสิ่งที่ผมไปเรียนมา บางสิ่งบางอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา อย่างการให้ออกซิเจนในสมัยก่อนเราจะให้กันก็ต่อเมื่อออกซิเจนตก แต่ปัจจุบันนี้ไม่ต้องรอ คุณสามารถให้ออกซิเจนได้เลย หรือแม้กระทั่งการถอดหมวกกันน็อค ตอนนั้นยังไม่มีสอน แต่ครั้งนี้มีสอน อย่าลืมว่าระบบการแพทย์มันมีการอัพเดทอยู่เสมอ โดยส่วนตัวนะ ถ้าคุณคิดว่าจะเป็นอาสาสมัครกู้ภัยแล้ว คุณต้องมาเรียนหลักสูตรนี้ มันตอบโจทย์ของการเป็นกู้ภัยได้เลย หากคุณเข้าไปช่วยคนแบบไม่มีความรู้แล้วละก็คุณอาจจะเป็นผู้ประสบภัยเสียเอง บอกเลยว่าหลักสูตรนี้เป็นพื้นฐานของงานกู้ภัย
ผมได้เรียนรู้จากสถานการณ์จำลองที่เหมือนจริงมาก อย่างเช่น ตอนเช้าเข้าฐานประเมินสภาวะผู้ประสบภัย โดยครูฝึกไม่บอกอะไรเลย ผมต้องรายงานสถานการณ์จริงทุกอย่าง ช่วงบ่ายเป็นการสร้างสถานการณ์จำลอง เรียนรู้การเข้าถึงที่เกิดเหตุอย่างถูกต้อง การช่วยเหลือคนที่ติดอยู่ในรถกระบะ การห้ามเลือดอย่างไรไม่ให้เลือดเสียย้อนกลับเข้าสู่หัวใจซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยช็อคได้
ต้องขอบคุณสิงห์อาสาที่เห็นความสำคัญของอาสาสมัครกู้ภัยในชนบท ผมอยากให้สิงห์อาสารักษาโครงการแบบนี้ไปนานๆ เพื่อที่จะได้มีบุคลากรทางด้านการกู้ภัยไปช่วยทีมแพทย์พย่บาล และลดการสูญเสียชีวิตของผู้คน
ความรู้ที่ได้นำไปถ่ายทอดต่อ
จากความรู้ที่เราได้โอกาสจากสิงห์อาสาทำให้พวกเราได้นำความรู้นั้นไปส่งต่อให้กับเด็กๆนักเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง ได้เรียนรู้ถึงการกู้ชีพ กู้ภัย ยกเคสตัวอย่างหนึ่ง คือเด็กนักเรียนสำลักอาหาร ที่ประจันตคาม เพื่อนๆของเด็กที่สำลักอาหารสามารถช่วยชีวิตเพื่อนของเขาได้ นี่คือสิ่งที่มีค่ามาก เราสอนแล้วเขาเข้าใจ นำไปใช้ได้จริง เด็กสามารถทำ CPR ได้ และตอนนี้ผมก็ทำชมรมจิตอาสา CPR จังหวัดปราจีนบุรี กับพี่ทีมงานสว่างบำเพ็ญ พวกเราจะออกไปสอนคน สอน CPR สอนการปฐมพยาบาลเบื้องต้น อย่างน้อยสิ่งที่พวกผมทำพวกผมสอนน้องๆ หรือคนอื่นๆในสังคม จะส่งผลให้เขาเหล่านั้นไปมีโอกาสช่วยเหลือผู้อื่นต่อไปครับ
และหลักสูตรการอบรมของโครงการนี้ เป็นมาอย่างไร ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณหมอกล้วย –
แพทย์หญิงณธิดา สุเมธโชติเมธา รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลราชวิถี 2 ที่จะมาบอกเล่าถึงการอบรมในครั้งนี้
คุณหมอกล้วย: จริงๆแล้ว โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างสิงห์อาสา และศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” รพ.ราชวิถี ซึ่งทางสิงห์อาสาเล็งเห็นความสำคัญของการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ว่าหากมีการอบรมให้ความรู้แก่อาสาสมัครกู้ภัย ซึ่งเป็นกลุ่มคนแรกที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ หรือประชาชนทั่วไปที่พบเหตุการณ์ จะสามารถช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้บาดเจ็บได้ เราร่วมมือกับทางสิงห์อาสามาก่อนโควิด19 ก็น่าจะ 5-6 ปีเห็นจะได้ เดิมทีทางสิงห์อาสาทำโครงการกับทางมหาวิทยาลัยแล้วมีการเชิญให้ทางศูนย์กู้ชีพนเรนทรไปอบรมเรื่องการปฐมพยาบาล ให้กลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่เป็นอาสาสมัครภายในมหาวิทยาลัย เราก็จัดทีมเข้าไปช่วยสอนอยู่เสมอเน้นไปทาง CPR (Cardiopulmonary resuscitation) เป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยที่กำลังจะหยุดหายใจให้กลับมาหายใจได้เป็นปกติอีกครั้ง
หลังจากที่เราร่วมมือกันทำโครงการอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการขยายโครงการทุกปี แรก ๆ ก็จะเป็นการสอนนักศึกษาเสียเป็นส่วนใหญ่ แล้วขยับมาเป็นโครงการอบรมให้กับอาสากู้ภัย ซึ่งก็เป็นหนึ่งในภารกิจที่ทางศูนย์กู้ชีพนเรนทรจะต้องช่วยเหลือผู้บาดเจ็บผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลอยู่แล้ว และเราอบรมให้ทั้งกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์พยาบาลและประชาชนทั่วไปด้วย
ภาพรวมปัญหาที่พบ จากอุบัติเหตุบนท้องถนน
โดยมากจะเป็นอุบัติเหตุเล็กๆน้อยๆ เช่นรถมอเตอร์ไซค์ล้ม ซึ่งอาจจะไม่ได้บาดเจ็บรุนแรง แต่ที่เป็นปัญหาจริงๆเลยเนี่ยจะเป็นกลุ่มที่บาดเจ็บรุนแรง และมีโอกาสเสียชีวิต ซึ่งกลุ่มนี้ เมื่อคนไข้เกิดอุบัติเหตุแล้วเขาไม่สามารถมาโรงพยาบาลเองได้ เขาจะต้องรอรถพยาบาลหรือรถกู้ภัย ในสมัยก่อนนั้นยังไม่มีรถกู้ภัยที่ทันสมัยอย่างสมัยนี้ก็จะใช้อาสาสมัคร ที่ยังไม่มีองค์ความรู้มากพอในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นนอกโรงพยาบาล ทำให้คนไข้กลุ่มนี้ได้รับการดูแลล่าช้า และได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นโดยไม่ถูกวิธี เป็นเหตุให้เสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาลหรือพิการได้
ปัญหาที่พบของกู้ภัย
ถ้าเทียบกับอดีต ปัจจุบันนี้ดีขึ้นจากเมื่อก่อนมาก เนื่องจากเรามีการอบรม และสอนหลักสูตรต่างๆ ให้กับบุคลากรที่ดูแลคนไข้นอกโรงพยาบาลมากขึ้น ขณะเดียวกันมูลนิธิกู้ภัย หน่วยกู้ภัยต่างๆ เห็นความสำคัญของการฝึกอบรม ก็พร้อมใจส่งคนเข้ามาเรียน ทำให้อาสาสมัครมีองค์ความรู้ และสามารถช่วยเหลือคนไข้ได้ถูกวิธีมากยิ่งขึ้น แต่กับคำถามที่ว่าปัญหาของกู้ภัยที่พบตอนนี้คืออะไร ก็น่าจะเป็นในเรื่องจำนวนของอาสาสมัครกู้ภัยเพราะจำนวนอาสาสมัครในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การเพิ่มปริมาณคนช่วยเหลือจึงเป็นสิ่งสำคัญและต้องผลักดันต่อไป
เนื้อหาของหลักสูตรในครั้งนี้ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ดังนี้
- ภาคทฤษฎี มุ่งเน้นไปที่การถ่ายทอดความรู้พื้นฐานและทักษะที่จำเป็นสำหรับการกู้ภัย พร้อมทั้งอัพเดทความรู้ใหม่ๆให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน เตรียมพร้อมเผชิญกับสถานการณ์ฉุกเฉิน
- ภาคปฏิบัติ ฝึกฝนทักษะการกู้ภัยจริง ๆ ผ่านสถานการณ์จำลองเพิ่มทักษะกู้ภัย และเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตและลดการพิการ รวมถึงสามารถสนับสนุนการทำงานทีมแพทย์พยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การฝึกเข้าช่วยเหลือในสถานการณ์จำลอง โดยทางศูนย์กู้ชีพนเรนทรจัดจำลองสถานการณ์ฉุกเฉินจริง ๆ เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกฝนการทำงานเป็นทีม การตัดสินใจ และการแก้ไขปัญหา ภายใต้แรงกดดัน ที่มีชีวิตเป็นเดิมพัน
ความคาดหวังในการอบรมหลักสูตร “การกู้ชีพ” ครั้งนี้
เราอยากจะ refresh ความรู้ทั้งผู้ฝึกสอน และอาสาสมัคร เพราะนอกเหนือจากทบทวนความรู้เดิม เราก็เติมความรู้ใหม่เข้าไปด้วย อย่างเช่นเรื่องของรถยนต์ประเภทต่างๆ ซึ่งเมื่อก่อนก็จะมีแต่รถน้ำมัน รถแก๊ส ปัจจุบันมีรถไฟฟ้าด้วย การแก้ปัญหาต้องทำอย่างไรกับรถประเภทนี้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ แน่นอนสิ่งที่คาดหวังก็คงเป็นเรื่ององค์ความรู้ใหม่ๆที่พวกเขาจะได้ติดตัวไปจากการอบรมในครั้งนี้
แนะนำวิธีการช่วยเหลือคนเมื่อพบเจออุบัติเหตุ สำหรับบุคคลทั่วไป
แนะนำเบื้องต้นในส่วนของการทำ CPR ด้วยสูตร 6 ป. คือ
ปลอดภัย ตัวเราเองต้องปลอดภัยก่อน ก่อนที่จะเข้าไปถึงตัวคนไข้ รวมไปถึงความปลอดภัยของสถานที่เกิดเหตุด้วย จากนั้นถึงเข้าไปประเมินคนไข้
ปลุก เช็กความรู้สึกคนไข้ ว่ารู้สึกตัวหรือไม่ ถ้าไม่รู้สึกตัวให้ปลุกด้วยการตบที่ไหล่ทั้งสองข้าง
ประกาศ ให้ขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง หรือโทร 1669
ปั๊ม หากคนไข้หัวใจหยุดเต้นให้ปั๊มทันทีจนกว่าทีมช่วยเหลือจะมาถึง แต่ผู้ช่วยเหลือต้องมีทักษะที่ถูกต้อง
เป่า ช่วยคนไข้ให้หายใจด้วยการเป่าปาก สลับกับการปั๊มหัวใจ หากไม่มั่นใจในความสะอาดเราสามารถข้ามขั้นตอนนี้ไปได้
แปะ จะมีเครื่อง AED เป็นเครื่องกระตุ้นหัวใจ ในสถานที่ต่าง ๆ มักจะมีเครื่องนี้ติดตั้งอยู่ ให้ทำตามขั้นตอน จนกว่าจะมีทีมกู้ภัยมาถึง
“ให้จำไว้ว่า กฎข้อหนึ่งของการช่วยเหลือ คือเราจะไม่ทำให้มีเหยื่อเพิ่มขึ้น”
มุมมองจากพี่กอล์ฟ รวินทร์ ชมพูนุชธานินทร์
นอกจากบทสนทนาที่เข้มข้นกับคุณหมอกล้วยแล้ว เรายังมีโอกาสได้ฟังเรื่องราวดี ๆ จากทางสิงห์อาสา ผ่านมุมมองของ พี่กอล์ฟ – รวินทร์ ชมพูนุชธานินทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มประชาสัมพันธ์ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ว่า “ในแต่ละปี สิงห์อาสาได้มีโอกาสร่วมงานกับเจ้าหน้าที่กู้ภัยแต่ละจังหวัด ภารกิจหลักของพวกเขาคือการออกไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ทำให้ผู้ประสบเหตุปลอดภัย สิงห์อาสาทำงานร่วมกันกับศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” รพ.ราชวิถี ในการสร้างหลักสูตรอบรมขึ้นมาเพื่อเพิ่มเติมทักษะ ความรู้ในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุให้กับอาสากู้ภัย และได้นำองค์ความรู้นี้ไปใช้ให้ได้ผลจริง และนำความปลอดภัยมาให้ผู้ประสบเหตุบนท้องถนน”
“ทุกหลักสูตรทั้งหมดที่เกิดขึ้นตลอดการฝึกอบรม ไม่ว่าจะเป็นภาคทฤษฎี ฝึกปฏิบัติ หรือการจำลองสถานการณ์ คือสิ่งที่ทางศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” รพ.ราชวิถี กับทางสิงห์อาสา ได้สร้างเป็นหลักสูตรขึ้นมา เพื่อเพิ่มเติมความรู้ทักษะให้กับอาสากู้ภัยซึ่งรวมไปถึงการสังเกต การจำแนกของอาการบาดเจ็บ รวมทั้งการช่วยเหลือ ในสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตหรือพิการตามมาได้ เพราะฉะนั้นการเรียนรู้จึงมีความสำคัญ เพราะทุกนาทีที่เกิดขึ้นในสถานการณ์จริง กู้ภัยจะต้องใช้ทักษะความรู้ที่มีทั้งหมดในการรักษาชีวิตผู้ป่วย และดูแลเพื่อไม่ให้มีอาการบาดเจ็บรุนแรงที่ตามมาก่อนนำส่งถึงมือแพทย์”
ทั้งนี้ สิงห์อาสา ยังมีหลักสูตรอื่นๆ ที่ช่วยเสริมทักษะและศักยภาพให้กู้ภัย โดยร่วมกับเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ได้แก่ หลักสูตรอบรม “กู้ภัยและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไฟไหม้” ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ และ หลักสูตรกู้ภัยทางน้ำ ร่วมกับ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ (หน่วยซีล) นับเป็นการสร้างหลักสูตรเพื่อเพิ่มเติมทักษะในการช่วยเหลือชีวิตคนให้กับอาสาสมัครกู้ภัย ในการดูแลช่วยเหลือผู้ประสบเหตุบนท้องถนน ในอาคารบ้านเรือน และผู้ประสบเหตุทางน้ำ
การช่วยเหลือผู้อื่น มากกว่าคำว่า “กล้าหาญ” คงไม่พอ เพราะการเข้าไปช่วยเหลือผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยทั้งความรู้และทักษะเพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต ลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ และที่สำคัญที่สุดคือ ความปลอดภัยของผู้ช่วยเหลือ การเรียนรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ดังนั้น หากคุณพร้อมที่จะเป็นผู้ให้ พร้อมที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือผู้อื่น อย่าลืมเสริมพลังให้กับความกล้าหาญ ด้วยความรู้และทักษะที่มีประสิทธิภาพเพื่อเป็นพลังแห่งการช่วยเหลือที่แท้จริง
AUTHOR: ตู่-ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
PHOTOGRAPHER: จี๊ด-ฤทธิรงค์ จันทองสุข