ชวนไปหลงเสน่ห์ชุมชนมุสลิม บ้านร่าหมาด จังหวัดกระบี่ กินโกปี๊รสชาติดีเมื่อจับคู่กับขนมต้มใบมะพร้าว
ได้ลองจนเราต้องขอตามไปดูวิธีการทำกาแฟโบราณโดย ‘กลุ่มแม่บ้านร่าหมาดพัฒนา’ ที่ยังค่อยๆ คั่ว-เคี่ยว-ตาก-ตำ ตามกรรมวิธีและเครื่องมือดั้งเดิม คอกาแฟและอาหารพื้นบ้าน บอกเลยว่าที่หมู่ 2 บ้านร่าหมาด คือเส้นทางของสายกินโดยแท้จริง
วัฒนธรรมกาแฟบ้านร่าหมาด
ในช่วงระหว่างออกไปใช้ชีวิตเรียบง่าย อยู่กินแบบไม่ต่างจากคนในพื้นที่ ผมออกตามหา ‘โกปี๊’ กาแฟโบราณซึ่งเป็นเครื่องดื่มยามเช้าที่นิยมกันมากทางภาคใต้ตอนล่าง และได้แพร่กระจายมาถึงชุมชนบ้านร่าหมาด หมู่ 2 ตำบลเกาะกลาง จังหวัดกระบี่
ที่นี่นอกจากผมจะได้เห็นวิถีของคนคั่ว และวิธีการเคี่ยวเมล็ดกาแฟโดย กลุ่มแม่บ้านร่าหมาดพัฒนา ผมยังได้ค้นพบเสน่ห์ของการท่องเที่ยวชุมชนแห่งนี้ผ่านวัฒนธรรมการดื่มโกปี๊พร้อมกันในคราวเดียว
‘โกปี๊’ เป็นสำเนียงของคนจีน ใช้เรียกกาแฟ ‘คอฟฟี่’ ในภาษาอังกฤษ
หลายคนอาจเข้าใจว่า โกปี๊ กับ โอเลี้ยง หรือ โอยัวะ นั้นเหมือนกัน แต่จริง ๆ แล้วต่างกัน โอเลี้ยง คือกาแฟดำใส่น้ำแข็ง โอยัวะคือกาแฟดำร้อน ส่วนโกปี๊นั้น เป็นกาแฟร้อนที่จะใส่นมหรือไม่ใส่นมก็ได้
เชื่อกันว่าโกปี๊เริ่มมีที่มาจากเบตง ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐปัตตานี ประชากรดั้งเดิมเป็นชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู ต่อมามีการอพยพของชาวจีนโพ้นทะเลกลุ่มแรก ๆ เข้ามายังพื้นที่ จากนั้นวัฒนธรรมการกินอยู่ก็หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะวัฒนธรรมการดื่มโกปี๊ที่นิยมกันมากในอดีต
เมื่อมีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง การนำพาวัฒนธรรมการกินก็ตามติดมาด้วย อย่างประชากรที่บ้านร่าหมาด ที่สืบเชื้อสายมลายู และอพยพถิ่นฐานกระจายทั่วภาคใต้ตอนล่าง มาจนถึงอำเภอละงู จังหวัดสตูล และปัจจุบันนี้ ประชากรดังกล่าวส่วนใหญ่ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่ตำบลเกาะกลาง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ จึงนำวัฒนธรรมการดื่มโกปี๊มาด้วย
ภูมิปัญญาการทำโกปี๊ที่สืบทอดกันมานานนับตั้งแต่มีคนเชื้อสายจีนเข้ามาในแผ่นดินสยาม จากวัฒนธรรมการดื่มกาแฟนี้เอง จึงส่งผลให้เกิดการต่อยอดให้กับกลุ่มพี่น้องชาวบ้านที่หมู่ 2 บ้านร่าหมาด นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนเพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริมให้กับครัวเรือน นอกเหนือจากการประกอบอาชีพหลัก
โกปี๊ ขั้นตอนเยอะ แต่ขายถูก
พี่น้อง ‘กลุ่มแม่บ้านร่าหมาดพัฒนา’ ใช้เมล็ดกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าที่ปลูกกันมากในท้องถิ่นภาคใต้ นำมาคั่วให้เข้มจนเป็นสีดำ ตากให้เย็นตัว แล้วนำมาเคี่ยวกับน้ำตาลทราย น้ำตาลมะพร้าวให้เหนียวเป็นคาราเมล เมื่อเป็นลาวากาแฟแล้วนำมาตากให้เย็นตัวอีกครั้ง จากนั้นจึงมาตำให้ละเอียดในครกไม้ รสชาติกลมกล่อมและมีกลิ่นหอม
ขั้นตอนการทำกาแฟโบราณนับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมานับร้อยปี สมาชิกในกลุ่มล้วนเป็นผู้สูงอายุ ผลผลิตจึงไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ทำให้รายได้จากการขายกาแฟโบราณน้อยลง พร้อมทั้งสมาชิกยังขาดแรงจูงใจในการเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มกาแฟโบราณ
ปัจจุบันการดื่มกาแฟแพร่หลายมากขึ้น มีทุกพื้นที่ แต่วัฒนธรรมการดื่มโกปี๊กลับเริ่มน้อยลง อาจเป็นเพราะขั้นตอนที่ยุ่งยากในการผลิต ใช้แรงงานเยอะ คนรุ่นใหม่ไม่สนใจที่จะสืบทอดต่อจากคนรุ่นเก่า ราคาต่ำไม่คุ้มค่าแรง จนมีคำถามจากชาวบ้านว่า “แล้วจะทำอย่างไรให้โกปี๊ มีทางไปต่อได้”
ในฐานะนักท่องเที่ยว ในฐานะคนเดินทาง ผมคิดว่าถ้าโกปี๊มีแบบซองดริปสำเร็จรูปคงดี เพราะอาจทำให้ทุกคนที่ชื่นชอบกาแฟ ได้เข้าถึง โกปี๊ได้ง่ายขึ้น หรือการยกระดับกาแฟโบราณให้เป็นสินค้าชุมชนที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น จัดสรรพื้นที่กลุ่มผลิตกาแฟให้เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชุมชน การออกแบบซองบรรจุกาแฟให้ทันสมัย และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายขึ้นเช่นเดียวกัน
โกปี๊แก้วละ 3 บาท กินกับขนมต้มใบมะพร้าว
ถึงอย่างไร อารมณ์การดื่มโกปี๊ตอนเช้าสำหรับผม การได้ไปนั่งตามร้านค้าในหมู่บ้าน หรือชุมชนมันได้ความรู้สึกดีมากกว่าที่จะมาชงกินเองที่บ้าน อย่างที่ผมเองได้ไปสัมผัสบรรยากาศนี้มาแล้ว ได้พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดและความรู้กันกับชาวบ้าน ผมว่าบรรยากาศแบบนี้แหละที่เรียกว่าอารมณ์กาแฟ
โกปี๊แก้วละ 3 บาท ยังมีให้เห็น รสชาติดีด้วย กินคู่กับข้าวต้มใบมะพร้าว หรือ ขนมต้มใบมะพร้าว ของกินพื้นถิ่นอีกอย่างทีมีเสน่ห์ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์
ตบท้ายด้วยข้าวต้มไก่ร้อน ๆ ราคา 10 บาท มื้อเช้าในชุมชนแบบนี้ 30 บาท มีอิ่มแบบจุก ๆ ในสภาวะเศรษฐกิจที่นิ่ง ๆ แบบนี้ เราสามารถใช้จ่ายได้ในชุมชนต่างจังหวัดแบบสบายๆ นี่แหละเสน่ห์ของการท่องเที่ยวชุมชนที่ผมค้นพบ ที่บ้านร่าหมาด
หมู่ 2 บ้านร่าหมาด เส้นทางสายกินโดยแท้จริง
ทีเด็ดของเส้นทางนี้อยู่ที่เมนูอาหารจากชาวบ้าน ใครเก่งเมนูไหน ทำอะไรอร่อย ก็นำมาโชว์กันสุดฤทธิ์ เมนูชุมชน ของกินโบราณสูตรเด็ดเฉพาะบ้าน ถ้าใครอยากกินเมนูแบบนี้ต้องมาที่นี่ที่เดียว แนะนำมัสมั่นแพะ และแกงเผ็ดเนื้อ บอกเลยจัดจ้านถึงใจ และที่จะพลาดไม่ได้เลยคือขนมต้มใบมะพร้าว ของว่างทานพร้อมกาแฟโบราณตอนเช้า
ที่บ้านร่าหมาดยังเป็นเส้นทางท่องเที่ยววัฒนธรรมพื้นบ้าน เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบชมศิลปการแสดง หรือคนที่สนใจในวัฒธรรมพื้นบ้าน อย่างการไปดูศิลปการแสดงของพี่น้องชาวมุสลิม ลิเกป่า รองเง็ง กาหยง (เป็นการแสดงศิลปะการต่อสู้อย่างหนึ่ง ที่สืบสายมาจากมาเลเซีย) มะโย่ง ศิลปะการร่ายรำที่ผสมผสานพิธีกรรมและความเชื่อ ปัจจุบันการแสดงประเภทนี้ถูกลดความสำคัญลงหาผู้สืบทอดยาก และในปี 2005 องค์กรยูเนสโกได้ประกาศรับรองให้เป็นสมบัติที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ
หากชมการแสดงเสร็จ มาชมและช้อปสินค้าจากกลุ่มจักสานเตยปาหนัน สินค้าพื้นเมืองที่ใช้ใบเตยปาหนัน หรือเตยทะเลมาสานเป็นกระเป๋าเงิน กล่องใส่นามบัตร และถ้าใครอยากลองทำก็ให้ม๊ะ (แม่) หรือจ๊ะ (พี่สาว) สอนให้ก็ได้อุปกรณ์การทำก็สามารถหาได้ในครัวเรือน แต่บางชิ้นอาจต้องดัดแปลง
กระบี่อยู่ที่ใจ เดินทางไกลอยู่ที่คุณ นี่คือหนึ่งใน 10 เรื่องท่องเที่ยวน่ารู้ กับ 10 หมู่บ้าน ในตำบลเกาะกลาง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ทำไมต้องบอกละเอียด เพราะถ้าไม่บอกละเอียดคุณจะไปผิดเกาะ ไปผิดชีวิตเปลี่ยน อ่านต่อเรื่องน่าสนใจจากอีก 9 หมู่บ้านได้ที่ https://explorersclub.baanlaesuan.com/trip/krabi หรือ ติดต่อการท่องเที่ยวชุมชนโทร. 0-7569-4720
EXPLORERS: ตู่, ต้น
AUTHOR: ตู่-ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
PHOTOGRAPHER: ต้น-ศุภกร ศรีสกุล