Type and press Enter.

ติดตามชีวิตพิทักษ์ป่าทุ่งใหญ่ฯ ชมพรรณไม้หายากบนดอยหัวหมด

มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย คือกลุ่มป่าทุ่งใหญ่นเรศวรห้วยขาแข้ง ประกอบด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 

ในบรรดาสถานที่ทั้งสามแห่งนี้ ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ดูเหมือนว่าจะเป็นที่รู้จักน้อยที่สุด อาจเป็นเพราะมีข่าวคราวที่สร้างแรงสะเทือนต่อสังคมน้อยกว่าอีกสองแห่ง กอปรกับการเข้าถึงที่ยากลำบากเพราะระยะทางและสภาพเส้นทางที่แสนสาหัสในฤดูฝนเช่นช่วงเวลานี้

และนี่คือเวลาที่ผมร่วมเดินทางไปกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อถ่ายสารคดีสั้นชีวิตผู้พิทักษ์ป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก มอบสิ่งของที่จำเป็น และตรวจรับอาคารบ้านพักเจ้าหน้าที่จุดสกัดเขาเย็น อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าที่อยู่ระหว่างทางพอดี 

ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก
บ้านพักเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า จุดสกัดเขาเย็น อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า

การเดินทางเริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อเราเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1090 ระยะทาง 164 กิโลเมตร และ 1,219 โค้งรอต้อนรับนักเดินทางผู้มาเยือนอำเภออุ้มผาง ถนนคดโค้งลัดเลาะไปตามแนวเขาถนนธงชัย จนได้รับสมยาว่าถนนลอยฟ้าที่ทำให้นักเดินทางต้องใช้ความพยายามมากกว่าเส้นทางอื่น 

ครั้งนี้ก็เหมือนกันเพียงแต่คราวนี้ฝนตกตลอดทาง หมอกและสายฝนทำให้การเดินทางต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น เมื่อความเร็วทำได้ช้าลง เวลาหลังพวงมาลัยก็เพิ่มขึ้น ช่วงเวลาของการคิดอะไรเงียบ ๆ คนเดียวจึงเพิ่มขึ้นไปด้วย

เริ่มตั้งแต่เรื่องราวสัพเพเหระ ความทรงจำในอดีต ความแตกต่างของเมฆและหมอก สภาพภูมิประเทศสองข้างทางที่สังเกตได้จากพืชพันธุ์ที่ขึ้น รวมถึงเรื่องที่จริงจังอย่างภูมิศาสตร์อย่างความโชคดีของผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในที่ต่างกัน อะไรทำให้อำเภออย่างสมุย กับอุ้มผางมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง และอนาคตของแต่ละที่ควรกำหนดโดยใคร  

คิดอะไรเพลิน ๆ ทุ่มกว่าเราก็มาถึงอำเภออุ้มผาง เมืองทั้งเมืองอยู่ในความเงียบสงบจากสายฝนที่ยังตกลงมาไม่ขาดสาย นานเท่าไหร่แล้วที่ผมไม่เดินตากฝน อาหารจากร้านตามสั่งง่าย ๆ ที่ยังเปิดอยู่เป็นมื้อเย็นของเราวันนี้ ก่อนจะเข้าที่พักแล้วหลับไปเพราะการเดินทางอันเหน็ดเหนื่อย

อุ้มผางเปลี่ยนไปไม่มากจากครั้งแรกที่มาเยือน ที่พอจะแตกต่างไปบ้างก็คือจำนวนร้านสะดวกซื้อที่เพิ่มเป็นสามร้าน และบ้านเรือนที่ซ่อมแซมด้วยวัสดุที่ทันสมัยอย่างแผ่นเมทัลชีท แทนที่หลังคาตองตึงหรือไม่ไผ่อย่างในอดีต อุ้มผางยังเป็นอุ้มผาง ที่เจ้าถิ่นสายพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งหมา หรือแมวยังสามารถยึดครองถนนได้อย่างสบายใจเมื่อถึงเวลาพลบค่ำ ต่างจากแม่สอดที่ผมรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงในอัตราที่รวดเร็วกว่ามาก

ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก

การมาเยือนอุ้มผางครั้งนี้มีภารกิจหลักคือถ่ายทำสารคดีสั้นให้มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ตอนผู้พิทักษ์ป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง โดยคราวนี้จะเน้นไปที่ทุ่งใหญ่ตะวันออก โดยเริ่มที่บ้านของเทียนชัย หนุ่มน้อยปกาเกอะญอ คุณพ่อลูกสอง ชีวิตมีหน้าที่ที่ต้องดูแลทั้งผืนป่าขนาดใหญ่และครอบครัวที่กำลังเติบโต ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทำให้หน้าที่บางครั้งก็อยู่ตรงข้ามกับวิถีดั้งเดิม เราเข้าไปเก็บภาพที่บ้านของเทียนชัยจนบ่าย ๆ แวะซื้อเสบียงที่ตลาดอำเภออุ้มผาง ก่อนจะเข้าไปค้างแรมที่ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันออก เต็นท์ถูกกางง่าย ๆ ในห้องอเนกประสงค์ของสำนักงานเขตฯ แล้วเป็นอีกหนึ่งคืนที่เราหลับลงอย่างเหน็ดเหนื่อย โดยไม่รู้ว่าการเดินทางที่แท้จริงจะเริ่มขึ้นในเช้าวันถัดไป

ฝนตกพรำ ๆ ตั้งแต่เช้ามืดเหมือนเป็นการทักทายกัน ที่ทุ่งใหญ่ตะวันออกอากาศเย็นสบายตลอดปีไม่ว่าจะฤดูกาลไหนตอนเช้าก็จะไม่เกิน 24 องศาฯ “จะขับรถเข้าไปเองเหรอครับ? เอารถเขตไปดีกว่าไหม” “ถ้าไม่ไหวก็จอดทิ้งไว้ที่หน่วยพิทักษ์ป่าอุตะคี แล้วนั่งรถเจ้าหน้าที่ที่นำเข้าไปต่อไปนะ” เป็นคำทักทายของหัวหน้าเขตฯ ที่ทำให้เริ่มรู้สึกหวาดหวั่น เพราะรู้ดีว่าการขับรถในป่าหน้าฝนที่นี่ เส้นทางบางช่วงรถไถยังเข้าไปได้ยาก นับอะไรกับคนที่ขับรถเข้าป่าปีละครั้งอย่างผม 

แล้วก็เป็นอย่างที่คิดเส้นทางต่างจากตอนฤดูแล้งที่เคยมาอย่างสิ้นเชิง ร่องลึก บ่อโคลน เนินดิน ทำให้รถติดหล่มหลายครั้ง และอีกหลายครั้งที่ต้องปล่อยไหลลงเนิน กลับมาเริ่มต้นใหม่ หลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ต้องมาช่วยดัน ช่วยขย่ม ให้พ้นอุปสรรค เจ้าหน้าที่ที่ดูเคอะเขินตอนสัมภาษณ์กลายเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ที่เต็มไปด้วยเทคนิคแพรวพราว เชือกมะนิลาง่าย ก็ดึงรถจากหล่มได้ การดันรถในมุมที่เหมาะสมรถก็ค่อย ๆ หลุดร่องลึกได้ไม่อยาก รถทั้งคันถูกฉาบไว้ด้วยดินโคลนเป็นก้อน มีแค่กระจกหน้าเท่านั้นที่ต้องคอยเช็ดไว้อาศัยดูทาง 

ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก
คงมีเพียงแค่กระจกเท่านั้นที่ไม่เปรอะโคลน

ฝนยังคงตกไม่หยุดหนาเม็ดขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งทำให้สภาพจิตใจของผมยิ่งห่อเหี่ยว เนินชันทุกเนิน ร่องโคลนลึก ๆ ทุกร่อง โผล่มาให้ทักทายไม่หยุดหย่อนเมื่อมุ่งหน้าลึกเข้าไปในป่า ยิ่งทำให้อยากเลี้ยวรถกลับไปที่ทำการเขตเลย เพราะทุกเนินทุกโค้งมันดูยากเย็นไปเสียหมด ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร รู้สึกทรมานและยาวนานยิ่งกว่าถนนลอยฟ้ามากนัก 

สาเหตุที่สภาพเส้นทางเป็นแบบนี้ก็เพราะลักษณะภูมิประเทศของป่าทุ่งใหญ่เป็นดิน ไม่มีหินแข็ง หรือลูกรังอย่างที่ห้วยขาแข้ง พอฝนตกลงมาดินเหล่านี้จึงกลายเป็นดินโคลนที่อ่อนนุ่ม รถจึงติดหล่มได้ง่าย ๆ บางช่วงที่เป็นเนินชันรถต้องใช้แรงส่งเพื่อตะกรุยขึ้นไป จึงเกิดเป็นร่องลึกให้รถที่ตามมาขึ้นไปแขวนเพิ่มความยากเข้าไปอีก 

ในช่วงกลางฤดูฝนที่ฝนตกหนัก ๆ การเดินทางในเส้นทางนี้ จึงมีแค่รถไถเท่านั้นที่พอเข้าไปได้ หลายคนคงมีคำถามว่าทำไมไม่ทำถนนให้ดี ๆ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจะได้เดินทางได้สะดวก คำตอบก็คือการเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามีหน้าที่เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทั้งต้นไม้ และสัตว์ป่าเป็นหน้าที่หลัก เลยจำเป็นต้องคงสภาพธรรมชาติให้มากที่สุด สิ่งก่อสร้างหรือการพัฒนาใด ๆ จากมนุษย์พยายามควบคุมให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด ดังนั้นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจึงเป็นถนนดิน และใช้โซลาร์เซลล์แทนการตั้งเสาไฟฟ้า เพื่อรักษาความเป็น “บ้านของสัตว์ป่า” เอาไว้ให้มากที่สุดนั่นเอง

ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก

ประมาณสามชั่วโมงเราก็เดินทางมาถึงหน่วยพิทักษ์ป่าเบ้คี กลางป่าทุ่งใหญ่นเรศวร สารคดีสั้นที่ทีมงานนำเสนอคือ การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol Ranger) ที่เจ้าหน้าที่ทุ่งใหญ่นำมาปฏิบัติได้หลายปีแล้วนั้นมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง มีข้อดี หรือข้อจำกัดอะไร คนที่แสดงให้เราชมก็คือ เทียนชัย ชานหนุ่มปกาเกอะญอ ที่เราแวะไปเยี่ยมที่บ้านนั่นเอง เทียนชัยเล่าว่าทุกวันนี้เทคนิคการลาดตระเวนเชิงคุณภาพพัฒนาไปมาก สามารถทำเกือบทุกอย่างผ่าน application ในโทรศัพท์มือถือ แต่ก็ยังต้องมีการจดบันทึกด้วยมือสำรองเผื่อไว้ด้วยทุกครั้ง เพราะในป่าดงพงไพรอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สามารถจากไปได้ตลอด 

จากนั้นก็พาเราไปชมรอยตีนเสือโคร่ง บนถนนหลังหน่วยพิทักษ์ป่า พร้อมระบุพิกัด และเก็บข้อมูลต่าง ๆ ลงในระบบ smart patrol การจดบันทึกร่อยรอยสัตว์ป่าที่พบก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำระบบ Smart Patrol นอกเหนือจากการบันทึกภัยคุกคามที่เจอ เช่น ร่องรอยนายพราน ห้าง หรือปางพักที่สร้างทิ้งเอาไว้ เทียนชัยยังบอกกับเราว่าการลาดตระเวนโดยบันทึกพิกัด GPS เอาไว้มีข้อดีอีกข้อก็คือ เมื่อเกิดเหตุปะทะหรือเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเกิดไม่สบายขึ้น ก็สามารถแจ้งพิกัดขอความช่วยเหลือได้รวดเร็วและแม่นยำ 

ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก
เจ้าหน้าที่กำลังบันทึกรอยสัตว์ป่าที่พบในบริเวณโป่ง

เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก 90 เปอร์เซ็นต์เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ คืนนี้เราจึงได้ชิมแกงตะโละโปะ แกงยอดนิยมของชาวปกาเกอะญอที่มักทำกินกันเสมอ ถึงแม้ว่าฝนจะยังไม่หยุดตกแต่ก็ไม่ยากเกินกว่าที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า จะรังสรรค์ครัวง่ายขึ้นกลางป่าได้ ฟลายชีทถูกขึงขึ้นเพื่อกันสายฝน ไม่ท่อนใหญ่ถูกถากเปลือกที่เปียกน้ำออก เศษไม้แห้งเล็ก ๆ นำมาก่อให้ไฟเริ่มติดจากเศษยางในรถจักรยาน ไม่นานกองไฟกูถูกสุมขึ้น ครัวกลางไพรก็เริ่มทำงาน อาหารเรียบง่ายแต่ถูกรังสรรค์มาอย่างตั้งใจ แกงตะโละโปะ น้ำพริกปลากระป๋อง กับผักสดที่เก็บมาจากแปลงพักสวนครัวที่เจ้าหน้าที่ปลูกไว้กินข้างหน่วย แนมกับกุนเชียงย่างกับไฟจากจากกองฟืน บวกกับความเหนื่อยจากการทำงานมาทั้งวัน ต้องบอกเลยว่าอร่อยที่สุด 

ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก

ระหว่างที่นั่งทอดอารมณ์ให้ข้าวเรียงเม็ด ภายใต้ผืนผ้าใบที่เม็ดฝนยังส่งเสียงเปาะแปะ ผมก็นึกถึงเรื่องการอาบป่าขึ้นมา ประโยชน์ที่ร่างกายได้รับจากการเข้ามาอยู่ในธรรมชาติที่เต็มไปด้วยสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่น จุลินทรีย์ น้ำมันหอมระเหยจากพืช หรือคลื่นเสียงจากธรรมชาติที่ร่างกายมนุษย์คุ้นเคย ช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลาย มากกว่าการอยู่ในโลกที่เต็มไปดูสิ่งสังเคราะห์ ที่เป็นเหลี่ยมเป็นมุม หยาบกระด้าง 

ถ้าพอจะนึกถึงเหตุผลออกก็คงเป็นเพราะการวิวัฒนาการของคนที่อาศัยอยู่ในป่าดง ทุ่งหญ้า มานับแสนปี เพิ่งมาอยู่ในป่าคอนกรีตไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบปี แล้วมาอยู่ในโลกออนไลน์ไม่เกินสิบปีเอง ร่างกายและจิตใจจึงยังหาสมดุลไม่ได้ จึงเป็นสาเหตุของโรคบางอย่าง ที่เกิดจากสภาวะที่ไม่คุ้นเคย ในบางแง่มุมผมจึงรู้สึกอิจฉาผู้พิทักษ์ป่าเหมือนกัน ตบท้ายด้วยชาร้อนอีกหนึ่งถ้วยผมก็ผล็อยหลับไปพร้อมกับความเยือกเย็นของป่าทุ่งใหญ่

ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก

เช้าวันรุ่งขึ้น เป็นเวลาสายก่อนพระอาทิตย์จะเอาชนะม่านหมอกได้ งานวันนี้ของทีมมีแค่เก็บฟุตเทจเล็ก ๆ น้อย ๆ กับถ่ายภาพประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิเช่น เสื้อแจ็กเกตฟีลด์และหมวก ส่วนนายแบบก็ไม่ใช่ใครอื่น พิทักษ์ป่าที่พาเราเดินป่าเมื่อวานนั่นแหละ ถึงแม้จะไม่ใช่งานถนัดของน้อง ๆ แต่ด้วยความเป็นธรรมชาติ คือผมหมายถึงทั้งบุคลิก ตัวตน ของน้อง ๆ และธรรมชาติที่เป็นฉากหลังที่ครั้งนี้ทีมเราก็โชคดีอีกที่ทุ่งหญ้ารอบ ๆ หน่วยเบ้คีกำลังออกดอก ทำให้สวยงามเพิ่มขึ้นอีกแฟชั่นเซ็ตนี้จึงสมบูรณ์แบบในมุมมองของผม 

ราว ๆ เที่ยงงานทั้งหมดก็เสร็จเรียบร้อย เราจึงเดินทางกลับที่ทำการเขตกัน โชคดีที่ตามเส้นทางฝนไม่ได้ตกลงมาเพิ่ม จึงพอรับได้มีติดหล่มต้องช่วยกันมาดันแค่ครั้งสองครั้งเท่านั้น ขากลับมักง่ายกว่าขาไปเสมอเมื่อขับรถล่องป่า ผมนึกกับตัวเอง

ก่อนถึงที่ทำการเขต เราแวะล้างอัดฉีดที่ โรงรถรวม ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ที่โรงรถนี้เป็นศูนย์ซ่อม เปลี่ยนยาง ล้างอัดฉีดดูแลทั้งรถ 4×4 และรถไถ อันเป็นดำริของ หัวหน้าสมปอง ทองสีเข้ม (ตำแหน่ง ณ ขณะนั้น ปัจจุบันท่านเกษียณราชการไปแล้ว) ที่คิดว่าด้วยสภาพเส้นทางที่ลำบาก ระยะทางที่ห่างไกลจากอู่รถในอำเภอ และพิทักษ์ป่าหลาย ๆ คนก็มีฝีมือช่างอยู่แล้ว อย่ากระนั้นเลยสร้างศูนย์ซ่อมในป่าขึ้นมานี่แหละ งบประมาณก็มาจากราชการบ้าง ท่านหามาจากกัลยาณมิตร ผู้มีจิตศรัทธา เผื่อแผ่กันมาบ้าง จนเป็นศูนย์ซ่อมใหญ่โต แล้วคิดว่าน่าจะเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย 

ช่วงบ่ายพอมีเวลาว่าง ทางเขตจึงให้ฝ่ายวิชาการพาไปชมสัตว์ป่าที่หอดูสัตว์ป่า บริเวณทุ่งหญ้าที่มีการจัดการทุ่งหญ้าเพื่อให้สัตว์ป่าได้เข้ามาใช้พื้นที่ ผมยังจำช่วงเวลานั้นได้ดี พวกเราทั้งหมดอยู่บนหอชมสัตว์ป่ามาเกือบชั่วโมงแล้ว ลมแรงจนทำให้รู้สึกหนาว พระอาทิตย์เริ่มคล้อยลับเหลื่อมเขาด้านหลังเพราะเป็นเวลาหกโมงกว่าแล้ว เราตั้งใจว่าถ้าไม่มีอะไรก็จะกลับกันแล้ว พอดีเจ้าหน้าที่สังเกตเห็นจุดดำ ๆ ที่ตรงขอบป่า มันคือกระทิงนั่นเอง ไม่ใช่ตัวเดียวแต่มีอยู่สี่ห้าตัว 

ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก
ฝูงกระทิงในทุ่งหญ้า

เราทุกคนใจจดใจจ่อว่ามันจะลงมากินน้ำในโป่งกลางทุ่งไหม ไม่นานเกินรอหัวแถวก็เริ่มขยับ เดินเรียงแถวกันลงมาจากหนึ่งสองสามสี่ ไปเรื่อยๆ ทั้งตัวผู้ตัวเมีย วัยรุ่น วัยเด็ก นับไปนับมาเกือบห้าสิบตัว เป็นภาพที่งดงามอย่างยิ่ง ไม่คิดว่าจะมีโอกาสได้ชมฝูงสัตว์ป่าขนาดใหญ่ขนาดนี้ เมื่อการอนุรักษ์ทำงานของมันได้ดี สรรพชีวิตในป่าก็งอกงาม เจ้าหน้าที่บอกว่า ในบางวันนอกจากกระทิงแล้วก็มีช้างป่าด้วย ส่วนวัวแดงกำลังรอประชากรที่อพยพขยายตัวจากห้วยขาแข้งที่อยู่ติดกัน พอแสงหมดวันเราก็เดินทางกลับที่พักที่เขตฯ พร้อมความอิ่มเอมในหัวใจ 

ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก
ฝูงกระทิงประมาณห้าสิบตัว ออกมาเล็มหญ้าในพื้นที่จัดการทุ่งหญ้าอาหารสัตว์ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก
ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก
การเว้นระยะห่างคือสื่งสำคัญในการเฝ้ามองสัตว์ป่า

วันสุดท้ายก่อนเดินทางกลับ เราแวะชมดอยหัวหมด ในเมื่อมาถึงขนาดนี้แล้วก็ไม่ควรพลาดชม หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อหรือเคยชมในยูทิวบ์ท่องเที่ยว ภูเขาหน้าตาประหลาด ๆ โล้น ๆ ไม่มีไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองอุ้มผางที่หลายคนอาจเคยมาเช็คอิน แต่สำหรับผมแล้วดอยหัวหมดคือสถานที่ที่เต็มไปด้วยพันธุ์พืชแปลกประหลาด ไม่ถิ่นเดียวที่พบไม่ได้ที่อื่น 

ครั้งนี้ผมก็โชคดีที่ได้รับการอนุเคราะห์จากพี่อู๊ดดี้ แห่งตูกะสูคอทเทจ พานำชม จึงได้ชมพืชเฉพาะถิ่นหลาย ๆ ชนิดของดอยหัวหมด เช่น เอื้องศรีประจิม เอื้องศรีอาคเนย์ ว่านแผ่นดินเย็นอุ้มผาง และชาม่วงที่กำลังบานสะพรั่งทั่วดอยหัวหมด ถือเป็นสถานที่ที่คนชอบดอกไม้ และพืชพรรณต่าง ๆ ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นฤดูกาลไหนก็มีพืชพรรณสลับผลัดเปลี่ยนกันให้ชมเสมอ 

ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก
เอื้องศรีประจิม
ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก
ว่านแผ่นดินเย็นอุ้มผาง
ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก
ชาม่วง
ช้างงาเดียว ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก
ช้างงาเดียว

ขากลับอีกภารกิจที่ตั้งใจมาทำคือการตรวจการก่อสร้างจุดสกัด ที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรสนับสนุนการก่อสร้างไว้ รวมทั้งมอบเสบียงที่คนในเมืองฝ่ายมาให้คนในป่าอีกจำนวนหนึ่งแม้นจะไม่ได้มากมาย แต่แสดงถึงความระลึกถึงกันจากแดนไกลเป็นขวัญกำลังใจเล็ก ๆ น้อยหล่อเลี้ยงกัน 

อีกกว่า 600 กม. ขากลับเหมือนยาวไกล แต่ถ้าเดินทางอย่างมีจุดมุ่งหมายชัดเจน อุ้มผางก็แค่ปากซอยครับ

ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก

EXPLORER / AUTHOR / PHOTOGRAPHER: โน้ต วัชรบูล ลี้สุวรรณ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *