หลุยส์ ราชันย์ มาลัยวงศ์ กับคติของการเป็น ‘ครูต้นแบบ’ จะสอนศิษย์ให้เป็นนักดำน้ำที่ดี เราต้องปฏิบัติให้ได้อย่างนั้นเสียก่อน
บ้านและสวน Explorers Club คุยกับ PADI Course Director คนแรกของไทยและผู้ก่อตั้ง Extreme Bangkok IDC S-25474 By Louis 55055 ที่มีบทบาทและภารกิจหลัก คือการถ่ายทอดเคล็ดลับวิชาพ่วงด้วยจรรยาบรรณให้ศิษย์ก้าวไปเป็นนักดำน้ำมืออาชีพและครู ผู้สอนนักเรียนให้รู้จักการเข้าหาและรักษาธรรมชาติใต้ท้องทะเลอย่างถูกวิธี
หากย้อนกลับไปในช่วงชีวิตวัยเด็กของ ‘ครูหลุยส์’ เขาเติบโตมากับสายน้ำตั้งแต่ว่ายน้ำในคลองบางกอกใหญ่สมัยอาศัยอยู่แถวแยกบ้านแขก จนย้ายไปอยู่บ้านพักใกล้ทะเลเมื่อครั้งติดตามคุณพ่อผู้เป็นทหารลงไปประจำการที่ภาคใต้ ซึ่งทำให้เขามีความผูกพันกับทะเลมาตั้งแต่บัดนั้น ก่อนจะเริ่มฝึกอบรมการดำน้ำอย่างจริงจังในหลักสูตร BSAC (The British Sub-Aqua Club) กับชมรมดำน้ำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมัยเรียนอยู่ในระดับอุดมศึกษา
จากความสนใจก้าวมาเป็นอาชีพ ภายหลังจากเขาได้พบกับ Cesare Benelli เพื่อนผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนดำน้ำ Samui International Diving School ระหว่างดูแลธุรกิจโรงแรมของครอบครัวอยู่ที่เกาะสมุย ที่ซึ่งทำให้เขาเล็งเห็นว่าธุรกิจดำน้ำกำลังเติบโต และมองว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องมีครูสอนดำน้ำมืออาชีพเพิ่มขึ้น เขาจึงตกปากรับคำเชิญจาก Cesare เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วน ก่อนขยายกิจการมาเปิดโรงเรียนสอนดำน้ำที่กรุงเทพฯ ในเวลาต่อมา
กระทั่งในปี ค.ศ. 1999 เขากลายเป็นคนไทยคนแรกได้รับเลือกจาก PADI (Professional Association of Diver Instructor) เครือข่ายนักดำน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกให้เป็น PADI Course Director หลังผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรจากอเมริกา
ครูหลุยส์ บอกว่าการเป็นครูสอนดำน้ำทำให้เขาเป็นคนที่ดีขึ้น ในขณะที่เราเองหลังจากได้คุยกับเขาในฐานะ ‘คนสร้างครู’ ก็ทำให้รู้ว่ากว่าเขาจะผ่านมาถึงวันนี้นั้นไม่ง่ายเลย
“เมื่อ 30 ปีก่อนการเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ยังไม่ได้ง่ายเหมือนสมัยนี้ อุปกรณ์ดำน้ำก็มีข้อจำกัดเรื่องสมรรถนะ วิธีการสอนจึงเป็นแบบรุ่นสู่รุ่น ดังนั้นนักดำน้ำในสมัยก่อนจึงต้องมีร่างกายแข็งแรง และฝึกอย่างจริงจัง”
ย่อหน้าถัดไปจากนี้คือคำตอบจากการคุยกับครูหลุยส์ หนึ่งในคนบุกเบิกวงการดำน้ำในประเทศไทย ครูสอนดำน้ำระดับ PADI Course Director และ PADI AmbassaDiver ผู้ได้ประกาศนียบัตร Platinum Trainer เป็นรางวัลแห่งความภูมิใจ
“การสอน(นักเรียน)ในระดับครู เราต้องเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล เกี่ยวกับธรรมชาติ เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการดำน้ำ สอนนักเรียนให้รู้ว่าการปฏิบัติในการดำน้ำที่ถูกต้อง และการแสดงอาการของลักษณะที่หากเกิดผลกระทบมันเป็นแบบไหน วิธีรักษาเป็นอย่างไร นอกเหนือจากนั้นคือทัศนคติที่เหมาะสม”
“การเป็นครูสอนดำน้ำต้องใจเย็น ต้องอดทน ต้องมีวิธีการในการสร้างแรงจูงใจ รวมถึงให้คำแนะนำที่ถูกต้องในการที่จะให้เขาแก้ไขในสิ่งที่เขาขาด หรือในสิ่งที่เขาทำไม่ได้ การส่งเสริมและให้กำลังใจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ทำให้เขาเห็นว่า การดำน้ำไม่ได้ยากอย่างที่เขาคิด ความเสี่ยงที่มีเป็นความเสี่ยงที่สามารถจัดการได้”
“ตัวผมเป็นคนที่มีพื้นฐานการจัดการความเสี่ยง อาจเพราะผมเป็นลูกทหาร ถูกจับซ้อมมวยตั้งแต่เด็ก เคยไป Everest Base Camp มาแล้วสองหน เคยเป็นทีมสนับสนุนของคนไทยที่เขาปีน Everest เป็นคนแรก เคยไป Kilimanjaro มาแล้ว ไป Elbrus ยอดสูงสุดที่รัสเซียมาแล้ว ไป Pokhara มาแล้ว ขี่มอเตอร์ไซค์ Harley เที่ยวตั้งแต่สมัยเรียนมาตลอด”
“ทุกอย่างมันอยู่ที่การจัดการความเสี่ยง ประเมินตัวเอง ประเมินสภาพแวดล้อม ประเมินเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ที่ใช้ สำคัญก็คือการที่เรากลัวอะไรสักอย่าง เราต้องคิดก่อนว่าสิ่งที่เรากลัวมันคืออะไร เราจึงจะรู้ว่าจะจัดการความเสี่ยงนั้นได้อย่างไร”
“บางคนอาจทำธุรกิจแบบของใครของมัน แต่สำหรับผม ผมเชื่อว่าถ้าผมโตคนเดียว แล้วอุตสาหกรรมหรือตลาดมันไม่ได้โตไปด้วยกัน วันหนึ่งมันต้องแป้ก รวมถึงเรื่องธรรมชาติและสภาพแวดล้อมด้วย หลายคนอาจจะหมายถึงการเก็บขยะ การรักษาท้องทะเล อันนั้นเป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่ถูก แต่จริง ๆ กระบวนการที่สำคัญอีกอย่างก็คือ การสอนคนให้ไปสอนคน ให้เรียนรู้ถึงวิธีการในการที่จะพิทักษ์รักษา”
“กิจกรรมดำน้ำมันเกี่ยวกับเรื่องของ Buoyancy ก็คือการลอยตัว เพราะฉะนั้นนักดำน้ำก็จะต้องหลีกเลี่ยงที่จะไปสัมผัสองค์ประกอบของธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ดังนั้นพวกผมที่เป็นมืออาชีพทางการดำน้ำ ก็จะเป็นคนฝึกสอนให้รู้ถึงวิธีในการลอยตัวอยู่ห่างจากสิ่งสวยงาม รู้จักดูแล จำแนกชนิดของสิ่งต่าง ๆ สอนให้ดูว่าจุดที่เราไปดำน้ำมีสิ่งแวดล้อมใต้ทะเลเป็นแบบไหน”
“ยกตัวอย่าง เวลาไปเดินชายทะเล น้ำแค่เข่า แค่เอว เราเดินเล่นได้สบาย ชายทะเลมีคลื่นซัดเข้า-ออก มันยากที่สิ่งมีชีวิตจะเจริญเติบโต แต่ใต้น้ำ แหล่งดำน้ำที่ดี ๆ มันไม่ใช่ บางครั้งเวลาที่มืออาชีพ หรือนักดำน้ำไปนอน ไปเตะ แม้กระทั่งพื้นทราย มันไม่เหมือนกันกับน้ำตื้น”
“ในการดำน้ำมันไม่ใช่แค่สัตว์ใหญ่ที่เราเห็น สัตว์ตัวเล็กเท่าหัวไม้ขีดก็ยังมี เพราะฉะนั้นเราต้องส่งเสริมการดำน้ำในปัจจุบันให้หลีกเลี่ยงที่จะสัมผัสสภาพแวดล้อมใต้ทะเลอย่างจริงจัง”
“นอกเหนือจากนั้น ในการสอนดำน้ำมันก็สอนให้ผมเป็นคนที่ดีขึ้น เพราะหากพูดถึงการฝึก การที่เราจะเป็น role model เพื่อสอนใครสักคน เราจะเชื่อใคร หรือ role model ไหนสักอย่าง ไม่ใช่ว่าเขาพูดครั้งเดียวแล้วเราจะเชื่อ เราต้องเห็นเขาทำสิ่งนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก แล้วเขาก็ยังเป็นคนที่ทำแบบนั้นอยู่ มันก็ทำให้ผมเป็นคนที่พูดแบบไหนต้องทำแบบนั้น”
“ในการสอนผมจะบอกเสมอว่า ทำเหมือนที่ผมทำ ทำเหมือนที่ผมพูด ไม่ใช่ว่า ทำเหมือนที่ผมพูดนะ แต่อย่าทำเหมือนที่ผมทำ มันก็ขัดแย้งกันในตัวเอง”
ไอเท็มคู่กายของครูหลุยส์วันนี้คือเจ้าอสูรกายใต้น้ำทะเลอย่าง Seiko Prospex “Monster” PADI Special Edition: SRPE27K ที่เป็นการหลอมรวมกันระหว่างแบรนด์นาฬิกาดำน้ำตัวจริงอย่าง Seiko และ PADI สมาคมเครือข่ายนักดำน้ำระดับโลก ทำให้ไซโก SRPE27K นั้นโฉบเฉี่ยวมากขึ้นกว่าเดิม ด้วยขอบตัวเรือนแบบหมุนได้ที่ใช้สีน้ำเงินและแดงมาสร้างความสวยงาม เข็มนาทีและเข็มวินาทีที่มาตัดกับหน้าปัดสีดำ และประทับสัญลักษณ์ PADI ไว้บริเวณ 6 นาฬิกาเพื่อแสดงถึงความสำคัญในการเป็น Partner กันมาอย่างยาวนาน
การคุยกับครูหลุยส์เป็นส่วนหนึ่งในโปรเจ็กต์ที่บ้านและสวน Explorers Club และ Seiko Thailand ชักชวนนักดำน้ำทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ของเมืองไทย 10 ชีวิต มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์จากการสำรวจท้องทะเลลึกในอีกมุมมอง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างมีจิตสำนึก และชวนชาว Explorers ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพลังขับเคลื่อนเล็ก ๆ ไป Save The Ocean พร้อมกับพวกเขาอีกแรง ในการปกป้องรักษาแนวปะการังใต้ผืนทะเลให้ยังคงงดงามและน่าค้นหาต่อไปหลังจากนี้
พบกับบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของนักท่องโลกใต้น้ำทั้ง 10 คน ได้ทุกสัปดาห์ทาง Facebook: บ้านและสวน Explorers Club และ National Geographic Thailand .
[ EXPLORER ]
ครูหลุยส์
ภาพถ่ายครูหลุยส์: จูน
ภาพถ่ายใต้น้ำ: แอปเปิ้ล
ชวนคุย: เฟี้ยต