‘ทัวร์ – จิรายุ เอกกุล’ เป็นช่างภาพสัตว์ป่า เป็นเจ้าของเพจ Jirayu Ekkul Wildlife Photography ที่ทยอยลงภาพสัตว์ป่าสารพัดชนิดให้ชมไปพร้อม ๆ กับการเล่าเรื่องโดยสอดแทรกสาระน่ารู้ผ่านภาษาที่ชวนอ่านได้ไม่เบื่อ ทัวร์ยังเป็นเจ้าของธุรกิจนำเที่ยวเชิงอนุรักษ์ Wild Encounter Thailand ที่พยายามเสาะแสวงหาพื้นที่ใหม่ ๆ เพื่อให้ตัวเขาและพวกเราเองได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องธรรมชาติและสัตว์ป่า ผ่านการเข้าหาอย่างถูกวิธี หรือที่เราเรียกกันว่าท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ
ซึ่งคำว่าท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบนี่แหละ เป็นที่มาของการที่เราชวนทัวร์มา talk ในประเด็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ‘เที่ยวอย่างไรให้คนและสัตว์ได้ประโยชน์ร่วมกัน’ บนเวที ‘Meet on Stage’ ในวันเสาร์ที่ 19 มีนาคม 2565 เวลา 13.00 น. ที่ Explorers Zone งาน ‘บ้านและสวนแฟร์ Select 2022’ ณ ไบเทค บางนา
“ประเทศไทยยังมีธรรมชาติและสัตว์ป่าที่เราต้องไปศึกษาและเสาะหาอีกมาก แต่สิ่งที่ผมพยายามเน้นคือ เราต้องเข้าหาธรรมชาติอย่างถูกวิธี”
ครั้งหนึ่ง บ้านและสวน Explorers Club เคยล่องเรือออกไปดูวาฬบรูด้าในอ่าวตัว ก. กับ Wild Encounter Thailand (อ่านเรื่องนี้ได้ที่นี่) ธุรกิจนำเที่ยวของทัวร์ซึ่งไม่ได้ทัวร์เฉพาะแค่ที่ไทย แต่ทัวร์ไปทั่วโลก ทัวร์ยังย้ำอีกเขาว่าไม่ได้จัดแค่ทัวร์ดูวาฬหรือดูนก “Wild Encounter Thailand เน้นดูเสือ ทั้งเสือดาว เสือโคร่ง เสือดำทั้งไทยและเทศ แล้วก็วาฬนานาชนิดทั่วโลก วาฬออร์ก้า วาฬหัวทุย วาฬสีน้ำเงิน”
“แต่พอช่วงโควิดบริษัทท่องเที่ยวก็ต้องปรับตัว เราเองก็ไม่สามารถอยู่เฉยได้ แต่ถือเป็นข้อดีที่ทำให้เราหันมามองความเป็นไปได้ในประเทศไทยมากขึ้น และเราก็พบว่าจริง ๆ แล้วมีอีกหลายพื้นที่ที่มีประชากรสัตว์น่าสนใจ แต่ที่ผมบอกว่าเราต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะธรรมชาติของคนเอเชีย การท่องเที่ยวถือว่ายังไม่รับผิดชอบมากพอ”
ช่วยขยายความของคำว่าไม่รับผิดชอบได้ไหม
“ไม่รับผิดชอบทั่วไปเลย เช่น ขับรถเร็วในอุทยานฯ, ให้อาหารสัตว์, ปัญหาขยะ, การทำเป็น Mainstream หรือการรับนักท่องเที่ยวโดยไม่จำกัดมันยังเห็นได้ในหลายพื้นที่ เพราะฉะนั้นเราต้องทำความเข้าใจใหม่ในหลาย ๆ ด้าน”
ยกตัวอย่างบางทริปที่คุณจัดทัวร์ จำนวนคนเท่าไรถึงเรียกว่ามีความเหมาะสม
“อย่างการดูวาฬก็ใช้เรือลำใหญ่ สามารถจุคนได้ประมาณ 30-40 คน เพราะทุกคนอยู่บนเรือไม่ได้ลงน้ำ แต่ต่างประเทศที่เราจัดทัวร์ให้ว่ายน้ำกับวาฬก็รับไม่เกิน 4-5 คน เราจะดูความเหมาะสมและสร้างการรบกวนสัตว์ให้น้อยที่สุด ถ้าดูสัตว์บกจะจำกัดคนน้อย ถ้าเป็นนกอย่างมากก็ 10 คน แต่ถ้าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะรับไม่เกิน 8 คน เพราะเราเปิดให้คนที่ไปได้มีโอกาสเจอและมีประสบการณ์กลับมาได้มากที่สุด”
“ถ้าเข้าป่าจะต้องค้างคืนเนื่องจากเราเอาสัตว์เป็นหลัก ไม่ได้ไปชมธรรมชาติอย่างเดียว การดูสัตว์ในธรรมชาติไม่มีอะไรมาการันตี ไม่สามารถทำแบบไปเช้าเย็นกลับแบบการดูวาฬได้ บางวันมันอาจจะเงียบเหงา ไม่มีอะไรเลย การใช้โอกาส การย้ำ การซ้ำ มันต้องมีแน่นอน นอกจากดูวาฬ ทัวร์ส่วนใหญ่จะเป็นการค้างคืนหมด ใช้ระยะเวลาประมาณ 3 วัน หรือ 1 อาทิตย์ บางทียาวเป็นครึ่งเดือนเลยก็มี ผมเคยทำมากสุด 28 วัน อยู่ตามชายป่าหรือค้างที่บ้านพัก เพราะการเข้าป่านั้นอาหารที่ขนไปแค่ 6-7 วันก็หมดแล้ว บางที่เราเอาอาหารเข้าไปได้ 5 วัน แล้วต้องออกมา 1 วันก็มี”
“ถ้าคุณทำทัวร์ท่องเที่ยวแล้วไม่อนุรักษ์ นั่นคือความยั่งยืนเฉพาะแค่ตัวคุณ เพราะถ้าสัตว์ไม่ได้ประโยชน์จากคุณ มันก็ไม่ใช่ความยั่งยืนที่แท้จริง”
คำว่าการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในความหมายของคุณล่ะเป็นอย่างไร
“การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ คือ การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวธรรมชาติและสัตว์ป่า มันต้องไม่ใช่แค่เราที่ได้ฝ่ายเดียว เราทำอะไรก็แล้วแต่สัตว์ต้องได้กลับคืนด้วย อย่างเช่นการดูวาฬ ถ้าเราออกไปแล้วเราได้ดูเฉย ๆ แค่คนได้กลับมามันยังไม่พอ เราต้องรู้ว่าวาฬได้อะไร เราออกไปถี่เท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายเป็นค่าน้ำมันที่เราได้ออกเรือไป แลกกับข้อมูลที่ได้กลับมา ทำให้เราเห็นได้เลยว่าตลอด 1 ปี กราฟมันขึ้นเลยว่าเราเจอถี่ เจอน้อย หรือพฤติกรรมในแต่ละเดือนของวาฬเป็นอย่างไร”
“เราพบว่าเดือนกันยายน-ตุลาคม วาฬจะกินเยอะ แต่ช่วงฤดูร้อนวาฬจะว่ายน้ำเล่น GPS การพบมันจะขึ้นเป็น Big Picture และ Big Data ที่เราเอามาวิเคราะห์ได้ หรือถ้าช่วงนี้เจอวาฬแม่ลูกถี่ ๆ มันเกิดอะไรขึ้นมันจะตอบได้เลย แล้วเราก็เอาข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์เพื่ออนุรักษ์ต่อไป”
“การท่องเที่ยวลักษณะนี้มันสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ ถ้าผู้หลักผู้ใหญ่เล็งเห็นความสำคัญ สุดท้ายแล้ววาฬมันก็ได้ประโยชน์กลับไป ได้เป็นสัตว์ป่าสงวน จากที่เมื่อก่อนไม่เคยเป็น ไม่เคยถูกเหลียวแล ผมเองทำงานอนุรักษ์มาก่อน ถ้าเกิดว่าผมมาทำทัวร์ท่องเที่ยวแล้วไม่อนุรักษ์มันก็ไม่ใช่ คุณจะบอกว่ามันยั่งยืนมันอาจจะยั่งยืนในลักษณะของตัวคุณ แต่ถ้าสัตว์ไม่ได้อะไรกลับไป มันก็ไม่ใช่ความยั่งยืนที่แท้จริง คำว่ายั่งยืนไม่ใช่เรานะที่ยั่งยืน ต้องเป็นธรรมชาติที่ยั่งยืนมากกว่า”
“อย่างเสือดาวหิมะ เสือดาวศรีลังกา ที่เราทำท่องเที่ยว เราจะเวิร์กกับ Non-profit ของ NGO นำรายได้ส่วนหนึ่งเอาไปจ่ายให้เจ้าหน้าที่หรือคนท้องถิ่น มันก็จะกลับเข้าไปใน Community Base พอคนท้องถิ่นเห็นมูลค่าของการทำงานแบบนี้ เกิดมีนักท่องเที่ยว มันก็จะเกิด Economic Value พอมันเปลี่ยนเป็น Economic Value สิ่งที่ต่อยอดคือคนจะเห็นสัตว์มีค่ากับเขา แล้วเขาก็พร้อมที่จะอนุรักษ์และหวงแหน มันต้องมองการณ์ไกล มันต้องมองเห็นปลายทางว่าคนที่จะอยู่ได้คือคนท้องถิ่น และสัตว์ที่อยู่ประจำถิ่นนั้น ๆ”
แล้วการล่องเรือดูวาฬของ Wild Encounter Thailand แตกต่างจากเจ้าอื่นอย่างไร
“จริง ๆ แล้วมีคนจัดทัวร์ดูวาฬเยอะมาก ทั้งจัดแบบขับเรือพาไป หรือบางที่จะจัดแบบเป็นกลุ่มก้อนเล็ก ๆ แต่การดูวาฬแบบเป็นกิจจะลักษณะ ดูวาฬเชิงพาณิชย์ หรือ Commercial Whale Watching ที่มีมาตรฐานเหมือนการดูวาฬของต่างประเทศ ทัวร์ดูวาฬของเราถือเป็นเจ้าเดียวในทวีปเอเชียที่เขาเรียกว่า Dedicated to Whale Watching หรือเป็นการดูวาฬโดยเฉพาะ เป็นทัวร์ดูวาฬอย่างรับผิดชอบ ซึ่งลักษณะการดูวาฬแบบรับผิดชอบมันเป็นมาตรการ (Protocol) คือเราไม่ได้หยุดรอวาฬอย่างเดียว เราจะขับไปยังจุดที่เจอวาฬนั่นแหละ แต่พอถึงพื้นที่ของเขาก็จะต้องใช้กฎระเบียบ เช่น การลดความเร็วของเรือในการเข้าหาวาฬ และรักษารัศมีของเรือให้ห่างจากวาฬด้วย”
“การดูวาฬในไทยนั้นมีมานานแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของเรือประมงดัดแปลง หรืออย่างแหลมผักเบี้ยเขาจะเป็นเรือประมง ซึ่งพอถึงช่วงดูวาฬประมาณ 3 เดือน ระหว่างตุลาคม – ธันวาคม เขาจะมีใบอนุมัติพิเศษในการนำท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ บางที่เขาจะออกช่วงปลายฝนต้นหนาว แต่เฉพาะปีนี้มันแปลก ผมดูวาฬมาทั้งปีไม่ได้หยุดเลย ด้วยลักษณะของการดูวาฬโดยเฉพาะทำให้เรามีข้อมูลเยอะ”
“เราเคยเข้าใจว่าวาฬเข้ามาบริเวณอ่าวตัว ก. เดือนตุลาคม หรือพฤศจิกายน แต่พอเรามีข้อมูลมากขึ้น ก็นำเอาข้อมูลมาวิจัย วิเคราะห์ ซึ่งมันก็ทำให้ทราบว่าจริง ๆ แล้ววาฬไม่ได้ไปไหน แค่มีเขยิบไปลงใต้นิด ๆ แต่เนื่องจากมันมีจำนวนมาก ก็จะมีวาฬบางตัวที่ไม่ได้ลงไปทางอ่าวไทยตอนล่าง มันกลายเป็นวาฬประจำถิ่น ไม่ได้อพยพเหมือนวาฬหลังค่อมที่เราไปดูที่ต่างประเทศ เพราะฉะนั้นการออกดูวาฬอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเจอหรือไม่เจอก็ตาม มันก็ทำให้เรารู้ว่าอ่าวไทยตอนบน หรืออ่าวตัว ก. มันเป็นพื้นที่สำคัญของวาฬที่เรียกว่า Feeding ground และ Nursing ground”
“คือ 1. พื้นที่หากินในช่วงฤดูฝนที่ปลากะตักจะเข้ามา 2. อันนี้สำคัญมาก มีงานวิจัยของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเราได้มีส่วนร่วม ทำให้เราค่อนข้างจะมั่นใจและสามารถพิสูจน์ได้ว่า อ่าวไทยตอนบนซึ่งเป็นอ่าวที่มีทางเข้า-ออกทางเดียว มีทางตัน มีจุดบังลมบังฝนหมดเลย ไม่ใช่ทะเลเปิดแบบทั่วไป มันเป็นจุดเซฟโซนสำหรับการดูแลลูกแรกเกิด มันเป็นแหล่งของแม่และเด็กเลย”
“ตรงนี้ผมให้ความสำคัญมากและอยากให้ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนเห็นความสำคัญเช่นกัน พอคลื่นลมไม่ได้แรง มันก็เป็นที่สำหรับลูกหรือวาฬเด็กสามารถเข้ามาอยู่ได้อย่างปลอดภัย ปัจจุบันเรามีวาฬแม่เกือบ 20 คู่ เป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด 80 ตัว และกว่าครึ่งของประชากรก็เป็นผลผลิตของแม่วาฬ 80 ตัวนี้ อ่าวไทยตอนบนมันเป็นพื้นที่สำหรับเลี้ยงลูกเพื่อให้เจริญเติบโตเป็นวาฬตัวใหญ่ในอนาคต”
“โอกาสที่จะเจอและไม่เจอวาฬมีประมาณ 90:10 เดือนหนึ่งจะมีไม่เจอประมาณ 1 ครั้ง แต่มันเป็นสัตว์ธรรมชาติ เพราะฉะนั้นมันมีโอกาสที่จะไม่เจออยู่แล้ว”
ทัวร์ – จิรายุ เอกกุล จะมาเป็นหนึ่งในแขกรับเชิญของเรา เข้าร่วมเสวนาเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่คนและสัตว์ได้ประโยชน์ร่วมกัน ในวันเสาร์ที่ 19 มีนาคม 2565 เวลา 13.00 น. ใครเป็นแฟนคอลัมน์สัมภาษณ์ของเราอย่าง ‘MEET’ ในงานบ้านและสวนแฟร์ Select 2022 ครั้งนี้เราได้เชิญเหล่า Explorers ตัวจริงมาร่วมพูดคุยกันสด ๆ บนเวทีในกิจกรรม ‘Meet on Stage’ วันเสาร์ที่ 19, อาทิตย์ที่ 20 และเสาร์ที่ 26 มีนาคม 2565 ณ เวทีกิจกรรมใน EXPLORERS ZONE ซึ่ง ทุกโปรแกรมสามารถสำรองที่นั่งล่วงหน้าได้ที่เพจบ้านและสวน Explorers Club (https://www.facebook.com/ExplorersClub/posts/466815028526444)
ในเวลา 14.00 น. วันเดียวกัน มาฟัง โนชา – อโนชา ศิริจร อดีตประชาสัมพันธ์สาวที่เคยสวมชุดยูนิฟอร์มกับรองเท้าส้นสูงมาก่อน ก่อนจะพลิกบทบาทสู่การเป็นพิธีกรสวมเสื้อลายสก็อตกับรองเท้าผ้าใบ ออกตะลุยกินเมนูท้องถิ่นสารพัดจาก 76 จังหวัดทั่วไทยผ่านรายการ ‘ชื่นใจไทยแลนด์’ และ ‘ตามอำเภอจาน’ ที่ออกอากาศทางช่อง AMARIN TV HD34 ครั้งนี้เธอจะมาปันประสบการณ์ในฐานะ Explorer ที่ใช้อาหารนำทางไปพบเจอผู้คนและมุมมองการใช้ชีวิต ที่เกี่ยวเนื่องกับรายการใหม่ล่าสุดของเธออย่าง ‘อาหารนำทาง’
เรายังชวน ตองและพังแป้น คู่รักเจ้าของเพจ My Name is Kustard และเจ้าของ hashtag #เดินทำไมล์ #ปั่นทำไมล์ #เที่ยวทำไมล์ มาร่วมปันประสบการณ์กับเรื่องราวของชีวิตหลังการลาออกจากงานดี ๆ พร้อมตัดสินใจขายบ้าน เพื่อออกไปผจญโลกกว้าง ในวันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม 2565 เวลา 16.00 น. ด้วย ใครเป็นแฟนคลับของทั้งคู่ก็มาพบกับพวกเขาได้ ส่วนสายกิจกรรมทางน้ำก็ห้ามพลาด เพราะ Feelfree kayak Thailand ก็มาพร้อมมีวิทยากรอย่าง ครูอุดร สายถวิล ผู้เชี่ยวชาญด้านเรือคายัคมาให้ความรู้ในการเลือกซื้อคายัคที่เหมาะสมกับการใช้งานแต่ละประเภท รวมถึงเทคนิคการพายเบื้องต้น งานนี้มีรางวัล กระเป๋ากันน้ำ จำนวน 10 ใบ และคูปองเงินสดสำหรับใช้แลกซื้อสินค้าในบู๊ธ Feelfree มาให้ร่วมลุ้นรับไปฟรี ๆ ในวันเสาร์ที่ 26 มีนาคม เวลา 11.00 น.อีกด้วย
และในเมื่อ Explorers Zone ครั้งนี้เป็นพื้นที่พบปะสำหรับคนรักกิจกรรมกลางแจ้ง ที่รวบรวมสินค้าเอ๊าต์ดอร์ไลฟ์สไตล์หลากหลายแบรนด์มาให้จับจ่ายแบบจุใจ เราจึงชวน อีฟ – อติชา ยิ่งศิริอำนวย ผู้ก่อตั้ง CAMPA เจ้าของแพลตฟอร์มจองพื้นที่กางเต็นท์แห่งแรกในประเทศไทย มาร่วมเสวนากันบนเวทีถึงประเด็นการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพนี้ขึ้นมา เพื่อสร้างวัฒนธรรมการแคมปิ้งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในตอนนี้ไม่ให้เป็นเพียงแค่กระแสแล้วหายไป พร้อมให้ผู้ฟังได้ร่วมสนุกลุ้นรางวัลสุดพิเศษ ในวันเสาร์ที่ 26 มีนาคม 2565 เวลา 14.00 น. ย้ำอีกครั้ง ทุกโปรแกรมสามารถสำรองที่นั่งล่วงหน้าได้ที่เพจบ้านและสวน Explorers Club
สุดสัปดาห์นี้ บ้านและสวนแฟร์ select 2022 เริ่มแล้ว มาพบกันได้ระหว่างวันที่ 19-27 มีนาคม 2565 ที่ ไบเทค บางนา
[ EXPLORER: ทัวร์ ]
ติดตามผลงานของเขาได้ที่ https://www.facebook.com/jirayuwildlife
และ https://www.facebook.com/wildencounterthailand
ชวนคุย: เฟี้ยต