พิษณุ นำศิริโยธิน เป็นหนึ่งในวิทยากรจากหลักสูตร “A Passion for Woodworking” โดย บ้านและสวน CLASSROOM ร่วมกับ Creative Economy Agency (Public Organization) หรือ CEA นำเสนอบทเรียนออนไลน์สำหรับผู้สนใจงานไม้ทุกคน เรียนรู้งานไม้เบื้องต้นผ่านการสร้างสรรค์เฟอร์นิเจอร์จากเครื่องมือช่างพื้นฐาน และวัตถุดิบใกล้ตัว เพื่อต่อยอดไปสู่ธุรกิจสร้างสรรค์ในอนาคต ดำเนินรายการโดย บก.เจ – เจรมัย พิทักษ์วงศ์ บรรณาธิการนิตยสารบ้านและสวน
Lesson 1 Getting Started in Woodworking
สำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นเรียนรู้การทำงานไม้ การเริ่มต้นด้วย ‘เก้าอี้รีดนมวัว’ กับครูณุ – พิษณุ นำศิริโยธิน อาจารย์สอนงานไม้ และช่างไม้มืออาชีพ คนทำงานไม้ที่พยายามอยู่ร่วมกับป่าไม้อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย โดย ชุดความรู้ที่จะได้รับจากบทเรียนนี้ มีทั้งการทำความรู้จักเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นต้องมี เช่น Hand tool, Power Tool และ Machine Tool รู้จักไม้รกฟ้า (Terminalialata) ไม้เนื้อแข็งที่เป็นพันธุ์ไม้พื้นถิ่นทางภาคอีสานและเหนือ
นอกจากนี้ยังจะได้รู้จักการเลือกประเภทไม้และตำแหน่งการตัดมาใช้ทำเก้าอี้รีดนมวัวที่เหมาะสม การขัดไม้และสังเกตลายไม้ การฝึกคัดไม้ให้ประณีตสวย วิธีการตัดไม้แบบ Rip Cut หรือการตามเสี้ยน และ Cross Cut หรือการตัดขวางเสี้ยน การทำตัวแบบ (Template) ช่วยในการวาดและตัดแต่งตัดขอบได้ง่ายหรือทำซ้ำได้อีก การทำขาเก้าอี้และขั้นตอนของการประกอบขาอย่างละเอียด รวมถึงรู้จักชนิดกาวติดไม้ (Wood Glue) และการลงขี้ผึ้ง (Beeswax) เพื่อสร้างผิวสัมผัสของไม้และถนอมเนื้อไม้
พิษณุ นำศิริโยธิน คือนักออกแบบผู้หลงใหลในวัสดุ “ไม้” เขาเติบโตและคลุกคลีกับเครื่องมือช่างในบ้านมาตั้งแต่วัยเด็ก หลังจากเขาจบการศึกษาด้าน Visual Art และใช้ชีวิตอย่างสุดโต่งจนร่างกายและจิตใจเสียสมดุลเขาได้ค้นพบตัวตนที่แท้จริงหลังจากได้รู้จักผลงานของศิลปินงานไม้อย่าง George Nakashima, Sam Maloof, James Krenov และอาจารย์ไสยาสน์ เสมาเงิน จนนำมาสู่การลงมือศึกษางานไม้อย่างจริงจังในที่สุด
พิษณุ เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร room ถึงความเชื่อจากการสั่งสมประสบการณ์ในงานไม้มามากกว่าทศวรรษว่า “ถ้าคนหนึ่งจะออกแบบเก้าอี้ไม้เขามีความรู้เรื่องเก้าอี้ดี แต่ไม่รู้จักเสี้ยนไม้ ไม่เคยไสไม้หรือทำข้อต่อไม้เลย เขาก็จะทำได้แค่สองส่วน คือคิดเรื่องขนาดสัดส่วนของเก้าอี้ และคิดในเชิงกราฟิกด้านรูปทรงหรือสไตล์ของเก้าอี้ แม้จะดีไซน์ออกมาสวย แต่ท้ายที่สุดมันอาจจะไม่ใช่งานออกแบบที่เกี่ยวกับไม้เลย อาจใช้วัสดุอื่นดีกว่าเพราะข้อต่อแบบนี้ไม้ทำไม่ได้เกิดเศษไม้ทิ้งมหาศาล เป็นดีไซน์ที่สร้างความลำบากให้โลกมาก”
โลกที่เขาว่า คือโลกที่คนทำงานไม้พยายามอย่างที่สุดที่จะอยู่ร่วมกับป่าไม้ธรรมชาติอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย โลกที่สามารถตัดไม้ใช้งานอย่างรู้คุณค่าไปพร้อมกับรอชื่นชมต้นไม้เติบโต ซึ่งอุดมการณ์นี้เขาสามารถทำออกมาให้เป็นรูปธรรมได้ เห็นได้จาก “Rush Chair” เก้าอี้ที่ Phisanu ทำงานร่วมกับ จุฑามาส บูรณะเจตน์ และปิติ อัมระรงค์ สองนักออกแบบจาก o-d-a พวกเขาเลือกใช้กิ่งไม้จากการตัดสางป่า (การลิดกิ่งต้นไม้เพื่อตกแต่ง) มาประกอบเป็นเก้าอี้ด้วยวิธีการเข้าไม้แบบดั้งเดิมสานที่นั่งด้วยเส้นใยธรรมชาติย้อมคราม
หากคำจำกัดความของ “ดีไซน์ที่ยั่งยืน” หมายถึงเฟอร์นิเจอร์สักชิ้นที่นั่งสบาย ซ่อมแซมง่าย หาชิ้นส่วนอะไหล่ได้ตามธรรมชาติ และย่อยสลายได้เมื่อหมดอายุการใช้งาน Rush Chair คงเป็นเก้าอี้ที่เป็นมิตรกับระบบนิเวศอย่างแท้จริง
“ถ้าเราทำงานออกแบบโดยไม่มองแต่ความต้องการของเราฝ่ายเดียว แล้วหันไปสนใจสิ่งแวดล้อมบ้าง รูปแบบของงานจะเปลี่ยนไปเอง ผมไม่ได้โฟกัสที่เทคนิคการผลิต แต่โฟกัสที่ตัวไม้ เครื่องมืออะไรก็ได้ที่ทำให้งานไม้ของเราเกิดความหมายขึ้น”
ปัจจุบันพิษณุย้ายเวิร์กชอปชั่วคราวจากสตูดิโองานไม้เครื่องมือทันสมัยย่านพุทธบูชาในกรุงเทพฯ ไปทำงานเชิงทดลองกับชาวบ้าน และเลือกใช้วัสดุอย่างไม้ในท้องถิ่นภายในสตูดิโอกลางแจ้ง ณ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่นี่เขาชวนชาวบ้านที่ว่างเว้นจากการทำนาปีมาทำ Rush Chair ซึ่งได้รับการพัฒนาดีไซน์อย่างต่อเนื่องโดย o-d-a นอกเหนือไปจากความตั้งใจจะสร้างอาชีพเสริมให้กับชุมชนทุกก้าวย่าง ที่พิษณุขอให้เพื่อนบ้านพาออกหากิ่งไม้ชายป่าล้วนแฝงด้วยการสื่อสารเกี่ยวกับทัศนคติการพิทักษ์ป่าอย่างแนบเนียนเพราะเขาเชื่อว่าคงมีแต่ความผูกพันระหว่างคนกับต้นไม้เท่านั้นที่จะช่วยสร้างค่านิยมของการอนุรักษ์ได้ในระยะยาว
“ผมเชื่อว่าระหว่างเก้าอี้กับต้นไม้ โลกเราต้องการต้นไม้มากกว่า ต้นไม้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศมากกว่างานออกแบบของผมมากนักดังนั้นถ้าเราใช้ไม้อย่างตระหนักถึงความหมายของชีวิตต้นไม้แต่ละต้น มีระบบการออกแบบและผลิตอย่างประณีตมันก็เป็นงานไม้ที่มีคุณค่า”
เริ่มต้นงานไม้ด้วยเก้าอี้รีดนมวัว กับ ครูพิษณุ นำศิริโยธิน อาจารย์สอนงานไม้ และช่างไม้มืออาชีพ 1 ใน 4 บทเรียนออนไลน์ “A Passion for Woodworking ทำงานไม้ด้วยใจรัก” เรียนฟรีผ่านวิดีโอทั้ง 4 EP. ได้ที่ PRIME SKILL https://bit.ly/3E7Npni