บ้านและสวน Explorers Club บุกร้านใหม่ของ Thailandoutdoor Shop ย่านลาดพร้าว แต่ไม่ได้มาเพื่อจับจ่ายอุปกรณ์แค้มปิ้งเดินป่า เพราะเรามาเพื่อจับเข่าคุยกับ งบ- ธัชรวี หาริกุล ถึงเบื้องหลังการพัฒนาเส้นทางเดินป่าในไทย ตั้งแต่เส้นทางเดินป่าระยะไกลชุมชนขุนน้ำเงา จังหวัดแม่ฮ่องสอน จนถึงการเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ก่อตั้งโรงเรียนนักเดินป่า อุทยานแห่งชาติดอยภูคา Outdoor Education ที่เปิดสอนวิชาเดินป่า 101 แห่งแรกของไทยที่จังหวัดน่าน
พวกเรานัดพบกับ ‘พี่งบ’ ที่สนามยิงธนู ArcheryThai ของโรงเรียนสอนยิงธนูแห่งแรกในไทย ด้านหลังที่ดินเดียวกับร้านใหม่ของ Thailand Outdoor นี่แหละ
พี่งบเป็นผู้บริหารของ Thailand Outdoor ผู้สนับสนุนคุณภาพในการนอนกลางดินกินกลางทรายอย่างเป็นทางการ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งร้านจำหน่ายอุปกรณ์แค้มปิ้งเดินป่า Thailandoutdoor Shop ที่มีสินค้าให้เลือกมากที่สุดในประเทศไทย และอีกบทบาทหนึ่งของเขา คือการเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง มูลนิธิธรรมชาติไม่จำกัด (Nature Unlimited Foundation) องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มผู้รักการใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ ที่ไม่หวังเพียงแค่ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติฝ่ายเดียว แต่ยังส่งเสริมให้คนสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน
มูลนิธิธรรมชาติไม่จำกัด อยู่เบื้องหลังการพัฒนาเส้นทางเดินป่าและการท่องเที่ยวของตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่รู้จักกันในชื่อ เส้นทางเดินป่าระยะไกลชุมชนขุนน้ำเงา (Mae Ngow Trekking) ระยะทาง 50 กิโลเมตร โดยร่วมมือกับชาวบ้านในตำบลแม่สวด และโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ บ้านจือทะ-สบโขง จัดกิจกรรมเดินป่า Fjällräven Thailand Trail ขึ้นมาเมื่อหลายปีก่อน
การจัดกิจกรรมในคราวนั้นสามารถนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดเข้ามาช่วยส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ช่วยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการนำทางเดินป่าที่สามารถเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว เล็งเห็นคุณค่าและหวงแหนธรรมชาติในพื้นที่ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบได้โดยแท้จริง
“ตอนที่เราทำโครงการที่แม่เงา เรามีเป้าหมายอยู่ 3 อย่างด้วยกัน”
“1) เราอยากพาคนเมืองไปสัมผัสธรรมชาติ คนเมืองในเมืองไทยเรานี่มีโอกาสน้อยมากที่จะเจอกับธรรมชาติ”
“2) เราจะสร้างเส้นทางเดินป่าระยะไกลขึ้นมา เพราะมันไม่มี ตอนที่เราสร้างเส้นแม่เงา 50 กิโลเมตร ตอนนั้นไม่มีเส้นทาง 50 กิโลเมตร ในเมืองไทยเลย”
“3) เราอยากสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน เพราะเมื่อชาวบ้านมีรายได้จากป่า เขาก็จะช่วยรักษาป่า ถ้าคนเมืองไปเดินแล้วรักธรรมชาติ ก็จะช่วยเป็นปากเป็นเสียงให้คนอื่นช่วยกันรักษาป่า ป่ามันก็จะดีขึ้น”
“ในทางกลับกัน ถ้าเราอยู่ในโหมดปัจจุบัน อุทยานห้ามเข้า ห้ามไปนอนในป่า ชาวบ้านก็จะขโมยทรัพยากร คนเมืองก็ไม่เข้าใจ เวลามีเหตุอะไรขึ้นมาก็แสดงความคิดเห็นกันผิดทิศผิดทาง สังคมมันก็ลากไปในทางที่ผิดไปหมด ผมจึงมองว่าสำคัญมากที่จะให้คนไปเจอกับตัว ไปสัมผัสธรรมชาติและเข้าใจจริง ๆ ว่าการจะรักษาป่าต้องทำอย่างไร ต่างประเทศเขาอนุรักษ์ธรรมชาติสำเร็จ เพราะคนเขามีความรู้ความเข้าใจ เขาได้สัมผัส ได้เข้าถึงธรรมชาติจริง ๆ”
แม่เงาโมเดล
จากเส้นทางเดินป่าระยะไกล สู่การสอนวิชาเดินป่า 101
Outdoor Education แห่งแรกของไทย
กับการเกิดขึ้นของ โรงเรียนนักเดินป่าแห่งแรกในไทย ที่ภู1700 อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ที่ตอนนี้เปิดรับนักเรียนเข้าอบรมหลักสูตรวิชาเดินป่า 101 จนถึงรุ่นที่ 8 และกำลังจะปิดเทอมแรกในเร็ว ๆ นี้แล้ว ก็ได้มูลนิธิธรรมชาติไม่จำกัด นี่แหละเป็นผู้ให้คำปรึกษาเช่นเดียวกัน
พี่งบบอกว่า “จริง ๆ แล้วโครงการนี้มันเริ่มหลังจากมูลนิธิธรรมชาติไม่จำกัดไปทำเส้นทางเดินป่าระยะไกลที่แม่เงา ตอนนั้นมีนักท่องเที่ยวคนหนึ่งไปเดินที่นั่น แล้วเขาก็ไปรู้จักกับคุณใหญ่ (ธำรงรัตน์ ธนภัคพลชัย) ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ไปเล่าเรื่องแม่เงาให้ใหญ่ฟัง เขาก็เลยสนใจแล้วมาพบกับผมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น”
“ที่ดอยภูคามีปัญหาคนละแบบกับแม่เงา ที่ดอยภูคามีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ยาว 100 กิโลเมตร จากเหนือถึงใต้ ปัญหาของที่นั่นคือมีเส้นทางเดินในป่าเต็มไปหมด มีชาวบ้านแอบเดิน ควบคุมไม่ได้ แต่ที่แม่เงานั้นกลับกันคือชาวบ้านขอจัดการเดินให้ถูกต้อง และขออนุญาตอุทยานฯเพื่อทำงานด้วยกัน เขาจึงขอให้เราไปช่วยจัดระเบียบ”
“พวกเรานั่งระดมความคิดกันกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ในประเด็นสำคัญที่สุด ก็คือปัญหาการเดินป่าในบ้านเราเหมือนไก่กับไข่ อุทยานอยากเปิดให้คนไปเดิน คนก็อยากไปเดิน แต่อุทยานเปิดไม่ได้เพราะถ้าเปิดขึ้นมาก็เป็นปัญหา มีคนไปทิ้งขยะ ส่งเสียงดังรบกวนสัตว์ป่า ไม่รู้จะจัดการอย่างไร ผมก็เลยออกไอเดียให้กับผู้ช่วยใหญ่ว่าเราควรจะให้ความรู้และกลั่นกรอง ใช้คำว่าให้ความรู้ว่าการเดินป่าที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร”
“คนส่วนใหญ่ในโลกโซเชียล มักบอกว่าคนไทยไม่มีระเบียบ ปล่อยให้ไปเดินในธรรมชาติไม่ได้หรอก แต่เราจะพูดกันอยู่อย่างนี้อีกกี่ปี คนบอกฝรั่งเขามีระเบียบกัน อย่าใช้ว่าเขามีระเบียบเลย เขามีวัฒนธรรมต่างหาก”
ปฐมบทของวิชาเดินป่าที่โรงเรียนไม่เคยสอน
“ที่อเมริกาหรือสวีเดน เขาแคมปิ้งกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ มาจนรุ่นลูก เขาทำตามแบบกันมา 3 เจเนอเรชั่น คนส่วนใหญ่รู้วิธีแคมปิ้งที่ถูกต้อง พอมีคนใหม่ ๆ อยากไปแคมปิ้ง ไปเห็นคนอื่นก็ต้องทำตาม บ้านเราช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา คนอยากแคมปิ้งเดินป่าแห่กันเข้าไป ไม่มีตัวอย่างที่ดีให้ดู ไม่มีคนสอน ไม่มีคำแนะนำจากที่ไหนเลย อุทยานก็ได้แต่ห้าม แต่ไม่มีตัวอย่าง เราก็เลยบอกว่าอย่างนั้นจะต้องเริ่มที่ให้ความรู้และกลั่นกรอง”
“ในต่างประเทศไม่ค่อยมีโรงเรียนสอนเดินป่าโดยเฉพาะ เพราะว่าเขามีวัฒนธรรมที่แข็งแรงอยู่แล้ว และส่วนใหญ่จะถูกสอนในโรงเรียน แต่บ้านเราไม่มีเลย หรืออาจจะต้องบอกว่าเคยมี รุ่นพี่ของผมท่านหนึ่ง จัดค่ายเยาวชน พาไปแคมป์ ไปพายเรือ แล้วเขาจะใช้รุ่นพี่มาสอนรุ่นน้อง แต่มันหายไปหลายสิบปีแล้ว”
“ผมยกตัวอย่างที่ไม่ดีให้ฟังเรื่องหนึ่ง คุณจะเขียนหรือไม่เขียนก็ได้ ผมเคยไปแคมป์ที่อุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่ง สักพักหนึ่งก็มีรถบัสมาจอด 3 คัน มีเด็กหนุ่มสาวลากกระเป๋าเดินเรียงออกมาเป็นร้อยคนเลยนะ เดี๋ยวก็ตีกลองร้องเพลง ประกาศออกไมโครโฟน คนอื่นเขาแทบเก็บเต๊นท์หนีกันหมด เพราะมันเสียงดังมาก เป็นคณะจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่บอกว่าขออนุญาตมาแล้ว แต่ขออนุญาตก็ไม่เกี่ยวว่าเขาจะสามารถเสียงดังได้นะ เขาอนุญาตให้มาใช้พื้นที่เฉย ๆ”
“สุดท้ายผมก็เดินไปถามอาจารย์ท่านหนึ่งว่านี่ทำอะไรกันครับ เบาเสียงหน่อยได้ไหม อาจารย์บอกว่านี่เป็นวิชา Outdoor ของมหาวิทยาลัย แต่มาถึงใช้เครื่องขยายเสียง เปิดเพลง เล่นเกม นึกดูสิ กิจกรรมของมหาวิทยาลัย แต่คุณไปจัดในอุทยานแห่งชาติ คุณสอนวิชา Outdoor แบบนี้แล้วเด็กจะเข้าใจอะไร ตั้งแต่วันนั้นมาผมก็คิดมาตลอดว่าบ้านเราต้องมีการสอน Outdoor Education ที่ถูกต้องเสียที”
จากนั้นเราถามพี่งบว่า นอกเหนือจากการเป็นที่ปรึกษาที่ดอยภูคาแล้ว เขาเคยมีโอกาสไปบรรยายเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ให้กับทางองค์กร หรือมหาวิทยาลัยอื่น ๆ บ้างไหม
“ยังครับ เพราะไม่ค่อยมีใครฟัง” เขาตอบ
“เคยพูดแล้วแต่ไม่ค่อยมีใครฟัง เพราะคนมักจะเชื่อว่าทำไม่ได้ คนมักจะเชื่อว่าเปลี่ยนไม่ได้หรอก คนมักจะเชื่อว่าอุทยานเขาไม่ทำหรอก ซึ่งก็ไม่มีใครทำจนกระทั่งมาเจอที่ดอยภูคา ผมถึงชื่นชมทีมภูคามาก”
“บทบาทของมูลนิธิธรรมชาติไม่จำกัด นั้นเป็นแค่อาสาสมัคร เราตั้งเป็นมูลนิธิ ชื่อธรรมชาติไม่จำกัด เพราะเราตั้งใจและมีความเชื่อว่าเราสามารถใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้โดยที่ธรรมชาติไม่หมดไป ไม่มีข้อจำกัด ถ้าเราใช้มันได้ถูกต้อง เราทำที่แม่เงาเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าชาวบ้านพาคนเดินป่า ต้นไม้ไม่ต้องถูกตัดสักต้นก็สร้างรายได้ได้เช่นกัน”
ห้องเรียนภู1700 อุทยานแห่งชาติดอยภูคา
“ภู1700 เป็นเส้นทางเดินป่าที่ง่าย แต่ไม่ใช่ใครอยากจะมาเดินก็เดินได้เลย ต้องสมัครเข้าโรงเรียนก่อน มาเรียนรู้ว่าสิ่งที่ถูกต้องในการไปเดินป่า หรือ Leave no trace 7 ข้อ ไม่ทิ้งขยะ ไม่ส่งเสียงดัง ไม่รบกวนสัตว์ป่า ขี้ต้องขุด หรืออะไรทั้งหลาย ต้องรู้จักเส้นทาง ต้องทำการบ้านมาก่อน ต้องเตรียมสิ่งใดบ้าง ต้องมีเสื้อหนาวไหม มีน้ำหรือเปล่า ต้องเตรียมอาหาร ต้องแบกของเองหรือเปล่า”
“บทเรียนของ Outdoor Education จะมี 3 บท 1) เรียนรู้เส้นทาง 2) Leave no trace 3) การจัดกระเป๋า เพราะปัญหาของการเดินป่าอย่างหนึ่งในบ้านเรา คือเส้นทางส่วนใหญ่จะมีลูกหาบ ข้อดีของการมีลูกหาบ คือจะมีรายได้กระจายสู่ชาวบ้าน แต่ข้อเสียคือคนไปเดินป่าเอาของไปไม่บันยะบันยัง เพื่อนผมเคยไปโมโกจู เจอลูกหาบคนหนึ่งแบกลังใหญ่มาก เปิดมาเป็นจานดาวเทียม อาจจะพกไปดูบอลด้วย การเอาของไปไม่บันยะบันยัง สิ่งที่ตามมาคือขยะ ของไม่จำเป็นก็แกะทิ้ง สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหามาก”
“เพราะฉะนั้นเส้นทางที่เราเดินที่ภู1700 จำไว้ว่าคุณต้องแบกของเอง บทเรียนข้อที่ 3 คือคุณต้องจัดของให้พอดี รู้จักจัดของ ของที่จำเป็นต้องมี ของไม่จำเป็นต้องไม่เอาไป เพื่อให้ขยะมันน้อยที่สุด นักท่องเที่ยวควรจะต้องเรียนวิชาเดินป่าเบื้องต้น เมื่อรู้จักการเตรียมตัว รู้จักวัฒนธรรมการเดินป่าที่ดีแล้ว ก็ค่อยขยับไปเรียนรู้ในเรื่องของเส้นทางที่ยากขึ้น ระวังอันตรายมากขึ้น”
ก่อนเราจะลาพี่งบ เพื่อติดต่อขอสมัครไปเป็นนักเรียนรุ่นที่ 4 ของโรงเรียนนักเดินป่า อุทยานแห่งชาติดอยภูคา (การสัมภาษณ์มีขึ้นก่อนเดินทางไปเรียน เรียนแล้วได้อะไร อ่านประสบการณ์ที่พวกเราได้รับกลับมาได้ที่นี่) เราถามพี่งบว่า นอกจากโรงเรียนนักเดินป่า อุทยานแห่งชาติดอยภูคา โมเดลนี้มีโอกาสขยายไปยังอุทยานอื่น ๆ ได้อีกไหม
“ผมอยากให้เกิด” เขาตอบ
“คุณถามตรงประเด็นมากเลย ถ้าถามผมว่าโจทย์ต่อไปหลังจากภูคา ผมว่ามันควรจะมีโรงเรียนแบบนี้ใกล้ ๆ เมืองใหญ่ ทุกวันนี้เราอยู่ในเมือง เราจะไปที่ไหน ไม่มีเส้นทางเดินป่า น้อยมาก มันควรจะมีเส้นทางเดินป่าที่มากกว่านี้ อุทยานเขาเปิดเส้นทางไม่ได้ด้วยปัญหาที่บอกไป แต่ถ้ามีการจัดการแบบนี้ ที่เขาใหญ่ ที่ลพบุรี ที่เพชรบุรี ที่ราชบุรี มีหมดเลย ถ้าเกิดขึ้นก็จะดี แต่ความคิดเห็นของผม ผมไม่อยากให้รีบ ผมอยากให้ที่น่านประสบความสำเร็จแล้วมีรูปแบบที่ชัดเจนก่อน ถ้าคนจะก๊อปปี้ ขอให้ภาพเดิมชัดเจนก่อน ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวจะก๊อปปี้ไปผิด ๆ”
EXPLORERS: เฟี้ยต, บาส, ต้น
PHOTOGRAPHER: ศุภกร ศรีสกุล
ชวนคุย: เฟี้ยต, บาส