เดินเล่น สัมผัสธรรมชาติ สามอารมณ์ สามรูปแบบในป่าผืนเดียวกัน ที่ ป่าพรุแม่รำพึง พื้นที่ชุ่มน้ำสองพันไร่ที่ชาวบางสะพาน ช่วยกันพิทักษ์เอาไว้นานกว่า 20 ปี
เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นบ้านของนกอพยพจากไซบีเรีย และเป็นทั้งแหล่งผลิตแพลงก์ตอนที่เสมือนโรงอาหารขนาดใหญ่ให้กับลูกปลาทูในอ่าวไทย ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือ “ป่าพรุแม่รำพึง” พื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญอีกแหล่งของไทย และควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ตลอดกาล
ป่าพรุคืออะไร
หากอธิบายให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ ก็คือ คำว่า “พรุ” นั้นหมายถึงพื้นที่ชุ่มชื่นมีน้ำแช่ขังมาก ซึ่งเป็นภาษาของชาวบ้านทางภาคใต้ใช้เรียกกัน พื้นดินของป่าพรุหากย่ำลงไปจะให้ความรู้สึกนุ่ม หยุ่น เนื่องจากการทับถมกันเป็นจำนวนมากของซากอินทรียวัตถุต่าง ๆ ที่ยังย่อยสลายไม่หมด ซึ่งหมายความว่าการที่มีอินทรียวัตถุอยู่มากนั้น จึงทำให้ป่าพรุกลายเป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ชั้นดีและมีแร่ธาตุจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ มากมาย จึงไม่แปลกเลยที่เราสามารถพบเห็นความหลากหลายทางชีวภาพรวมถึงสัตว์ป่าและพรรณพืช หายากใกล้สูญพันธุ์ได้บางชนิดที่ป่าลักษณะนี้
นั่นหมายความว่าหากป่าพรุถูกทำลายลงไป สัตว์ป่าก็ไม่มีแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ระบบนิเวศน์เกิดความแปรปรวนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะป่าพรุแม่รำพึง ที่เป็นแหล่งผลิตแพลงก์ตอนขนาดใหญ่ให้กับสัตว์ทะเล และเป็นอาหารให้กับลูกปลาทูในธรรมชาติได้อย่างดี เมื่อมีความอุดมสมบูรณ์สูงจึงทำให้ผืนทะเลบริเวณนี้เป็นแหล่งวางไข่ของปลาทูที่หนาแน่นที่สุดในอ่าวไทย
พรุแม่รำพึง
พวกเรา Explorers Club ได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยือนสถานที่ที่เรียกได้ว่ามีความสำคัญกับระบบนิเวศน์ไม่แพ้ที่อื่นเลยก็ว่าได้ ป่าพรุแม่รำพึงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่อีกแห่งของประเทศไทยอยู่ที่ ตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ส่วนหนึ่งของป่าได้รับการอนุรักษ์ไว้ด้วยชาวบ้าน มีพี่วิทูรย์ บัวโรย เป็นแกนนำจัดตั้ง “กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง” ขึ้น โดยมีชาวบ้านเป็นอาสาสมัคร และจิตอาสาคอยเป็นหูเป็นตาสอดส่องความเรียบร้อย
นอกเหนือจากพืชพันธุ์และสัตว์ป่า กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงยังไปครอบคลุมการดูแลสิ่งแวดล้อมตามชายฝั่งทะเลอีกด้วย อย่างวาฬเกยตื้นชาวบ้านก็เคยช่วยกันมาแล้ว พี่วิทูรย์ เล่าให้พวกเราฟังอย่างภูมิใจ
ความพิเศษของผืนป่าที่นี่คือคนทั่วไปสามารถเข้ามาเดินเล่นศึกษาธรรมชาติกันได้อย่างสบาย ๆ เพียงแต่ติดต่อประสานงานกับชาวบ้านให้ทราบก่อนเพื่อจะได้จัดสรรคนนำทางอำนวยความสะดวก ในการเดินชมความงามของธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ ถ้าหากเราเดินดุ่ม ๆ เข้าไปมีสิทธิ์หลงแน่นอน เพราะไม่มีเส้นทางเดินที่ชัดเจนมากนัก ต้องอาศัยความชำนาญจากคนในพื้นที่นำทางไป
เดินป่าสามแบบ
ลักษณะโดยรวมของป่าที่นี่จากคำบอกเล่าของวิทูรย์ จะแบ่งออกหลัก ๆ เป็นสามแบบ หากเราเดินเข้าไปจะพบกับลักษณะป่าโปร่งมี “ต้นเสม็ดขาว” ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ต้นเสม็ดขาวจัดได้ว่าเป็นอีกหนึ่งพืชพันธุ์ที่สุดวิเศษมีประโยชน์หลายอย่างชาวบ้านได้นำใบออกมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยผสมลงในสบู่ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน ถ้าหากใครมาที่นี่ก็สามารถอุดหนุนติดไม้ติดมือกลับไปได้
ป่าแบบที่สองจะเป็นลักษณะของ “ป่าจาก” บริเวณนี้ดินจะเริ่มนิ่มจนไปถึงเป็นดินเลนแนะนำว่าหากมาเที่ยวที่นี่ ควรใส่รองเท้าผ้าใบที่สามารถลุยได้เละได้มาเลย ไม่แนะนำรองเท้าแตะเพื่อป้องกันการทิ่มตำจากเศษกิ่งไม้ที่อยู่ดินในเลนและทางเดิน ใบจากของที่นี่ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นใบจากคุณภาพดีอีกที่หนึ่งของประเทศไทย
ป่าแบบที่สามจะเป็น “ป่ากระจูด” เป็นลักษณะโล่งชุ่มน้ำมีต้นกระจูดขึ้นหนาแน่น ต้นกระจูดในประเทศไทยบางพื้นที่เราจะพบว่านิยมเอามาทำเครื่องจักรสานกัน ที่นี่เป็นที่พักของนกอพยพจากไซบีเรียในตั้งแต่ช่วงมิถุนายน บริเวณนี้ตอนเย็นแสงจะสวยเป็นพิเศษ หากใครชอบดูนก ดูธรรมชาติ ป่าพรุแม่รำพึงไม่ทำให้ผิดหวังแน่นอน
มาบางสะพานไม่ควรพลาด
หากคุณมีแผนการเดินทางมาประจวบฯ เราอยากแนะนำให้คุณปักหมุดมาที่นี่ มาลองสัมผัสการเดินป่าแบบดิบ ๆ สวย ๆ สามแบบสามอารมณ์ ที่ไม่ต้องพักแรม เดินง่าย และรถเข้าถึงได้ เพียงแค่คุณเตรียมชุดและรองเท้ามาเผื่อเลอะสักหน่อยรับรองว่าคุณจะได้ประสบการณ์สุดพิเศษกลับไปแน่นอน
รักษ์ทุกคน
“ป่าพรุแม่รำพึง” ดูเหมือนเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่บอกกับโลกนี้ได้อย่างเต็มปากว่า “การอนุรักษ์ธรรมชาติ” ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เรื่องของเจ้าหน้าที่เพียงเท่านั้น แต่เราในฐานะประชาชนสามัญชนทั่วไป ทุกคนก็สามารถทำหน้าที่อนุรักษ์ได้เช่นกัน เริ่มรักษาและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมในวันที่ยังคงมีอยู่ดีกว่ามานั่งโหยหากันในวันที่ไม่มี เมื่อถึงวันนั้นทุกอย่างก็สายไปสร้างใหม่ก็ไม่ได้แล้ว….
ติดต่อ
หากสนใจมาเยี่ยมชมป่าพรุแม่รำพึงสามารถติดต่อ พี่วิทูรย์ บัวโรย โทร.080-6177-702 และขอแนะนำร้านข้าวตามสั่งป้าสาลี่ อร่อย และแม่ค้าอัธยาศัยดี บางจังหวะโชคดีมีน้ำพริกผักสดแถมให้ด้วย พิกัดคือ หากคุณออกจากถนนป่าพลุให้เลี้ยวซ้าย ไม่ไกลมากนักจะเห็นร้านข้าวอยู่ขวามือ นั่นแหละร้านป้าสาลี่!
EXPLORERS: ตู่, บาส, เฟี้ยต
AUTHOR: บดินทร์ บำบัดนรภัย
PHOTOGRAPHER: นวภัทร ดัสดุลย์
GRAPHIC DESIGNER: ธีรภัทร์ อินทจักร