กว่าจะมาเป็นเป้น้ำหนักเบาหนึ่งใบจาก Tropical Rainforest เป้แบรนด์ไทยของสถาปนิกรักอิสระที่มีคำพูดติดปากว่า “เบาได้เบา” ตัดเย็บตามสรีระของผู้ใช้งานเป็นหลัก เลือกแบบ เลือกสี เลือกลายได้ตามชอบ
หากคุณชื่นชอบการเดินป่า ไม่ว่าจะระยะสั้นหรือระยะไกล อุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ “เป้” กระเป๋าที่เอาไว้บรรจุสัมภาระในการเดินทาง เพราะการเดินป่านั้นเป็นกิจกรรมกลางแจ้งอย่างหนึ่งที่เป้จะต้องอยู่ติดหลังเราเป็นส่วนใหญ่ หรือเกือบตลอดเวลา ฉะนั้นการเลือกใช้เป้จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก หากคุณเลือกใช้ผิด บอกเลย “ชีวิตเปลี่ยน”
ตลอดระยะเวลา 9 ปี ที่ Tropical Rainforest เป้น้ำหนักเบาอยู่ติดหลังนักเดินทางทั้งมือเก่ามือใหม่นั้น เริ่มต้นจากคนๆ เดียวที่อยากออกนอกระบบ มาทำในสิ่งที่หลายคนคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ บ้านและสวน Explorers Club มีโอกาสเข้ามาบุกป่าฝนเมืองร้อนแห่งสามพราน นัดหมายกับ คิม – ฐานันดร กิจหว่าง เจ้าของสวนป่าเมืองร้อนที่ว่า มาดูการทำงานและการผลิตเป้น้ำหนักเบากันถึงที่
ในวันนั้นคิมสาธิตขั้นตอนการทำให้เราชมอย่างละเอียด เริ่มจากเลือกแบบเป้ที่จะใช้ผลิต นำแบบมาวางบนผ้า ตัดตามรอย จากนั้นนำผ้าที่ตัดเป็นชิ้นแล้วมาเย็บประกอบเข้าด้วยกัน ก่อนเย็บติดซิปกันน้ำเข้า แล้วต่อด้วยเก็บขอบด้านในด้วยจักรกุ๊น แค่นี้ก็เรียบร้อย แม้กระบวนการทำอาจไม่ใช่เรื่องซับซ้อน แต่ความน่าสนใจอยู่ที่เบื้องลึกเบื้องหลังก่อนจะมาเป็นเป้ Ultralight Backpacking แบรนด์ไทยซึ่งปัจจุบันคิมยังคงทำเองคนเดียวทั้งหมดทุกกระบวนการอยู่เหมือนเคย
Tropical Rainforest เริ่มต้นจากความรักอิสระ
“ผมเรียนจบสถาปัตย์ฯ จบมาก็ทำงานกินเงินเดือนสถาปนิกเหมือนคนอื่นๆ เขา” คิมเล่าย้อนวันวานให้ฟังถึงเมื่อครั้งเรียนจบใหม่ๆ ชีวิตของคิมไม่มีอะไรมากไปกว่าทำงาน เที่ยว ทำงาน วนอยู่แบบนี้หลายปี เขาลองทุกอย่างไม่เว้นกระทั่งการเรียนดำน้ำ
“ทำงานอยู่หลายปีจนเริ่มคิดว่า ชีวิตไม่อิสระ เริ่มคิดแล้วว่าเราต้องการอะไรกันแน่กับคำว่า อิสระ วันหนึ่งมีเพื่อนมาชวนไปเดินป่าที่สันหนอกวัว พอเราได้ออกไปเห็นธรรมชาติ เห็นวิธีการเดินเข้าไปถึง เห็นความงดงามของมัน ผมว่าสิ่งนี้คือ อิสระที่ตามหา และด้วยใจที่อยากออกนอกระบบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มันกับกลายเป็นแรงกระตุ้นให้ค้นหาคำตอบว่า ถ้าออกมาแล้วจะทำอะไรกิน”
“ในที่สุดพอ กลับจากสันหนอกวัว ผมก็เริ่มคิดแบบนักธุรกิจเลย เริ่มวางแผน และลงมือทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ก็ได้แนวคิดแบบเข้าข้างตัวเองว่าตอนปี 2014 แบรนด์สินค้าสำหรับใช้กลางแจ้งมันยังไม่หลากหลายเท่านี้ หรืออาจจะมีเยอะก็ได้ แต่ผมไม่รู้ ก็เลยคิดอยากทำอุปกรณ์ที่ใช้กลางแจ้งแบบที่มีน้ำหนักเบา สินค้าตัวแรกของผมก็จะเป็นเปล แล้วโลโก้แบรนด์ Tropical Rainforest ที่เห็นเป็นยอดเขา นั่นแหละครับ สันหนอกวัว”
ลงมือทำทั้งที่ไม่เป็น
“ผมออกสินค้าตัวแรกเป็นเปล ทั้งที่เย็บผ้าไม่เป็น ผมใช้วิธีซื้อจักรเย็บผ้าแล้วนำไปตั้งไว้ที่บ้านของช่างเย็บผ้าที่ผมไปจ้างเขา ก็ใช้ดูจาก YouTube บ้างว่าต้องใช้จักรรุ่นไหนสำหรับเย็บเปล วิธีการเย็บๆ ยังไงก็ฝึกและเรียนรู้จาก YouTube”
“สินค้ารุ่นแรกๆ ที่ออกมาก็ขายเพื่อนๆ ครับ ได้เพื่อนๆ ช่วย แต่พอนานไป เราต้องคิดแล้วว่าถ้าเพื่อนไม่ซื้อ แล้วใครจะซื้อเรา เพื่อนอาจซื้อเพราะเกรงใจ แต่คนอื่นๆ ล่ะ เราขายคนอื่นไม่ได้เลย”
“เงินทุนก็คือเงินเดือนที่ได้จากงานประจำ นำมาซื้อวัสดุ ซื้อจักร ผมเริ่มแย่แล้วว่าจะไปยังไงต่อ ใจอยากทำต่อไม่หยุด ที่ผมไม่ยอมหยุดที่จะทำเพราะว่าผมชอบในสิ่งที่ผมทำ และผมอยากออกนอกระบบเต็มทีแล้ว ก็เริ่มศึกษาจากคนอื่นก็ลองหาข้อมูลดูว่าอุปกรณ์เดินป่าในโลกใบนี้มันมีอะไรบ้าง จนไปเจอกับ Ultralight backpacking เห็นทางสว่าง”
“ผมบอกกับตัวเองว่า ‘นี่แหละทางผม’ เพราะเวลาผมเดินป่าผมจะเป็นคนที่ขนของไปน้อย แบกน้อยๆ และในทางธุรกิจถ้าเราไปทำในสิ่งที่หลายๆ คนทำอยู่ เราก็ไปแข่งกับเขา ผมเลยเลือกที่จะทำเป้น้ำหนักเบา ไม่ต้องไปแข่งกับคนอื่นเยอะ ในตลาดมีคู่แข่งน้อย”
วันที่ออกนอกระบบ
“มันมีสัญญาณบางอย่างที่บอกว่าถึงเวลาแล้ว ลาออกเถอะ จะเห็นได้ว่าผมเริ่มจากเย็บไม่เป็นต้องซื้อจักรไปให้คนอื่นเย็บให้ แต่การพึ่งจมูกคนอื่นหายใจมันจะทำให้เราตาย ถ้าเขาไม่ช่วยเราแล้ว ผมเลยเลือกที่จะฝึกเย็บผ้าเองที่บ้านหลังเลิกงาน”
“ต้องบอกก่อนว่า ผมจะไม่กระโดดออกมาจากงานประจำถ้างานที่รักมันยังไม่แข็งแรง ย้อนกลับไปที่สัญญานของการลาออกคือ รายได้ที่เข้ามาจากการขายกระเป๋า ขายเป้ สองสามเดือนได้จับเงินแสนซึ่งมากกว่าเงินเดือนอีก ไม่ออกวันนี้แล้วจะให้ออกวันไหน”
ทำไมต้อง Ultralight Backpacking
“เพราะชอบเดินป่า แล้วการแบกหรือขนอะไรน้อยๆ มันเป็นสิ่งผมใฝ่หามาโดยตลอด เชื่อไหมว่าเวลาผมออกทริปเดินป่า น้ำหนักรวมที่ผมแบกอยู่ที่ประมาณ 5 – 6 กิโลกรัมเอง เห็นแบบนี้ของผมครบนะครับ อีกอย่างหนึ่งคือผมอยากทำงานทำมือ ทำงาน OTOP ให้มีมูลค่าเทียบเท่าต่างชาติ และไม่เคยคิดแข่งขันในระบบอุตสาหกรรม”
“เป้ Ultralight มันจะตัดความยุ่งยากในการออกแบบออกไปเยอะพอสมควร เพื่อให้น้ำตัวเป้เบา ผมชอบการลดทอนบางอย่างของมัน และอาจจะดูส่วนทางกับความเป็นจริงในแง่ของการแบกของเข้าป่าว่าเป้จะต้องมีซับพอร์ตหลังในการรับน้ำหนัก”
“จริงๆ แล้วถ้าการแบกของเข้าป่าแบบเต็มระบบก็ไม่ควรเกิน 6 กิโลกรัม ซึ่งการแบกด้วยเป้แบบนี้มันไม่ทำให้หลังมีปัญหาแน่นอน ข้อสำคัญอย่างหนึ่งของการเดินเข้าป่า เราต้องคิดก่อนว่าอะไรสำคัญและไม่สำคัญในชีวิต มันทำให้เรารู้จักเลือกของที่จำเป็นจริงๆ ต่อการดำรงชีพในป่าได้โดยไม่เดือดร้อน”
“การเดินป่าด้วยเป้และอุปกรณ์ดำรงชีพที่มีน้ำหนักเบา ปัจจุบันผมมองว่ามันเป็นสไตล์การใช้ชีวิตและการท่องเที่ยวแบบหนึ่ง และยังเชื่ออีกว่าวันหนึ่งคนจะหันมานิยมเป้น้ำหนักเบา เอาของเข้าป่าน้อยๆ อย่างที่ผมชอบพูดติดปากเสมอๆ ว่า เบาได้เบา”
อนาคตของป่าฝนเมืองร้อนแห่งสามพราน
“ก่อนจะไปถึงอนาคต ผมจะบอกก่อนว่า ทุกครั้งที่ไปเดินป่าแล้วพบเพื่อนร่วมเดินที่เป็นเด็กๆ รุ่นน้องผมมักจะเข้าไปพูดคุยกับเขา ว่าเขาคิดยังไงเกี่ยวกับการเดินป่า คิดยังไงกับการใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติในรูปแบบนี้มันทำให้ผมได้รับรู้ถึงสิ่งใหม่ๆ ความคิดใหม่ของพวกเขาเหล่านั้น สิ่งเหล่านี้มันจะเป็นข้อมูลในการออกแบบชิ้นงานของเราในภายภาคหน้า”
“ผมเป็นคนที่ทำงานล่วงหน้า วันนี้ตั้งแต่มี Tropical Rainforest จากยอดขายและชุมชนคนชอบเบา มันทำให้ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงไปเยอะมากในการเลือกซื้อเลือกใช้ของ พูดง่ายๆ ว่าผู้ซื้อเริ่มเปิดใจ มันอาจจะเป็นจุดเล็กๆ ในสังคมคนเดินป่า เชื่อว่าวันหนึ่งมันจะโตกว่านี้ได้ ทุกวันนี้ผมต้องปรับแบบ ปรับความคิดอยู่เรื่อย เราจะนิ่งไม่ได้ วัสดุที่ใช้งานในตลาดมันปรับเปลี่ยนทุกวัน แต่เราก็มั่นใจในความไวของเราที่จะช่วงชิงสิ่งต่างๆ จากคู่แข่งได้เร็วกว่า”
“และยังเชื่ออีกว่าแบรนด์สินค้าในตลาดโลกต่อไปมันจะไม่ใหญ่อีกแล้ว มันจะถูกลดขนาดลง อย่างค่ายเพลงจากใหญ่ๆ ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นค่ายเล็กๆ เป็นกลุ่มๆ ใครชอบคนไหนก็ตามคนนั้น หมดสมัยแล้วที่จะทำอะไรใหญ่ๆ”
อยากได้เป้ต้องสั่งตัด
“อยากได้ต้องสั่งตัดเท่านั้น วัดตัว เหมือนตัดเสื้อผ้า จากนั้นก็เลือกสี แบบ ลาย จ่ายเงินแล้วรอที่รับที่บ้าน ไม่นานเกินรอครับ อย่างที่บอกผมทำงานคนเดียว ออกแบบ ตัดเย็บ จึงผลิตได้ไม่มาก”
“หลายคนบอกว่าทำไมไม่ขยาย บอกตรงนี้เลยครับ แผนการขยายมี แต่ผมยังมีความสุขกับการตื่นเช้ามานั่งละเลียดกาแฟอยู่ แล้วรายได้ที่เข้ามาก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตลำบาก ตราบใดที่ความสุขมี แล้วฐานของธุรกิจเรายังไม่มั่นคง ก็ทำแบบนี้ไปก่อนครับ”
คิม – ฐานันดร กิจหว่าง
FB: Tropical Rainforest
EXPLORERS: คิม, ตู่, โก๋
AUTHOR: ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
PHOTOGRAPHER: สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
GRAPHIC DESIGNER: ธีรภัทร์ อินทจักร