Type and press Enter.

กานต์ สมานวรวงศ์ ช่างภาพผู้เล่าเรื่องทะเลผ่านภาพถ่าย ‘ธรรมชาติกับเศษขยะ’

กานต์ สมานวรวงศ์

“เราเก็บขยะทุกชิ้นในธรรมชาติไม่ได้ แต่เราหยุดทิ้งขยะได้ทุกชิ้น” เป็นหนึ่งในประโยคที่ กานต์ สมานวรวงศ์ เขียนและปักหมุดเอาไว้บนเพจ It Doesn’t Belong Here ที่ตัวเขาเป็นผู้ริเริ่มและชักชวนคนอื่น ๆ ให้ลุกมาร่วมมือกันหยิบขยะขึ้นมาถ่ายรูปคู่กับฉากหลังที่เป็นธรรมชาติอันสวยงาม แล้วอัพโหลดลงในสื่อสังคมออนไลน์ของตัวเองพร้อมใส่ #ItDoesntBelongHere ก่อนจะนำมันไปทิ้งในที่ที่ควรอยู่

กานต์ สมานวรวงศ์ เป็นช่างภาพและนักดำน้ำเจ้าของเพจ LightCulture ที่ก้าวผ่านความ ‘กลัวทะเล’ มาเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้คนตระหนักความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยใช้ความถนัดในวิชาชีพช่างภาพ และการดำน้ำที่กลับกลายมาเป็นงานอดิเรก ซึ่งผ่านมากว่า 300 Dives หลังจาก 7 ปีก่อนเขาตัดสินใจไปเรียนดำน้ำด้วยสองเหตุผลหลัก

กานต์ สมานวรวงศ์

หนึ่ง เพราะอกหัก

สอง เพราะอยากเอาชนะความกลัวที่เป็นปมในใจมาตั้งแต่เด็ก

เราจึงชวนกานต์มาร่วมปันประสบการณ์จากท้องทะเลที่เขาพบว่ามีทั้งด้านสว่างและด้านมืด ซึ่งทำให้เขาผลักดันโปรเจ็กต์ It Doesn’t Belong Here มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนหันมาใส่ใจและหยุดทิ้งขยะเรี่ยราด จนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ถึงแม้จะไม่รู้คำตอบแน่ชัดว่า ภาพถ่ายระหว่างขยะที่ไม่น่ามอง ซึ่งขัดแย้งกับธรรมชาติอันสวยงาม ที่เขาและผู้ร่วมอุดมการณ์ทำอยู่นี้จะช่วยโลกได้มากน้อยเพียงใด แต่กานต์บอกว่า ก็ยังดีกว่านั่งอยู่เฉย ๆ แล้วปล่อยให้ปัญหานี้เกิดขึ้นโดยไม่สนใจใยดีแน่นอน

ตลอดการพูดคุยกับกานต์ ทำให้เราเผลอแอบคิดในใจ ในเมื่อโลกต้องการคนแบบนี้เยอะ ๆ บางที การอกหักและความกลัวที่ผลักเขาลงทะเล มันก็มีแง่ดีกับสิ่งแวดล้อมเหมือนกันนะ

กานต์ สมานวรวงศ์

“ย้อนกลับไปราว 5-6 ปี ก่อน เมื่อก่อนนั้นจริง ๆ แล้วผมกลัวทะเลด้วยซ้ำ แต่ทุก ๆ ปีผมจะตั้ง Challenge กับตัวเองว่าอยากลองทำอะไรใหม่ ๆ แล้วปีนั้นก็เลยตัดสินใจว่าเราจะลองเอาชนะความกลัวทะเลของเราโดยการเรียนดำน้ำ ไปรู้จักทะเลให้มากขึ้น เพราะโดยส่วนตัวรู้สึกว่าเรามักจะกลัวสิ่งที่เราไม่รู้จัก กลัวพวกสิ่งที่เรามองไม่เห็น ซึ่งพอไปเรียนแล้วมันก็ได้ผลจริง ๆ”

“ความกลัวนี้มันเป็นมาตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ เคยเล่นอยู่ริมทะเลแล้วโดนอะไรก็ไม่รู้กัดเท้า (ตอนนี้ก็ยังมีรอยแผลเป็นจาง ๆ อยู่) มันเลยเป็นปม แล้วหลังจากนั้นก็เลยไม่ค่อยชอบทะเลบางแห่งที่ดูไม่สะอาด แล้วถ้ายิ่งมืด ๆ เราก็ยิ่งกลัวว่าตรงนั้นมีอะไรรึเปล่า เหมือนคนกลัวความมืดทั่ว ๆ ไป ทุกวันนี้ตอนเรา snorkeling แล้วก้มหน้าลงไปมองที่มืด ๆ เราก็ยังกลัวอยู่บ้าง แต่เมื่อไรก็ตามที่เราดำลงไปแล้วเห็นพื้นทะเล เห็นปะการังสวย ๆ เห็นปลา มันเอาชนะความกลัวตรงนั้นได้จนผ่านมาถึงทุกวันนี้ กลัวทะเลน้อยลง อาจเพราะเรารู้จักมันมากขึ้นด้วยมากกว่า”

“ทุกวันนี้ทุกครั้งเวลาลงน้ำมันจะเป็นการเตือนสติตัวเราเอง ได้ให้เวลาอยู่กับตัวเอง เพราะเราต้องมีสติว่าอุปกรณ์เราพร้อมไหม คอยเช็คอากาศว่าเป็นอย่างไร มันก็เลยทำให้เรามีสมาธิ ได้อยู่กับตัวเองเยอะ ไม่ค่อยได้คิดมาก ไม่ได้กลัวอะไรมาก”

กานต์ สมานวรวงศ์
กานต์ สมานวรวงศ์

“Priority จริง ๆ ก็คือ หนึ่ง อยากไปในที่ที่ไม่เคยไป หรือที่ที่เราจะอยากไปที่สุด สอง ก็คือเราอยากไปดูตัวอะไร อย่างที่โลซิน ผมก็ไปมา 4 รอบแล้ว เราไปเพราะเราอยากดูปะการังเขากวาง อยากดูฉลามวาฬ อยากอยู่สงบ ๆ กลางทะเลที่ไม่มีสัญญาณ นั่นก็เป็น priority ที่สำคัญสำหรับเรา”

ผมชอบที่ Raja Ampat ที่อินโดนีเซีย เป็น dive side อันดับต้น ๆ ของโลก ปะการังเขาสมบูรณ์และหลากหลายมาก แต่ว่าตอนที่ไป Raja Ampat มันก็มีบาง dive side ที่ใกล้ชุมชนแล้วเจอขยะเยอะ ๆ มันยิ่งทำให้เราเห็นความคอนทราสต์ของแหล่งดำน้ำอันดับต้น ๆ ของโลกที่สวยมาก ๆ กับที่ที่อยู่ใกล้ชุมชนนี่คือเละมาก ๆ (กานต์บอกว่า ระหว่างดำน้ำอยู่ ก็เคยเจอขยะร่วงจากผิวน้ำเหมือนกับสายฝนมาแล้ว) ดีสุดหรือแย่สุดได้เจอที่นี่หมด ก็เลยเป็นที่หนึ่งที่ประทับใจ”

กานต์ สมานวรวงศ์

“ส่วนอีกที่หนึ่ง มันชื่อเกาะ Reunion ถ้าชื่อสำเนียงฝรั่งเศสมันจะชื่อ เรอูว์นียง อยู่ข้าง ๆ Madagascar อันนั้นไม่ได้ scuba ลงไป แต่ไปดู Humpback whale (วาฬหลังค่อม) ที่มันจะมาเลี้ยงลูกอยู่แถวนั้น แล้วก็ได้เจอ วาฬกระโดด ได้ดำน้ำกับโลมา จริง ๆ สิ่งแวดล้อมบนบกเขาก็สวยใช้ได้เลย มีป่า มีภูเขา มีภูเขาไฟครบ ก็เป็นทริปที่ประทับใจเหมือนกัน คือไม่เคยคิดว่าจะได้ดำน้ำกับโลมา เพราะว่าส่วนใหญ่มันไม่ค่อยให้คนเข้าใกล้”

กานต์ สมานวรวงศ์

“จริง ๆ ปัญหาขยะนี่ ผมว่าเราทุกคนรับรู้กันมาตั้งหลายปีแล้วนะ แต่จุดที่มัน trigger ผมจริง ๆ คือตอนที่ผมไปดำที่อินโดนีเซียนั่นแหละ มันจะมี dive side หนึ่งที่อยู่ใกล้หมู่บ้าน แล้วระหว่างดำ ขยะมันร่วงมาจากผิวน้ำเหมือนฝนตก เราอาจจะเคยเห็นคลิปใน YouTube ที่ดำน้ำอยู่แล้วขยะร่วงลงมาเรื่อย ๆ แล้วปลาก็กิน มันคือแบบนั้นเลย เพียงแต่ว่าตอนนั้นเราไปอยู่ตรงนั้นจริง ๆ เรารู้สึกว่ามันแย่เกินไปแล้ว หลังจากกลับมาผมก็เลยเริ่มคิดว่าเราจะทำอะไรเพื่อบอกให้คนเขารู้ว่าปัญหามันแย่จริง ๆ มันไม่ใช่แค่เราเห็นใน facebook หรือใน YouTube อย่างเดียวแล้ว ปัญหาพวกนั้นมันเกิดขึ้นจริง ๆ แล้วเกิดขึ้นทั่วโลก เราก็เลยเริ่มพยายามเอาสิ่งที่เราทำได้ ก็คือถ่ายรูป บวกกับการรณรงค์เรื่องขยะใต้ทะเล มาทำโปรเจ็กต์ It Doesn’t Belong Here”

กานต์ สมานวรวงศ์

“จริง ๆ ไอเดียมันเริ่มมาจากใต้ทะเล เพราะผมรู้สึกว่ามันเป็นที่ที่มนุษย์ไม่ได้อยู่ด้วยซ้ำ แต่ว่าขยะเยอะมากเลย แต่สุดท้ายมันก็ต่อยอดมาเป็นทุกที่ทั่วโลกที่ขยะไม่ควรจะอยู่ เวลาผมไปเที่ยวรอบโลก ถ้าเจอตรงไหนที่ผมรู้สึกว่า ตรงนี้มันไม่ควรมีขยะอยู่ เช่น ภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ห่างไกล แต่มีขยะอยู่อย่างนี้ รู้สึกว่ามันไม่เมคเซ้นส์ คอนเซ็ปต์ของมันคือการหยิบขยะที่มันน่าเกลียดตรงนั้น ขึ้นมาถ่ายคู่กับวิวสวย ๆ ที่อยู่ข้างหลัง เพื่อให้เห็นความขัดแย้งกัน”

“ไอเดียเรื่องการหยิบขยะขึ้นมานี้มาจาก เวลาไปเที่ยวเราชอบหยิบดอกไม้สวย ๆ หยิบใบไม้สวย ๆ มาถ่ายคู่กับวิว ถูกไหม มันก็เลยเกิดคำถามว่า แล้วถ้าเกิดขยะมันอยู่ข้าง ๆ ใบไม้ดอกไม้นั้นล่ะ เราจะสนใจมันไหม ผมก็เลยเปลี่ยน แทนที่จะเก็บใบไม้สวย ๆ มาถ่าย แต่หยิบขยะมาถ่ายคู่กันแทน เป็นการตั้งคำถามด้วยแหละว่า เราจะไม่สนใจมันจริง ๆ เหรอ มันอยู่ตรงนี้ ในที่ที่มันไม่ควรอยู่ ก็เลยหยิบขึ้นมาให้เห็นชัด ๆ ไปเลย และฟีดแบ็คที่ได้รับก็ดีกว่าที่คิดอีกนะ”

กานต์ สมานวรวงศ์
กานต์ สมานวรวงศ์

“อย่างตัวผมเอง เมื่อก่อนคนอาจจะคิดว่า คนที่ทำเรื่องสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต้องเป็นนักอนุรักษ์ไหม มันก็ไม่จำเป็น อย่างเราไม่ใช่นักอนุรักษ์ เราก็แค่เป็นคนที่ชอบเที่ยว เราอยากไปเที่ยวที่สวย ๆ แล้วในเมื่อเราอยากไปเที่ยวที่สวย ๆ ทำไมเราไม่ทำให้ที่ตรงนั้น มันสวยไปนาน ๆ ถ้าเกิดเราบอกว่าเรารักษ์โลก เราอาจจะดูโลกสวยเกินไป เราเหมือนเรารักตัวเองด้วยครึ่งหนึ่ง เราอยากให้ตัวเองได้อยู่ในธรรมชาติดี ๆ ตลอด มันก็เลยเป็นกึ่งกลางที่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นนักอนุรักษ์นะ นักถ่ายรูปนะ”

“ถ้าเรารู้สึกว่าเราอยากเอาตัวเองไปอยู่ในที่ที่สิ่งแวดล้อมดี ๆ ธรรมชาติดี ๆ เราก็ควรต้องเริ่มทำอะไรสักอย่างแล้ว ทุกวันนี้คนรอบตัวผมไม่มีใครใช้หลอดพลาสติกแล้ว เหมือนเราทำให้เขาดูก่อนว่า มันทำได้นะ เราอาจจะไม่สามารถเลิกใช้พลาสติกได้ 100% มันเป็นไปได้ยากมาก ๆ แต่อย่างน้อยเราก็ได้ลดลงก็ยังดี เหมือนกลับไปคำถามที่ถามว่า จำเป็นต้องเป็นนักดำน้ำไหม ช่างภาพไหม ถ้าตรงนี้มันก็ทำได้เลยทุกคน มันไม่จำเป็นว่าต้องเป็นช่างภาพหรือนักอนุรักษ์ มันต้องเริ่มจากตัวเองก่อน”

กานต์ สมานวรวงศ์

เมื่อการดำน้ำเฉพาะเวลากลางวัน อาจจะทำให้เราได้พลาดเสน่ห์อะไรไปหลาย ๆ อย่าง ที่ถูกกลืนหายไป สัตว์ทะเลหลายชนิดแอบซ่อนตัวอยู่ในเวลากลางวัน จะออกมาหากินในเวลากลางคืนเท่านั้น สีสันต่าง ๆ ที่เจิดจ้าขึ้นมาในเวลากลางคืนเนื่องจากแสงไฟต่าง ๆ ที่ตกกระทบการดำน้ำในเวลากลางคืนนั้น เป็นเรื่องน่าสนุก น่าตื่นเต้น และท้าทายที่นักดำน้ำควรต้องลองสัมผัส

นาฬิกา Seiko Prospex “NEW BLACK SERIES” Limited Edition: SNE577P ที่กานต์ใส่นั้น จึงเป็นนาฬิกาคู่ใจของเหล่านักดำน้ำ ที่สะท้อนความงดงามของสีสันท้องทะเลยามราตรี ตัวเรือนสุดอมตะอย่าง ทูน่าแคน สีดำสนิท ตกแต่งหน้าปัดด้วยหลักชั่วโมงสีคาราเมล เข็มชั่วโมงสีเทา เข็มนาทีสีส้มอันสะดุดตา สื่อถึงสัญลักษณ์ไฟนำทางของเหล่านักดำน้ำ และเข็มวินาทีสีดำ สวมใส่ด้วยสายยางรุ่นใหม่ ตกแต่งให้อารมณ์แบบสายแอคคอร์เดียน มีเนื้อสัมผัสแบบใหม่เพื่อความสบายในการสวมใส่

กานต์ สมานวรวงศ์

ตัวนาฬิกาขับเคลื่อนด้วยกลไก Solar V157 ที่เก็บพลังงานจากแสงได้ทุกชนิด หากชาร์จเต็มสามารถสำรองพลังงานได้สูงถึง 10 เดือน มาพร้อมความสามารถในการดำน้ำลึก 200 เมตร ผลิตจำนวนจำกัดเพียง 5,000 เรือนทั่วโลก ด้านหลังสลัก Serial No. และประทับตรา Limited Edition

การคุยกับกานต์เป็นส่วนหนึ่งในโปรเจ็กต์ที่บ้านและสวน Explorers Club และ Seiko Thailand ชักชวนนักดำน้ำทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ของเมืองไทย 10 ชีวิต มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์จากการสำรวจท้องทะเลลึกในอีกมุมมอง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างมีจิตสำนึก และชวนชาว Explorers ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพลังขับเคลื่อนเล็ก ๆ ไป Save The Ocean พร้อมกับพวกเขาอีกแรง ในการปกป้องรักษาแนวปะการังใต้ผืนทะเลให้ยังคงงดงามและน่าค้นหาต่อไปหลังจากนี้

กานต์ สมานวรวงศ์

พบกับบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของนักท่องโลกใต้น้ำทั้ง 10 คน ได้ทุกสัปดาห์ทาง Facebook: บ้านและสวน Explorers Club และ National Geographic Thailand

[ EXPLORER ]
กานต์

ภาพถ่ายกานต์: จูน
ชวนคุย: เฟี้ยต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *