Type and press Enter.

นัทยา ชลคดีดำรงกุล “โลกใต้ทะเลเปลี่ยนการดำน้ำจากงานอดิเรกให้มีจุดหมาย”

นัทยา ชลคดีดำรงกุล

บ้านและสวน Explorers Club นัดพบกับ ‘นัท – นัทยา ชลคดีดำรงกุล ’ ที่สระว่ายน้ำของโรงเรียนนานาชาติ เวอร์โซ กรุงเทพฯ ในเช้าวันหนึ่งที่อากาศดีมาก ๆ นอกจากเธอจะมาพร้อมชุดและอุปกรณ์ในการดำน้ำครบครัน ของสำคัญที่เธอไม่ลืมพกติดตัวด้วยอีกหนึ่งชิ้นคือกล้องถ่ายรูป

นัทยา ชลคดีดำรงกุล เป็นนักลงทุน เป็นเจ้าของธุรกิจและหุ้นส่วนร้านอาหารหลาย ๆ แห่ง ส่วนบทบาทของการเป็นช่างภาพใต้น้ำและนักดำน้ำที่เราเห็นเธอเอาจริงเอาจังอย่างมากนั้น เธอบอกว่าแท้จริงแล้วเป็นเพียงงานอดิเรก

แต่เชื่อไหมว่า งานอดิเรกที่พาเธอแบกกล้องตัวใหญ่ลงทะเลมานักต่อนักตลอดช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา สามารถนับได้กว่า 500 ไดฟ์ นอกจากนี้เธอตั้งเป้าหมายในการดำน้ำเอาไว้อย่างน้อยเดือนละ 1-2 ครั้ง เพราะโลกใต้ทะเลสำหรับเธอยังคงมีหลายสิ่งที่อยากออกไปค้นหาอีกมาก

นัทยา ชลคดีดำรงกุล

“เริ่มดำน้ำจริง ๆ คือตอนจะไปเที่ยวมัลดีฟส์ ตอนนั้นคิดว่าเราจะไปประเทศที่มีแผ่นดินน้อยกว่าทะเลอยู่แล้ว แล้วทำไมเราไม่ลองไป Explore ใต้ทะเลดูล่ะ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นการมาดำน้ำ แต่ครั้งแรกที่ลงน้ำทะเลคือการไปสอบ Checkout dive ที่แสมสาร แค่ลงไปแล้วก็รู้สึกว่านี่คืออีกโลกหนึ่งที่เราไม่เคยเห็น แล้วเราก็รู้สึกว่าเรารู้เกี่ยวกับน้ำน้อยมาก แต่ก็สนุกมากเช่นกัน”

“ตอนลงสระว่ายน้ำครั้งแรก ปรากฏว่าการหายใจใต้น้ำมันอึดอัดกว่าที่เราคิด มันหายใจไม่สะดวก แล้วมันก็เป็นโลกที่เราไม่รู้จักด้วย ขนาดอยู่ในสระว่ายน้ำที่ยังไม่มีสิ่งมีชีวิตเรายังกลัวเลย แต่จริง ๆ คือไม่กลัวอะไรมากไปกว่าว่าตัวเองจะอยู่ได้ไหม เพราะมันรู้สึกกังวล เหมือนคนหายใจไม่ออก แต่พอเราก้าวผ่านตรงนั้นไปได้ เริ่มหายใจได้ดีขึ้น ความรู้สึกกลัวทั้งหมดก็หายไปเอง”

นัทยา ชลคดีดำรงกุล

“ตอนนี้การดำน้ำกลายเป็นแพสชั่นสำหรับตัวเราไปแล้ว เพราะการได้ไปอยู่ในทะเล หรืออยู่บนเรือทำให้เราได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้คน การได้ทำกิจกรรมวันละ 3-4 ชั่วโมง ได้ลงน้ำไปดูพฤติกรรมสัตว์ใต้ทะเล และได้ค้นหาสิ่งต่าง ๆ มากมาย ทำให้เราได้รู้ว่าพวกปลาต่าง ๆ ก็เหมือนกับคนนี่แหละ แต่ละพันธุ์มันจะมีพฤติกรรม คาแรกเตอร์ หรือทัศนคติที่คล้าย ๆ กัน แม้เป็นสัตว์พันธุ์เดียวกัน อยู่บ้านเหมือนกัน แต่การปฏิสัมพันธ์กับเรา หรือกับสัตว์ร่วมบ้านของมันไม่เหมือนกันเลย”

“ถ้าถามว่าประทับใจตัวไหนเป็นพิเศษ นัทชอบ Octopus (ปลาหมึกยักษ์) เพราะว่ามันเป็นสัตว์ที่มีความอยากรู้อยากเห็น พอมันเจอเราใกล้ ๆ มันก็ไม่ถึงกับหนี มันจะคอยดูเราก่อน แล้วบางทีมันก็เข้ามาเล่นกับเราด้วยถ้าเรานิ่งพอ”

นัทยา ชลคดีดำรงกุล

“สัตว์ทะเลที่ชอบอีกชนิดคือฉลามวาฬ ทุกครั้งที่เจอมันก็จะรู้สึกอิ่มเอม เพราะน้องใจดีเหลือเกิน ภาพนี้ถ่ายที่จุดดำน้ำกองหินแปดไมล์ เกาะหลีเป๊ะ วันนั้นได้เจอฉลามวาฬพร้อมกันน่าจะประมาณ 4 ตัว แต่น้องโฉบไปโฉบมา แล้วมันเก็บในเฟรมเดียวกันไม่ได้ แต่ว่าเจ๋งมาก ที่หลีเป๊ะจะพบได้เป็นซีซั่น ช่วงซีซั่นที่แล้วเขาเจอกันเยอะ เจอกันรัว ๆ เกือบทุกวันเลย ถ้าจำไม่ผิดเราไปกันเมื่อช่วงสิงหาคม-กันยายน ปีที่แล้ว”

“นัทเริ่มจับกล้องจริง ๆ คือตอนดำน้ำนี่แหละ เพราะว่าตอนแรกลงไปเจออะไรมาเราก็ไม่รู้ ไม่สามารถสื่อสารกับเพื่อนใต้น้ำได้ เลยต้องหากล้องมาบันทึกภาพไว้ขึ้นมาคุยกันข้างบนเรือ หรือเปิดหนังสือเทียบรูปบ้างว่าสัตว์ที่เราถ่ายมาเป็นสายพันธุ์อะไร เพราะสัตว์หลาย ๆ ตัวเราไม่เคยเจอ ไม่เคยคิดว่ามันมีอยู่ในโลกจริง ๆ”

นัทยา ชลคดีดำรงกุล

“จากนั้นการถ่ายภาพขึ้นมาคุยกันอย่างเดียวไม่พอแล้ว เห็นรูปคนอื่นสวย อยากถ่ายสวย ๆ บ้าง แล้วพอเราถ่ายรูปสวยขึ้น แต่ยังไม่ได้เก่งนะ เพื่อนมาเห็นก็เริ่มเกิดความประทับใจ เริ่มคุยกันได้ว่าโลกใต้ทะเลมันมีอะไรที่เรายังไม่รู้อีกเยอะ โดยเฉพาะเรื่องการอนุรักษ์ เราเริ่มคุยให้เขาฟังได้ว่าในทะเลมันมีอะไร เราไปดำน้ำเจอขยะจริง ๆ แล้วเจอเยอะด้วย ก็เลยเริ่มสร้าง Awareness (การรับรู้) ให้คนรอบข้างตัวเราได้ด้วย”

“การกลับขึ้นมาจากการดำน้ำ ทำให้เรามีเรื่องเล่าเยอะ สร้างบทสนทนากับคนรอบข้างได้ แม้ตอนนี้นัทอาจจะไม่ได้มี Follower ในโซเชียลมีเดียเลยก็ตาม แต่คิดว่าตัวนัทเอง อย่างน้อยถ้าเราสร้างการรับรู้ให้คนรอบข้างของเราได้ในชีวิตประจำวันทุกวัน ไม่ต้องทำให้มันสมบูรณ์แบบ แต่ทุกคนทำทีละนิด มันก็ดีขึ้นแล้ว หรือทุกครั้งที่ไปดำน้ำ เราก็พยายามทำตัวของเราให้กระทบกับธรรมชาติน้อยที่สุด และถ้ามีโอกาส เราก็จะพูดให้คนรอบข้างของเราฟังว่าเราสามารถลดการก่อมลพิษจากตัวเราได้มากแค่ไหน ถ้าเราเริ่มทำตั้งแต่วันนี้”

นัทยา ชลคดีดำรงกุล

“นัทคิดว่า Raja Ampat ที่อินโดนีเซีย เพราะว่าที่นี่มีความหลากหลายทางชีวภาพเยอะที่สุดในโลก แล้วตอนลงไปก็ไม่เคยเห็นปลาเยอะขนาดนี้มาก่อน สีสันปะการังก็สวยมาก สัตว์ที่เราไม่เคยเห็นก็ได้เห็น มันไม่เหมือนกับที่บ้านเราด้วย ไม่เหมือนกับที่อื่นในโลกด้วย ประทับใจมากกว่ามัลดีฟส์ ที่เราไปแอ็กชั่น ไปดูฉลาม ไปดู Manta Rays (ปลากระเบนราหู) แต่การไป Raja Ampat คือเราไปดูความหลากหลาย ความสวยงาม ความอุดมสมบูรณ์ของโลกใต้น้ำมากกว่า”

นัทยา ชลคดีดำรงกุล

“เป็นแรงจูงใจและความสนใจในการไปเจอสัตว์ พอเรารู้สึกว่าคาแรกเตอร์ หรือนิสัยของสัตว์แต่ละตัวมันไม่เหมือนกัน บางตัวกล้าเข้ามาดูเรา ยอมให้เราถ่ายรูป มาอยู่ติดหน้าโดมกล้องของเราเลยด้วยซ้ำ แต่บางตัวว่ายหนีตั้งแต่เห็นเรามาแล้ว หรืออย่างปลานีโม บางตัวก็ลอยเข้ามาใกล้เรามาก มาดูเรา บางตัวก็หลบเข้าไปอยู่ใน Anemone (ดอกไม้ทะเล) เพื่อที่จะไม่โดนเราทำร้าย บางตัวเข้ามาจิกเรา มาชนเรา นัทว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ทำให้เราตื่นเต้น และเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงอยากลงไปดำน้ำ”

“ยังมีอีกหลายอย่างเลยที่อยากไปเห็น นัทคิดว่าการที่เราดำน้ำมันเปิดโลกให้กับตัวเองอย่างมาก แต่ละที่ แต่ละไดฟ์ หรือแม้กระทั่งที่เดิมที่เคยไป การลงไปเห็นมุมมองที่เราเจอสัตว์ หรือเจอแลนด์สเคปมันก็ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นที่ที่อยากจะไปอีกมีอีกเยอะเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นแอฟริกาใต้ อเมริกาใต้ กาลาปากอส”

“ปกตินัทใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ให้ความสำคัญกับชีวิตของเรา หรือการทำงานของเราเองเป็นใหญ่ อยู่กับจอ อยู่กับห้าง โดยที่ไม่คิดมาก่อนเลยว่าการออกไปดำน้ำจะทำให้เราผ่อนคลาย จนกระทั่งนัทได้มาดำน้ำ ทำให้รู้สึกว่าจริง ๆ แล้วตัวเราเล็กนิดเดียวในโลกนี้ หรือในจักรวาลนี้ การที่เราจะไปที่ไหนก็ตาม เราควรจะให้เคารพสถานที่เหล่านั้นให้มาก และไม่ควรที่จะไปทำร้ายบ้านของพวกเขา ตอนนี้นัทคิดว่าเรื่อง Global Warming หรือเรื่องพลาสติกเองก็ตาม การที่เราไม่ลงไปจับ ไปแตะ และลดการใช้พลาสติกทั้งหลายมันก็จะช่วยให้โลกใต้น้ำไม่สลายไปเร็วได้เหมือนกัน แค่ใช้ชีวิตที่สร้างมลพิษให้น้อย แค่นี้ก็ดีขึ้นต่อโลกมาก ๆ แล้ว”

นัทยา ชลคดีดำรงกุล

นัทมาพร้อมชุดโทนสีเขียวที่แม็ตช์เข้ากับ Seiko Prospex Street Series: SRPF83K ที่เป็นสไตล์ Safari Look ทรง ‘ทูน่าแคน’ ตกแต่งให้ตัวเรือนด้วยสีเขียวโอลีฟ มิกซ์แอนด์แม็ตช์หลักชั่วโมงกับสเกลขอบตัวเรือนสีคาราเมล เข้ากับความเป็น Urban Living ที่ไม่ว่าจะอยู่ในลุคไหนก็ดูดีอยู่ตลอด

Seiko Prospex Street Series Automatic Diver’s 200 m. มาพร้อมตัวเรือนสเตนเลสตีลแข็งแรงทนทาน กลไกขึ้นลานอัตโนมัติ (Automatic Caliber 4R35) สำรองพลังงานได้นานสูงสุดถึง 41 ชั่วโมง ประสิทธิภาพในการกันน้ำ 200 เมตร ทำให้พานัทสำรวจโลกใต้น้ำไปได้ไกลเท่าที่ใจต้องการจะไปถึง

นัทยา ชลคดีดำรงกุล

การคุยกับนัทเป็นส่วนหนึ่งในโปรเจ็กต์ที่บ้านและสวน Explorers Club และ Seiko Thailand ชักชวนนักดำน้ำทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ของเมืองไทย 10 ชีวิต มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์จากการสำรวจท้องทะเลลึกในอีกมุมมอง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างมีจิตสำนึก และชวนชาว Explorers ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพลังขับเคลื่อนเล็ก ๆ ไป Save The Ocean พร้อมกับพวกเขาอีกแรง ในการปกป้องรักษาแนวปะการังใต้ผืนทะเลให้ยังคงงดงามและน่าค้นหาต่อไปหลังจากนี้

พบกับบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของนักท่องโลกใต้น้ำทั้ง 10 คน ได้ทุกสัปดาห์ทาง Facebook: บ้านและสวน Explorers Club และ National Geographic Thailand

[ EXPLORER ]
นัท

ภาพถ่ายนัท: จูน
ภาพถ่ายใต้น้ำ: นัท, อั๊ง
ชวนคุย: เฟี้ยต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *