หากคุณเป็นคนที่สนใจเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อาคารเก่า และสถานที่ต่าง ๆ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ผมขอแนะนำให้ติดตามเฟซบุ๊คของ นัท จุลภัสสร ผู้ชายที่หลงใหลในศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ที่หาตัวจับยากคนหนึ่งในชั่วโมงนี้
“ผมเป็นคนที่สนใจเรื่องราวด้านศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ แต่ตอนเรียนเลือกเรียนเอกภาษาไทย จากจุดนี้ผมจึงนำสิ่งที่สนใจ เช่น เรื่องของชาติ และศิลปวัฒนธรรมเหล่านั้น มาถ่ายทอดให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้ผ่านงานเขียนในเฟซบุ๊ก โดยจะทำอย่างไรให้คนอื่นรู้เหมือนที่เรารู้ แต่การรับรู้นั้นจะต้องสนุก ไม่น่าเบื่อเหมือนเรียนหนังสือ” พี่นัทเล่าถึงที่มาของความชื่นชอบในเรื่องราวประวัติศาสตร์
แต่เดิมนั้นพื้นฐานครอบครัวของเขารับราชการครูกันหมด ส่วนตัวเขาเองก็เคยคิดอยากจะรับราชการครูเหมือนกับคนอื่น ๆ ในบ้าน ด้วยความคุ้นเคยเช่นนั้นมาตลอด แต่ขณะเดียวกันมันทำให้เขาได้รับการบ่มเพาะทางด้านการอ่านและเขียน จึงไม่แปลกที่เขาจะถ่ายทอดความรู้ทางประวัติศาสตร์ออกมาได้อย่างน่าสนใจและเข้าใจง่าย
“จากคนที่ไม่มีความมั่นใจในสิ่งที่อยากทำ แม้จะเรียนจบภาษาไทย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องเป็นครู สิ่งที่รู้อยู่ในใจคือ เราชอบเรื่องราวเก่า ๆ ของประเทศ ความเป็นมาของวัฒนธรรม บางครั้งถึงกับเคยชวนพี่สาวและพี่เขย รวมทั้งเพื่อน ๆ ของพวกเขาไปเที่ยวตามวัดและวังต่าง ๆ แล้วเล่าเรื่องราวความเป็นมาเป็นไปให้คนอื่น ๆ ได้ฟัง จนพี่ ๆ บอกว่า เธอเป็นคนเล่าเรื่องดีและสนุก นั่นจึงทำให้เราคิดอยู่เสมอว่า เราคงจะมาถูกทางชีวิตแล้วละ”
“ครั้งหนึ่งมีงานเวทีสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของบางกอกฟอรั่ม เขาต้องการให้มีกิจกรรมการพาดูชุมชน จากเหตุการณ์ครั้งนั้น เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่พี่นำความรู้มาเล่าด้วยความรักและความสนุก”
“ด้วยความที่เป็นคนเล่าเรื่องสนุก พอเล่าออกไปแล้วมีคนอยากฟังและสนุกไปกับสิ่งที่เล่า นั่นแสดงว่าเราเองก็เป็นคนที่มีทักษะในการเล่าเรื่องประเภทนี้อยู่บ้าง ในการนำสิ่งที่เห็นและเข้าใจมาเล่าให้คนอื่น ๆ เข้าใจง่ายขึ้น ทั้งยังช่วยให้เห็นมุมมองใหม่ ๆ”
“เช่น การไปวัด โดยปกติเราไปวัดแค่ไปไหว้พระแล้วก็กลับ นั่นคือจบ! แต่ถ้าเราไปวัดแล้ว ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมพระถึงต้องมีสีทอง ทำไมจิตรกรรมฝาผนังถึงต้องมีลวดลายแบบนี้ รวมถึงคนสมัยก่อนเขามีคติ ความคิด และความเชื่ออย่างไร จะทำให้การไปวัดกลายเป็นเรื่องสนุกไม่น่าเบื่อ”
“พี่ทำงานกระทรวงวัฒนธรรม อยู่ในส่วนไทยนิทัศน์ ซึ่งเป็นส่วนที่เราถนัดมากที่สุด เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เราอิ่มตัว พี่เลยขอลาออกเพราะคิดว่าออกมาทำในสิ่งที่พี่อยากทำดีกว่า พี่เชื่อว่าคนในสังคมทุกวันนี้ เรียนจบมาด้านหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ”
พี่นัทเป็นนักเล่าเรื่องทางวัฒนธรรม ไม่ใช่ผู้รู้ในทุกเรื่อง แต่พี่นัทเป็นผู้ที่ศรัทธาในสมบัติของบรรพชน สิ่งที่บรรพบุรุษเขาสร้างเขาคิดไว้เป็นมรดกสังคม
“บ้านเมืองเรามันขาดคนถ่ายทอดความรู้ตรงนี้ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้วัฒนธรรมของเราขาดความต่อเนื่อง และไม่ซึมซับเข้าไปยังคนรุ่นใหม่ ๆ เพราะเราขาด Storytelling ที่ไม่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงกันในหลาย ๆ มิติ”
“คนเราถ้ายิ่งเล่าเรื่อง เรายิ่งแม่น ยิ่งถ่ายทอด ยิ่งได้เพื่อน และได้ตรวจสอบว่าสิ่งที่เราพูดออกไปข้อมูลถูกต้องหรือเปล่า พี่จะเล่าสิ่งทั้งหมดที่พี่รู้ และพี่ก็ไม่กลัวว่าสิ่งที่พี่รู้ทั้งหมดจะหายไปจากหัวพี่”
“เมืองไทยเนี่ยสร้างงานเยอะ แต่ไม่สร้างคนเสพงาน ทำให้แม้ศิลปินจะเล่นเก่งแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีคนดูมันก็จบแล้ว พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติของเราสวยงามไหม ดีไหม แต่ถ้าเราเดินเข้าไปดูตามป้ายที่ติดไว้แล้ว คนดูได้อะไร ถ้าไม่มีคนเล่าเรื่อง” พี่นัทบอกกับเรา อันบ่งบอกถึงความเหนื่อย
‘ชาตินิยม’ จุดประกายให้พี่นัทอยากเป็น ‘นักเล่าเรื่องทางวัฒนธรรม’
“พี่คิดว่าการรักษาวัฒนธรรม คือการรักษาชาติ การรักษาสังคมมันจะต้องสร้างความรู้ เหตุนี้พี่ถึงออกมาทำในสิ่งที่ต้องการ เพราะที่ผ่านมาเรากลัวการที่จะทำให้คนอื่นรู้เท่า เพราะเรากลัวว่าเขาจะดีดเราออกไปจากวงโคจร”
“คนอาจจะมองว่าพี่เป็นชาตินิยม แต่พี่กำลังจะบอกว่า พี่กำลังจะสร้างรสนิยมใหม่ ๆ ในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมากกว่า”
“ร่วม 24 ปี บนเส้นทางเล่าเรื่องวัฒนธรรม พี่ยังคงทำอยู่และทำต่อไป คิดว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้คนในประเทศภูมิใจ ทำอย่างไรให้เราประกาศตัวอยู่ในเวทีโลกได้โดยไม่อายใคร”
พี่นัทเป็นนักเล่าเรื่อง ควบคู่ไปกับการหาข้อมูลความรู้ โดยส่วนมากมาจากการอ่าน เมื่ออ่านเสร็จแล้วก็ต้องมาย่อยสรุปข้อมูล เพื่อให้คนฟังเกิดความเข้าใจ น่าสนใจ และไม่น่าเบื่อ
“พี่เป็นชาตินิยม นิยมที่จะให้คนรุ่นใหม่รักชาติแบบถูกต้องและควรจะเป็น” พี่นัทบอกผมก่อนจากกันวันนั้น
[ EXPLORER ]
นัท
ขอบคุณ:
จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา
ติดตามเขาได้ทาง นัท จุลภัสสร
ชวนคุย: ตู่
ถ่ายภาพนัท: แม็ค
ภาพถ่ายอื่น ๆ: นัท