ไปชมจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร ตบเท้าไปบันทึกภาพตลาดไร้คานอายุกว่าร้อยปี ที่แม้วันนี้จะเงียบเหงา แต่เรายังสามารถพบความสมบูรณ์ของสถาปัตยกรรมเก่าได้อยู่
หากมาถึงแล้วต้องไปชมโรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา แหล่งทำขันลงหินแห่งสุดท้ายของไทย งานฝีมือประจำชุมชนบ้านบุที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน นับแต่เข้ามาตั้งรกรากในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ก่อนกลับ พาลัดเลาะผ่านตรอกซอกซอยบ้านบุจนทะลุไปถึงโรงรถจักรธนบุรี ไปชมสถานที่เก็บหัวรถจักรประวัติศาสตร์แห่งการเดินทางของการรถไฟไทย ที่ยังคงใช้งานได้จริงจนถึงปัจจุบัน พร้อมแล้วตามเรามา เราจะพาไปรู้จักชุมชนเล็ก ๆ แห่งบางกอกน้อย ที่มีเรื่องราวน่าค้นหาไม่น้อยเลยจริง ๆ
ส่องเพชรน้ำงามทางศิลปกรรม
ทริปนี้พวกเรามาถึงจุดหมายแรกผ่านทางน้ำ โดยการพายคายัคมาเทียบท่าวัดสุวรรณ จุดหมายที่ว่านั้น มาถึงบ้านบุแล้วไม่ควรปล่อยผ่าน นั่นคือการไปชมจิตรกรรมฝาผนังจากยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในพระอุโบสถวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพชรน้ำงามทางศิลปกรรม
วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโทที่ชาวบ้านบุเรียกกันสั้น ๆ ว่า ‘วัดสุวรรณาราม’ บ้างก็เรียกสั้นไปอีกว่า ‘วัดสุวรรณ’ เป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระราชทานให้แทนนามเดิมที่ชื่อว่า ‘วัดทอง’ ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตก ช่วงท้ายซอยจรัญสนิทวงศ์ 32 เขตบางกอกน้อย ซึ่งเป็นช่วงท้ายซอยที่รถยนต์ยังสามารถวิ่งเข้าถึงได้ ก่อนต้องเปลี่ยนมาเดินเท้าหรือนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้าชุมชนบ้านบุที่ตั้งอยู่ถัดเข้าไปด้านในอีกที
จุดเด่นของพระอุโบสถ วัดสุวรรณาราม คือระเบียงที่มีทั้งสองด้าน คือด้านหน้าและด้านหลัง พระอุโบสถโดดเด่นด้วยเสาทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองตามแบบแผนศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 1 ช่อฟ้าและใบระกาประดับด้วยกระจก ส่วนหน้าบันสลักลายรูปเทพนมและนารายณ์ทรงครุฑปิดทอง
ภายในเป็นที่ประดิษฐานของพระศาสดา พระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย ซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถ .สำหรับจิตรกรรมฝาผนังภาพพุทธประวัติ และภาพทศชาติ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพชรน้ำงามทางศิลปกรรมนั้น เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดสุวรรณาราม เป็นฝีมือการเขียนของสองจิตรกรเอกแห่งยุคสมัยนั้น คือ หลวงวิจิตรเจษฎา (ทองอยู่) และหลวงเสนีบริรักษ์ (คงแป๊ะ)
เรียกว่าเราจะได้เห็นจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นการประชันฝีไม้ลายมือกันของผู้เขียนเนมิราชชาดก กับผู้เขียนมโหสถชาดก รวมถึงจิตรกรมือฉมังในยุคนั้นอีกหลายชีวิตตามข้อสันนิษฐานที่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด จนสามารถระบุรายนามได้ว่ามีใครอีกบ้างที่ร่วมกันเขียนผนังทั้งหมดนี้
ตลาดสุวรรณาราม
จากนั้นเดินตบเท้าเข้าชุมชน ไปชมอาคารเปี่ยมประวัติศาสตร์ที่ยังมีลมหายใจ ในวันที่พ่อค้าแม่ค้าเลิกขาย ไม่ว่าจะเรียก ตลาดสุวรรณาราม, ตลาดไร้คาน หรือ ตลาดวัดทอง ที่นี่ก็นับว่าเป็นตลาดค้าขายสินค้าอายุกว่าร้อยปีที่มีสำคัญอย่างยิ่งในฝั่งธนบุรี เมื่อครั้งกรุงเทพฯยังใช้การสัญจรทางน้ำเป็นหลัก
แต่ด้วยสภาวะของเมืองปัจจุบัน ชาวชุมชนบ้านบุมีทางเลือกในการไปจ่ายตลาดมากขึ้น ทั้งที่ตลาดสถานีรถไฟธนบุรี หรือ ตลาดศาลาน้ำร้อน เดิม รวมถึงตลาดบางขุนนนท์ที่อยู่ติดถนนใหญ่ หรือบางทีอาจรวมถึงสำนักงานเขตบางกอกน้อย (เดิม) ย้ายออกไป ก็ (อาจจะ) เป็นเหตุและผลรวม ๆ กันที่ทำให้ตลาดไร้คานในปัจจุบันเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปิดตัวลงอย่างถาวร และไม่มีการค้าขายเหมือนเช่นในอดีต
ย้อนไปสัก 4-5 ปี ที่นี่เคยจัดเป็นตลาดนัดเล็ก ๆ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ของสัปดาห์ที่ 1 และที่ 3 ของเดือน ซึ่งก็มีพ่อค้าแม่ขายนำอาหาร และขนมโบราณมาออกร้าน รวมถึงมีการแสดงจากเยาวชนในชุมชนบ้านบุ มาสร้างความคึกคักอยู่ช่วงหนึ่ง
แม้เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ความคึกครื้นนั้นมีอันจบลง แต่เรายังสามารถเห็นเสน่ห์ของตลาดไร้คาน ชื่อที่มีที่มาจากเอกลักษณ์ทางโครงสร้างสถาปัตยกรรมไร้คาน และยังเป็นระบบหลังคาสองชั้น ที่มีช่องระบายอากาศอยู่ระหว่างหลังคาชั้นล่างกับชั้นบน ช่วยระบายความร้อนแบบวิธีการดั้งเดิม ต่างจากตลาดยุคปัจจุบันที่เรามักจะเห็นว่าใช้ลูกหมุนระบายอากาศกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว
เหล่านี้คือเสน่ห์ที่ยังไม่เลือนหาย เช่นเดียวกับวิถีชีวิตของชาวบ้านบุที่เรายังสามารถพบเห็นเด็ก ๆ กระโดดน้ำเล่นริมคลอง เห็นเรือหางยาวล่องผ่านไม่ขาดสาย และอะไรอีกมากมายที่บ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ที่ชุมชนแห่งนี้มีคุณค่า อย่างเช่นสถานที่ต่อจากนี้
โรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา
จากตลาดไร้คาน เดินเข้าไปนิดเดียว เราจะได้เห็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ที่ยังมีลมหายใจ ในโรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา ได้เห็นความละเมียดละไมของงานฝีมือแห่งชุมชนบ้านบุแท้ ๆ
บ้านบุ คือแหล่งทำขันลงหินแห่งเดียวในประเทศไทย โดยต้นตระกูลอพยพหนีกรุงศรีอยุธยา มาตั้งรกรากที่บางลำพูเป็นที่แรก ก่อนย้ายมายังบ้านบุจนถึงปัจจุบัน .งานขันลงหิน เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยนั้นนิยมใช้ในหมู่ข้าราชการหรือขุนนางมากกว่าในหมู่ราษฎร มักใช้เป็นขันน้ำมนต์ ใช้ตักน้ำดื่ม หรือใช้ในพิธีมงคลต่าง ๆ การทำขันลงหินในสมัยโบราณจะใช้ทองม้าล่อจากเมืองจีน ปัจจุบันวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตขันลงหินจะประกอบด้วย ทองแดง ดีบุก และสำริดเท่านั้น
ซึ่งกว่าจะมาเป็นขันลงหินที่สวยวิจิตรได้อย่างที่เห็นนั้น ข้อมูลจากสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) ระบุว่าต้องใช้ช่างฝีมือถึง 6 ช่างใน 6 กระบวนการ ประกอบด้วย
‘ช่างตี’ ผู้รับหน้าที่นี้ต้องมีประสบการณ์บวกกับทักษะในการผสมโลหะและการตีโลหะอย่างช่ำชอง ช่างตีจึงนับว่าเป็นหัวใจสำคัญในกระบวนการขึ้นรูปขันลงหินก็ว่าได้
ต่อมาคือ ‘ช่างลาย’ ความยากของผู้รับหน้าที่ตีขัน คือการวางขันกับกระล่อน หรือแท่งเหล็กสำหรับรองพื้น แล้วค่อย ๆ หมุนและตีให้มีเนื้อผิวสม่ำเสมอทั้งขัน
ส่วนขั้นตอนต่อไปคือ ‘ช่างกลึง’ ผู้ทำหน้าที่กลึงผิวและขัดสีขันให้เรียบสม่ำเสมอกันด้วยภมร หรือเครื่องกรึง จากนั้น ‘ช่างกรอ’ จะเป็นผู้รับหน้าที่ตะไบปากขันให้มีความเรียบสม่ำเสมอ ก่อนส่งต่อ ‘ช่างเจียร’ ผู้ทำหน้าที่ปิดรอยตำหนิที่เกิดจากกระบวนการก่อนหน้า
และสุดท้ายคือ ‘ช่างขัด’ ผู้ทำหน้าที่เพิ่มความเงางามของขันลงหินให้สมบูรณ์ .โรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา มรดกตกทอดจากสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ครั้งหนึ่งเคยแคล้วคลาดจากเหตุเพลิงไหม้ในชุมชนบ้านบุ เพราะไฟลุกลามไปไม่ถึงห้องเก็บอุปกรณ์ ส่วนจัดแสดงสินค้า และพื้นที่การผลิต ปัจจุบันเป็นดั่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ยังคงเปิดให้เราได้มาศึกษา และเรียนรู้เรื่องราวของงานหัตถกรรมที่นับวันยิ่งหาดูได้ยากขึ้นทุกที
โรงซ่อมรถจักรธนบุรี
อีกจุดหมายที่ห้ามพลาดเมื่อมาบ้านบุ จากต้นซอย เราเดินออกไปจนถึงท้ายซอย เพื่อมากันที่โรงรถจักรธนบุรี หรือ โรงซ่อมรถไฟ สถานีรถไฟบางกอกน้อย (เดิม) ที่นี่สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2466 ก่อนได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันคือศูนย์ซ่อมรถไฟ และสถานที่เก็บรักษาหัวรถจักรไอน้ำริมคลองบางกอกน้อย ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับสถานีรถไฟบางกอกน้อย หรือ สถานีรถไฟหลวงบางกอกน้อย (เดิม)
หากมาที่นี่ต้องถ่ายรูปกับความงดงามของรถจักรไอน้ำ เครื่องจักรแห่งประวัติศาสตร์การเดินทาง ที่แม้การรถไฟแห่งประเทศไทย จะเลิกใช้งานอย่างถาวรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 โดยเปลี่ยนไปใช้รถจักรดีเซลแทนจนปัจจุบัน แต่ตัวรถจักรไอน้ำนี้เองก็ยังใช้งานจริงได้อยู่ โดยเฉพาะในโอกาสหรือวันสำคัญของประเทศ
บ้านบุเป็นชุมชนที่พวกเรา บ้านและสวน Explorers Club ได้มาเยี่ยมชมอยู่บ่อยครั้ง เพราะตั้งอยู่ไม่ไกลจากออฟฟิศอมรินทร์ของเรามากนัก แถมเข้าถึงได้ง่ายจากหลายช่องทางทั้งบกและน้ำ ครั้งล่าสุดเราก็เลือกชุมชนแห่งนี้เป็นหมุดหมายหนึ่งของกิจกรรม ‘ลอยละล่อง ริมน้ำบางกอก’ (Kayak the Series) ที่เราชักชวนช่างภาพจากสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย และทีม FeelFree มาพายคายัคเพื่อร่วมบันทึกภาพวิถีชีวิตสองฝั่งคลองบางกอกน้อย แม่น้ำเจ้าพระยา วัดวาอาราม และชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ด้วยกัน โดยเป็นส่วนหนึ่งของงาน ‘Water Festival 2022’ หรือ ‘เทศกาลวิถีน้ำ…วิถีไทย’ ครั้งที่ 7 ซึ่งผ่านพ้นไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
แม้งานนี้จะจบลงแล้ว แต่เราจะไม่ปล่อยให้เส้นทางท่องเที่ยวนี้จบไปง่าย ๆ ทุกคนสามารถพายคายัค หรือนั่งเรือเที่ยวแบบเราได้ ชักชวนกันไปเป็นกลุ่มด้วยนะ รับรองว่าสนุกมาก
EXPLORERS: ทีมงานบ้านและสวน Explorers Club และพันธมิตร
PHOTOGRAPHERS: ฤทธิรงค์ จันทร์ทองสุข, อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม, นวภัทร ดัสดุลย์