ตามไปดูทริปพิเศษ อาสาทำแนวกันไฟเพื่อผืนป่าที่ค่ายเยาวชน เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ร่วมกับนิคม พุทธา ประธานกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่ปิง
เราตั้งใจเดินทางไปยัง อ. เชียงดาว เพื่อไปพบกับพี่อ้วน-นิคม พุทธา ผู้อยู่เบื้องหลังกิจกรรมทำแนวกันไฟป่า ที่ต้องการความร่วมมือและแรงงานจำนวนมากในการทำแนวป้องกันไฟป่า ซึ่งมักเกิดขึ้นเป็นประจำเมื่อเข้าฤดูร้อน โดยเขาได้ประกาศเปิดรับอาสาสมัคร และบริจาคอุปกรณ์จำเป็นระหว่างปฏิบัติงาน ผ่านทางเฟซบุ๊ก Nikom Putta เรียกว่าได้รับความสนใจจากอาสาสมัครหนุ่มสาวมาช่วยกันทำแนวกันไฟจำนวนมาก (รวมถึงเราด้วย) เติมกำลังพลด้วยเหล่าชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น รวมแล้วมีผู้ร่วมภารกิจครั้งนี้กว่าร้อยชีวิต
ภารกิจแรกเราเริ่มต้นกันที่วัดถ้ำผาปล่อง กับระยะทางรวมทั้งหมดประมาณ 5 กิโลเมตร ใช้เวลา 2 วัน ค่อย ๆ ทำแนวกันไฟได้วันละ 2 กิโลเมตรโลนิด ๆ ระหว่างนั้นเราได้พูดคุยกับพี่นิคมถึงที่มาของโครงการนี้ว่า
“โครงการทำแนวกันไฟเป็นกิจกรรมที่ทำกันอยู่เป็นประจำทุกปี พอถึงเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ จะเป็นช่วงฤดูของการทำแนวกันไฟ โดยการทำแนวกันไฟนี้ชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้าน รวมถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เขาจะทำแนวกันไฟในพื้นที่ของตนเองอยู่แล้ว ในส่วนราชการโดยเฉพาะดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ก็จะมีการทำแนวกันไฟกันทุกปี รวมถึงวัดต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ป่าด้วย ผมเลยเห็นว่านับเป็นโอกาสอันดีที่เราจะเข้าไปช่วยทางวัด ขณะที่ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐเขาก็พึงพอใจที่เราไปช่วย”
“ก่อนหน้านี้ผมได้นำอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานไปมอบให้เพื่อช่วยในการทำงานของอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ เช่น หน้ากาก N95 และรองเท้าอย่างดี เพราะเราไปเห็นชาวบ้านเขาใส่รองเท้าแตะดับไฟกัน เลยรู้สึกเห็นใจชาวบ้าน ขณะที่บางคนก็ใส่เสื้อยืด ปีที่แล้วเราจึงเปิดรับบริจาคเสื้อผ้าเก่า รับตั้งแต่หมวก เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว(เน้นกางเกงยีน) แล้วก็รองเท้าผ้าใบ ก่อนนำมาแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้าน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ”
“สำหรับปีนี้เราเน้นรับบริจาครองเท้าเซฟตี้ ซึ่งได้รับการบริจาคมาเยอะมากประมาณ 400 คู่ แล้วจึงนำไปให้ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ใช้ดับไฟป่า ทำให้พวกเขามีความมั่นใจไปดับไฟมากขึ้น ไฟป่าที่เชียงดาวมันรุนแรงเมื่อปี 2562 และปี 2563 ก็ยังรุนแรงอยู่ พอมาปี 2564 โชคดีมีฝนตกลงมาตอนเดือนมกราคมถึง 2 ครั้ง เดือนกุมภาพันธ์ครั้งหนึ่ง ช่วยทำให้พื้นที่ป่ามีความชื้น เพราะฉะนั้นมกราคมถึงกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจึงยังไม่มีไฟป่ารุนแรง แต่ก็ต้องทำแนวกันไฟกันไว้ก่อน”
ในแต่ละวันเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ พี่อ้วนจะเรียกอาสาสมัครมานั่งพูดคุยถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ในระหว่างการออกไปทำแนวกันไฟแต่ละวัน การล้อมวงพูดคุยแบบนี้เป็นอีกทางหนึ่งที่เขาพยายามให้ทุกคนได้รู้จักกัน ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ด้วยการนำหัวข้อเรื่องไฟป่ามาพูดคุยและแชร์ประสบการณ์กัน นอกจากนั้นยังให้อาสาสมัครได้มีโอกาสได้เรียนรู้ธรรมชาติไปในตัว ซึ่งประกอบไปด้วยป่าที่มีทั้งพืชและสัตว์น้อยใหญ่ ได้เห็นสภาพป่าในช่วงฤดูแล้ง ทั้งป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบชื้น แถมยังสอดแทรกหลักธรรมะและปรัชญาให้กลุ่มอาสาสมัครอย่างเราได้กลับไปขบคิด ผ่านการเฝ้าสังเกตธรรมชาติภายในใจเราเองว่า ธรรมชาติของตัวเราเป็นอย่างไร พูดถึงไฟและการลุกไหม้ที่สร้างความเสียหายให้กับธรรมชาติ ป่าไม้ และสัตว์ป่า
ขณะที่ “ไฟภายใน” มันคือความโกรธ ความเกลียด ความเครียดแค้น ชิงชัง และอาฆาตพยาบาท ซึ่งมักเกิดขึ้นในใจเราเป็นประจำทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน หรืออยู่ที่บ้านก็ตาม เปรียบเปรยถึงเวลาที่ไฟไหม้ แล้วตามมาด้วยความเสียหาย การที่เรามาทำแนวกันไฟภายนอกเช่นนี้ก็เพื่อกันไม่ให้ไฟแผดเผาทำลายผืนป่า อันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าน้อยใหญ่ แถมยังเป็นป่าต้นน้ำให้กำเนิดแม่น้ำปิงช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน โดยระหว่างการทำแนวกันไฟ เราก็จะต้องหัดเรียนรู้ทำแนวกันไฟภายในใจเราเองด้วยเช่นกัน
พี่อ้วนบอกอีกว่า “ไฟภายนอก เผาไหม้เป็นฤดูกาล ส่วนไฟในใจของเราไม่เลือกวันเวลาสถานที่ ถ้าเราโกรธ หรือเกลียดใครมา ถ้าเราไม่รู้จักชำระสะสางความโกรธเกลียดเหล่านั้นให้หายไป ไฟนั้นก็จะลุกไหม้เผาผลาญเราเอง แม้ว่าจะนอนอยู่ในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศเย็นสบายเพียงใด แต่ก็ยังรู้สึกถึงความร้อนรุ่มนั้นอยู่ดี”
จบทริปนี้ด้วยความสุข อิ่มเอมพร้อมได้พบเจอเพื่อนใหม่ ๆ หากเราไม่ก้าวออกมา เราคงไม่รู้ว่าการออกมาทำกิจกรรมแบบนี้มีสิ่งดี ๆ รออยู่
[ EXPLORERS ]
ตู่ นัท แบม บัว เพ็ญ แอน และพิง
ขอขอบคุณ : คุณนิคม พุทธา