กิจกรรม Exclusive Trip #03 ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดย บ้านและสวน Explorers Club เกิดขึ้นจากคำชักชวนของ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.
ซึ่งมีเป้าหมายในการยกระดับแหล่งท่องเที่ยว ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาและยกระดับพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาให้มีมาตรฐานสากล รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตของคนใน ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต
ทริปนี้เราได้ชักชวนน้อง ๆ จากเพจตัวแทนหมู่บ้าน : Sunee, Poppanupongs และการเดินทางของ “ปารวี” ร่วมด้วยแฟนเพจบ้านและสวน Explorers Club ที่เคยตกขบวน Exclusive Trip สองครั้งแรก ร่วมขบวนไปตะลอนลอง กิน-นอน-เที่ยว ด้วยกันเป็นเวลา 5 วัน 4 คืน ใน 6 ชุมชนบนพื้นที่ธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมมาบรรจบกันรอบลากูนแดนใต้
ได้แก่ ย่านเมืองเก่าสงขลา ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา, ชุมชนบ้านหัวเขา ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา, ชุมชนตำบลเกาะยอ ต.เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา, ชุมชนเกาะหมาก ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง, กลุ่มทำนาริมเลบ้านปากประ ต.ลำปำ อ.เมือง จ.พัทลุง และชุมชนบ้านท่าช้าง ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ซึ่งเป็นชุมชนนำร่องในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท.
และนี่คือ 6 ความประทับใจจากการลงพื้นที่ไปชมเมือง ชุมชน และธรรมชาติใน 6 ชุมชนบนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งเรามีโอกาสได้พบเจอกับตัวจนเข้าใจว่า ลากูนแดนใต้แห่งนี้สวยงามและมีเรื่องราวน่าสนใจเพียงไร
1
สถาปัตยกรรมแห่งประวัติศาสตร์เมืองสงขลา 3 ยุค
เล่าสั้น ๆ ถึงการเปลี่ยนผ่านทางทำเลที่ตั้งของอดีตรัฐสุลต่านซิงกอรา หรือ เมืองสิงขระ สู่สงขลาในปัจจุบัน
เมืองสงขลายุคแรกตั้งอยู่บริเวณฝั่งหัวเขาแดง อ.สิงหนคร ในปัจจุบัน มีการสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนพุทธศตวรรษที่ 22 โดยเป็นเมืองท่าที่ทำการค้าทางเรือระหว่างประเทศ ครั้นพอพ่ายแพ้ในสงคราม จนบ้านเมืองได้รับความเสียหาย จึงต้องย้ายมาสร้างเมืองในยุคสองบริเวณฝั่งแหลมสน หรืออีกฟากฝั่งของภูเขาเพื่อลี้ภัยเป็นการชั่วคราว
สมัยนั้นบ้านเรือนที่สร้างขึ้นส่วนใหญ่ใช้วัสดุธรรมชาติอย่างไม้และใบจาก สงขลายุคที่สองจึงไม่ปรากฏหลักฐานให้เห็นนัก ต่างจากยุคแรกที่ซากโบราณสถานทั้งป้อมปืนใหญ่ กำแพงเมือง คันคู ยังคงปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน และเมื่อแหลมสนเป็นทำเลที่ตั้งที่ไม่สามารถขยับขยายได้อีก จึงมีการย้ายเมืองมายังฝั่งบ่อยาง ซึ่งเป็นดินแดนที่ถูกโอบล้อมด้วยสองทะเลนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2379 จนถึงปัจจุบันนั่นเอง
เราสามารถขับรถเที่ยว นั่งรถรางนำเที่ยว เช่าซาเล้งของคนในชุมชนบ้านหัวเขาเพื่อนำเที่ยวได้อย่างสะดวก เมื่อมาที่นี่ห้ามพลาดกับกิจกรรมตามรอยสถาปัตยกรรมเก่าแก่ และจุดเริ่มต้นของเมืองสงขลา นั่งรถซาเล้งชมโบราณสถานรอบหัวเขา อาทิ บ่อเก๋ง ป้อมหมายเลข 9 สุสานตระกูล ณ สงขลา วัดศิริวรรณาวาส วัดโบราณที่ควรค่ากับการชมอย่างยิ่ง
ด้วยบริการแพขนานยนต์ข้ามฟากระหว่างอ.สิงหนคร กับอ.เมืองสงขลา ที่ดูแลโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ซึ่งสะดวกและช่วยประหยัดเวลาในการขับรถอ้อมเมืองเพื่อข้ามสะพานติณสูลานนท์ สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ช่วงแรก เชื่อมฝั่งอำเภอเมืองบริเวณบ้านน้ำกระจาย – เกาะยอตอนใต้ ยาว 1.1 กิโลเมตร ช่วงที่สองยาว 1.8 กิโลเมตร เชื่อมฝั่งเกาะยอตอนเหนือ – บ้านเขาเขียว ทำให้เราสามารถข้ามไปเดินเล่นสงขลาบ่อยาง ที่ถนนสามสายสำคัญ คือ ถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม ไปชมตึกเก่าสไตล์ชิโน-โปรตุกีส และตึกแถวแบบจีนพาณิชย์ และสถาปัตยกรรมควรแค่แก่การอนุรักษ์มากมาย รวมถึงชมสตรีทอาร์ตสามวัฒนธรรม ซอยหนองจิก รามัญ เป็นต้น
2
ของอร่อยสงขลา เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร
นี่คือทริปที่เราได้ลองกินลองทำอาหารและขนมสารพัดเมนูที่เราเองก็ไม่รู้จักมาก่อน
เริ่มจาก ‘ขนมค้างคาว’ แป้งทอดสอดไส้ปั้นเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมซึ่งมีเรื่องราวต้นกำเนิดตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อาจด้วยรูปลักษณ์ที่คับคล้ายกับค้างคาวสยายปีก จึงกลายมาเป็นชื่อเรียกของขนมชาววังที่ปัจจุบันหากินได้ยาก ซึ่งที่ถนนนางงามก็มีร้านขายขนมค้างคาวอยู่ไม่กี่เจ้าในสงขลา แถมเปิดขายเฉพาะช่วงสุดสัปดาห์และวันหยุดเท่านั้น แนะนำให้ชิมตอนขึ้นจากเตาร้อน ๆ หลังผ่านการทอดนานหลายสิบนาที ด้วยเนื้อแป้งข้าวเหนียวเคล้ากะทิหอมหวาน ที่ตัดเลี่ยนด้วยพริกไทย มีความกรอบนอก นุ่มใน ได้รสหวานจากไส้ถั่ว เสิร์ฟเป็นของว่าง เป็นขนมกินเล่นก็ได้ กินคู่กับกาแฟก็ดี
ข้ามไปที่ชุมชนบ้านหัวเขา ฝั่งอำเภอสิงหนคร พวกเรายังได้ลองทำ ‘ไข่ครอบ’ อาหารพื้นถิ่นสงขลา สินค้า GI ของเมืองไทย กรรมวิธีถนอมอาหารจากภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมากว่าร้อยปี โดยชาวบ้านจะนำไข่แดงจากไข่เป็ดลงไปแช่น้ำเกลือ แล้วตักไข่แดง 2 ฟองใส่รวมกันในเปลือกไข่เป็ดที่ตัดแต่งสวยงาม แล้วนำไปนึ่งอีกทอดจนไข่แดงสุกปานกลางเป็นไข่ยางมะตูม มีสีสันน่ากิน มีรสชาติเค็มเล็กน้อย นิยมกินคู่กับข้าวสวยและแกงใต้
ของอร่อยฝั่งชุมชนตำบลเกาะยอก็ไม่น้อยหน้า ทั้ง ‘ไอศกรีมรสจำปาดะขนุน’ หวานมันกำลังดี และ ‘ขนมม่อฉี่’ ขนมโบราณแป้งนุ่มที่เขาเล่าว่าชื่อของมันเพี้ยนเสียงมาจาก ‘ขนมโมจิ’ ของญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ปั้นแป้งข้าวเหนียวห่อถั่วลิสงและงา ห่อไปกินไป แจกจ่ายเพื่อน ๆ ไปเพลิดเพลินดี
3
เสน่ห์การของท่องเที่ยวชุมชนที่นำเที่ยวโดยคนพื้นที่
พวกเราในฐานนะคนนอกหรือผู้มาเยือน การได้เที่ยวบ้านชมเมืองโดยมีเจ้าของพื้นที่คอยแนะนำ เล่าเรื่องเกร็ดน่ารู้ช่วยเพิ่มอรรถรสในการท่องเที่ยวชนได้เป็นอย่างดี ในหลายพื้นที่รอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีการจัดตั้งวิสาหากิจชุมชนเพื่อการนำเที่ยวและดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยวอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และนั่นทำให้เราเข้าถึงพื้นที่และหัวใจของคนท้องถิ่นได้มากกว่า
อย่างเช่น ที่ตำบลเกาะหมาก ปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ซึ่งโดดเด่นด้านกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ก็มีกลุ่มสมาชิกของชุมชนมากกว่า 8 กลุ่มเป็นผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมในพื้นที่ เช่น การสร้างบ้านปลา การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ กุ้งสามน้ำ กินร้อย…ปล่อยล้าน การเที่ยวแบบ Low Carbon
หรือจะเป็นในชุมชนบ้านท่าช้าง ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นชุมชนเกษตรกรรมที่มีความน่าสนใจด้านการท่องเที่ยววิถีนา และมีวิสาหกิจชุมชนท่าช้างฟื้นฟูเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสถานที่เรียนรู้ภูมิปัญญาข้าวสังข์หยด ข้าวสายพันธุ์พื้นถิ่นปลอดสารเคมีตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI)
ใครมองหาสถานที่ท่องเที่ยวแบบวันเดียวสั้น ๆ ที่นี่เหมาะกับอย่างยิ่ง เรียนรู้วิถีชุมชน ภูมิปัญญาการสีข้าวแบบโบราณ การสานกระจูดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน และการลองทำขนมคนที ของดีและอร่อยประจำชุมชน
หรือแม้แต่ในย่านเมืองเก่าสงขลา ถึงแม้ยังไม่มีการจัดตั้งวิสาหากิจชุมชนอย่างจริงจังเพราะอยู่ในช่วงเริ่มต้นรวมกลุ่มคนในพื้นที่ แต่ก็มีประธานชุมชนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการผลักดันการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอย่างแข็งขันสอดรับกับหลักเกณฑ์ของ อพท.
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นองค์กรที่มุ่งพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษทั่วประเทศ ตามแนวทางของเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) เพื่อสร้างชุมชนแห่งความสุข มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของร่วมกัน เกิดการกระจายรายได้ มีความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม คงสภาพแหล่งท่องเที่ยวให้มีความงดงาม สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม และวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม
4
เสน่ห์ความหลากหลายทางธรรมชาติ
ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็น ‘ลากูน’ หรือ ทะเลสาบน้ำเค็มชายฝั่งแห่งเดียวในไทย และเป็นหนึ่งในลากูน 117 แห่งทั่วโลก เป็น ‘ทะเลสาบสามน้ำ’ ที่ประกอบด้วย น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็มผสานผสมปะปนกัน มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก คือ ทะเลน้อย ทะเลสาบตอนบน ทะเลสาบตอนกลาง และทะเลสาบตอนล่าง รวมถึงเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศแบบผสมผสาน คือ ป่าดิบชื้น ป่าชายเลน ป่าพรุ แหล่งน้ำจืด และทะเลสาบ
กิจกรรมห้ามพลาดคือการล่องเรือชมธรรมชาติกลางทะเลสาบสงขลากับชุมชนเกาะหมาก ในอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง รวมถึงล่องเรือชมควายน้ำกลางทะเลน้อย และยังมีสวนพฤกษศาสตร์พนางตุง หรือชื่อเดิมคือ สวนพฤกษศาสตร์พัทลุง ซึ่งมีเนื้อที่กว่าหกพันไร่และเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองยวน ซึ่งมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะสั้นกลางป่าพรุให้เราได้เรียนรู้เรื่องธรณีวิทยาและเป็นแหล่งดูนกสารพันชนิด
5
ทะเลสาบสงขลาในช่วงเวลาฟ้าเปลี่ยนสี
หนึ่งในเสน่ห์ของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา คือการได้นั่งเฝ้ารอแสงแรกและแสงสุดท้ายของวันอย่างใจจดใจจ่อเพื่อบันทึกภาพท้องฟ้าเปลี่ยนสี แนะนำว่าให้ตื่นแต่เช้าแล้วหาโลเคชั่นเหมาะ ๆ เพื่อดักรอทักท้ายพระอาทิตย์ อย่างในทริปนี้เรามีโอกาสยืนดูฟ้าค่อย ๆ เปลี่ยนสีจากมืดดำสู่แดงอมส้มบนสะพานติณสูลานนท์ในช่วงรุ่งสาง มีโอกาสล่องเรือไปชมพระอาทิตย์หาดแสนสุขลำปำในยามเช้า และดูควายน้ำแช่ตัวในทะเลน้อย ทะเลสาบน้ำจืดที่คอยหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตคนในท้องถิ่นจังหวัดพัทลุง หรือการพายคายัคไปนั่งชิงช้ากลางทะเลสาบเพื่อมองแสงสุดท้ายของวันที่ชมดาว ลานยอ ก็สวยสะกดทุกลมหายใจได้จริงๆ
6
รอยยิ้มและไมตรีชาวสงขลาและพัทลุง
ตลอดเวลาที่เราอยู่ที่นี่ เราพบว่าพี่น้องชาวสงขลาและพัทลุงต่างทักทายเราทั้งด้วยภาษากลางและภาษาถิ่นสำเนียงใต้พร้อมด้วยใบหน้าที่เปื้อนยิ้ม เราพบว่าทุกคนตั้งใจอธิบายทุกข้อสงสัย จากสารพันคำถามที่เราพยายามหาคำตอบว่า ขนมที่เราได้ลองชิม อาหารที่เราได้ลิ้มรส หรือสองฝั่งทางที่รถของเราแล่นผ่านนั้นเรียกว่าอะไรกันแน่ แม้บางครั้งเราไม่อาจเข้าใจมันได้ทั้งหมด แต่เราก็พบว่าคำตอบที่แน่ชัดนั้นไม่สำคัญเท่ากับมิตรไมตรีที่เราสัมผัสได้อย่างแท้จริง
ทั้งหมดนี้คือภารกิจหนึ่งของพวกเรา บ้านและสวน Explorers Club เราสร้างพื้นที่สื่อสารสำหรับผู้อยากปันประสบการณ์จากการเดินทางให้ทุกคนรับรู้ และมองหาความร่วมมือใหม่ ๆ เพื่อผลิตสารคดีการท่องโลกที่สนุกอย่างมีสาระ โดยมีเป้าหมายหนึ่งก็คือการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อความยั่งยืน ต้องขอขอบคุณ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ที่ชักชวนเรามาช่วยกันเล่าแง่มุมที่ดีใน 6 ชุมชนน่ารัก น่าประทับใจเช่นนี้
เรื่องแบบนี้ต้องเห็นกับตา ต้องมาเจอกับตัวถึงจะเข้าใจ แนะนำเลยว่าต้องหาเวลาไปแล้วล่ะ
AUTHOR: เฟี้ยต-นวภัทร ดัสดุลย์
PHOTOGRAPHERS: ต้น-ศุภกร ศรีสกุล, ภีม-วีรวัฒน์ สอนเรียง