ภาพจำเกี่ยวกับ สลิล ยังตราตรึงกับลีลาการตีกลองในงาน Bangkok Design Week 2024 ที่ผ่านมา เป็นที่น่าจับตามองยิ่งนัก เพียงแค่เดินผ่าน ต้องหยุดฟังและชื่นชม
สลิล ชีวพันธุศรี หรือ “Salin” เป็นมือกลอง, โปรดิวเซอร์, และนักแต่งเพลงชาวไทยมีชื่อเสียงในแคนาดา ได้สร้างสรรค์ผลงานดนตรีที่เป็นนวัตกรรมด้วยการผสมผสานเครื่องดนตรีไทยอันเป็นเอกลักษณ์กับจังหวะ Afro Soul สู่แนวเพลง Isan Funk ที่ไม่เหมือนใคร
ความสามารถของ สลิล สะท้อนผ่านผลงานร่วมกับศิลปินระดับโลกอย่าง Dominique Fils-Aimé และได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางในวงการดนตรีนานาชาติ สลิลไม่เพียงแต่เป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียงเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมที่ก้าวข้ามขอบเขตและสร้างสรรค์ เป็นสะพานเชื่อมโลกดนตรีไทยกับเสียงเพลงสากลได้อย่างลงตัว
จากวันนั้นที่ได้ยืนชมเธอแสดงที่ไปรษณีย์กลาง บางรัก จนเกิดเป็นความประทับใจว่าเธอคือใคร โชคดีที่เรามีคนรู้จักคนเดียวกัน และทราบมาว่าสลิลกำลังมีโปรเจ็กต์เกี่ยวกับดนตรีชนเผ่าที่ผมเคยไปมาก่อนหน้านี้แล้ว ยิ่งทำให้อยากรู้เรื่องราวของเธอมากขึ้น จนนำไปสู่การพูดคุยกันเรื่องดนตรี
1
แรงบันดาลใจจากเสียงไวโอลินของพ่อ
การเดินทางของสลิลในโลกดนตรีเริ่มต้นจากเสียงไวโอลินของคุณพ่อที่เป็นแรงบันดาลใจให้เธอหลงใหลในเสียงดนตรี
“ทุก ๆ เช้าสลิลจะได้ยินเสียงไวโอลินของคุณพ่อ ก่อนไปทำงาน มันเป็นภาพจำที่ส่งต่อให้สลิลหลงใหลในเสียงดนตรี”
สลิล อ่านว่า สลิน เกิดและเติบโตที่เมืองไทยแล้วย้ายไปที่นอร์ทอเมริกาตอนอายุ 19 ปี ด้วยพื้นฐานครอบครัวที่ดีทำให้สลิลเริ่มต้นเล่นและเรียนเปียโนมาตั้งแต่เด็ก ๆ ประมาณ 6 ขวบ ก็เหมือนกับหลาย ๆ ครอบครัวที่มีลูกก็อยากให้เด็ก ๆ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
การเรียนดนตรีและศิลปะก็เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่พอเรียนเปียโนถึงอายุ 12 ขวบ “นิ้วสลิลสั้น” เธอบอกอย่างนั้น นิ้วไม่ถึง อ็อกเทฟ (ช่วงเสียงของโน้ตคู่ 8 นิ้วสั้นไม่สามารถวางนิ้วได้) จนโดนพ่อล้อ จากนั้นจึงเริ่มมองหาดนตรีอื่นเล่น อย่าง กีตาร์ และกลอง
แต่การมาเรียนกลองของเธอมันเริ่มมาจาก “วันนั้นไปเรียนกีตาร์แล้วคุณแม่เห็นว่าครูสอนตีกลองตลกและสนุกดีเลยให้เรียนกลองในช่วงว่าง ๆ
“พอเริ่มตีกลองเป็นสลิลก็มักกลับมาซ้อมที่ห้องนี้แหละ (ห้องที่ผมกับสลิลนั่งคุยกัน) แล้วอัดคลิปลง Youtube คนดูเยอะมากเป็นล้านวิวนะ แล้วพี่เท็ดดี้ (วงฟลัว) – ธีรดล ธีโอดอร์ แกสตัน มาเห็นเลยติดต่อมาชวนให้สลิลไปเล่นให้กับพี่อร – อรอรีย์ ตอนนั้นสลิลอายุ 17 ปีเอง ดีใจมากที่ได้เล่นดนตรีอาชีพและคิดว่านี่แหละคือสิ่งที่สลิลหลงใหล”
แม้จะมีอุปสรรคเรื่องนิ้วที่สั้น แต่เธอก็ไม่ยอมแพ้และหันไปเล่นกลองและกีตาร์ การเรียนรู้และการทำงานอย่างหนักทำให้เธอได้รับโอกาสที่จะเล่นดนตรีอาชีพและได้เป็นส่วนหนึ่งของวงดนตรีที่มีชื่อเสียงอย่าง “อรอรีย์”
2
โลกของดนตรีที่แคนาดา
เส้นทางดนตรีในเมืองไทยต้องยุติลง เพราะถึงเวลาต้องไปเรียนต่อเมืองนอก
“สลิลเลือกเรียนคณะมนุษย์ศาสตร์ค่ะ ในระหว่างที่เรียนไม่เคยทิ้งเรื่องดนตรีเลยค่ะ ก็มีไปลงเรียนกลองเป็นการเรียนเสริมเพิ่มทักษะให้ตัวเอง และคิดว่าการที่ไปเรียนกลองเพิ่มนั้นทำให้สลิลได้รู้จักกับมือกลองระดับโลก ซึ่งเรามองว่ามันเป็นโอกาสที่ดี คือมันเปิดโลกด้านการดนตรีของสลิลเลยนะ
“ตอนที่มาอยู่แคนาดารู้ตัวเองแล้วว่าอยากทำงานด้านกลอง ก็เริ่มมีคนมาเรียกไปอัดเพลงบ้าง ไปทัวร์บ้าง เริ่มจริงจังมากขึ้น ทำวงดนตรีออนทัวร์ พอเราอยู่ที่แคนาดามันทำให้สลิลได้ฟังเพลงมากขึ้น อย่างเพลงโซล ฟังก์ และเริ่มทำวงเป็นของตัวเอง
“แนวเพลงก็ประมาณ แอฟโฟรฟังก์ จะมีกลิ่น แจ๊ส และอีสานบ้านเราผสมกัน เดิมทีสลิลเล่นเพลงร็อก ซึ่งต่างกันมาก สลิลมีวงเป็นของตัวเองชื่อ Salin & The Infinite Connection เราเป็นวงที่จะเข้าถึงทุกๆคนได้ง่าย”
3
การค้นหา
พอมีวงเป็นของตัวเอง คิดทำอัลบั้มเป็นของตัวเองออก อัลบั้ม “Cosmic Island” เป็นอัลบั้มที่เหมือนสลิลกำลังหาแนวเพลงของตัวเองอยู่
“เหมือนเราดึงแนวเพลงส่วนที่เราชอบออกมาใช้เป็นงานตัวเอง ทำเองทุกอย่างทั้งดนตรีและเขียนเนื้อเพลง อย่างที่บอกค่ะว่า สลิลชอบโซล ฟังก์ ฮิบฮอป ชุดแรกเหมือนได้ explore แม้นกระทั้่งเงินทำเพลงก็ออกเอง (หัวเราะ)
“แต่พอทำไปแล้วมันมีความรู้สึกว่าไม่เห็นมีใครพูดถึงดนตรีไทยเลย ถ้ามีก็จะเป็นดนตรีอีสานเลย ไม่มีการนำเอาดนตรีอีสานไปผสมผสาน ทีนี้ตอนที่อยู่แคนาดา มีเพื่อนชาวคองโก เขาเล่นดนตรีพื้นเมืองของเขา แล้วเรารู้สึกว่ามีความคล้ายดนตรีอีสานบ้านเรา จึงเริ่มคิดนำดนตรีอีสานมาใช้ในงานเพลงของเรา
“ที่เลือกดนตรีอีสานเพราะสลิลรู้สึกว่าดนตรีเขามีความสนุก และมีความแบบ improvise ไปเรื่อย ๆ สนุกดี เหมือนแจ๊ส การตั้งเสียงเครื่องดนตรีก็ไม่มีปัญหา อย่างแคนนี่มีทั้งคีย์ C D G และในแคนแต่ละตัวนี่เราสามารถเล่นได้สองคีย์ เราก็ต้องเลือกคีย์ที่เขาเล่นได้ จะบอกว่าดนตรีอีสานมันสามารถเล่นร่วมกับดนตรีสากลได้โดยไม่ต้องปรับแต่งอะไรเยอะ”
4
ดนตรีอีสานและชาติพันธุ์ญัฮกุร
“หลังจากที่รู้ตัวว่าจะได้มาเล่นที่งาน Bangkok Design Week 2024 ก็เป็นช่วงเวลาเดียวที่คิดจะทำโปรเจ็กต์ดนตรีของทางภาคอีสาน ได้ติดต่อพี่เท็ดดี้ (วงฟลัว) ว่าอยากจะไปศึกษาดนตรีอีสานมีใครแนะนำหรือพาไปศึกษาได้ไหม แล้วพี่เขาแนะนำพี่เต้าหู้ – ณฤต เลิศอุตสาหกูล (ไกด์และนักพัฒนาชุมชนญัฮกุร ชัยภูมิ) พี่หู้เป็นคนที่พาสลิลมารู้จักกับชาติพันธุ์ญัฮกุร
“การที่เราจะทำดนตรีที่เราไม่รู้จักมันเลยเนี่ยค่อนข้างยาก เราต้องเรียนรู้ แล้วสลิลก็มีเวลาที่ค่อนข้างน้อยด้วยที่จะอยู่ที่เมืองไทย ทุกอย่างเวลาเป็นตัวเร่งทั้งหมด สลิลเริ่มด้วยการไปอยู่ร่วมกับชาวญัฮกุร 10 วันเพื่อศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ไปจนถึงเรื่องของดนตรี
“ระหว่างที่อยู่ในชุมชนก็พยายามเก็บรายละเอียดให้ได้มากที่สุด น่าเสียดายที่ปัจจุบันนี้เด็ก ๆ ในหมู่บ้านไม่มีใครสนใจในเครื่องดนตรีพื้นบ้านของชาวญัฮกุรเลย ไม่มีการสานต่อจริงจัง ทั้งในเรื่องการฟ้อนรำที่เป็นเอกลักษณ์ที่น่าสนใจและควรสืบทอดให้คงอยู่ต่อไป”
“พอเราเข้าไปเหมือนเป็นคนนอกที่พาฝรั่งกลุ่มหนึ่งไปถ่าย VDO ไปทำดนตรี เด็ก ๆ เห็นว่ามีต่างชาติให้ความสนใจ พวกเขาเลยมีใจ มีกำลังใจ อยากกลับมาเล่น อยากมาอนุรักษ์ ก็เข้าใจนะว่าสานต่อแล้วไม่มีคนดูมันก็เหนื่อยเปล่า แต่นี่เราทำให้เขาเห็นว่ามีคนอีกหลายคนหลายกลุ่มสนใจนะ มันเลยเป็นเหมือนแรงกระตุ้นให้เด็ก ๆ มาสนใจอีกครั้ง
“ลองเล่นจุ๊บเปิ่ง ก็มีเด็ก ๆ มาล้อมวงเล่นกันสนุกมาก”
สลิลเชื่อว่า ดนตรีของสลิลมีส่วนช่วยให้ชาวญัฮกุรรื้อฟื้นวัฒนธรรมดนตรีให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และส่งผลให้เด็ก ๆ น้อง ๆ ในหมู่บ้านอยากจะสืบทอดดนตรีในหมู่บ้าน และตัวเธอก็เป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยเผยแพร่ดนตรีของญัฮกุรออกไปสู่โลกภายนอกให้เป็นที่รู้จักด้วย
“จริง ๆ นะตอนทำโปรเจคต์นี้อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าดนตรีอีสานมันมีความคล้ายกับดนตรีชนเผ่าทางแถบแอฟริกาด้วยนะ มีกลิ่นอายที่คล้าย ๆ กัน มันเป็นวัฒนธรรมดนตรีที่เจ๋งมาก สลิลคิดว่าการที่นำดนตรีญัฮกุรมารวมกันกับแจ๊ส ฟังก์ได้เนี่ยเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ๆ สู่ชาวโลกได้ทางหนึ่งด้วย”
5
ดนตรีเชื่อมโยงวัฒนธรรม
“คุณค่าของงานอยู่ที่คุณค่าของเรา และการเป็นนักดนตรีที่ไม่มีชื่อเสียงไม่ได้ทำให้เรารู้สึกแย่ เราไม่ได้ต้องการดังอยู่แล้ว เป้าหมายของเราอยู่ที่การทำดนตรี ดนตรีมันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาก มันเป็นสิ่งที่เราไม่ได้ทำเพื่อเงิน ถ้าคิดว่าทำเพื่อเงินสลิลคิดว่าสลิลไปทำอย่างอื่นดีกว่า
“ดนตรีมันเป็นอาร์ต เราจริงใจต่อตัวเอง ถ้าเราทำดนตรีดีๆออกไปคิดว่ามันส่งเสริมจิตใจคน
“จากวัยเด็กที่ใฝ่ฝันอยากเป็นมือกลอง จนมีผลงานได้รับรางวัล JUNO AWARDS ทั้งยังได้ทำงานจนถึงวันนี้ ก็คิดว่าเราสำเร็จแล้วส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็จะเป็นการทำงานร่วมกับศิลปินของแคนาดาท่านอื่น ๆ โดยมากก็จะเป็นโปรดิวเซอร์ให้เขา แล้วพวกเขาเหล่านั้นได้รับรางวัล JUNO Nominees ยิ่งทำให้เรารู้ว่านี่แหละคือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในเส้นทางดนตรีของสลิลแล้ว”
การเชื่อมโยงวัฒนธรรมและการสร้างสรรค์ผลงานที่ไม่เหมือนใคร ทำให้สลิลเป็นที่จดจำและเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทั่วโลก การแสดงของเธอที่ Bangkok Design Week 2024 เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของความสามารถและความมุ่งมั่นของเธอในการเชื่อมโยงวัฒนธรรมผ่านเสียงดนตรี
“และอย่าลืมติดตามผลงานนะคะ การมาที่ญัฮกุรนี้ สลิลออกมาสองสามเพลง จะออกช่วงเดือนเมษายน”
EXPLORER: สลิล ชีวพันธุศรี
AUTHOR: ตู่-ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
PHOTOGRAPHER: ศุภกร ศรีสกุล