Type and press Enter.

ลงพื้นที่อนุรักษ์กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าคลองลาน

อุทยานแห่งชาติคลองลาน

หากคุณเคยไปท่องเที่ยวตามอุทยานแห่งชาติ มักเห็นเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติอยู่ควบคู่ด้วยเสมอ เกือบทุกอุทยานฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเส้นทางสั้น ๆ ที่มีการพัฒนาเส้นทางแล้วและมีความปลอดภัย ซึ่งภาษาราชการเรียกว่า “พื้นที่ให้บริการ” ในขณะที่บางอุทยานฯก็ประกาศเป็น “พื้นที่อนุรักษ์” และไม่เปิดให้เป็นพื้นที่ให้กับประชาชนทั่วไปได้เข้าถึง อุทยานแห่งชาติคลองลาน

ด้วยความสงสัยปนหลงใหล ทีมงาน ‘National Geographic ฉบับภาษาไทย’ และ ‘บ้านและสวน Explorers Club’ ได้ขออนุญาตติดตามการทำงานของหน่วยลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) ที่มีชื่อเรียกขานว่า “พญาเสือ 51” เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าคลองลาน แห่ง อุทยานแห่งชาติคลองลาน เข้าไปยังพื้นที่อนุรักษ์เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจว่าผืนป่าแห่งนี้มีความสำคัญอย่างไรและเกี่ยวข้องอย่างไรกับ ผืนป่าตะวันตก* กับเส้นทางที่ไม่มีทางในป่าลึก เพราะตลอดสองข้างทางเป็นป่ารกชัฏ มองไม่เห็นเส้นทางเดินชัดเจนและเสี่ยงต่อการหลงป่าหากไม่มีเจ้าหน้าที่มาด้วย

อุทยานแห่งชาติคลองลาน
อุทยานแห่งชาติคลองลาน
อุทยานแห่งชาติคลองลาน

เส้นทางลาดตระเวนและภารกิจกับพญาเสือ 51 ครั้งนี้เราไปกันที่บริเวณหัวน้ำตกคลองลาน และหมู่บ้านเก่า จากการเก็บข้อมูลพื้นที่บริเวณนี้มักเป็นที่ที่พบผู้กระทำผิดอยู่บ่อย ๆ ระยะทางโดยประมาณ 8 กิโลเมตร จากที่ทำการอุทยานฯ สองข้างทางเป็นป่ารกที่ไม่มีร่องรอยทางเดินที่ชัดเจน ต้องใช้ความชำนาญอย่างมากในการจดจำเส้นทาง พร้อมทั้งดู GPS ควบคู่กันไปด้วย เกือบตลอดเส้นทาง มีลำธารน้ำไหลผ่านให้เห็นเป็นระยะ

ลงพื้นที่อนุรักษ์กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าคลองลาน
อุทยานแห่งชาติคลองลาน
อุทยานแห่งชาติคลองลาน

ไม่นานก็เดินมาถึงบริเวณหัวน้ำตก จะมีลักษณะเป็นธารน้ำไม่ใหญ่มาก แต่น้ำไหลแรง และอันตราย ก่อนที่จะไหลลงไปสู่ยังน้ำตกคลองลานเบื้องล่าง จากนั้นเดินลึกเข้าไปในป่า ก็จะเห็นธารน้ำสวยใสที่ไหลไปตรงบริเวณหัวน้ำตก

พี่สมหมาย ขันตรี หัวหน้าชุดพญาเสือ 51 เล่าว่า “มักจะมีผู้ลักลอบขึ้นมาเที่ยวตรงจุดนี้และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เป็นจุดที่สุ่มเสี่ยงต่อปัจจัยคุกคามจากคนจุดหนึ่ง”

อุทยานแห่งชาติคลองลาน
อุทยานแห่งชาติคลองลาน

จุดต่อไปเป็นหมู่บ้านเก่าที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นหมู่บ้านของชาวบ้านกะเหรี่ยง และเป็นพื้นที่เกษตรกรรมมาก่อน ก่อนที่จะประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ แล้วอพยพชาวบ้านลงไปอยู่ด้านล่าง ผ่านไปสามสิบกว่าปี พื้นที่หมู่บ้านเก่าตรงจุดนี้กลับมาเขียวครึ้มอีกครั้งจนไม่เหลือร่องรอยของหมู่บ้านในอดีตให้เห็น

บริเวณไม่ไกลกันก็เป็นน้ำตกลานเท เป็นที่พักผ่อนประจำหมู่บ้านในอดีต ปัจจุบัน น้ำตกลานเทไม่ได้เปิดให้บริการ ด้วยเพราะว่าอยู่ในป่าลึก และเป็นพื้นที่ในเขตอนุรักษ์ ระหว่างทางเดินป่าเราพบรอยเท้าสัตว์กีบแบบสด ๆ ให้เห็นเป็นระยะว่าเพิ่งผ่านทางนี้ไปไม่นาน ทุกครั้งที่พบรอยเท้าสัตว์ป่า เจ้าหน้าที่จะทำการวัดขนาดและถ่ายรูปพร้อมทั้งบันทึกข้อมูล GPS ที่เจอว่าพบตรงจุดไหน เส้นทางลาดตระเวนนี้อยู่ในแผนการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายป่า ซึ่งจะต้องออกตรวจทุกเดือน บางครั้งมีเส้นทางอื่นด้วยแต่สุดท้ายก็จะมาลงที่เส้นทางนี้

*ผืนป่าตะวันตก คือผืนป่าขนาดใหญ่ที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วยผืนป่าอนุรักษ์ที่ประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวมกันทั้งหมด 17 แห่ง ครอบคลุมอยู่ในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ จังหวัดตาก จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีขนาดพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 12 ล้านไร่ หรือ 18,727 ตารางกิโลเมตร มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาที่สลับซับซ้อน มีความสูงจากระดับทะเลตั้งแต่ 150-2,100 เมตร เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัยตอนล่าง ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

จากลักษณะของภูมิประเทศที่เป็นแนวเชื่อมต่อของแนวเทือกเขาจากตอนเหนือและตอนใต้ ผืนป่าตะวันตกจึงถูกจัดอยู่ในเขตชีวภูมิศาสตร์เทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งมีความพิเศษทางด้านศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ป่าที่มาบรรจบกันจากด้านทิศเหนือที่เชื่อมต่อกับเทือกเขาหิมาลัย ด้านทิศใต้จากมาเลเซีย ด้านตะวันออกจากอินโดจีน และด้านตะวันตกจากพม่า ส่งผลให้ผืนป่าตะวันตกมีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในระดับพันธุกรรม ระดับชนิด และระดับสังคมสูงกว่าผืนป่าอื่นๆ ในประเทศไทย อีกทั้งพื้นที่ใจกลางผืนป่าตะวันตกกว่า 3 ล้านไร่ อันประกอบไปด้วยพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทยอีกด้วย

อุทยานแห่งชาติคลองลาน

จากหลักฐานทางวิชาการล่าสุดชี้ให้เห็นว่าผืนป่าแห่งนี้เป็นบ้านและแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของเสือโคร่งและ สัตว์ป่าหายากหลายชนิด จากความสำคัญดังกล่าว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature: WWF) ประเทศไทย ได้จัดทำ “โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน” โดยมีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อ ภายใต้ข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้องและเพียงพอ เพื่อป้องกันการกระทำผิดทางกฎหมาย ต่อทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเสือโคร่งจัดว่าเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า เสือโคร่งเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ และจะอาศัยในผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์เท่านั้น ดังนั้นป่าคลองลานจึงจัดว่าเป็นแหล่งอาหารสำหรับเสือโคร่ง โดยมุ่งเน้นที่การฟื้นฟูสัตว์กีบที่เป็นอาหารของเสือโคร่งเป็นหลัก

อ่านเนื้อหาต้นฉบับแบบเต็ม ๆ ได้ที่ https://ngthai.com/travel/30772/klong-lan

[ Explorers ]
เจ – จี้ด – ตู่

ข้อมูลอ้างอิง
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
เพจมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า

ขอขอบคุณ
คุณสุระชัย โภคะมณี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติคลองลาน
คุณพงศธร ธีรศรีศุภร ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติคลองลาน
คุณสมหมาย ขันตรี พนักงานพิทักษ์ป่า หัวหน้าชุดพญาเสือ 51

เดินป่า-ล่องแคนู โรงเรียนนักเดินป่า อุทยานแห่งชาติแม่เงา

ปั่นทัวริ่ง แคมปิ้ง 9 อุทยานแห่งชาติภาคใต้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *