กรุงเทพมหานครนั้นเริ่มเปิดเส้นทางสัญจรเรือโดยสารสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% ให้บริการใน คลองผดุงกรุงเกษม ช่วงหัวลำโพง-เทเวศร์ ระยะทาง 5 กิโลเมตร มาตั้งแต่ปลายปีก่อน ทว่าพวกเราสามคนต่างก็ยังไม่เคยมีโอกาสได้มาลองนั่งจริงจังเลยสักที
ในแง่สาธารณะประโยชน์ของ คลองผดุงกรุงเกษม นั้น พวกเราคิดว่ามันดีกับสิ่งแวดล้อมและคนใช้งานจริงแน่ ๆ แต่ในแง่ความรู้สึกลึก ๆ ก็ยอมรับว่าแอบปรามาสไว้ บรรยากาศคงไม่ดีพอให้ใจพองโตเหมือนนั่งเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแน่
แต่เพื่อไม่ให้เป็นคำถามที่ค้างคาอยู่ข้างใน พวกเราสามคนในฐานะตัวแทนจากบ้านและสวน ExplorersClub จึงทำการบ้านคร่าว ๆ สร้างทริปสั้น ๆ ชวนกันออกไปถ่ายภาพชีวิตผู้คนและตึกรามบ้านช่องสองฝั่งคลองผดุงฯ แล้วถือโอกาสนี้ไปลองนั่งเรือไฟฟ้าไป-กลับ โดยเริ่มจากปลายสายที่ท่าเรือตลาดเทวราช บริเวณปากคลองตรงหน้าวัดเทวราชกุญชร เขตดุสิต ไปถึงต้นสายที่ท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง บริเวณสะพานเจริญสวัสดิ์ 36 ถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน เพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่เราคิดนั้น ถูก หรือ ผิด กันแน่
แล้วคำตอบที่ได้หลังจากได้ลองนั่ง ใช่ เราคิดผิด!
คิดไม่ถึงเหมือนกันว่าการนั่งเรือเล่นในคลองผดุงฯ ชั่วโมงนี้จะทำให้จิตใจร้อนรุ่มกลับเย็นลงได้ชะงัก บรรยากาศระหว่างทางมีเสน่ห์พิลึกจนเราสามคนหยุดลั่นชัตเตอร์ไม่ได้สักนาที เราเห็นยอดอาคารไทยรวมทุนที่โผล่กลางต้นหางนกยูงริมถนนกรุงเกษม เห็นดอกเฟื่องฟ้าสีชมพูบานสะพรั่งตัดกับรั้วลวดหนามที่โผล่เหนือผิวน้ำในคลองเปรมประชากรข้างทำเนียบรัฐบาล หรือแม้แต่ที่ทำการองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยที่มองเห็นได้เพียงแค่หลังคา ฯลฯ
มันเป็นครั้งแรกที่ทำให้เราเห็นพ้องต้องกันว่าเจอมุมมองต่างออกไปจากที่เคยเห็นบนท้องถนน แม้อีกมุมหนึ่งก็น่าใจหาย เมื่อบรรดารถรา ร้านรวง และผู้คนที่เคยอึกทึกคึกคัก กลับกลายเป็นความเปลี่ยวเหงายิ่งกว่ากรุงเทพฯวันอาทิตย์ เพราะถูกพิษโควิดเล่นงานจนแทบไม่เหลือเค้าเดิมที่เคยรู้จักเลยก็ตาม
10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นความเร็วโดยเฉลี่ยของเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าไร้ควันพิษ ทั้งยังให้เสียงแผ่วเบาจนแอบได้ยินผู้คนสองฝั่งคลองคุยกัน เรานั่งจากต้นสายไปสู่ปลายสายโดยใช้เวลาราว 30 นาที เป็นระยะทางราว 5 กิโลเมตร กินพื้นที่ครอบคลุมเขตดุสิต, พระนคร, ป้อมปราบศัตรูพ่าย และปทุมวัน โดยแล่นผ่านท่าเรือให้เทียบจอดรับผู้โดยสารทั้งหมด 11 ท่า ไล่จากท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง (ต้นสาย), ท่าเรือหัวลำโพง, ท่าเรือนพวงศ์, ท่าเรือยศเส, ท่าเรือกระทรวงพลังงาน, ท่าเรือแยกหลานหลวง, ท่าเรือนครสวรรค์, ท่าเรือราชดำเนินนอก, ท่าเรือประชาธิปไตย, ท่าเรือเทเวศร์ ไปจรดที่ท่าเรือตลาดเทวราช (ปลายทาง) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นช่วงธรรมดาหรือเวลาเร่งด่วน จะเจอเรือไฟฟ้าล่องมาสวนกันอย่างน้อย 1 ครั้งเสมอทั้งขาไปและขากลับ
นั่งเรือล่องคลองก็ต้องลอดใต้สะพานเป็นเรื่องปกติ แต่ความพิเศษของการล่องเรือในคลองผดุงกรุงเกษม คือการได้ลอดท้องเทวดา นั่นก็เพราะว่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้มีการสร้างสะพานข้ามคลองผดุงฯ 5 แห่ง พร้อมกับพระราชทานนามอันเป็นมงคลให้ทุกแห่งคล้องจองกันโดยเรียกสะพานทั้ง 5 ว่าเป็นสะพานเทวดานฤมิตร หรือสะพานที่เทวดาเป็นผู้สร้างนั่นเอง
เริ่มจาก สะพานเทเศวรนฤมิตร ที่เชื่อมถนนสามเสน ตั้งอยู่ใกล้ปากคลองย่านแหล่งค้าขายและตลาดต้นไม้ในเทเวศร์, สะพานวิศสุกรรมนฤมาณ ที่เชื่อมถนนนครราชสีมา กับถนนประชาธิปไตย, สะพานมัฆวานรังสรรค์ ที่เชื่อมถนนราชดำเนินนอก ก่อนไปจรดแยกหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า ด้านหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม, สะพานเทวกรรมรังรักษ์ ที่เชื่อมถนนนครสวรรค์ ย่านนางเลิ้ง และสุดท้ายคือสะพานจตุรภักตร์รังสฤษดิ์ หรือที่หลายคนรู้จักและเรียกกันว่า สะพานขาว จุดตัดของถนนหลานหลวง ถนนลูกหลวง และถนนกรุงเกษม บริเวณย่านค้าขายเสื้อผ้าอย่างตลาดโบ๊เบ๊ และแหล่งค้าส่งผลไม้ขนาดใหญ่อย่างตลาดมหานาค ซึ่งทุกสะพานล้วนเชื่อมเส้นทางและย่านสำคัญของกรุงเทพฯ ในหลาย ๆ จุด
เมื่อเรือเข้าเทียบท่าเราตัดสินใจเดินเลียบคลองผดุงฯ ไปตามถนนกรุงเกษมอีกครั้ง บอกตามตรงว่าระยะทาง 5 กิโลเมตรนั้นไม่ไกลเลย มีเพียงอุปสรรคเดียวที่เป็นปัญหาหลัก นั่นคือสภาพอากาศที่ร้อนจัดเท่านั้นเอง!
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพตึกรามบ้านช่อง ระหว่างทางมีอาคารสวย ๆ และอาคารสำคัญ ๆ ให้หยิบกล้องออกมาบันทึกภาพได้เป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นตึกแถวที่มีฟาซาดอิฐช่องลมสุดเท่ข้างโรงแรมเดอะ ระวีกัลยา แบงค็อก ย่านเทเวศร์ คาเฟ่และที่พักในตึกเก่าย่านนางเลิ้ง บ้านเรือนสองฝั่งคลองผดุงฯ ย่านตลาดโบ๊เบ๋ ธนาคารกสิกรไทย สาขายศเส ตึกสุดเท่ของบริษัทเสรีวัฒนา เอนเทอไพรซ เด่นสง่ากลางห้าแยกนพวงศ์ เลยไปจนถึงตึกแดงและตึกขาว สำนักงานอายุร้อยปีของการรถไฟฯ โรงซ่อมบำรุง และสถานีรถไฟกรุงเทพฯ หรือหัวลำโพง แนะนำว่าช่วงบ่ายคล้อยจนถึงพลบค่ำ รับรองว่าได้ภาพแสงสวย คอนทราสจัด ๆ กลับมาเพียบ!
คลองผดุงกรุงเกษม : คลองขุดรอบพระนครชั้นนอก (ชั้นที่สาม) เป็นคลองที่เริ่มขุดเมื่อปี พ.ศ. 2394 เสร็จในปี พ.ศ. 2395 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาจากปากคลองบริเวณวัดเทวราชกุญชร ย่านเทเวศร์ ไปจรดปากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดแก้วแจ่มฟ้า ย่านสี่พระยา
เรือโดยสารคลองผดุงกรุงเกษม : ดำเนินการโดย บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เปิดให้บริการทุกวัน จันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 06.00-19.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.00-19.00 น. โดยเรือจะออกจากท่าทุก 15 นาที ในช่วงเวลาระหว่าง 06.00-09.00 น. และ 16.00-19.00 น. และออกจากท่าทุก 30 นาที ระหว่างเลวา 09.00-16.00 น. เวลาอาจมีปรับเปลี่ยนและหยุดให้บริการตามเหตุการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง
ในขณะนี้อยู่ในช่วงให้บริการโดยไม่เก็บค่าโดยสาร ฟรีตลอดสาย แต่จำกัดจำนวนผู้โดยสารเหลือเที่ยวละ 15 ที่นั่ง จากจำนวนเต็มที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 30 ที่นั่ง พร้อมวีลแชร์ 1 คัน เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคมจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลาย
เรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า : ลำเรือผลิตจากไฟเบอร์กลาส พร้อมติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ 12 แผงบนหลังคาเรือเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า แล่นด้วยความเร็วประมาณ 10-15 กิโลเมตร ต่อ ชั่วโมง เรือสามารถกลับลำได้ 360 องศา สำหรับการชาร์จแบตเตอรี่เต็มในหนึ่งครั้งสามารถใช้งานได้ยาวนานกว่า 4 ชั่วโมง นอกจากนี้เรือทุกลำมีกล้องวงจรปิด พร้อมติดตั้งระบบจีพีเอสติดตามตำแหน่งและมีศูนย์ควบคุมติดตามตรวจสอบตลอดช่วงเวลาที่ให้บริการ
อ้างอิง: https://www.thanakom.co.th/
บาสมีโอกาสได้คุยกับผู้โดยสารนิรนามคนหนึ่ง เธอบอกกับบาสว่า “การเดินทางด้วยเรือไฟฟ้าทำให้สะดวกและรวดเร็วขึ้นจากเดิมสำหรับคนที่ต้องใช้ขนส่งสาธารณะเป็นประจำแบบตัวเอง และโดยเฉพาะช่วงเวลากลางวันที่คนไม่เยอะแบบนี้”
ส่วนตัวบาสเองก็ประทับใจกับการนั่งเรือล่องคลองผดุงฯ ครั้งแรก เขาบอกว่า “นอกจากความสะดวกสบายที่ได้รับแล้ว การที่ไม่มีเสียงเครื่องยนต์มารบกวนถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ใครจะคิดว่ากลางเมืองที่มีการจราจรคึกคักติดอันดับโลกแบบในกรุงเทพฯ จะมีความรู้สึกสงบและรื่นรมย์ได้ขนาดนี้ นั่งเพลิน ๆ ชมวิวสองข้างทางไปเรื่อย ๆ อากาศถ่ายเท มีลมพัดเข้ามาตลอด บางทีก็อาจมีหลับไปบ้าง”
“ถ้าพูดถึงค่าบริการก็แอบคิดในใจว่า 10-15 บาทกำลังดี ถ้าใครรู้สึกเบื่อ ๆ ตอนกลางวันลองหนีมานั่งเรือเล่นก็เป็นอีกวิธี ที่คลายเครียดดีนะครับ”
[ EXPLORERS ]
เฟี้ยต, บาส, จี๊ด
เรื่อง: เฟี้ยต
ภาพ: จี๊ด, บาส, เฟี้ยต