กิจกรรมการปีนผาในประเทศไทยเริ่มเป็นที่นิยม รู้จัก และเข้าถึงได้มากขึ้นสำหรับผู้ที่ชื่นชอบกีฬาที่มีความท้าทาย แน่นอนที่สุด การจะทำกิจกรรมแบบนี้ได้เราต้องเดินทางไปยังจังหวัดที่มีภูเขา ส่วนในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ ๆ จะทำได้แค่ปีนผาจำลองไว้ซ้อมและฝึกมือเท่านั้น
สำหรับคนที่อยู่อเมริกา การทำกิจกรรมปีนผา เขาไปปีนกันที่ไหน แต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันอย่างไร (แน่นอนว่าต่างประเทศค่อนข้างชัดเจนในเรื่องกฏระเบียบ) ตอง อดีตกองบรรณาธิการนิตยสาร room สาวไทยที่ย้ายประเทศไปใช้ชีวิตอยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นานร่วมสิบปี ได้บอกเล่าประสบการณ์การปีนผากับผองเพื่อนที่ John Boyd Thacher State Park ส่งตรงกลับมาให้พวกเราชาวบ้านและสวน ExplorersClub ได้ตาร้อนกันเล่น ๆ หลังจากก่อนหน้านี้เธอเคยส่งเรื่องราวการขับรถตู้ไปดูใบไม้เปลี่ยนสีที่นิวแฮมป์เชียร์มาให้อ่านไปแล้ว ไปชมภาพจากตองพร้อมเรื่องราวไปพร้อม ๆ กันเลย
“วันนี้เรามาป้ายยาอีกสักหน่อยด้วยการพาไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติทางเหนือของนิวยอร์ก John Boyd Thacher State Park ที่ตอนนี้เปิดรับคนเต็มที่ ครั้งนี้เมื่อทุกคนฉีดวัคซีนกันครบแล้วก็พร้อมตกลงปลงใจไปออกทริปตั้งแคมป์ปีนผากันสักสามสี่วัน หายเครียด”
“หนึ่งปีกว่าผ่านไป ความวุ่นวายของโควิดฝั่งอเมริกาดูจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด ผู้คนได้รับวัคซีนกันไปกว่า 70% แล้ว รัฐบาลภายใต้ประธานาธิบดีไบเดนประกาศลดมาตรการป้องกันโควิดลง สถานที่ต่าง ๆ เริ่มกลับมาเปิดทำการเป็นปกติ แต่ในขณะเดียวกันหันไปดูเมืองไทยที่กลับกลายเป็นพื้นที่แห่งความสับสนอลหม่าน เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทำให้หลาย ๆ คนคิดอยากย้ายประเทศไปหาความมั่นคงในชีวิตกันบ้าง”
ที่นี่คือ John Boyd Thacher State Park ตั้งอยู่ใกล้เมือง Albany (เมืองหลวงที่แท้จริงของนิวยอร์ก) เราขับรถจาก Brooklyn ไปถึงจุดตั้งแคมป์ Thomson Lake Park ที่จะเป็นฐานของเราในช่วงสี่วันสามคืนนี้ ใช้เวลาขับรถมา 3 ชั่วโมงเศษยังไม่ทันเหนื่อยก็มาถึงแคมป์กราวน์ริมทะเลสาปที่ตอนนี้เปิดให้บริการแบบ full service แล้ว แต่ยังมีการเตือน ให้ทุกคนใส่หน้ากากเมื่อต้องใช้พื้นที่ส่วนรวม
แคมป์กราวน์แห่งนี้สะอาด กว้างขวาง และเป็นส่วนตัวแม้จะมีคนเยอะ มีห้องน้ำและห้องอาบน้ำรวมให้บริการ สามารถเลือกกางเต๊นท์หรือจะนำรถบ้านมาก็สะดวกเช่นกัน มีจุดเติมน้ำและจุดทิ้งน้ำเสียไว้บริการแบบครบวงจร ที่สำคัญราคาไม่แพงเพียงคืนละ $19 ต่อพื้นที่เท่านั้น ไม่น่าแปลกใจที่แคมป์กราวน์แห่งนี้จะถูกจองเต็มยาวล่วงหน้าไปตลอดซัมเมอร์
Thomson Lake Campground อยู่ห่างจาก Thacher Park จุดมุ่งหมายในการปีนเขาของเราเพียง 5 นาที แต่แปลกที่เราไม่เห็นนักปีนผาคนอื่น ๆ เลย คนส่วนมากที่มาพักที่นี่จะเป็นครอบครัวที่ไม่ได้มาเพื่อปีนผา แคมป์กราวน์แห่งนี้ไม่จำกัดเฉพาะนักปีนผาเท่านั้น มีทั้งเด็กเล็กและเด็กโต เรานั่งดูเด็ก ๆ ผูกมิตรกันและเดินเล่นแอบชมที่พักของคนอื่น ๆ ช่วงเวลาเย็นก่อนพระอาทิตย์ตก
เราจุดไฟ เตรียมอาหารเย็น ประเดิมมื้อแรก ด้วยสเต็กเนื้ออย่างดี ย่างบนเตาฟืนร้อน ๆ กินแกล้มกับผักย่างและเครื่องดื่มเย็น ๆ กลิ่นควันไฟจาง ๆ ลอยมาจากรอบตัวพร้อมอากาศสดชื่นเย็นสบาย เดือนพฤษภาเป็นช่วงที่อากาศดีไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป ต้นไม้แตกใบสีเขียวชะอุ่ม เต็มต้น เหมาะกับการออกมาใช้ชีวิตกลางแจ้งเป็นที่สุด
ที่นี่มีเตาถ่านให้เลือกใช้ด้วย นับว่าเป็นแคมป์กราวน์ที่ สะดวกสบายมาก มื้อเย็นของอีกวันเราใช้เตาถ่านย่างปลาแซลมอนออกมาได้อร่อยแบบไม่ต้องปรุงอะไรมาก หลังมื้อเย็นทุกคนแยกย้ายกันไปอาบน้ำและเข้านอน เตรียมตัวตื่นเช้าสำหรับโปรแกรมปีนผาวันรุ่งขึ้น
เช้าวันถัดมาเราขับรถออกจากแคมป์กราวน์ มุ่งหน้าไปยังที่ทำการอุทยาน ที่อยู่ไม่ไกลเพื่อกรอกเอกสารขอใบอนุญาตสำหรับปีนผา นักปีนจะได้รับ climbing permit โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถใช้ได้ เป็นเวลาหนึ่งปี ที่นี่เพิ่งอนุญาตให้มีกิจกรรมปีนผาได้ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างอุทยาน และนักปีนผาในพื้นที่ ลงทุนและลงแรงปรับปรุงหน้าผา และเส้นทางเดินป่าของอุทยานให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เป็นการเชิญชวน ให้นักปีนผาเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
เมื่อได้ใบอนุญาตแล้ว สามหนุ่มในทีมของเราก็มายืนชมหน้าผาปรึกษาแผนการ และเส้นทางที่จะไปปีนกัน ก่อนที่จะไปเตรียมตัวลอดช่องแคบอันเลื่องชื่อเพื่อลงไปยังเชิงเขาด้านล่าง อุทยานแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบกว้างใหญ่บนยอดเขา หน้าผาที่เห็นอยู่ไกล ๆ นั้นคือจุดที่นักปีนทั้งหลายจะไปรวมตัวกัน ส่วนพื้นที่ด้านบนนั้นเปิดให้คนทั่วไปเข้ามาใช้พื้นที่สำหรับทำกิจกรรมได้หลากหลายพร้อมชมวิวทิวเขาและยอดไม้ไกลสุดสายตา
การปีนหน้าผาที่ John Boyd Thacher State Park อนุญาตเฉพาะ Climbers with Permit เท่านั้น แต่ก่อนจะไปถึงจุดหมาย ต้องพาตัวลอดผ่านช่องแคบเพียง 8 นิ้วให้ได้เสียก่อน!
และแล้วก็มาถึงจนได้ กับช่องแคบในตำนาน Helmus Crevice ที่เบนจามิน เพื่อนนักปีนของเรา เตือนไว้ตั้งแต่แรกว่าอาจจะดูน่ากลัวสำหรับใครที่เป็นโรคกลัวที่แคบ (claustrophobia) ช่องแคบนี้เป็นเส้นทางเดียวสำหรับนักปีนผาที่จะลงไปยังตีนเขาได้ ทริปนี้จึงเหมาะสำหรับคนที่อยากเอาชนะความกลัวในที่แคบ เพราะทางเดินเข้าไปแคบมากจริง ๆ
เหตุผลของการสร้าง Squeeze Booth ไว้บริเวณปากทางเข้า เพื่อให้นักปีนผาได้ทำการทดสอบตัวเองก่อนจะลงไปในช่องแคบ ถ้าหากเราสามารถพาตัวและเป้สะพายหลังผ่านช่องจำลองนี้เข้าไปได้ นั่นแปลว่าเราผ่านการทดสอบ และสามารถไปต่อยังช่องแคบของจริงได้เลย เพราะทางเข้า ซึ่งเป็นจุดที่แคบที่สุดมีความกว้างเพียงประมาณ 8 นิ้ว สร้างความเครียดให้เราไม่น้อย ลำพังจะเอาตัวผ่านไปยังดูยาก แล้วอุปกรณ์ปีนผามากมาย ในเป้สะพายหลัง เราจะผ่านไปได้ยังไง แค่คิดก็เริ่มเครียดแล้ว
วิธีการผ่านช่องแคบนี้ไปได้คือการค่อย ๆ กระเถิบตัวทางด้านข้างลงไปทีละนิด เป้ที่สะพายไว้ต้องเอาออกมาถือและไถไปด้านข้างกับตัว นับว่าท้าทายมากสำหรับนักปีนผาที่ต้องเอาอุปกรณ์มากมายลงไปด้วย ที่สำคัญนี่เป็นครั้งแรก สำหรับเราทุกคน จึงไม่มีใครรู้ว่าทางข้างในเป็นอย่างไร
เมื่อมุดเข้ามาได้ครึ่งทาง หน้าผาสองข้างเปิดกว้างขึ้นช่วยทำให้หายใจได้คล่องขึ้นนิดหน่อย การปีนหินชัน ๆ ลงไปยังทางเดินด้านล่างพร้อมเป้หนัก ๆ ก็ทำให้ใจหวิวไม่น้อยเลย แต่ทุกคนก็ผ่านมาได้อย่างสบาย ๆ
หลังจากผ่านช่องแคบมาได้ เราเดินตามกันมาบนทางเดินแบบเรียงเดี่ยวเลียบแนวเขาที่ถูกจัดทำไว้เป็นอย่างดี พาเราไปยังเส้นทางปีนต่าง ๆ ที่กระจายตัวอยู่ตามแนวหน้าผา
การปีนผาที่นี่สามารถปีนแบบ sports lead และสามารถเซต top rope anchor ได้ เพียงแต่ไม่อนุญาติให้ปีนแบบ trad climb ที่ต้องใช้อุปกรณ์เสียบเข้าไปตามซอกหิน เนื่องจาก lime stone ของที่นี่มีความเปราะบางและหลุดร่วงออกมาได้ง่าย
เมื่อปีนผ่านจุดที่ยากที่สุดมาได้โดยไม่ตกเลย ก็จะมีสีหน้าคล้าย ๆ กับกำลังประกาศว่า เราชนะ! ใช่! ทางนี้ ฉีดวัคซีนครบและชนะจริง ๆ แล้ว คิดแล้วก็อยากให้สถานการณ์โควิดที่เมืองไทยผ่านวิกฤติไปให้ได้ด้วยดีบ้างเหมือนกัน
ที่นี่มีจุดนั่งพักระหว่างปีนรวมทั้งพักกินมื้อกลางวันกันบนขอบผาแคบ ๆ ที่มีนักปีนกลุ่มอื่น ๆ เดินผ่านไปผ่านมาแทบจะตลอดเวลา ถึงแม้จะอยู่กลางแจ้งแต่เราก็ใส่หน้ากากเป็นการป้องกันตัวเองรวมทั้งแสดงออกถึงความเคารพผู้อื่นด้วย ส่วนพวกเรานั้นก็ต้องพักทานอาหารกลางวันริมผาเช่นกัน ถ้าใครชอบที่ได้ใกล้ชิดธรรมชาติแบบชีวิตเปื้อนฝุ่นขนาดนี้ ขอแนะนำ ให้รีบออกจากบ้านมากันเลย
หมดวันและหมดแรงแล้วได้เวลาเดินกลับมายังช่องแคบวัดใจ (และวัดหุ่น) มองจากด้านล่างขึ้นไป เพิ่งรู้สึกว่ามันชันกว่าที่เห็นตอนขาเข้ามา แต่ไม่รู้ว่า คนส่วนใหญ่จะเป็น เหมือนกับพวกเราหรือเปล่า ที่คิดว่าการปีนขึ้นง่ายกว่าการปีนลงมากอยู่ หลังจากจบทริปนี้แล้วเราแอบสรุปเอาเองว่า Helmus Crevice นี่เป็นไฮไลท์ของทริปนี้เลยทีเดียว
พามาเที่ยวที่แปลก ๆ กับกิจกรรมสุดมันในอเมริกาแล้ว ไม่แน่ใจว่าเป็นการป้ายยาให้ใครอยากย้ายประเทศเพิ่มขึ้นรึเปล่า แต่ต่อให้ยังย้ายไม่ได้ เราก็จะยังแนะนำทุก ๆ คนที่รักการผจญภัยและรักการใช้ชีวิตกลางแจ้งได้มาสัมผัสประสบการณ์แบบที่เราได้รับบ้าง อยากให้ทุกคนได้มาเห็นการจัดการที่ดีของอุทยานแห่งชาติ ที่ดูแล้วมีแต่ข้อดี สร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง
[ Explorers ]
ตอง, ตู๋ และผองเพื่อน
ขอบคุณเรื่องจาก ตอง-ฐิตวันต์ ไชยวงศ์ และภาพจาก วราทิตย์ อุทัยศรี, ฐิตวันต์ ไชยวงศ์, Benjamin Bojko, Richard The, Yasamin Ghanbari