Type and press Enter.

เที่ยวทุ่งกะมังในหน้าหนาว ให้เขาเยียวยาหัวใจและสุขภาพ

เที่ยวทุ่งกะมัง ให้เขาเยียวยาหัวใจและสุขภาพ

ตามสุวิมล สงวนสัตย์ และชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ ไปเที่ยวให้เขาเยียวยาหัวใจและสุขภาพที่ทุ่งกะมัง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ

เชื่อว่าช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาหลายคนอึดอัดกับการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” และอยากหาโอกาสออกไปสัมผัสธรรมชาติบ้าง ฉันก็เป็นหนึ่งในนั้น เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในระลอกใหม่เริ่มคลี่คลายและผู้คนจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดไม่ต้องกักตัวอีกต่อไป ฉันก็วางแผนไปค้างแรมที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวในทันที (หรืออย่างมากก็จะถือว่าเป็นการไปกักตัวในป่า!) ซึ่งประจวบเหมาะกับช่วงที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ว่าอุณหภูมิจะลดลงอีกครั้ง ในขณะที่สายเดินป่าและแคมปิ้งอาจแย้งว่าป่าสวยสมบูรณ์ที่สุดในหน้าฝน ฉันกลับเห็นว่าป่าในหน้าหนาวอาจจะดูแห้งแล้งไร้ชีวิตชีวาก็จริง แต่เป็นโอกาสที่จะได้สัมผัสอากาศเย็น สายหมอกยามเช้าและดาวเต็มฟ้าเมื่อไม่มีเมฆมาบดบัง

ทุ่งกะมัง

เนื่องจากภูเขียว – ทุ่งกะมังเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจึงต่างจากอุทยานแห่งชาติ ต้องมีการทำเรื่องขออนุญาตเข้าและจองที่พักล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ ตอนแรกวางแผนไว้ว่าไปเสาร์/กลับอาทิตย์ แต่ทางเจ้าหน้าที่แนะนำว่าหากอยากหลีกเลี่ยงผู้คน ให้เข้าวันอาทิตย์กลับวันจันทร์จะดีกว่า จึงได้ตกลงตามนั้น ซึ่งความจริงแล้วที่นี่ก็ไม่ได้มีปริมาณนักท่องเที่ยวมากมายขนาดนั้นหากจะเปรียบเทียบกับประเภทอุทยานแห่งชาติ เช่น เขาใหญ่ แต่ฉันเลือกที่จะพบปะผู้คนน้อยที่สุด ด้วยสถานการณ์โควิดก็ยังไม่น่าไว้วางใจ

ทุ่งกะมัง

เรื่องการเดินทางไปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว – ทุ่งกะมังถือว่าสะดวกก็จริง รถสามารถเข้าไปจอดบริเวณใกล้บ้านพักหรือลานกางเต็นท์ได้ แต่บนนั้นไม่ได้มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรมากมายอีกทั้งไม่มีอาหารขาย อุปกรณ์ที่เตรียมไปจึงหนักไปทางสิ่งที่ต้องใช้ในการหุงหาอาหารและของสด สำหรับคนรักสบาย ที่นี่อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์นักเพราะว่าบ้านพักก็เป็นบ้านไม้ค่อนข้างโทรม น้ำประปาไม่มีใช้ (น้ำอุ่นยิ่งไม่ต้องพูดถึง) ไฟฟ้าไม่มี สัญญาณโทรศัพท์ไม่มี เพราะฉะนั้น หากจะมาศึกษาธรรมชาติ ขอให้เตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อน

ทุ่งกะมัง
นกโพระดกคอสีฟ้า (blue-throated barbet)

ภาพแรกที่ได้เห็นคือตรงลานกางเต็นท์มีกวางแซมบาร์นอนอยู่และนกขุนแผนหลายคู่กระโดดกันไปมาในต้นไม้ ช่วงบ่ายแดดยังค่อนข้างแรง สัตว์ต่าง ๆ จึงยังไม่ออกหากินกันและอาศัยร่มเงาไม้น้อยใหญ่นอนพักผ่อน หากจะไปเดินศึกษาธรรมชาติในทุ่งกะมังจึงขอแนะนำให้ไปตอนแดดร่มลมตกจะได้เห็นกิจกรรมของสัตว์ป่าเยอะกว่า

ส่วนของทุ่งกะมังมีพื้นที่ประมาณ 5,000 ตารางกิโลเมตรและสูง 900 เมตรเหนือระดับทะเล มีลักษณะเป็นทุ่งโล่งกว้าง รายล้อมไปด้วยป่าดิบชื้น ข้อดีของการมาเยือนพื้นที่ป่าในหน้าหนาวคือไม่ต้องกังวลใจกับทาก (อันนี้ขอสารภาพแบบไม่อายเลยว่าเข้าป่าทีไรก็อดกลัวทากไม่ได้ แต่ครั้งนี้ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ว่าไม่มีแน่นอน) ช่วงสี่โมงเย็นไปแล้วอากาศประมาณ 25 องศาเซลเซียสจึงกำลังเย็นสบายสำหรับการเดินดูชีวิตสัตว์ป่า ซึ่งกวาง เก้งและเนื้อทรายจะออกหากินกันค่อนข้างคึกคักในเวลานี้

ทุ่งกะมัง
นกเงือก

ความพิเศษของทุ่งกะมังคือเป็นถิ่นที่พบเนื้อทรายค่อนข้างมาก ในประเทศไทยเหลือประชากรเนื้อทรายเพียงแค่สองที่เท่านั้นคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หากมองผ่าน ๆ อาจแยกไม่ออกว่าไหนเนื้อทรายไหนกวาง แต่เนื้อทรายจะตัวเล็กกว่า ลักษณะป้อม ๆ กว่าและส่วนเขาจะดูคล้ายกำมะหยี่ ตาของเนื้อทรายยังกลมโต เหมือนที่คนโบราณพูดว่า “ตาหวานเหมือนเนื้อทราย” ซึ่งพอได้มาเห็นตัวเป็น ๆ ใกล้ ๆ ถึงได้เข้าใจคำเปรียบเปรยนี้ ช่วงที่ไปได้เห็นลูกเนื้อทรายหลายตัวเดินตามแม่ต้อย ๆ เป็นที่น่าเอ็นดูยิ่งนัก

ทุ่งกะมัง
กวางแม่ลูก

เมื่อแสงอาทิตย์ใกล้ลับของฟ้าอุณหภูมิก็ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งแปลว่าหากคิดจะอาบน้ำนี่แหล่ะเป็นจังหวะเดียวที่ทำได้ เพราะถ้าพระอาทิตย์ตกไปแล้วคงจะหนาวเย็นจนไม่คิดจะอาบน้ำกัน (อย่าลืมว่าไม่มีไฟฟ้า และไฟฉายอาจสว่างไม่พอ) ที่นี่ปั่นไฟใช้เวลาหกโมงเย็นถึงสามทุ่ม จึงเป็นช่วงที่ควรหุงหาอาหารให้เสร็จเรียบร้อย เราเตรียมไปทั้งเตาถ่านและเตาแก็สขนาดย่อมที่ใช้แก็ส

ทุ่งกะมัง

กระป๋อง เมนูที่คิดง่ายทำง่ายก็เลยออกมาเป็นเนื้อย่างญี่ปุ่น ผักย่าง ข้าวผัดกระเทียมและซุปมิโสะ อากาศเย็นเป็นใจทำให้พอได้บรรยากาศเหมือนอยู่ญี่ปุ่นบ้าง แต่ตอนล้างจานน่าจะทรมานมือที่สุดเพราะน้ำเย็นเฉียบ (ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไม่มีถังขยะและทุกคนต้องเก็บขยะไปทิ้งเอง ฉันจึงพยายามไม่ใช้วัสดุที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง)

ทุ่งกะมัง

กิจกรรมช่วงค่ำที่พลาดไม่ได้คือการดูดาว ลานดูดาวของที่นี่กว้างขวางสามารถทิ้งตัวลงนอนดูดาวเต็มฟ้าได้สบายๆ แถมไม่มีใครอยู่เลยสักคน ช่วงหัวค่ำพระจันทร์ยังไม่ขึ้นจึงได้เห็นดาวเต็มท้องฟ้า แต่ลมแรงและน้ำค้างลงจนฉันต้องยอมแพ้ไปและขอไปนอนขดในถุงนอนอุ่นๆ จะดีกว่า ขนาดคิดว่าเตรียมตัวไปพอแล้วก็ยังหนาวเพราะคืนนั้นอุญหภูมิต่ำสุด 12 องศา

วันต่อมาฉันตื่นตั้งแต่ตีห้าเพราะเป็นเวลาที่อาจได้เห็นทางช้างเผือกแม้รู้ทั้งรู้ว่าคืนแรม 4 ค่ำพระจันทร์จะสว่างเกินไป เมื่อมาถึงลานดูดาวก็รู้ว่าไม่มีทางถ่ายรูปทางช้างเผือกได้ แต่ไหน ๆ ตื่นแล้วก็รอพระอาทิตย์ขึ้นไปเลยก็แล้วกัน แสงแรกของทุ่งกะมังทำให้เราได้เห็นสายหมอกยามเช้าในบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติที่สุด แถมอากาศเย็นสบายและสดชื่น ในขณะที่ในเมืองเราต้องเจอกับฝุ่น PM 2.5 ทุกวัน การได้หนีมาอยู่ท่ามกลางป่าเขานั้นดีต่อใจมาก

ทุ่งกะมัง

เจ็ดโมงครึ่งฉันมีนัดกับเจ้าหน้าที่ที่จะพาไปส่องนก ยังไม่ทันถึงไหนก็ได้เห็นนกซอฮู้ นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ และพอได้ยินว่าลูกไทรกำลังสุกก็มีความหวังจะได้เจอนกแก๊กขึ้นมาทันที เราใช้เวลาอยู่กับต้นไทรแค่ต้นเดียวนานมาก เพราะต้นนี้ดูจะเป็นที่นิยมจึงเต็มไปด้วยนกโพระดกคอฟ้า นกปรอทหัวโขน นกหัวขวาน และสักพักก็ได้ยินเสียงร้อง”แก็ก ๆ ๆ” มาแต่ไกล พร้อมนกแก็กหนึ่งคู่ ซึ่งถือเป็นไฮไลท์ของเช้านั้นเลยทีเดียว

ทุ่งกะมัง

ก่อนบอกลาทุ่งกะมัง ฉันได้เข้าไปยังบ่อน้ำมหัศจรรย์กับเจ้าหน้าที่อีก 3 คนเพื่อสังเกตพฤติกรรมนกชนิดต่าง ๆ จากบังไพร เนื่องจากเช้านั้นอากาศหนาวและน้ำในบ่อก็เย็นเฉียบจึงมีนกเพียงไม่กี่ตัวมาลงเล่นน้ำ แต่แค่ได้เห็นนกภู่หงอนท้องขาวและนกปรอทหัวจุกมาเล่นน้ำก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจแล้ว หากมีเวลามากกว่านี้คงจะได้นั่งอยู่ในบังไพรทั้งวันแน่เพราะการดูนกเป็นกิจกรรมโปรดของฉันเลย

ทุ่งกะมัง

ขณะที่แยกย้ายกัน น้อง ๆ เจ้าหน้าที่บอกว่าคิดถึงแสงสี ห้างร้านและโรงหนังเต็มประดา ฉันกลับรู้สึกว่าให้ขุนเขาและผืนป่าเยียวยานี่มันเพิ่มพลังบวกให้ชีวิตได้เป็นอย่างดี อีกทั้งคงมีไม่กี่ที่ที่ไม่ต้องใส่หน้ากากตลอดเวลาและไม่ต้องระวังเรื่องรักษาระยะห่างกับใคร เพราะระยะห่างที่ต้องรักษาเวลาอยู่ทุ่งกะมังนั้น…เป็นระยะระหว่างสัตว์ป่าและคน

[ EXPLORERS ]
สุวิมล สงวนสัตย์ / ชุตยาเวศ สินธุพันธุ์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *