55 วัน ปั่นจักรยานข้ามประเทศ ระยะทาง 2,130 กิโลเมตร กับความสูงสะสม 25,300 เมตร เรื่องราวเต็มเปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจจากทริป ‘ไทย – ลาว – จีน’ ของเอกและแอร์ สามีภรรยานักปั่นในนาม World Leisurely
“พวกเราเริ่มปั่นจักรยานทัวร์ริ่งครั้งแรกเมื่อปี 2554 หลังจากได้รับแรงบันดาลใจจากพี่วรรณ-พี่หมู นักปั่นจักรยานรอบโลกชาวไทย ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา เราเดินทางท่องเที่ยวด้วยจักรยานทั้งหมด 5 ทริป แต่ละทริปใช้เวลา 1 – 2 เดือน เช่น ทริปไทย – ลาว – จีน (2,130 กิโลเมตร) และทริปข้ามทวีปยุโรปมาเอเชีย จากสวิตเซอร์แลนด์มาตุรกี (3,530 กิโลเมตร) ทุกทริปเราวางแผนการเดินทางเองและปั่นกันแค่สองคน”
“ทริป ‘ไทย – ลาว – จีน’ ของเราเริ่มต้นง่าย ๆ จากบ้านของแอร์ที่พิษณุโลก ไปภูเรือ เลียบแม่น้ำโขง ผ่านเชียงคาน เข้าหนองคายเพื่อข้ามสะพานมิตรภาพไทย – ลาว สู่เวียงจันทน์ ผมวางแผนให้วันนั้นซึ่งถือเป็นวันแรกของการปั่นทัวร์ริ่งในต่างแดนตรงกับวันครบรอบแต่งงานพอดี”
“ผมเล่นแบบนี้อีกครั้งตอนปั่นข้ามทวีปยุโรป ถือเป็นการฉลอง ‘ความรักที่ไม่เคยสะดวกสบาย’ ของผมที่มีให้กับภรรยา จากเวียงจันทน์เราเดินทางขึ้นเหนือผ่านวังเวียง ผ่านกาสี – ภูคูน – กิ่วกะจำ สามเมืองโหดที่วิ่งขึ้นลงภูเขาสูงเป็นว่าเล่น ฤดูฝนของลาวเองก็ไม่ปราณี หลายครั้งเราต้องปั่นจักรยานตัวเปียกโชกทั้งวัน เหตุผลที่เราเลือกเดินทางในฤดูนี้ก็เพราะจุดหมายปลายทางเต๋อชิงกำลังอยู่ในฤดูร้อน หากเป็นฤดูอื่น ถนนอาจถูกปกคลุมด้วยหิมะ ไม่สามารถเดินทางด้วยจักรยาน ที่หลวงพระบางพวกเราหยุดปั่นสองวันเพื่อเดินเที่ยวเมืองมรดกโลก ความที่หยุดปั่นนานและเริ่มรู้สึกยึดติดกับสถานที่ ทำให้เราสองคนไม่อยากออกเดินทางเลยในเช้าวันต่อมา”
“ท่ามกลางฝุ่นและแสงแดดแผดร้อนในเมืองปากอู เพลง ‘ขอบใจจริง ๆ’ ของเบิร์ด – ธงไชย ดังออกมาจากร้านขายของชำ ทำนองเศร้า ๆ เร่งอาการ home sick ของผมที่สะสมไว้ถึงจุดพีค ผมถามตัวเองว่ามาทำบ้าอะไรอยู่ที่นี่? แต่เราสู้ไม่ถอย เราสู้กับภูเขาที่สูงชัน สภาพอากาศที่ย่ำแย่ ถนนโลกพระจันทร์ของเมืองปากมองที่พังเละเทะ จนในที่สุดข้ามชายแดนจีนเข้าสู่ ‘สิบสองปันนา’ ในสัปดาห์ต่อมา”
“แต่เนื่องจากระยะเวลาวีซ่าจีนหนึ่งเดือนไม่เพียงพอ เราจึงต้องข้ามการปั่น 650 กิโลเมตร ระหว่าง เชียงรุ่งไปต้าลี่ นำจักรยานและสัมภาระทั้งหมดขึ้นรถโดยสาร ร่นเวลาเดินทางจาก 8 วัน เหลือ 16 ชั่วโมง สัปดาห์สุดท้ายของการเดินทาง เราเริ่มเห็นชาวทิเบตและนาข้าวสาลีของพวกเขา สลับกับทุ่งหญ้ากว้างใหญ่สีเขียว แต้มจุดขาว ๆ ดำ ๆ ของฝูงจามรี เมื่อถึงเมืองเก่าแชงกรีล่า เราเห็นบ้านเรือนโบราณสร้างจากไม้อายุหลายร้อยพันปี เหนือศีรษะมีราวธงมนตราประดับประดาตามแบบทิเบต”
“สองวันสุดท้ายเราต้องพิชิตเส้นทางขึ้นเขายาวที่สุดของทริป ระหว่างเมือง Benzilan และ Deqin ระยะทาง 107 กิโลเมตร ความสูงสะสม 3,000 เมตร เคล็ดลับที่ทำให้เราผ่านความยากลำบากนี้มาได้ คือต้องไม่พะวงกับระยะทางแสนไกลที่รออยู่ข้างหน้า ไม่หมกมุ่นกับความเร็ว 3-4 กิโลเมตร / ชั่วโมง เท่าเด็กคลาน เพียงปล่อยใจ ดื่มด่ำกับทัศนียภาพข้างทางที่ยิ่งสูงยิ่งงดงาม อากาศเบาบางลงเรื่อย ๆ ขณะที่เรายังต้องใช้เวลาอีก 6 ชั่วโมง ในเช้าวันรุ่งขึ้นปั่นไต่ความชันมาถึงจุดสูงสุดของเส้นทาง ณ Baima Snow Mountain Pass ความสูง 4,292 เมตร จากระดับน้ำทะเล จากนั้นเรามีทางลงเขายาว 21 กิโลเมตร ที่มีฉากหลังเป็นภูเขาหิมะเหมยลี่สูงตระหง่าน มุ่งสู่จุดหมาย – เมืองเต๋อชิง”
“แต่การเดินทางของเรายังไม่จบสิ้นเสียทีเดียว เรายังมีทริป 2 วัน 1 คืน ไฮกิ้งไปกลับ 12 ชั่วโมงสู่หมู่บ้าน Yubeng ของชาวทิเบต ที่ซึ่งถนนหนทางยังเข้าไม่ถึง สุดท้ายเรานำจักรยานและสัมภาระขึ้นรถทัวร์เดินทางมายังคุนหมิงเพื่อบินกลับประเทศไทย”
“เกือบสองเดือนที่พวกเราท่องเที่ยวไปอย่างช้า ๆ ได้เรียนรู้โลกใบใหม่ในมุมมองของนักเดินทางที่มีทั้งเรื่องภาษา วัฒนธรรม ภูมิประเทศ และภูมิอากาศที่ต่างออกไป มีทั้งฝน ร้อน หนาว และอบอุ่นไปด้วยมิตรภาพที่เกิดขึ้นไม่หยุดหย่อนระหว่างปั่นในต่างแดนครั้งแรก”
“แผนการเดินทางของเราจากนี้ไปคือการ ‘ต่อเส้น’ ระหว่างตุรกี กับจีน ซึ่งนั่นจะทำให้ความฝันที่ไม่ใหญ่ไม่เล็กของเราที่จะปั่นจักรยานจากยุโรปมาไทยสำเร็จลุล่วง หลังจากที่เราได้ลากเส้นจากไทยมาจีน และจากสวิตเซอร์แลนด์มาตุรกี (พ.ศ. 2562) เป็นที่เรียบร้อย ส่วนสองทริปในอนาคตที่เราเริ่มวางหมุดลงบน Google Maps แล้ว คือ จอร์เจีย – อาร์เมเนีย – อิหร่าน และ อุซเบกิสถาน – ทาจิกิสถาน – คีร์กีซสถาน ดินแดนห่างไกลที่ยังมีนักปั่นจำนวนหนึ่งถวิลหา”
Explorers: เอก – แอร์
เอก กับ แอร์ เป็นช่างภาพ นักสำรวจทำแผนที่ และนักเขียน พักอาศัยอยู่ที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ซึ่งพวกเขาได้ร่วมกันผลิตคู่มือท่องเที่ยวเกาะเต่าขึ้นในชื่อ KOH TAO: a Complete Guide.
ขอบคุณเรื่องและภาพถ่ายจาก เอกพล กรอบทอง สามารถติดตามเรื่องราวเพิ่มเติมได้ที่ World Leisurely