พิพิธภัณฑ์ เจษฎา เทคนิค มิวเซียม จากเดิมที่เป็นโรงจอดรถโปร่ง ๆ ขนาดใหญ่ มีรถโบราณจำนวนนับร้อย ๆ คันทั้งมอเตอร์ไซค์ และรถยนต์แปลกตาหาชมยาก จอดเรียงรายกันอยู่แบบแน่นขนัด ตอนนี้กำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ไปสู่การเป็นพิพิธภัณฑ์ระดับโลก ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยการออกแบบมาอย่างดีบนเนื้อที่กว้างใหญ่
พวกเราบ้านและสวน Explorers Club รู้สึกดีใจและถือเป็นเกียรติอย่างสูงที่ ดร.ภาคภูมิ เดชสกุลฤทธิ์ (คุณเติ้ง) รองประธานมูลนิธิเจษฎาเทคนิคมิวเซียม ได้อนุญาตให้เราเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ เจษฎา เทคนิค มิวเซียม ก่อนเปิดเป็นทางการก่อนใคร พร้อมทั้งได้มีโอกาสพูดคุยกับทีมงานเบื้องหลังผู้ร่วมก่อสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ของวงการพิพิธภัณฑ์ในเมืองไทย
พิพิธภัณฑ์จากความบังเอิญ
ดร.ภาคภูมิ เดชสกุลฤทธิ์ (คุณเติ้ง) ได้เล่าว่าจริง ๆ แล้วพิพิธภัณฑ์เจษฎา เทคนิค มิวเซียม นี้เกิดขึ้นจากความบังเอิญเมื่อ ประมาณอายุ 23 – 24 สมัยไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ ตอนนั้นจำวันเปิดเทอมคลาดเคลื่อนไป 10 กว่าวันเลยทำให้ตัวเองและครอบครัวเดินทางไปถึงก่อนกำหนด คุณเติ้งเลยแก้เก้อด้วยการชวนครอบครัวเดินทางไปดูงานนิทรรศการรถโบราณ โดยเฉพาะรถไมโครคาร์ที่จัดขึ้นที่เยอรมันพอดี ในงานนั้นมีชาวต่างชาติคนหนึ่งนำรถ Messerschmitt ที่สร้างขึ้นในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 มาขาย คุณเติ้งก็เลยพูดเปรย ๆ กับคุณพ่อว่าไปว่าอยากซื้อรถคันนี้กลับบ้าน เพราะมันหายากอย่างน้อยถึงไม่ได้เอาไว้ใช้จริงก็เอามาไว้บ้านเราสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวเพื่อเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้มาชมกัน
สิ่งที่พูดกับคุณพ่อ และเหตุการณ์ในครั้งนั้นถึงแม้จะซื้อรถมาเพียงคันเดียวแต่ก็เป็นการจุดประกายอะไรบางอย่าง และเริ่มเก็บสะสมรถมาจนถึงปัจจุบัน จนในที่สุดก็เกิดเป็นพิพิธภัณฑ์ เจษฎา เทคนิค มิวเซียม และรถ Messerschmitt KR200 ก็ถือได้ว่าเป็นรถคันแรกของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
ไมโครคาร์
ถึงเจษฎา เทคนิค มิวเซียม จะมีรถสะสมมากอยู่ก็จริง แต่สิ่งที่ถือได้ว่าโดดเด่นที่สุดของที่นี่ก็คือ รถไมโครคาร์ ที่เกิดขึ้นบนโลกนี้มาประมาณ 80 – 90 ปีมาแล้ว ในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง เหล็กจำนวนมากมายมหาศาลหมดไปกับการสร้างเครื่องบิน รถถัง และอาวุธต่าง ๆ จึงส่งผลให้สภาวะหลังสงคราม ‘เหล็ก’ ที่ถือว่าเป็นวัสดุหลักในการสร้างยานพาหนะในยุคนั้นกลายเป็นของหายาก จึงทำให้รถที่ถูกผลิตมาในช่วงเวลานั้นมีขนาดเล็ก แต่อย่างไรก็ตามบรรดารถขนาดเล็กเหล่านั้นก็ถูกใช้กันอย่างจริงจัง และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในสังคมอดีต
โรงงาน Messerschmitt เองที่เคยผลิตเครื่องบินรบที่ใช้ในสงครามมาก่อน ภายหลังเยอรมันแพ้สงครามได้ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรห้ามผลิตเครื่องบินรบอีก จึงทำให้ Messerschmitt หันมาผลิตรถไมโครคาร์ขึ้น เหตุผลส่วนหนึ่งก็คือเพื่อเป็นการฟื้นฟูสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่บอบช้ำจากภาวะสงคราม
เปิดเอาฤกษ์อย่างบังเอิญ
เมื่อวันที่ 23 -28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางพิพิธภัณฑ์ได้ทำการย้ายรถเข้าอาคารใหม่เป็นจำนวน 52 คันเพื่อถือเป็นโอกาสในการเริ่มต้นของการเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ โดยความตั้งใจแรกคือนำรถ 50 คันเข้ามาก่อน แต่คุณคุณอภิสิทธ์ ทีปรึกษา ให้ทีมงานสำรองไว้อีก 2 คัน เผื่ออาจมีบางคันที่เสียขับไม่ได้กลัวจะไม่ครบ 50 คันตามที่ตั้งใจ แต่บังเอิญว่ารถขับได้ทั้งหมดทุกคันรวมถึงรถที่ไว้สำรองอีก 2 คัน จึงเป็นการย้ายรถทั้งหมด 52 คันไปโดยปริยาย และการย้ายรถเข้าอาคารใหม่เมื่อวัน 23 – 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น ก็เป็นการบังเอิญสื่อสารวันผิดของทีมงานเช่นกัน!!! ทั้ง ๆ ที่ความตั้งใจแรกจะเริ่มย้ายในวันที่ 2 – 10 มีนาคม นี่ก็คือเรื่องบังเอิญอีกเรื่องหนึ่งสำหรับที่นี่
ออกแบบบนฐานข้อมูล
คุณนิธิรุจน์ วีระจารุพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการจากบริษัท Process Architect & Planner Co.Ltd ผู้ออกแบบพิพิธภัณฑ์ เจษฎา เทคนิค มิวเซียม เล่าให้พวกเราฟังว่า “โปรเจคนี้เริ่มต้นคุยกันตั้งแต่ประมาณปี 54 ในตอนนั้นมีการเก็บข้อมูลเยอะมาก เริ่มตั้งแต่ความต้องการของคุณเติ้งก่อน (ดร.ภาคภูมิ เดชสกุลฤทธิ์) ว่ามีความต้องการให้พิพิธภัณฑ์ออกมาในรูปแบบไหน แน่นอนว่ารถจำนวนมหาศาลนั้นต้องได้รับการจัดสรรและถูกจัดหมวดหมู่เป็นอย่างดี”
“เราต้องแยกรถออกเป็นซีรี่ย์มากมาย ในส่วนนี้ก็ใช้เวลาพอสมควรเพื่อให้การจัดวางออกมาลงตัวมากที่สุด และต้องคำนึงถึงจำนวนรถที่เพิ่มขึ้นในอนาคตอีกด้วย เรื่องการจัดสรรพื้นที่เลยต้องสำคัญเป็นอย่างมาก พื้นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เองก็เป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดของการวางผังทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอาคารหลัก ของที่จัดแสดง หรือพื้นที่ภายนอกทั้งหมดต้องสอดคล้องกัน”
“เราได้เดินทางไปดู Speyer Technik Museum ที่เยอรมัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ต้นแบบที่ใกล้เคียงกับที่นี่มาก เพราะมียานพาหนะหลายประเภทนอกเหนือจากรถยนต์ที่ถูกจัดแสดงแบบผสมกัน แต่ที่นั่นยังคงมีกลิ่นอายของการเป็นพิพิธภัณฑ์ดั้งเดิมอยู่ การใช้สื่อใหม่ ๆ เข้ามาเล่าเรื่องยังไม่ค่อยมีให้เห็นมากนักสำหรับที่นี่ เราก็เลยต้องเดินทางไปเก็บข้อมูลจากที่อื่นด้วย เราได้ไปที่ Lucerne ที่นั้นมีความเป็นพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ มีการจัดหมวดหมู่ของการโชว์ของอย่างดี มีเทคโนโลยีและการใช้สื่อทันสมัยเป็นตัวช่วยในการเล่าเรื่อง”
“สุดท้ายเราต้องเอาพิพิธภัณฑ์สองที่นี้มาผสมกันให้ได้ ด้วยการเริ่มเอาข้อมูลทุกอย่างมาที่มี ตั้งแต่ประเภทของยานพาหนะในพิพิธภัณฑ์และจำนวนที่ต้องการจัดแสดง พื้นที่ตั้ง บวกกับความต้องการของคุณเติ้งมาวิเคราะห์ และคุยกันจันตกผลึกออกมาเป็นแบบในปี 60 ถือว่าเป็นงานที่ทำการบ้านเยอะมากพอสมควร”
“โครงสร้างของอาคารหลักได้แรงบรรดาลใจมาจากปีกเครื่องบิน และรูปทรงของเรือมาผสมกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นดีไซน์มันต้องสอดคล้องไปกับฟังก์ชันของการจัดแสดงข้างในด้วย สิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วยก็คือประสบการณ์ของคนที่เข้ามาชม ฝังทางเดินข้างในก็ต้องถูกจัดสรรเป็นอย่างดี เพื่อความปลอดภัยทั้งคนทั้งของ และที่ขาดไม่ได้เลยคือการออกแบบภายใต้แนวคิดของ Universal Design เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างสะดวกในทุกพื้นที่”
ก่อสร้างอย่างสมบูรณ์
คุณณรงค์ชัย อิงควรเศรษฐ์ Managing Director จากบริษัท สุเบญจา จำกัด ผู้ควบคุมงานก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ เจษฎา เทคนิค มิวเซียม กล่าวว่า “ทันทีที่เห็นแบบก็รู้สึกว่าอยากเป็นคนทำโปรเจคนี้มาก การก่อสร้างในพื้นที่ขนาดหมื่นกว่าตารางเมตร ซึ่งเปรียบเทียบได้เท่ากับคอนโดย่อม ๆ โครงสร้างของอาคารขนาดใหญ่ ที่เป็นคอนกรีตและเหล็กในแนวระนาบคือสิ่งที่ท้ายทายสำหรับงานนี้ ในฐานะผู้ก่อสร้างเราจึงต้องพิถีพิถันในทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นให้สมบรูณ์ที่สุด ทุกจุดวัสดุต้องมีคุณภาพเพราะหลัก ๆ แล้วมันคือเรื่องของความปลอดภัยทั้งหมด ยิ่งอาคารมีขนาดใหญ่ยิ่งต้องแข็งแรง”
“เราผ่านการพูดคุยกันตลอดระหว่างสถาปนิก ผู้ก่อสร้างและทุกฝ่าย เพื่อให้ทุกอย่างออกมาสมบูรณ์ที่สุด หากถามว่าส่วนไหนยากที่สุด ต้องบอกเลยว่าทุกส่วน แต่เมื่อมันออกมาสมบูรณ์แบบอย่างที่ตั้งใจแล้ว ความภูมิใจ มันคือที่สุดของคนทำงาน”
พิพิธภัณฑ์Worldclass
คุณอภิสิทธ์ ธรรมใจ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ มูลนิธิเจษฎาเทคนิคมิวเซียม บอกกับพวกเราว่า โจทย์ ก็คือเราต้องเอาสิ่งที่เรามีทั้งหมดออกมาสื่อสารให้กับคนทั่วไปที่มาที่นี่เข้าใจ ซึ่งเราได้เตรียมไว้แล้ว นอกเหนือจากยานพาหนะต่าง ๆ แล้วก็ยังมีของสะสมของคุณเจษฎา และคุณ เติ้งอีกที่เป็นของหาหาชมที่ไหนไม่ได้แล้วอีกจำนวนหนึ่งมาจัดแสดง
ในส่วนแรกน่าจะเปิดเต็มรูปแบบประมาณกลางปี 67 แต่เรามีแผนว่าประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายนปีนี้เราอาจจะเปิดให้ชมกันก่อนช่วงหนึ่ง ยาพาหนะหลายประเภทจะถูกจัดแสดงอย่างไร ก็อยากให้รอชมกันรับรองว่าน่าสนใจแน่นอน สิ่งที่เพิ่มเติมในส่วนของภายนอกเรายังนำสถาปัตยกรรมล้านนาเข้ามาผสมผสานกับสมัยใหม่ด้วย ด้วยของที่เรามี กับทีมงานออกแบบและก่อสร้างระดับประเทศ เราสามารถบอกได้เลยว่าที่นี่เป็น World Class Museum Destination แน่นอน
สร้างประสบการณ์
นี่เป็นเพียงแค่ 10 –15% เท่านั้นของพิพิธภัณฑ์ เจษฎา เทคนิค มิวเซียม แห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้างอยู่ ยังมีอะไรที่น่าสนใจอยู่อีกมากมาย ที่นี่คุณจะได้เห็นทั้งรถโบราณที่ใช้งานได้จริงสวยกริ้บทั้งภายในและภายนอก รถที่ใช้งานไม่ได้แล้วแต่สภาพดี ไปจนถึงรถโบราณในสภาพซากก่อนการบูรณะ การแสดงสภาพรถยนต์ทั้งสามสถานะนี้ คือความตั้งใจที่อยากสร้างประสบการณ์ของการเป็นสถานที่แห่งการอนุรักษ์ให้กับทุกคนได้สัมผัสกัน
นอกเหนือจากยานพาหนะต่าง ๆ ที่นำมาจัดแสดงแล้ว พื้นที่บางส่วนยังได้นำเครื่องยนต์ขนาดใหญ่อย่างเช่นเครื่องยนต์เครื่องบิน และส่วนประกอบอื่น ๆ ของยานพาหนะต่าง ๆ มาตกแต่งเป็นงาน Installation Art ไว้ด้วย อย่างไรก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะมีอะไรที่น่าสนใจกันอีกบ้าง ซึ่งทางทีมงานยังไม่ขอบอกรายละเอียด แต่แอบกระซิปมาว่า ว้าวแน่นอน พวกเราก็คงต้องรอติดตามกันต่อไป
ถึงแม้ว่าหลายเรื่องราวของนี่มาจากความบังเอิญก็จริงอยู่ แต่การเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์ เจษฎา เทคนิค มิวเซียมนี้ ก็มาจากเจตนารมณ์ผสมความตั้งใจล้วน ๆ ของคุณเติ้งและทีมงานทุกคนอย่างแน่นอน นอกเหนือจากความรู้ที่จะได้รับจากการได้มาชมพิพธภัณฑ์ที่นี่แล้ว ความรู้สึกที่เหมือนว่าได้ย้อนเวลาไปสัมผัสถึงอดีตผ่านยนตกรรมโบราณก็เป็นประสบการณ์ที่หายากและน่าประทับใจไม่น้อยเลยทีเดียว…
ขอบคุณ ดร.ภาคภูมิ เดชสกุลฤทธิ์ รองประธานมูลนิธิเจษฎาเทคนิคมิวเซียม และทีมงานผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ที่อำนวยความสะดวกสำหรับการถ่ายทอดเรื่องราวในครั้งนี้ รายละเอียดเพิ่มเติม พิพิธภัณฑ์ เจษฎา เทคนิค มิวเซียม อยู่ในช่วงปรับปรุงและยังไม่เปิดให้บริการ ณ ขณะนี้ สามารถติดตามข่าวสาร และความคืบหน้าของพิพิธภัณฑ์ เจษฎา เทคนิค มิวเซียมได้ที่ https://www.facebook.com/jesadatechnikmuseumfanpage หรือสอบถาม โทร. 034-339-468
EXPLORERS : บาส, เฟี้ยต, ออโต้
AUTHOR : บดินทร์ บำบัดนรภัย
PHOTOGRAPHER : ณัฐวรรธน์ ไทยเสน