Type and press Enter.

ตามรอยพระบาท สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร

วัดบวรนิเวศวิหาร ในช่วงเวลานี้เหมาะกับการ Walking Tour อย่างมาก

เพราะนอกจากจะได้ explore สถาปัตยกรรมลูกผสมไทย-จีน สักการะพระพุทธชินสีห์ และพระพุทธสุวรรณเขต หรือหลวงพ่อโต ภายในพระอุโบสถ พร้อมกับชมจิตรกรรมฝาผนังฝีมือขรัวอินโข่ง ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นจิตรกรเอกประจำรัชกาลที่ 4 แล้ว ยังมีนิทรรศการ ‘พระมหาสมณานุสรณ์: 100 ปีแห่งการสิ้นพระชนม์’ ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณวาระครบ 100 ปีแห่งการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้วางรากฐานด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในประเทศไทยให้ชมอีกด้วย

ความน่าสนใจของนิทรรศการนี้ คือการจัดแสดงพระประวัติโดยละเอียดของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ หรือพระนามเดิมคือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ พระราชโอรสพระองค์ที่ 47 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และเจ้าจอมมารดาแพ นับตั้งแต่พระองค์ประสูติ ทรงตัดสินพระทัยทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาตั้งแต่ พ.ศ. 2422 หรือเมื่อพระชนมายุ 20 ปี และได้ทรงดำรงอยู่ในสมณเพศจวบจนสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2464 การจัดแสดงนี้ยังรวมไปถึงผลงานน่าเผยแพร่มากมายในอดีต ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ยูเนสโกยกย่องให้พระองค์เป็น ‘บุคคลสำคัญของโลก ประจำปี 2564’ ทั้งภาพถ่าย หลักฐาน และเอกสารโบราณตัวจริง ซึ่งชมได้ที่นี่ที่เดียวเท่านั้น

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร

ผลงานดังกล่าวไล่เรียงตั้งแต่พระองค์ทรงเป็นราชเลขานุการในกองอรรถคดี ทรงช่วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการติดตามนโยบายปฏิรูปการปกครองประเทศและการปรับปรุงแก้ไขระบบกฎหมายให้ดำเนินไปตามพระราชประสงค์ ต่อเนื่องมาจนทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ซึ่งพระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญเป็นพิเศษในด้านการศึกษาและวัฒนธรรมของประเทศไทย อาทิ ทรงริเริ่มการศึกษาพระพุทธศาสนาแนวใหม่ ทรงตั้งหลักสูตรการศึกษาพื้นฐานแก่คณะสงฆ์ ทรงปรับปรุงการศึกษาขั้นสูงของคณะสงฆ์ให้ได้มาตรฐาน ทรงพระดำริพัฒนาการศึกษาของภิกษุสามเณรให้กว้าง ขวางทันโลก และทรงวางรากฐานการศึกษาขั้นประถมของชาติ

พระองค์ทรงเป็นปราชญ์ทางอักษรศาสตร์ที่รอบรู้ทั้งภาษาบาลี สันสกฤต อังกฤษ ฝรั่งเศส และละติน ผู้ทรงสร้างผลงานด้านวรรณกรรมภาษาไทยและบาลี แปลคัมภีร์พระพุทธศาสนา รวมถึงพระนิพนธ์ในภาษาอังกฤษ และประเภทอื่น ๆ เกือบ 400 เรื่อง

โดยส่วนจัดแสดงนิทรรศการหลัก ๆ จะจัดขึ้นภายในอาคาร 2 หลังซึ่งอนุญาตให้บุคคลทั่วไปเข้าไปชมภายในอาคารได้ ได้แก่ อาคารมนุษยนาควิทยาทาน สถาปัตยกรรมแบบโกธิคที่เป็นอดีตอาคารเรียนของโรงเรียนวัดบวรนิเวศ ซึ่งถูกใช้เป็นพื้นที่จัดแสดงพระประวัติโดยละเอียดของของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ และอาคารกวีบรรณาลัย ห้องสมุดของศูนย์การเรียนรู้วชิรญาณสังวร ที่ใช้เป็นหอจดหมายเหตุ จัดแสดงพระราชนิพนธ์ จดหมายลายมือพระหัตถ์ และเอกสารโบราณสำคัญมากมาย ทั้งหมดทั้งมวลเป็นเหตุผลว่าทำไมพระองค์ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญพระองค์หนึ่งในการปฏิรูปวัฒนธรรมและสังคมไทยให้กลายเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างศตวรรษที่ 19 และ 20

นอกจากนี้ยังมีเส้นทางตามรอยพระบาท สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ กระจายอยู่ทั่วบริเวณวัดบวรฯ ไล่ตั้งแต่ ซุ้มประตูทางเข้า จากสมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินถวายราชสักการะพระพุทธชินสีห์ เนื่องในการเสด็จพระดำเนินกลับจากยุโรป ครั้งที่1 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2440 ซึ่งมีการติดตั้งป้ายพุทธศาสนสุภาษิต จากหนังสือพุทธศาสนสุภาษิต เล่ม 1 ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ให้เราได้อ่านเตือนใจตลอดสองฝั่งทาง

พระตำหนักเพ็ชร ในอดีตพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นที่ตั้งตึกโรงพิมพ์สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองวัด ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เคยประทับที่นี่เป็นเวลา 78 วัน เมื่อครั้งทรงบรรพชาเป็นสามเณรในปี พ.ศ. 2416 และในเวลาต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระตำหนักเพ็ชรขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อถวายเป็นท้องพระโรงของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ และได้ย้ายพระแท่นเศวตฉัตรจากพระอุโบสถมาประดิษฐาน ณ พระตำหนักนี้ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 ปัจจุบัน พระตำหนักเพ็ชร เป็นห้องประชุมของมหาเถรสมาคม และเป็นอาคารรางวัลการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ

พระตำหนักจันทร์ ในปี พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระตำหนักนี้ด้วยพระราชทรัพย์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฏ์จันทร์ ถวายเป็นที่ประทับของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2449 จนสิ้นพระชนม์ รวมระยะเวลากว่า 15 ปี

พระปั้นหย่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จมาประทับ ณ พระปั้นหย่าเป็นเวลา 9 ปี ช่วงระหว่าง พ.ศ. 2424 – 2433 ก่อนที่จะเสด็จไปประทับ ณ ตำหนักล่าง ในเวลาต่อมาพระปั้นหย่ากลายเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงพระผนวชและเสด็จมาประทับ ณ วัดแห่งนี้หลายพระองค์ เช่น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมราชนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของนิทรรศการที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ (นิทรรศการในอาคารกวีบรรณาลัย และอาคารมนุษยนาควิทยาทาน เปิดให้เข้าชมวันจันทร์-วันศุกร์​ เวลา 08.00 -17.00 น.) หากไปชมด้วยตัวเองไม่ได้ก็นับว่าน่าเสียดายอย่างมาก แต่ถ้าไม่มีเวลาหรือไม่สะดวกไปชมกับตัวจริง ๆ ยังสามารถชมนิทรรศการเสมือนจริงแบบ VR Tour พร้อมชมวีดีโอและฟังเสียงบรรยายข้อมูลอย่างละเอียดมาก ๆ ได้เช่นกันที่ https://www.mahasamana-virtualwat.com

อ่านต่อเรื่อง มองรากฐานการศึกษาไทยผ่านบทบันทึก ประวัติศาสตร์มีชีวิตที่วัดบวรนิเวศวิหาร จากการพูดคุยกับ พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร และ ดร.ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ อาจารย์ประจำมหามกุฎราชวิทยาลัย ได้ที่ https://ngthai.com/history/39174/wat-bowonniwet/

EXPLORERS: เฟี้ยต, นิ่ม, จี๊ด, เจมส์, เพชร

ข้อมูลอ้างอิง: mahasamana-virtualwat.com และ mahasamana.org
เรียบเรียง: เฟี้ยต ภาพ: เจมส์, เพชร

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *