ตามหน่วยแพทย์เคลื่อนที่สิงห์อาสา และทีมแพทย์-นักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้นดอย เพื่อนำการรักษาและการดูแลสุขภาพสู่ชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลด้วยความมุ่งมั่นในอุดมการณ์ของหมอหนุ่มสาวและอยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี
ไม่มีการเดินทางครั้งไหนจะสุขใจและอิ่มบุญเท่าครั้งนี้ ถือว่าผมโชคดีมากๆที่ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมกับทีมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่สิงห์อาสา ตามแพทย์หนุ่มสาวรุ่นใหม่ ทั้งคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขึ้นดอยไปรักษาชาวบ้านชาวเขาในพื้นที่ห่างไกลที่โรงเรียนวัดงิ้วเฒ่า ตำบลแม่สาบ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่
ที่ทราบมาคือปีนี้ สิงห์อาสา ได้ร่วมมือกับ 16 คณะการแพทย์ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทย์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ ของ 9 มหาวิทยาลัย และราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ เพื่อออกหน่วยแพทย์อาสา นำอาจารย์แพทย์ แพทย์จบใหม่ และนักศึกษาแพทย์ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพและรักษาประชาชน ในโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่สิงห์อาสา ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 36 และเพิ่มความพิเศษในทุกๆปี อย่างปีนี้ก็มีการตรวจโรคกลุ่ม NCDs ทั้งเบาหวาน ความดัน หัวใจ โดยมีความตั้งใจเพื่อขยายบริการด้านการดูแลสุขภาพไปยังประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ให้ได้รับการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึง และมีความเป็นอยู่ที่ดีทั้งยังส่งเสริมสังคมสุขภาพดีอย่างยั่งยืน
ระหว่างทางได้แต่คิดในใจว่า…เมื่อไหร่จะถึง การนั่งรถบนเส้นทางที่คดไปคดมาเป็นชั่วโมงๆนี่บอกเลย ทรมานมาก นี่ขนาดเราเดินทางจากเมืองสู่เขาสู่ดอยแบบปกตินะยังออกอาการ ในทางกลับกันถ้าเป็นพี่น้องประชาชนที่ต้องเดินทางเข้าเมืองเพื่อไปรักษาล่ะจะเป็นยังไง บอกได้คำเดียวว่า “ลำบากมากจริงๆ” บรรยากาศเมื่อเดินทางมาถึงพื้นที่เป้าหมาย มีชาวบ้านมารออยู่ก่อนแล้ว บางส่วนก็กำลังเดินลงจากดอย นักศึกษาแพทย์ แพทย์หนุ่มสาวที่จบมาใหม่ๆ มากหน้าหลายตา กำลังสาละวนกับการเข้าประจำพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย ด้วยสีหน้าแววตาที่มุ่งมั่น ที่มากไปกว่านั้นเป็นหน้าตาที่เปื้อนความสุข เหมือนอย่างที่ผมก็เป็นเหมือนกัน
ออกเดินทางมากับทีมแพทย์ครั้งแรก คงหนีไม่พ้นที่ต้องคุยกับแพทย์ ที่รู้มาคร่าวๆก็คือ อาสาสมัครแพทย์เหล่านี้ บางคนเคยมาแล้ว บางคนมาเป็นครั้งแรก บางคนเพิ่งจะมาที่อำเภอสะเมิงเป็นครั้งแรกเหมือนกัน เป็นธรรมดาที่เราชาว Explorers Club เมื่อลงพื้นที่ก็จะพลาดไม่ได้ที่อยากจะคุยกับใครสักคนสองคน ด้วยความอยากรู้ว่าเขาคิดเห็นอย่างไรกับการเดินทางมาครั้งนี้ มาอ่านมุมมองความคิดของทีมแพทย์หนุ่มสาวรุ่นใหม่ว่าสิ่งใดนำมาให้เราได้พบเจอกัน
ธัชพล เทพจินดา (นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6)
“ผมเคยมาร่วมกิจกรรมแพทย์อาสาเมื่อปีที่แล้วครับ ติดใจเลยขอมาอีก ทุกครั้งที่ออกมาทำกิจกรรมแพทย์อาสา มันทำให้ผมเห็นอะไรหลายอย่างมากเลยครับ อย่างแรกเลยคือ ความยากลำบากของชาวบ้านในถิ่นทุรกันดาร พวกเขาต้องเดินทางไกลเพื่อไปหาหมอ บางครั้งต้องรอนานหลายชั่วโมง บางครั้งก็ไม่มีหมอให้รักษา สิ่งนี้ทำให้ผมตระหนักว่า การเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ อย่างที่สองที่ผมเห็นคือ ความแตกต่างของโรคที่พบในเมืองกับในถิ่นทุรกันดาร ในเมืองมักพบโรคที่ซับซ้อน เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ในถิ่นทุรกันดารมักจะเป็นโรคผู้สูงอายุที่มีอาการเจ็บป่วยไปตามวัย และโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างเช่นการดื่มน้ำบาดาลเป็นเวลานานซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคนิ่ว
“การมาออกค่ายแพทย์อาสาครั้งนี้ ทำให้ผมได้เรียนรู้หลายอย่าง แน่นอนครับผมได้ประสบการณ์การทำงานในโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งแตกต่างจากการทำงานในโรงพยาบาลทั่วไป ที่นี่ผมได้มีโอกาสดูแลผู้ป่วยที่มีอาการหลากหลาย ต้องใช้ทักษะและความรู้หลายอย่างในการทำงาน สิ่งนี้ทำให้ผมได้พัฒนาทักษะและความรู้ทางการแพทย์ของตนเอง และที่สำคัญคือ ความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น การได้เห็นรอยยิ้มของผู้ป่วยที่หายป่วย ทำให้ผมรู้สึกมีความสุขและภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือผู้อื่น สิ่งนี้ทำให้ผมมีกำลังใจที่จะทำงานในสายอาชีพแพทย์ต่อไป
“สุดท้ายนี้ ผมอยากจะขอบคุณผู้จัดกิจกรรมแพทย์อาสาในครั้งนี้ที่ทำให้ผมมีโอกาสได้เรียนรู้และเติบโตขึ้น ผมสัญญาว่าจะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับในครั้งนี้ไปพัฒนาตนเองและช่วยเหลือสังคมต่อไป”
พัทธนันท์ เชาว์ชัยพร (นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6)
“ไม่เคยคิดมาก่อนค่ะ ว่าจะมีโอกาสมาเข้าร่วมกิจกรรมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในครั้งนี้ โชคดีที่เพื่อนชวนมาศึกษาดูการทำงานของแพทย์รุ่นพี่ รุ่นพ่อ เพราะไม่เคยมาร่วมงานแบบนี้เลย ครั้งนี้เป็นครั้งแรกค่ะ
“แอบกังวลเหมือนกันว่าการเดินทางเป็นยังไง เมื่อตัดสินใจและตั้งใจมาร่วมกิจกรรมแล้ว ไม่ว่าเส้นทางข้างหน้าจะเป็นยังไงสู้ค่ะ โห การเดินทางเข้ามาที่อำเภอสะเมิงนี่ไกลเหมือนกันนะคะ เดินทางมาค่อนข้างยากมาก แต่ก็ยังดีที่มีรถคอยรับส่งพวกเรา รู้สึกดีใจแทนชาวบ้านนะคะที่เขาจะได้มีโอกาสในการรับการรักษา ที่มีทั้งหมอเฉพาะทาง และมีทันตแพทย์ด้วย
“เข้าใจแล้วว่าทำไมถึงต้องควรมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่ต้องเข้าถึงชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล ด้วยระยะทาง และเส้นทางที่ทุรกันดารมันทำให้เราได้รับรู้ถึงโอกาสในการรักษาของชาวบ้านที่มีโอกาสน้อยมาก ได้เห็นถึงคนที่ลำบากนี้คือลำบากจริงๆ บางคนต้องเดินเท้าหลายชั่วโมงเพื่อมาโรงพยาบาล บางคนต้องอาศัยรถสองแถวที่วิ่งผ่านมาบ้างเป็นบางครั้ง บางรายก็มาไม่ได้เลยเพราะไม่มีรถ
“ได้เห็นถึงสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล บางคนอาศัยอยู่ในกระท่อมไม้ไผ่ บางคนอาศัยอยู่ในป่า บางคนไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา ได้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของพวกเขา โดยส่วนตัวเราคิดว่าการที่นักศึกษาแพทย์อย่างเราได้มีโอกาสและเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในครั้งนี้ มันทำให้ได้ประสบการณ์การรักษาที่มากกว่านั่งตรวจอยู่ในโรงพยาบาลได้เห็นถึงความลำบากของชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล ได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของสุขภาพ ได้เรียนรู้ถึงความมีน้ำใจและความเสียสละของอาสาสมัคร
“รู้สึกขอบคุณที่ได้มีโอกาสมาร่วมงานในครั้งนี้ และอยากให้โครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มีตลอดไป เพื่อกระจายความสุข และกระจายสุขภาพที่ดีสู่ประชานในพื้นที่ห่างไกล และก็จะขอเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนกิจกรรมและโครงการดี ๆ แบบนี้ต่อไปค่ะ”
ธนทัต สิริปฐมภูศิต แพทย์ประจำบ้าน ศัลยกรรมกระดูกและข้อ
“ผมมีความคุ้นเคยกับบรรยากาศแบบนี้มาก่อนแล้ว ตั้งแต่ตอนเรียนและตอนใช้ทุน สำหรับวันนี้มันเหมือนผมได้มา recall บรรยากาศเดิมๆ นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้คนที่ขาดโอกาสในการรักษาได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาแบบให้บริการถึงที่เลย และการออกหน่วยบริการแพทย์เคลื่อนที่แบบนี้เป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านได้รู้ถึงการรักษาที่ดี หรือสิ่งที่เขาควรรู้เกี่ยวกับสุขภาพตัวเองจะทำให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นด้วยตัวเองได้อย่างไร
“ซึ่งบางคนมีข้อจำกัดหลายอย่างในการเดินทาง เรื่องค่าใช้จ่าย ญาติบางคนอาจไม่สะดวกพาไปหาหมอพวกนี้คืออุปสรรคในการเข้าถึงสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานของการมีชีวิตเลย การเข้ามาและทำให้ผู้คนเหล่านี้มีโอกาสในการรักษาที่ดีผมมองว่าเป็นโอกาสที่ดีนะ และควรมีกิจกรรมแบบนี้เรื่อย ๆ นอกเหนือจากเรื่องของการรักษาแล้ว การดูแลสุขภาพของชาวบ้านก็ต้องมีการให้ความรู้ด้วย ตั้งแต่ใช้อดีต จนถึงวันนี้ สิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านยังขาดคือข้อมูลความรู้ในการดูแลรักษาสุขภาพตัวเองอย่างไรให้ปลอดภัยจากโรค การรักษาโรคของหมอมันเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ แต่ถ้าเราให้ความรู้ไปพร้อมกันด้วยน่าจะช่วยให้ผู้ป่วยลดลง
“ถ้าถามว่าทำไมถึงชอบออกมาร่วมกิจกรรมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ตอบแบบไม่เอาหล่อเลยนะ ผมอยากนำความรู้ที่ผมร่ำเรียนมาออกใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดอยากเข้าถึงทุกคนในสังคมที่ขาดโอกาสการรักษา ทุกครั้งที่ผมได้ออกมาทำจิตอาสามันทำให้ผมได้ตระหนักรู้ถึงความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจชาวบ้านถึงสิ่งที่เข้าเป็น การที่เราจะเข้าใจหรือเห็นใจใครสักคนจริงๆ มันต้องสัมผัสเขาและเข้าถึงเขาด้วยหัวใจ เราถึงจะรักษาเขาได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ”
ทนุธรรม สมบูรณ์โชคพิศาล ทันตแพทย์
“อบอุ่นทุกครั้งครับที่ได้ออกเดินทางมากับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ชาวบ้านและชุมชนให้การต้อนรับบุคลากรทางการแพทย์ดีเสมอ การออกมานอกพื้นที่ในเชิงรุกแบบนี้จะดีกว่าที่นั่งรออยู่ที่โรงพยายาบาล ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่าคนไข้บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขามีสิทธิ์อะไรบ้างในการรักษา ผมตั้งใจมากที่จะนำความรู้และข้อมูลเหล่านี้ไปเผยแพร่ให้ชาวบ้านได้รับทราบถึงบ้านเลย
“จากที่ได้มีโอกาสออกมาทำกิจกรรมแบบนี้ผมว่าปัญหาหลักๆ เลยเป็นเรื่องของข้อมูลความรู้ที่ชาวบ้านยังไม่ค่อยให้ความสนใจ หรืออาจเป็นเพราะไม่มีหน่วยงานเข้ามาแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพร่างกายและสุขภาพฟันที่ดีเป็นอย่างไร ผมมองว่าการส่งเสริมข้อมูลความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพให้ประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งและถ้าเป็นไปได้อยากให้มีการส่งเสริมข้อมูลความรู้เรื่องการดูแลรักษาสุขภาพให้มากกว่านี้ เพราะการรักษามันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ประสบการณ์จากการออกค่ายแพทย์เคลื่อนที่ในแต่ละครั้งได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผมเป็นอย่างมาก ทำให้ผมมีเป้าหมายที่จะทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบทชัดขึ้น มุ่งมั่นที่จะเผยแพร่ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“นอกจากนี้ ผมยังมองเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ไขปัญหาสุขภาพอีกด้วย ผมเชื่อว่าหากชุมชนร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะสามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนได้อย่างยั่งยืน”
หลังจากพูดคุยกับน้องนักศึกษาแพทย์ และแพทย์จบใหม่ ผมยังได้มีโอกาสพูดคุยกับหัวเรือใหญ่ของโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในครั้งนี้ที่โรงเรียนวัดงิ้วเฒ่า ตำบลแม่สาบ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ด้วย จะเป็นใครไปไม่ได้ครับ ถ้าไม่ใช่ ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก
อาจารย์บอกกับผมถึงบรรยากาศและการทำงานว่า “วันนี้นับเป็นวันดีอีกวันที่ทางเราได้ร่วมมือกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่สิงห์อาสา ที่ร่วมมือกันต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว โครงการนี้เป็นโครงการที่ตอบโจทย์เรื่องสาธารณสุขไทย เรานำแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาพบกับประชาชนที่หน้างานโดยตรง และประชนที่รอรับการรักษานั้นน้อยกว่า 1 % ที่จะมีโอกาสได้เจอหมอเฉพาะทาง วันนี้เรานำแพทย์เฉพาะทางโดยเฉพาะหมอกระดูกและข้อซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยมาก พร้อมกับโรค NCDs เบาหวาน ความดัน หัวใจ ถ้าประชาชนไม่ได้รับการตรวจหรือรับการรักษาเบื้องต้นโรคเหล่านี้จะมีผลต่อสุขภาพของเขาเป็นอย่างมาก และนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีกับโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่สิงห์อาสา
“เราได้รับแจ้งข่าวว่าคนไข้ที่เราเข้ามารักษาในพื้นที่นี้นั้นหายจากโรค ที่เราได้เข้ามารักษาให้ถึงที่ โดยไม่ต้องเดินทางไกลไปถึงในเมือง วันนี้ทีมแพทย์ที่มาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบไปด้วยคณะแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญอยู่หลากหลายสาขา มีคณะทันตแพทย์ที่มาดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน คณะเทคนิคการแพทย์ดูแลเรื่องกายภาพบำบัด และยังมีการนำทีมฝังเข็ม ต้องบอกว่าหลายๆโรคหายได้ด้วยการฝังเข็ม มาคอยบริการประชาชนในวันนี้ด้วย และยังเป็นการปลูกจิตสำนักให้แพทย์รุ่นใหม่ บ่มเพาะหัวใจแพทย์ที่แท้จริงในการดูแลผู้ป่วยอย่างเท่าเทียม”
อาจารย์ทิ้งท้ายกับผมก่อนขอตัวไปตรวจรักษาชาวบ้านที่มานั่งรอ อยู่บริเวณเต็นท์ “พวกเราทีมแพทย์มีความภาคภูมิใจมากที่ได้ร่วมมือกับบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ทำเรื่องดีๆ ทำสิ่งดีๆ ที่ตอบสนองเกี่ยวกับสาธารณสุข การออกนอกพื้นที่แบบนี้เหมือนเรายกโรงพยาบาลมาตั้งไว้ที่นี่เลย และปีละ 1 ครั้งอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ ก็กำลังคุยๆกันอยู่ว่าอาจจะเพิ่มจำนวนครั้งของการออกมานอกพื้นที่ ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการรักษาคือ เราอยากเห็นประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น”
“การออกตรวจรักษาโรคให้กับชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลแบบนี้ไม่ได้มีแค่เฉพาะผู้ที่เดินทางมายังหน่วยตรวจกลางในพื้นที่เท่านั้น เรายังมีทีมแพทย์ออกไปเยี่ยมและตรวจรักษาผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยสูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางมาได้ด้วยตัวเอง ถึงบ้านเลย ยิ่งทำให้เห็นสภาพถึงความเป็นอยู่ เห็นถึงการขาดโอกาสในการรักษา มันยิ่งตอกย้ำว่าการเป็นหมอ ไม่ได้เป็นเพียงการรักษาโรคเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างสายสัมพันธ์กับผู้ป่วยอีกด้วย”
เรื่องราวของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่สิงห์อาสาเกิดขึ้นเมื่อ 36 ปีก่อน จากจุดเริ่มต้นเล็กๆของกลุ่มพนักงานบุญรอดฯ นำโดยคุณหมอประจำห้องพยาบาลของบริษัทฯ มีความคิดอยากจะออกไปตรวจรักษาชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล จึงชักชวนพนักงานและผู้บริหารที่มีความตั้งใจเหมือนกัน ไปออกหน่วยแพทย์อาสาลงพื้นที่ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนกลายเป็นกิจกรรมของบริษัท ที่จะต้องเดินทางไปตรวจรักษาชาวบ้านตามพื้นที่ห่างไกลเป็นประจำทุกปี โดยมีเครือข่ายพนักงานและบุคคลภายนอกที่ร่วมลงพื้นที่และขยายตัวขึ้นทุกปี
โดยล่าสุดได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายอาจารย์แพทย์และนักศึกษาแพทย์จาก 9 มหาวิทยาลัย และราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ นำ 16 คณะการแพทย์ มาร่วมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพราะจุดมุ่งหมายของพวกเขาคือ อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และเพื่อให้มั่นใจว่าการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพจะเข้าถึงทุกมุมของสังคมของเรา ไม่เพียงแต่นำแพทย์เข้าสู่ชุมชนเท่านั้น แต่ยังจัดเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยให้กับพวกเขาด้วยรถยนต์ออฟโรด เป็นรถทันตกรรมเคลื่อนที่อันล้ำสมัยที่ภายในบรรจุเครื่องไม้เครื่องมือทันตกรรมครบครัน ซึ่งคณะทันตแพทยศาสตร์มีบทบาทสำคัญในความพยายามนี้ โดยรับประกันว่าการดูแลทันตกรรมจะไปถึงทุกที่ที่ห่างไกล
และด้วยกลุ่มแพทย์แต่ละกลุ่มที่นำความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะของตน มุ่งมั่นที่จะมอบประโยชน์สูงสุดให้กับพี่น้องในพื้นที่ห่างไกล มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดช่องว่างด้านการดูแลสุขภาพและปรับปรุงความเป็นอยู่โดยรวมของชุมชนด้วยการผสมผสานความพยายามและทรัพยากร หน่วยแพทย์เคลื่อนที่สิงห์อาสาขอเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคน โดยแสดงให้เห็นว่าการดูแลสุขภาพไม่มีขอบเขต และความเห็นอกเห็นใจกันสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดใดๆ ที่รับรู้ได้ ด้วยความพยายามอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย กับกลุ่มแพทย์รุ่นใหม่เหล่านี้
AUTHOR: ตู่-ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
PHOTOGRAPHER: ต้น-ศุภกร ศรีสกุล