บ้านแม่กลองน้อย ของชุมชนชาวม้งกับปณิธานอันแน่วแน่ที่จะดูแลผืนป่าบ้านเกิดของตัวเองพร้อมกับการพัฒนาอาชีพของคนในหมู่บ้านให้อยู่อย่างเป็นมิตรกับผืนป่า
เมื่อคราวลมหนาวมาเยือน ทั่วทุกดงดอยพร้อมขับขานบทเพลงผ่านเสียงลมโชยและหนาวนี้เสียงของผืนป่าอุ้มผางดูคล้ายจะเเว่วมาเเละเรียกหาให้กลับไปเยือนอีกครั้ง รอบนี้เราจะพาทุกคนไปสัมผัสกับผืนป่าต้นน้ำ ที่เป็นเเหล่งกำเนินของเเม่น้ำสายสำคัญอย่าง เเม่น้ำเเม่กลอง เเละไปดูว่าผู้คนที่นี่อยู่ร่วมกับผืนป่ากันอย่างไร ซึ่งจุดหมายปลายทางในวันนี้อยู่ที่หมู่บ้านเเม่กลองน้อย อ.อุ้มผาง จ.ตาก
สำหรับหมู่บ้านแม่กลองน้อยนั้นเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขา การเดินทางนั้นเดินทางด้วยถนนสายแม่สอดอุ้มผาง หมู่บ้านจะอยู่บริเวณช่วงครึ่งทางของการเดินทางจากแม่สอดสู่น้ำตกทีลอซู เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง
การเดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อไปถึงหมู่บ้านแม่กลองน้อยนั้นไม่ยากลำบากจนเกินไป เพียงเเต่ต้องใช้เวลาเดินทางกันยาวนานหน่อย ซึ่งหากเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวจะใช้เวลาราว ๆ 9 ชั่วโมง
มีอะไรที่บ้านเเม่กลองน้อย
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานั้นมีเพียงไม่กี่คนนักที่เลือกหมู่บ้านแม่กลองน้อยแห่งนี้เป็นจุดหมายปลายทางของการเดินทางมายังอุ้มผาง นอกเสียจากเขาคนนั้นจะหลงใหลในรสชาตของกาแฟกลิ่นอายของมิตรภาพ
ที่หมู่บ้านแม่กลองน้อยเป็นชุมชนชาวม้ง พื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ครอบครัวเกือบทั้งหมดประกอบอาชีพเกษตรกร ทำไร่ ปลูกผัก มีบางส่วนที่ทำเกษตรเเบบผสมผสาน เเละที่น่าสนใจคือ การทำไร่กาแฟ ภายใต้เเนวคิดที่ว่า “วิถีชีวิต เป็นมิตรกับผืนป่า” โดยมีพี่ซ้ง ณรงค์ศักดิ์ มาลีศรีโสภา เป็นผู้ริเริ่ม ด้วยมีปณิธานอันแน่วแน่ที่จะดูแลผืนป่าบ้านเกิดของตัวเองพร้อมกับการพัฒนาอาชีพของคนในหมู่บ้านให้อยู่อย่างเป็นมิตรกับผืนป่า
ด้วยความพยายามหาความรู้เเละลองผิดลองถูกกันมามากกว่า 10 ปี พี่ซ้งเเละคนในชุมชนได้รวมตัวกันตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตเเละแปรรูปพืชปลอดภัยจากสารเคมีบ้านเเม่กลองน้อยได้สำเร็จ ซึ่งเเน่นอนว่าการเริ่มต้นต้นนั้นไม่ง่าย กว่าจะล้มลุกคลุกคลานผ่านกาลเวลา ผ่านการพูดคุยนับครั้งไม่ถ้วนนั้นไม่ง่ายเลย แต่วันนี้เองที่ผลจากความพยายามได้ผลิดอกออกผล เบ่งบานอยู่ที่บ้านเเม่กลองน้อยเเห่งนี้
ไร่กาแฟสุดฉ่ำใต้ร่มเงาไม้ใหญ่
ก่อนที่จะไปเดินป่าดูพื้นที่ต้นน้ำในเช้าวันต่อไป บ่ายนี้เรามีเวลามากพอที่จะตามพี่ซ้งเข้าไร่กาแฟ ที่ดูเผินๆนั้นแทบบแยกไม่ออกเลยว่าเป็นป่า หรือ ไร่กาแฟกันแน่ ต้นกาแฟในไร่นี้ดูสมบูรณ์และให้ผลผลิตที่ดีมาก ลูกกาแฟสีแดง และ สีเหลือง นั้นอวบอ้วน และดูฉ่ำ จนน่าเด็ดกินจากต้น ส่วนรอบด้านนั้นก็เต็มไปด้วย เสาวรส อโวคาโด้ และะกลิ่นหอมจางๆของขนุนที่กำลังสุกคาต้น
เป็นที่ทราบกันดีว่า ต้นกาแฟนั้นจะสามารถเติบโตเเละให้ผลผลิตได้ดีเมื่ออยู่ภายใต่ร่มเงาไม้ใหญ่ การจัดสรรพื้นที่การเกษตรของที่นี่จึงไม่ได้ดูโล่งเตียนไปเสียหมด หากเเต่ยังคงความเขียวชอุ่มของพื้นที่ไว้ได้ด้วย พื้นที่หลายแปลงที่ปลูกกาแฟนั้น จะปลูกไม้ผลอื่นเสริมไว้ในไร่แปลงเดียวกันด้วย เพื่อสร้างร่มเงาให้กาแฟเติบโตอย่างเหมาะสม เเละยังเป็นรายได้เสริมนอกจากการขายกาแฟ
ไร่ของพี่ซ้งก็เป็นพื้นที่ตัวอย่างของหมู่บ้านที่ใช้แนวทางนี้เช่นกัน โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก แค่บริหารจัดการให้ดี ก็สร้างรายได้แก่ครอบครัวได้อย่างเหมาะสม
หากมีโอกาสได้มาเยือนบ้านเเม่กลองน้อยในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ สามารถติดต่อขอเข้าชมไร่กาแฟของพี่ซ้งได้ หรือหากมาในช่วงที่กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตพอดี ก็อาจร่วมเเจมได้เช่นกัน สำหรับคนที่สนใจอยากเรียนรู้กระบวนการต่างๆของกาแฟ เริ่มจากต้นกล้ามาสู่เเก้วในมือเรา อาจต้องเผื่อเวลามากหน่อย มานอนค้างสักคืนสองคืนก็ที่นี่ก็มีสถานที่พักพร้อมอาหารง่ายๆที่อร่อยล้ำเกินหน้าตาไว้ให้การต้อนรับ
ในเช้าที่อากาศเย็นสบาย เจ้าบ้านตื่นแต่เช้ามานั่งคั่วกาแฟอยู่นอกชาน ชาวบ้านที่ผ่านไปผ่านมาต่างก็ทักทาย บ้างก็แวะเข้ามาล้อมวงอยู่ด้วยกัน ภาษาม้งสำเนียงแปลกหูดังไปทั่วบริเวณ ทำให้บรรยากาศคึกคักและอบอุ่น ทำเอาลืมความเย็นยามเช้าไปเลยทีเดียว
กาแฟที่คั่วสดใหม่ส่งกลิ่มหอมฉุย สักพักก็ถูเทลงในเครื่องบดกาแฟมือหมุนหน้าตาดูโบราณ หมุนๆ อยู่สักพักก็เปิดลิ้นชักออกมา ได้กาแฟบดหยาบเทลงในดริปเปอร์ที่เตรียมตั้งรอไว้แล้ว กาแฟที่ได้จากการ process ที่มีคุณภาพ ผ่าการคั่ว บด เเละชงอย่างพิถีพิถันให้รสชาติดีเยี่ยม กลิ่นหอมอ่อนๆ รสชาติที่ติดเปรี้ยวนิดหน่อย แบบเบอร์รี่ เป็นรสชาติที่กลมกล่อมลงตัว ที่เราติดใจมาตั้งแต่เริ่มดื่มกาแฟใหม่ๆ เติมเต็มเช้าของวันได้อย่างสดใส
เดินทางไกล…ไปดูป่าต้นน้ำ
ช่วงสายๆ ของเช้าวันใหม่ พวกเราเริ่มออกเดินทางจากที่พักด้วยรถ 4WD ไปยังตีนเขาหลังหมู่บ้าน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินป่า ซึ่งต้องเดินเท้าต่อด้วยระยะทาง 5 กิโลเมตร โดยประมาณ โดยปกติเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ชาวบ้านใช้เดินหาของป่า และเป็นเส้นทางไปมาหาสู่กันระหว่างหมู่บ้านของพี่น้องชาวม้งโดยรอบ
แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงป่าต้นน้ำ นั้นหมายความว่าจะต้องเป็นป่าในพื้นที่สูงและลาดชัน เส้นทางเดินสู่จุดหมายจึงเป็นการเดินขึ้นเขาแบบค่อยๆ สูงขึ้นทีละนิดๆ จนกระทั่งเข้าขั้นชัน บางช่วงเป็นทางลงเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นทางดิ่งเลยก็ว่าได้ หากมาในช่วงฤดูฝน สภาพคงไม่น่าดูชมสักเท่าไหร่
แม้เส้นทางจะค่อนข้างวิบาก แต่ทิวทัศน์ที่รายล้อมกลับทำให้รู้สึกเพลิดเพลินไม่น้อย ตลอดสองข้างทางมีต้นไม้ใหญ่ตระการตาขึ้นสลับกับไม้เล็ก บางต้นมีกล้วยไม้ป่าขึ้นอยู่ตามกิ่งก้าน พี่คนนำทางบอกว่าหากมาเดินในช่วงเดือนพฤษภาคมจะได้เห็นกล้วยไม้ป่าเหล่านี้ออกดอกสวยงาม กลายสภาพเป็นคอนโดกล้วยไม้สุดอลังการไปเลยทีเดียว
แม้ว่าเราจะไม่ได้เห็นดอกกล้วยไม้ป่าชูช่ออวดความงาม แต่ก็ยังมีความเขียวของเหล่ามอส เฟิร์น ที่เกาะอยู่ตามแก่งหินและต้นไม้ตลอดสองข้างทาง เวลาเหนื่อยๆ ก็นั่งพัก ช่วงไหนชันหน่อยก็พักบ่อยหน่อย แหงนหน้าขึ้นมองท้องฟ้าเห็นเมฆสีขาวก้อนปุกปุยลอยล่องอยู่บนฉากหลังสีฟ้าจางๆ ตัดกับสีของยอดไม้ เขียว เหลือง ส้ม มันสวยงามจนยากจะอธิบาย อยากจะล้มตัวนอนมองอยู่ตรงนี้นาน ๆ
เราเดินทางมาถึงน้ำตกเล็กๆที่ไหลมาจากต้นน้ำแม่กลอง พักผ่อนด้วยบรรยากาศชุ่มชื่นของธรรมชาติ และทานอาหารกลางวันกันที่นี่ เติมแรงเพื่อเตรียมออกเดินทางกันต่อไป หลายๆ คนเริ่มกรอกน้ำในลำธารใส่ขวดไปดื่มระหว่างทาง เเละล้างหน้าล้างตาให้ชื่นฉ่ำ
ระหว่างการเดินเท้า บางช่วงพงไม้และต้นหญ้าขึ้นสูงท่วมหัว ช่วงลงเนินบางทีเป็นทางดิ่งๆ ชาวคณะต้องลดความเร็วในการเดินลงเพราะความชัน แต่ถึงหนทางจะเป็นอย่างไรเรื่องราวสองข้างทางก็ดูจะดึงดูดความสนใจให้ลืมเลือนความบากลำบากไปได้ไม่น้อย เราพบร่องรอยสัตว์ป่าหลายแห่ง หลายชนิด พี่คนนำทางเล่าว่าที่นี่มีสัตว์ป่าจำพวกกวาง หมูป่า เลียงผา เข้ามาใช้พื้นที่หากินอยู่บริเวณนี้ เจอพวกผัก สมุนไพร อันไหนกินได้ อันไหนมีสรรพคุณอย่างไรพี่แกก็ชี้ให้ดูและอธิบายให้ฟังเป็นวิทยาทานตลอดสาย
บ่ายแก่ๆจึงผ่านทางลงเขาอันเเสนชันมาได้อย่างทุลักทุเล ช่วงขากลับนั้นเราต้องเดินผ่านหมู่บ้าน จากหลังท้ายๆของหมู่บ้าน ตัดผ่านมายังที่พักซึ่งก็อยู่ช่วงต้นๆของหมู่บ้าน แสงแดดดยามเย็น กลิ่นควันไฟอ่อนๆ เสียงเด็กวิ่งเล่น พูดคุยกันในภาษาที่แปลกหู ทำให้รู้สึกไปแวบนึงเหมือนกันว่า นี่เราอยู่ในโลกไหนกันเเน่ หรือจะเป็น หมู่บ้านหล่มช้าง ในเพรชพระอุมากันนะ (ก็บรรยากาศมันทำให้คิดไปแบบนั้นจริงๆนี่นา)
พอตกเย็นอุณหภูมิที่นี่ลดฮวบ เเละด้วยความที่เป็นพื้นที่สูง 1,100 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตอนนี้จึงเย็นเฉียบ พอรู้ตัวอีกทีก็ไม่อยากจะอาบน้ำเสียแล้ว
ค่ำคืนนี้เจ้าบ้านต้อนรับเราด้วยการจัดปาร์ตี้เล็กๆ มีหมูย่าง เห็ดย่าง ฟักทองย่าง และอีกสารพัดผักที่จะเอามาย่างได้ พวกเราช่วยกันจัดแจงอาหารมื้อค่ำนี้อย่างสนุกสนานและแย่งกันเป็นคนย่าง เพราะหวันได้ไออุ่นจากเตาช่วยขับไล่ความหนาวเย็นของค่ำคืนนี้
ระหว่างอาหารค่ำเป็นช่วงเวลาของบทสนทนาที่ดี พี่ซ้งเล่าเรื่องราวหลายต่อหลายอย่างของหมู่บ้านแห่งนี้ให้ฟัง รวมทั้งอธิบายถึง การ PROCESS กาแฟ แบบต่างๆ ซึ่งมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยหลายอย่าง ที่สำคัญคือเหมือนเป็นกระบวนการที่นำเอาวิทยาศาสตร์ เเละ ศิลปะ มาผสมผสานกัน ผ่านพื้นทางทางสังคม เป็นโลกกาแฟอีกมิติที่น่าค้นหา และคิดว่าหลังจากนี้คงมีโอกาสได้กลับไปเรียนรู้และนำมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง
ทิ้งท้ายไว้สักหน่อย
การเดินทาง
เริ่มที่เส้นทางตาก-แม่สอด ระยะทาง 80 กิโลเมตร ก่อนถึงตัวเมืองม่สอดมีวงเวียนขนาดใหญ่ ให้เลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1090 แม่สอด-อุ้มผาง ระยะทางเท่าไหร่ไม่แน่ใจแต่จับเวลาแล้วประมาณสองสามชั่วโมงก็ถึงที่หมาย จุดสังเกตง่ายๆ ก่อนถึงหมู่บ้านจะมีจุดพักรถขนาดใหญ่ ทางด้านขวามือ เรียกว่าจุดพักรถอุ้มเปี้ยม ให้ขับเลยมาอีกสักพักผ่านศูนย์อพยพอุ้มเปี้ยมมาเรื่อยๆ สังเกตุซ้ายมือจะเห็นหมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขา ทางช่วงที่เห็นหมู่บ้านจะเป็นช่วงลงเขาตลอด ซ้ายมือจะมีปากทางเข้าหมู่บ้าน ให้เลี้ยวตามทางมาเรื่อยๆ จะผ่านสะพานเล็กๆ ขับตรงไปเป็นร้านค้าสองข้างทางอยู่เยื้อง ๆ กัน ให้ตรงขึ้นไปอีกนิดจะเห็นบ้านที่อยู่บนเนินทางซ้ายมือ ที่นั่นแหละจุดหมายแรกของเรา
สถานที่ติดต่อ
ปัจจุบันพี่ซ้งได้เริ่มสร้างศูนย์การเรียนรู้เรื่องกาแฟขึ้นมาใหม่ และมีที่พักสำหรับผู้มาเยือน มีห้องน้ำ มีไฟฟ้าใช้ แต่สัญญาณโทรศัพท์บริเวณหมู่บ้านนั้นบอดสนิท
ติดต่อพี่ซ้งได้โดยตรง ที่เบอร์ 080-857-0823 (พยามโทรหน่อยนะ สัญญาณไม่ค่อยมี) หรือติดต่อผ่าน facebook : Narongsak Maleesrisopa หากจะไปเยือนควรแจ้งล่วงหน้าเพราะบางวันพี่ซ้งต้องเข้าพื้นที่ไปทำงาน ควรนัดหมายกันให้ดีก่อนจะได้จัดวันกันได้อย่างลงตัว
EXPLORER / PHOTOGRAPHER : เกศ – เกศรินทร์ เจริญรักษ์